หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

ประเภทของหนังสือ

สารคดี

               หนังสือสารคดี คือหนังสือที่ให้ความรู้ มีเนื้อหาสาระและความคิดเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน เนื้อหาสาขาวิชาของหนังสือสารคดี ได้แก่ สาขาวิชามนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ

สังคมศาสตร์

บันเทิงคดี 

             เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งต้องการให้ความบันเทิงและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นหลัก อาจสอดแทรกความรู้และความคิดต่างๆ ไว้ด้วย แบ่งเป็น

ประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

1. นวนิยาย เป็นหนังสือที่ผู้เขียน เขียนขึ้นเพื่อให้เกิดความบันเทิงแก่ผู้อ่าน โดยไม่เน้นความเป็นจริงหรือเนื้อหาสาระ

2. เรื่องสั้น เป็นหนังสือที่ผู้เขียน เขียนขึ้นตามวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนวนิยาย แต่มีเนื้อหาน้อยกว่านวนิยาย มักรวมหลายเรื่อง อยู่ในเล่มเดียวกัน

3.หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่มีเนื้อหาง่ายๆ หรือ เป็นหนังสือ ภาพการ์ตูน หนังสือประเภทนี้จะให้ความรู้ คติสอนใจ และสนองความต้องการอยากรู้อยากเห็นของเด็ก



สิ่งพิมพ์

                     มีความหมายว่า สิ่งที่พิมพ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นกระดาษหรือวัตถุใดๆ ด้วยวิธีการต่างๆ อันเกิดเป็นชิ้นงานที่มีลักษณะเหมือน ต้นฉบับขึ้นหลายสำเนาในปริมาณมากเพื่อเป็นสิ่งที่ทำการติดต่อ หรือชักนำให้ผู้อื่นได้เห็นหรือทราบ ข้อความต่างๆ

      

ตำรา

        ตำราเป็นผลงานวิชาการที่เรียบเรียงขึ้นอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมเนื้อหาวาระของวิชาหรือเป็นส่วนหนึ่งของวิชา หรือหลักสูตร ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดวิชาการ เนื้อหาสาระของตำราต้องมีความทันสมัย ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจในสาระของตำรานั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าศึกษาในวิชานั้น   รูปแบบเป็นเล่มประกอบด้วย คำนำ  สารบัญ  เนื้อเรื่อง การอธิบาย วิเคราะห์ สรุป  การอ้างอิง    บรรณานุกรม

        การอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยและครบถ้วน สมบูรณ์ ดัชนีค้นคำ/ข้อความ การอธิบายสาระสำคัญมีความชัดเจน โดยอาจใช้รูปถ่าย แผนภาพ ตัวอย่าง กรณีศึกษา ประกอบจนผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจในสาระนั้นได้โดยเบ็ดเสร็จ

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง


วารสาร

               เป็นหนังสือที่มีชื่อหนังสือคงที่ จัดพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตามลำดับเรื่อยไป เช่น หนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกวัน จะมีชื่อหนังสือชื่อเดียวกันตลอด ได้แก่ สยามรัฐ ไทยรัฐ เดลินิวส์ หรือหนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกระยะเวลาต่างๆ มีชื่อหนังสือเหมือนกัน เช่น สตรีสาร วิทยาจารย์ หลักไท หนังสือเหล่านี้เป็นวารสาร หนังสือประเภทวารสารยังอาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้เป็น หนังสือพิมพ์ (newspaper) และนิตยสาร (magazine) 

นิตยสาร

     สำหรับนิตยสารนั้น ผู้ซื้อจะมีความพิถีพิถันมากกว่าซื้อหนังสือพิมพ์ นิตยสารจึงมีปกที่พิมพ์ภาพสวยงาม อายุการใช้งานมีระยะเวลานานกว่าหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะมีอายุอย่างน้อย เท่ากับระยะเวลาออกนิตยสารนั้นๆ นิตยสารจึงยังคงคุณค่านานกว่าหนังสือพิมพ์ แม้เมื่อพ้นเวลาใช้งานแล้ว ก็ยังพอมีราคาอยู่บ้าง

