Plc พัฒนาการ อ่าน การเขียน

อ่านออกเขียนได้ง่ายนิดเดียวตามนิยาม ‘ทุ่งสักอาศรม’ ศิวกานท์ ปทุมสูติการ

“แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้”

ตามหนังสือ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” นั้นมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

๑. วิเคราะห์เหตุแห่งปัญหา เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีสาเหตุมาจาก
๑.๑ ครูสอนผิดวิถีการสอนภาษาไทยคือ ไม่ได้สอนด้วยแบบ “แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง” ดังที่ครูบาอาจารย์แห่งโบราณวิถีสั่งสอนกันมา
๑.๒ ครูจัดการเรียนการสอนไม่ครบกระบวนทักษะอีกทั้งมิได้เขียนคำนำฝึกบนกระดานดำ ทำให้เด็กๆ ไม่มีจุดนำสายตา ขาดความจดจ่อจริงจัง ขาดทักษะ
๑.๓ ผู้บริหารสถานศึกษาจัดวางตัวครูอนุบาลและครู ป.๑ ไม่เหมาะบุคคล รวมทั้งมอบหมายแนวทางการจัดการเรียนการสอนไม่ถูกต้อง
๑.๔ ผู้บริหาร นักวิชาการ และนักการศึกษาผู้กำหนดแผนงานและนโยบายระดับต่างๆ ไม่เข้าใจเหตุแห่งปัญหา มักจัดกิจกรรมโครงการอื่นๆ ซ้ำซ้อน จนกระทั่งครูไม่มีเวลาสอนเด็กอย่างจริงจัง อีกทั้งยังไม่สามารถกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ถูกต้องแท้จริงได้

๒. การแก้ปัญหาจะต้องจัดทำแผนงานโครงการเป็น ๒ โครงการสำคัญ คือ

๒.๑ โครงการป้องกันปัญหา โครงการนี้จะต้องจัดทำอย่างจริงจังและถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาแบบยั่งยืนที่ชั้น อนุบาล และชั้น ป.๑ นั่นก็คือ

(๑) จัดกิจกรรมการเรียนการสอน “ระดับอนุบาล” ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านทักษะภาษาให้เด็กมีความพร้อมต่อไปนี้
• เปล่งคำและเปล่งเสียงพูดชัดเจนทุกเสียงอักขระในถ้อยคำต่างๆ ไม่น้อยกว่าระดับชั้นอนุบาลละ ๕,๐๐๐ คำ
• เปล่งเสียงท่องบทอาขยาน ร้องเพลง และพูดสื่อสารถามตอบได้ชัดเจนตามเสียงอักขระและเสียงคำควบกล้ำ
• ฟังนิทาน เรื่องเล่า และพูดถามตอบได้ชัดเจนตามเสียงอักขระและเสียงคำควบกล้ำ
• เปล่งเสียงท่องพยัญชนะ ก – ฮ และสระทั้ง ๓๒ สระ ได้ถูกฐานเสียงจนเกิดทักษะจดจำได้
• มีพัฒนาการการจับดินสอ ปรับระยะสายตา เขียนลีลาต่างๆ และวาดรูปอย่างมีทักษะสมบูรณ์ก่อนการเขียนตัวอักษร
• สามารถเขียนพยัญชนะ ก – ฮ สระทั้ง ๓๒ สระ วรรณยุกต์ทั้ง ๔ รูป และตัวเลข ๐-๙

ฝึกเตรียมทักษะด้านภาษาเพียงเท่านี้ให้ได้อย่างครบถ้วนแท้จริง ไม่ต้องฝึกอ่านและเขียนคำแต่ประการใด เพราะว่าเมื่อขึ้นชั้น ป.๑ ครู ป.๑ ก็จะนำฝึกอ่านเขียนตามลำดับทักษะเอง การฝึกอ่านเขียนก่อนวัยอันสมควร จะเป็นโทษแก่เด็กมากกว่าเป็นผลดี มิหนำซ้ำยังทำให้ครูอนุบาลไม่มีเวลาฝึกเตรียมทักษะต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้นให้สมบูรณ์ได้อีกด้วย

