โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เวียดนาม

ขณะที่ คนไทย กำลังรู้สึกหวาดกลัว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน หวาดกลัวแม้กระทั่ง โรงไฟฟ้าชีวภาพ ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าทุกรูปแบบ แต่คนไทยกลับใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างรวดเร็ว จนผลิตไฟเองไม่ทัน ต้องไปซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ยืมจมูกเขาหายใจถึง 1 ใน 4 แค่ ประเทศพม่า หยุดผลิตก๊าซไม่กี่วัน ไฟฟ้าเมืองไทยก็วิกฤติถึงขั้นต้องดับไฟ น่าเป็นห่วงเต็มที

แต่ไม่ว่าคนไทยจะกลัว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน แค่ไหน สุดท้ายก็หนีไม่พ้นอยู่ดี ประเทศไทยไม่สร้าง แต่ประเทศเพื่อนบ้านสร้างหมด นิวเคลียร์รั่วเมื่อไร คนไทยทุกคนก็โดนรังสีเหมือนกันหมด

วารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับเดือนมีนาคม ที่กำลังวางแผง มีรายงาน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  ของประเทศเพื่อนบ้านไทยค่อนข้างละเอียดว่า “เวียดนาม” กำลังเริ่มก่อสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก” ที่ “เมืองนินห์ถ่วน” ในปีหน้า 2014 นี้แล้ว เมืองนินห์ถ่วน อยู่ห่างจาก จังหวัดอุบลราชธานี 800 กิโลเมตร และอยู่ห่างจาก จังหวัดศรีสะเกษ 900 กิโลเมตร รัฐบาลเวียดนามจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 8 โรง

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นินห์ถ่วน มีทั้งหมด 4 โรง มีกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ รวม 4,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก จะสร้างเสร็จและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2020 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า ส่วนอีก 3 โรงที่เหลือจะทยอยเปิดปีละโรงจนถึงปี 2024

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของเวียดนาม เป็น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รัสเซีย เวียดนามซื้อจากรัสเซียเมื่อปี 2553 ในราคา 5,600 ล้านดอลลาร์ 168,000 ล้านบาท

ข้อมูลในวารสาร “การเงินธนาคาร” รายงานต่อไปว่า ในปี 2015 อีกสองปีข้างหน้า เวียดนามจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฟสสองอีก 4 โรง เป็น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากญี่ปุ่น โรงแรกจะสร้างเสร็จและเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2021 จากนั้นจะทยอยเปิดอีกปีละโรงจนครบ 4 โรงในปี 2025

หมายความว่า ในอีก 12 ปี ข้างหน้า เวียดนาม จะมี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 8 โรง ที่อยู่ห่างจากไทยไม่ถึง 1,000 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 8,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ไทยยังอยู่ในขั้นอนุบาล แค่เขียนแผนอนาคตไว้อย่างเลื่อนลอยและไร้จุดหมาย

ปลายปี 2555 ที่ผ่านมา IAEA–สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล  ได้ส่ง นายปาร์ค จอง คยอง   ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานนิวเคลียร์  ไปตรวจสอบสถานะปัจจุบันของเวียดนาม ซึ่งอยู่ในขั้นที่ 2 ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ตามเกณฑ์ของไอเออีเอ คือ เปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ส่วนขั้นที่ 3 คือสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก

น่าตกใจไหม อีก 7 ปี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่คนไทยกลัวนักกลัวหนา ก็จะเปิดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถึง 8 โรง ห่างจากไทยแค่ 800–900 กิโลเมตร ลมพัดเดี๋ยวเดียว รังสีก็แผ่มาถึงไทยแล้ว ไม่ว่าจะกลัวขนาดไหน คนไทยก็หนีไม่พ้น

ผมว่า  กฟผ. ควรจะให้ความรู้แก่คนไทยอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดี๋ยวนี้จะดีไหม

โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็เหมือนกัน จากความมักง่ายของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในอดีตที่ แม่เมาะ กลายเป็นฝันร้ายมาจนถึงทุกวันนี้ “เอ็นจีโอ” ใช้เป็นข้ออ้างในการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเกือบทุกรูปแบบ ทั้งๆที่ทุกคนก็ต้องการใช้ไฟฟ้า กลัวไฟฟ้าดับ แต่กลับไม่เอาโรงไฟฟ้า ฟังยังไงมันก็ไม่สมเหตุสมผล

แต่เมื่อ สร้างในเมืองไทยไม่ได้  ก็ต้องไป สร้างที่ประเทศเพื่อนบ้าน วันก่อน คุณอัญชลี ชวนิชย์ ประธานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตคนใหม่ ก็ออกมาเปิดเผยว่า กฟผ.มีแผนจะไปสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่ทวาย ติดชายแดนไทยใกล้นิดเดียว ห่างจากกรุงเทพฯแค่ 400 กิโลเมตร แล้วส่งไฟฟ้ามาขายไทย

สังคมไทยวันนี้ก็เป็นอย่างที่เขาว่า สังคมดัดจริต เกลียดตัวแต่ชอบกินไข่.

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เวียดนาม

ดูแล้ว: 64

สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม มีมติลงแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 6 แสนล้านบาท หลังเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 22 พ.ย.59 ว่า สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม ลงมติในวันเดียวกันนี้ เพื่อยกเลิกแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จำนวน 2 แห่งกับบริษัท รอสอะตอม ของรัสเซีย และบริษัท จาแปน อะตอมมิค พาวเวอร์ ของญี่ปุ่น ซึ่งมีแผนสร้างที่จังหวัดนินห์ถวน ทางภาคกลางและคาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันถึง4,000 เมกะวัตต์ หลังจากเจ้าหน้าที่ได้อ้างตัวเลขการคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ลดต่ำลง แต่ค่าใช้จ่ายโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กลับสูงและยังมีปัญหาวิตกด้านความปลอดภัย

การโหวตเพื่อล้มข้อตกลงโครงการพลังงานนิวเคลียร์โครงการแรกของประเทศของสมัชชาแห่งชาติเวียดนาม ถือเป็นการพลาดโอกาสครั้งสำคัญของภาคธุรกิจนิวเคลียร์โลกและความพยายามของญี่ปุ่นเพื่อเริ่มส่งออกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หลังเกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่เมืองฟูกูชิมะเมื่อปี 2554 จนทำให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นถูกแช่แข็งยาวมานับแต่นั้น

รัฐบาลเวียดนาม ออกแถลงการณ์ระบุว่า การตัดสินใจซึ่งมีขึ้นในการประชุมสมัชชาแห่งชาติแบบลับหลังการถกหารือข้อ เสนอของรัฐบาล เป็นไปเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เหตุผลด้านเทคโนโลยีแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เงินลงทุนโดยประมาณที่จำเป็นสำหรับโครงการดังกล่าว ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2009 ถึงเกือบ 400 ล้านล้านดองหรือประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 630,000 ล้านบาท) ท่ามกลางภาวะหนี้สาธารณะของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเกือบใกล้ถึงจุดอันตรายและมีผลต่อความพยายามรักษาสถานะความเป็น 1 ในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียของเวียดนาม 

ด้านบริษัทรอสอะตอม แถลงยอมรับการตัดสินใจและพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่หากเวียดนามยังต้องการทำโครงการพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง 

และแม้พลาดโครงการนี้ แต่รอสอะตอมยังมีบทบาทในการช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ซึ่งจะสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์โดยสันติในเวียดนาม