     ผู้อ่านนิตยสารต้องมีความสนใจ และมีเวลาว่างพอสมควร จึงจะหยิบอ่าน โดยจะพลิกดูหน้าต่างๆ ไปก่อนตลอดเล่มหรือเกือบตลอด เล่มว่านิตยสารเล่มนั้นมีเรื่องใดบ้าง จะไม่อ่าน เรียงลำดับกันไปจากหน้าแรกเรื่องแรก แต่จะ เลือกอ่านเรื่องที่ถูกใจก่อนเป็นเรื่องๆ ไป ปกติ ผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหมดทุกเรื่องในเล่ม

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง


ก. ประวัติศาสตร์
 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

349.593 ล944ป

แลงกานต์, ร. (2524). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ฉบับ ร. แลงกานต์ เป็นเอกสารศึกษาประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม มีลักษณะเป็นตำราสำหรับประกอบการฟังคำบรรยายของนักศึกษานิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  เนื้อหาเริ่มจากข้อความเบื้องต้นว่าด้วยความเป็นมาของกฎหมาย ประโยชน์การศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายข้อความรู้โดยสังเขปเกี่ยวกับ กฎหมายของชนชาติสำคัญที่ให้กำเนิดอารยธรรมและคุณค่าของกฎหมายโรมันมีการจัดหมวดหมู่เนื้อหาตามลำดับเหตุกาล และได้อธิบายประวัติศาสตร์กฎหมายไทยที่เป็นกฎหมายเอกชนว่าด้วยละเมิด, สัญญา เอกเทศสัญญา และกฎหมายที่ดิน และยังได้อธิบายถึงอิทธิพลตกค้างทางความคิดและวัฒนธรรมกฎหมาย การรับอิทธิพลกฎหมายตะวันตก ทั้งเปรียบเทียบความเป็นมาหรือกระบวนทัศน์ในส่วนที่ควรเปรียบเทียบ

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

808.8381 ด495น

ดำรงราชนุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (2517). นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 527 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : "นิทานโบราณคดี" เป็นหนังสือที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์เสร็จลงเมื่อก่อนหน้าจะสิ้นพระชนม์เพียงไม่กี่วัน ในบรรดาเรื่องราวทั้งหมดที่ถ่ายทอดไว้นั้น เป็นเสมือนกระจกฉายให้เราเห็นหลังฉากของบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์ที่คนในสมัยนี้เกือบไม่มีใครรู้ว่าเกิดขึ้นในโลก และคนสมัยเดียวกันกับพระองค์ท่านซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน ไม่มีใครสนใจบันทึกไว้ "นิทานโบราณคดี" เป็นเสมือนแว่นขยายฉายให้เห็นยุคและสมัยที่น่าสนใจหลายประการซึ่งชีวิตของชาติ ไทยได้ผ่านพ้นมาแล้ว เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งถือเป็นมรดกทางการศึกษาที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

321.3 จ433ฉ

จิตร ภูมิศักดิ์. (25--). โฉมหน้าศักดินาไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือ, 302 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : การเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ควรถือเป็นเรื่องเด่นที่ต่างจากการเขียนแบบเรียนหรือเอกสารประกอบวิชา ประวัติศาสตร์ที่เคยมีคนทำกันมา กล่าวคือเขาได้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์อย่างใหม่ คือวิเคราะห์ตามแนวทางของมาร์กซิสต์ ชนิดที่ไม่มีผู้ใดทำมาก่อน และแน่นอนจุดยืนในการวิเคราะห์ของเขาอยู่ที่มวลชน เนื้อหาสาระจึงต่างกับแนวคิดของประวัติศาสตร์ฝ่ายศักดินามากนัก