(๒) จัดการเรียนการสอนภาษาไทย ป.๑ เพื่อการอ่านออกเขียนได้อย่างมีมาตรฐาน ดังนี้
ให้ครู ป.๑ เขียนชาร์ตประกอบการสอนและสอนตามเนื้อหาแบบฝึกในหนังสือ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกับครูอาสา โดยลำดับกิจกรรม ดังนี้
○ เขียนชาร์ตการสอนตามลำดับแบบฝึก
○ ดำเนินการสอนด้วยบันไดทักษะ ๔ ขั้นทุกชั่วโมง
* ขั้นที่ ๑ นำเด็กอ่านแจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง
* ขั้นที่ ๒ นำเด็กอ่านออกเสียงคำ อ่านประโยค และอ่านเรื่อง
* ขั้นที่ ๓ ให้เด็กคัดลายมือจากคำที่อ่านในขั้นที่ ๒
* ขั้นที่ ๔ ให้เด็กเขียนตามคำบอกจากคำที่คัดเลือกจากคำที่คัดลายมือ

…ทั้งนี้โดยให้สอนวันละ ๒ ชั่วโมง (เช้า ๑ ชั่วโมง บ่าย ๑ ชั่วโมง) และสอนตลอดปีการศึกษา เท่ากับสอนด้วยเวลาเป็น ๔ เท่าของครูอาสานั่นเอง จึงมั่นใจได้ ๑๐๐% ว่าเด็ก ป.๑ ทุกคนจะขึ้น ป.๒ ด้วยความมีทักษะอ่านออกเขียนได้อย่างจริงแท้

๒.๒ โครงการเฉพาะกิจแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ชั้น ป.๒ ถึงชั้นสูงสุดของโรงเรียน
เนื่องจากเด็กที่ขึ้นจากชั้น ป.๑ มาอยู่ในชั้นเรียนต่างๆ ขณะนี้จำนวนมากยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดทำโครงการแก้ปัญหาเฉพาะกิจเร่งด่วน ดังนี้

(๑) สำรวจสภาพปัญหาด้วยการให้เด็กชั้น ป.๒ ขึ้นไปเขียนตามคำบอกจาก “คำทดสอบ ๕๐ คำ” โดยที่คำทดสอบนี้มีมาตรฐานพื้นทักษะระดับชั้น ป.๑ ซึ่งมีค่าความยากง่ายเฉลี่ยองค์ประกอบของคำครอบคลุม

• พยัญชนะต้นอักษรสามหมู่
• สะกดตรงมาตราทั้ง ๙ แม่
• ประสมสระไม่น้อยกว่า ๒๐ สระขึ้นไป
• รวมถึงคำควบกล้ำอักษรนำ
• คำผันเสียงวรรณยุกต์

ชุดคำทดสอบ ๕๐ คำ มีให้เลือกในหนังสือ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” จำนวน ๒ ชุด อาจออก “คำทดสอบ” เพิ่มเติมจากหลักการมาตรฐานดังกล่าวได้อีกตามที่เห็นเหมาะสม
ถ้าพบว่าเด็กคนใดได้คะแนนไม่ถึง ๒๕ คะแนนให้คัดจำแนกเด็กเป็นกลุ่มๆ เข้าสู่โครงการแก้ปัญหาได้เลย

(๒) จำแนกเด็กเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละไม่เกิน ๒๐ คน โดยพิจารณาให้เด็กเรียนช้าอยู่กับช้า เด็กเรียนเร็วอยู่กับเร็ว รวมทั้งดูวัยให้ใกล้เคียงกัน และดูคะแนนความสามารถที่ใกล้เคียงกันให้อยู่กลุ่มเดียวกันด้วย

(๓) จัดให้มี “ครูอาสา” เป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนเพื่อการแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ ครูอาสาคนหนึ่งจะรับผิดชอบเด็กได้ไม่เกิน ๔ กลุ่ม หรือไม่เกิน ๘๐ คน