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

959.3034 ห728ก

เหรียญ ศรีจันทร์. (2519). กบฏ รศ.130 [การปฏิบัติครั้งแรกของไทย]. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : คัมภีร์, 232 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : กบฏรศ.130 คือ ความพยายามของนายทหารรุ่นหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ในปีพ.ศ.2454 (ซึ่งถ้านับเป็นรัตนโกสินทร์ศกหรือ รศ. คือ 130) ที่จะคบคิดกันยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน จากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย นอกจากอุดมการณ์ทางความคิดที่ต้องการให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าแล้ว ยังมีสาเหตุเสริมมาจาก ความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม และความรู้สึกว่าสถาบันทหารถูกทำลายเกียรติภูมิ

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

959.3 จ658จ

จุลจักรพงศ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า. (2536). เจ้าชีวิตสยามก่อนยุคประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : วิเวอร์บุ๊ค, 394 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เนื้อหาของ เจ้าชีวิต เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงรัชกาลปัจจุบันที่ พ.ศ.2502 โดยเน้นบรรยายละเอียดช่วง พ.ศ.2325-2475 คือช่วงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1-7 เหตุผลคือเป็นช่วงเวลาที่มีเอกสารมากที่สุด และเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจนถึงประเทศไทยปัจจุบัน อีกทั้งทรงเห็นว่าหนังสือชื่อ A History of Siam โดย W.A.R. Wood ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประเทศไทยที่ชาวต่างประเทศอ่านมากที่สุด นั้น ไม่ได้เขียนในส่วนนี้อย่างละเอียด เจ้าชีวิต เขียนขึ้นครั้งแรกในภาคภาษาอังกฤษ โดยใช้ชื่อว่า Lord of Life พิมพ์ในอังกฤษในปี พ.ศ.2503 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวต่างประเทศได้อ่านและรู้จักประเทศไทยได้ดี ขึ้น

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

347.593 ป364ศ

ประยุทธ สิทธิพันธ์. (25--). ศาลไทยในอดีต. พระนคร : สาส์นสวรรค์, 783 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมเรื่องราวในอดีตที่เป็นคดีครึกโครมน่าศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดี และจารีตประเพณี พร้อมพระบรมราชวินิจฉัยและพระบรมราชโองการทั้งที่เกี่ยวกับคดีโดยตรงและที่ มีความเกี่ยวพัน หลายเรื่องราวเป็นเรื่องราวในอดีตที่แปลกในสมัยปัจจุบัน

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

330.9593 ช371ป

ชัย เรื่องศิลป์. (2519). ประวัติศาสตร์ไทยพ.ศ.2352-2453 ด้านสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 553 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เนื้อหาประกอบด้วยเรื่องราวด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองสำหรับศึกษาหาความรู้ เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นอยู่ของบรรพชนคนไทย ซึ่งหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาค 1 เมืองไทยยุคเก่า พ.ศ. 2352-2393 และภาค 2 ประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่ พ.ศ. 2394-2453 ว่ามีความแตกต่างกับคนไทยยุคปัจจุบันประการใดบ้าง

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

959.303 อ112ส

อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว. (2527). สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2416. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 359 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : หนังสือเล่มนี้อุดมด้วยหลักฐานและข้ออ้างอิงทางประวัติศาสตร์ซึ่งผู้เขียนใช้วิเคราะห์สภาพสังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยกล่าวถึงฐานะบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ ขุนนาง ไพร่และทาส ไว้อย่างชัดเจน ทั้งสะท้อนให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของระบบศักดินานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานการผลิตและการเป็นทหารของไพร่ พระมหากษัตริย์ทรงปรกครองบ้านเมืองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์อาศัยหลักธรรมราชาและราชอาญาปกครองขุนนางข้าราชบริพาร ขณะเดียวกันขุนนางศักดินาก็ใช้หลักพระเดชพระคุณต่อไพร่และทาสลงมาเป็นทอดๆ ทั่วประเทศจนทำให้ระบบศักดินาไทยมีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจสู่เมืองหลวง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นผลสำเร็จ จึงมักเกิดขึ้นในเมืองหลวงเป็นสำคัญ และในฐานะที่ไพร่เป็นพลังพื้นฐานของอำนาจ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของปริมาณไพร่ จึงมีผลกระทบต่ออำนาจของขุนนาง เชื้อพระวงศ์ พระมหากษัตริย์ และกระทบกระเทือนต่อเอกราชของชาติด้วย

ข. การเมือง, ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย, เศรษฐศาสตร์
 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

332 ส866ท

สุริยานุวัตร, พระยา. (2518). ทรัพย์ศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิฆเณศ, 547 หน้า.

บรรณานิทัศน์ :เป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศไทย ซึ่งเขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ไทยคนแรกซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางด้าน เศรษฐกิจ การฑูต และการบริหารราชการ ในเล่มเสนอเนื้อหาที่นำเสนอแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และ อธิบายถึงระบบเศรษฐกิจ ในประเทศตะวันตกในสมัยนั้น ขณะเดียวกันก็นำเอาแนวคิด และกลไกระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตก มาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย โดยไม่ลืมรากฐาน ที่ไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวนายากจน ผู้เขียนใฝ่ฝันที่จะเห็นประเทศไทย พัฒนาไปสู่ประเทศที่มั่งคั่ง เข้มแข็ง เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และมีความเป็นธรรมในสังคม

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

322.4209593 ก741บ

กุหลาบ สายประดิษฐ์. (2545). เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 151หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับเบื้องหลังการปฏิวัติ 2575 ซึ่งผู้เขียน ได้มีประสบการณ์กับเหตุการณ์ทางการเมือง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของไทยมาอย่างโชกโชน โดยพยายามให้ความเป็นธรรมแก่คณะผู้ก่อการ โดยเรียบเรียงอย่างถูกต้องเที่ยงตรงต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ของพระยาพหลพยุหเสนา หัวหน้าคณะก่อการ ที่ได้เปิดเผยถึงมูลเหตุจูงใจ ในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง แผนการยึดอำนาจ ฯลฯ โดยแสดงให้เห็นถึง บทบาทของผู้นำคนสำคัญๆ ที่สามารถกระทำการยึดอำนาจรัฐจนสำเร็จและอื่น ๆ อีกมากมายที่ได้รวบรวมไว้อย่างดีแล้วในเล่ม ตลอดจนเส้นทางการต่อสู้ ต่อต้านเผด็จการ เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของผู้เขียนเอง นำเสนอด้วยสำนวนภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย พร้อมภาพประกอบชัดเจนง่ายสำหรับทำความเข้าใจ

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

301.153 ป472ค

ปรีดี พนมยงค์. (2542). ความเป็นอนิจจังของสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี, 77, 22 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : หนังสือที่กล่าวถึงกฎแห่งอนิจจังของพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้กับกรณีของมนุษย์สังคมอย่างถูกต้องตรงกับกฎธรรมชาติและ วิทยาศาสตร์ทางสังคม ทั้งนี้ได้สอดแทรกแนวความคิดเรื่องกฎแห่งอนิจจัง และขยายความสู่อิสรภาพอย่างแยบคาย สอดคล้องกับสำนวนภาษา ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทย สำนวน ศัพท์ลายคราม และใช้การอธิบายอย่างย่อ ความกระชับเข้าใจได้ง่าย หลายเรื่องราวจะทำให้มนุษย์เราตื่นรู้ว่าสังคมยังคงอยู่ แต่ปัจเจกบุคคลแค่ผ่านมา แท้ที่จริงแล้วเราเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในสังคมเท่านั้น เอง