(๔) ครูอาสาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มละ ๑ ชั่วโมงต่อวัน เช่น ถ้ามีเด็ก ๔ กลุ่มก็จะต้องสอนวันละ ๔ รอบ รอบละ ๑ กลุ่มต่อ ๑ ชั่วโมง ดังนั้น ครูอาสาที่รับผิดชอบสอนวันละ ๔ กลุ่ม ควรจะต้องว่างจากภารกิจอื่นอย่างสิ้นเชิง เพื่อจะได้ทุ่มเทเวลาเพื่อกิจกรรมการสอนแก้ปัญ
หาอย่างแท้จริง

(๕) ครูอาสาเขียนชาร์ตประกอบการสอนตามแบบฝึกในหนังสือ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” ตั้งแต่บทที่ ๓ ถึงบทที่ ๖ และดำเนินการสอนไปตามลำดับเนื้อหาอย่างครบถ้วน โดยใช้กิจกรรมการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นทุกชั่วโมง คือ

ขั้นที่หนึ่ง แจกลูก ให้ผูกจำ
ขั้นที่สอง อ่านคำ ย้ำวิถี
ขั้นที่สาม คัดลายมือ ซ้ำอีกที
ขั้นที่สี่ เขียนคำบอก ทุกชั่วโมง

(๖) ครูอาสาดำเนินการสอนแก้ปัญหาไปจนครบถ้วนเนื้อหาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ากลุ่มละ ๙๐ ชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า ๔ เดือน หรืออาจเกินกว่าเวลาที่กำหนดนี้ก็ได้ ทั้งนี้ให้ถือเอาความมีสัมฤทธิผลของทักษะของเด็กแต่ละกลุ่ม (และแต่ละคน) เป็นสำคัญ

(๗) เมื่อสอนครบตามเนื้อหาในแบบฝึกดังกล่าวแล้ว ให้ครูอาสานำ “คำทดสอบ ๕๐ คำ” ที่ใช้ครั้งแรกก่อนเข้าโครงการมาทดสอบให้เด็กเขียนตามคำบอกอีกครั้ง เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการและผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหา (โดยทั่วไป ถ้าครูอาสาดำเนินการอย่างครบถ้วนตามเนื้อหาแบบฝึก กระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว โดยไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคแทรกซ้อน จะได้ผล ๑๐๐%)

(๘) จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการเสนอหน่วยงานในสังกัดรับทราบต่อไป

๓. การกำกับติดตามและนิเทศ
ฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการจะต้องเรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการต่างๆ จากหนังสือ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” ให้เกิดความเข้าใจตรงกันกับครูอนุบาล ครู ป.๑ และครูอาสา เพื่อวางแผนงานสนับสนุน ติดตามกำกับดูแล นิเทศ และช่วยเหลือ ดังนี้
๓.๑ จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อการจัดซื้อหนังสือ (เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว และ ก ไก่ น้อมไหว้) กระดาษ และเครื่องเขียน (เขียนชาร์ตประกอบการสอนชุดละประมาณ ๒๐๐ แผ่น)
๓.๒ บริหารบุคลากรและวิชาการให้เอื้อต่อกระบวนการแก้ปัญหา (มีรายละเอียดในหนังสือ)
๓.๓ ติดตามกำกับดูแล นิเทศ และช่วยเหลือ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องกำกับให้ครูดำเนินการ คือ
(๑) ครูอนุบาลปฏิบัติการตามข้อ ๒.๑ (๑)
(๒) ครู ป.๑ ปฏิบัติการตามข้อ ๒.๑ (๒)
(๓) ครูอาสาปฏิบัติการตามข้อ ๒.๒ (๑) – (๘)

‘อ่านออกเขียนได้ง่ายนิดเดียว’ หากเพียงทำตามกระบวนการที่กล่าวและนำเด็กฝึกตามแบบฝึกในหนังสือ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” อย่างครบทักษะและขั้นตอน
************************************************************************************************************
@ หากมีข้อสงสัย อุปสรรค และปัญหาในการดำเนินการใดๆ ที่หนังสือ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” มิได้ให้รายละเอียดหรือความกระจ่างไว้ อาจปรึกษา “ครูกานท์” ได้ทางโทรศัพท์ 081-9956016 (ระหว่างเวลา 17.00 – 08.00 น.)
หรือส่ง e-mail :