338.9593 ด931ท

เดือน บุนนาค. (2517). ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. กรุงเทพฯ : สามัคคีธรรม, 410 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : มีเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจ คือ ตัวบทของ เค้าโครงฯ กฎหมายที่จะให้เค้าโครงฯ เกิดผลบังคับใช้ ซึ่งก็คือ ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร รายงานการประชุม ที่จดแบบคำต่อคำของผู้ที่พิจารณาเค้าโครงฯ รวมไปถึงพระบรมราชวินิจฉัย อีกทั้งยังได้รวมเอกสารเหล่านี้ ตามต้นฉบับมาไว้ในเล่มเดียวกัน ให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณ ตรึกตรองด้วยตนเอง ผู้อ่านอาจจะอดไม่ได้ที่จะมีความเห็นของตนเอง จึงอยู่ในฐานะเสมือนเข้าร่วมถกเถียงด้วย ซึ่งนอกจากจะน่าสนใจในตัวของมันเองแล้ว ยังเป็นการเชื้อชวนให้ผู้อ่านมีความเห็นแตกต่างออกไปอีกด้วย การอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงน่าจะเป็นการใช้ปัญญาและเหตุผลมากกว่าอารมณ์และคติต่างๆ

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

320.9593 ส213อ

สนิท เจริญรัฐ. (2507). โอ้ว่าอาณาประชาราษฎร์. พระนคร : แพร่พิทยา, 389 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือรวมบทความหลายๆ บทเข้าด้วยกัน ไม่ใช่เป็นหนังสือ ที่เสนอเรื่องที่เป็นเรื่องเรื่องหนึ่ง แล้วนำเสนอเป็นบทๆ ติดต่อกัน แต่ละบทเป็นเอกเทศจบในตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า แต่ละบทกระจายไปอย่างไร้ทิศไร้ทาง แท้จริงแล้วทางของหนังสืออยู่ที่ อุดมคติประชาธิปไตยที่ผู้เขียนใฝ่ฝัน และพยายามมีส่วนก่อให้เกิดขึ้นในฐานะนักหนังสือพิมพ์เมื่อมองสารัตถะของข้อเขียนทั้ง 12 บทจากมุมนี้ จึงทำให้หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีคุณค่าในฐานะเป็นบันทึก ที่ให้ความรู้อันจำกัดอยู่เฉพาะยุคสมัยเท่านั้น แต่ด้วยประพันธศิลป์ในการถ่ายทอดเจตน์จำนง เพื่อประชาธิปไตยนั้นได้ยกระดับให้ "โอ้ว่า...อาณาประชาราษฎร์" เป็นมรดกแห่งประสบการณ์ของแรงบันดาลใจ และความพยายามจากผู้ถือปากกาเป็นอาวุธ และด้วยคุณค่านี้ ที่เป็นลักษณะของความเป็นสากลแฝงอยู่หนังสือเล่มนี้

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

940.53593 ด554ท 

ดิเรก ชัยนาม. (2509). ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2. พระนคร : แพร่พิทยา, 2 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหนังสือสารคดีที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐมนตรีคลังในขณะที่ญี่ปุ่นจะเข้ายึดครองไทย จะเป็นผลเสียหายร้ายแรง แก่เศรษฐกิจของชาติ เงินเฟ้อ ราคาสินค้าจะแพงขึ้น เพราะประชาชนไทยทั้งชาติ จะต้องแบกภาระเลี้ยงดูกองทัพญี่ปุ่น ที่เข้ามายึดครองอีกด้วยหนังสือเล่มนี้ยังมีข้อเขียนของผู้นำเสรีไทยในฐานะรับผิดชอบงานเสรีไทยมาโดย ตลอด คือ ทวี บุณยเกตุ ข้อเขียนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เล่าถึงเรื่องราวของเสรีไทยในอังกฤษ และข้อเขียนของพระพิศาลสุขุมวิทย์ ที่ได้เดินทาง (ใต้ดิน) ไปสหรัฐอเมริกา ในตอนปลายสงคราม เพื่อลอบบี้ให้ชาวอเมริกันรู้จัก และเข้าใจประเทศไทย และประชาชนชาวไทยเป็นครั้งแรก ในฐานะที่พระพิศาลสุขุมวิทย์ กับหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์น้องชาย เคยเป็นนักเรียนอเมริกัน รู้จักสนิทสนมกับชาวอเมริกันหลายคน ทั้งที่เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเดียวกัน และที่เคยมาประกอบธุรกิจในเมืองไทยด้วย ข้อเขียนดังกล่าว เข้าใจว่า ศาสตราจารย์ดิเรกต้องการให้ผู้อ่าน ได้ทราบถึงผลงานของเสรีไทยด้านต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะในส่วนของท่านเอง ได้เข้าร่วมงานเสรีไทยในภายหลัง และก็ปฏิบัติการโดยมีฐานะอยู่ในกรุงเทพฯ

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

330.092 ป492ส

ป๋วย อึ๊งภากรณ์. (2528). สันติประชาธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 263 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือที่มีคุณค่า ในแง่วรรณศิลป์ ประวัติศาสตร์ เนื้อหาสาระและการคัดค้านการยึดอำนาจ และเรียกร้องให้คืนรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ ในด้านวรรณศิลป์นั้น ดร. ป๋วย ใช้ลีลาในการเสนอบทความทั้ง 26 บท อย่างหลากหลายรูปแบบ ตามสถานการณ์ เนื้อหาสาระ และผู้รับที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกบทความก็คือ ความพิถีพิถันในการเลือกใช้ถ้อยคำไทยพื้นๆ ที่เรียบง่าย แต่ให้ความหมายลึกซึ้ง กินใจ และสื่อความได้อย่างตรงไปตรงมาไม่เสแสร้ง เป็นการสะท้อนการดำเนินชีวิตแบบไทยๆ ที่เรียบง่ายของท่านออกมาเป็นตัวอักษร ในแง่ประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่พยายามเสนอทางเลือก ในเชิงอุดมคติสำหรับสังคมไทยในช่วงปี 2516 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ซึ่งเราน่าจะกลับไปอ่านเพื่อเรียนรู้กันใหม่

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

300.8 ส113ห

ส.ศิวรักษ์. (2512). ห้าปีจากปริทัศน์. กรุงเทพฯ : ศึกษิตสยาม, 470 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือรวมบทนำ บทความ บทแปล บทคน (สัมภาษณ์และแนะนำ) จดหมายจากบรรณาธิการ และบรรณาธิการ และข้อเขียนอื่นๆ รวม 50 ชิ้นในยุคที่เผด็จการครองเมือง และสังคมอับจนทางปัญญา นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เสนอผลงานด้านวรรณกรรม และข้อเขียนต่างๆ ซึ่งได้จุดประกายความคิด และการค้นหาทางออก ในยุคดังกล่าวนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์” ซึ่งได้เป็นเวทีกลางแห่งด้านการคิด และการเรียนรู้ของคนหนุ่มสาว ในยุคแห่งการแสวงหา อันเป็นพื้นฐานของขบวนการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งพัฒนามาเป็นขบวนการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 และสืบต่อมาภายหลังจากนั้น

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

959.3044 ว435

วันมหาปิติ 14 ตุลาคม 2516. (2541). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา, 429 หน้า

บรรณานิทัศน์ : หนังสือวันมหาปิติเล่มนี้ มีลักษณะของการให้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ด้วยการรวบรวมแถลงการณ์ของทั้งฝ่ายขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา และ รัฐบาลเข้าไว้ด้วยจำนวนมาก หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าสมควรที่คนทั่วไปควรอ่าน และพิจารณาด้วยตนเอง เนื่องจากบันทึกขึ้นสดๆ ร้อนๆ ภายหลังเหตุการณ์ เป็นการให้ข้อมูลจากประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ สมดังเจตนารมณ์ อมธ. ที่ต้องการให้เป็นหนังสือ ที่รายงานข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ให้ตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด โดยให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แต่ละจุดเป็นผู้เล่า และต้องการให้เป็นหนังสือที่รายงานเรื่องนี้ อย่างกว้างขวางที่สุด เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และในต่างประเทศที่มีคนไทยอยู่ หนังสือเล่มนี้ ยังบรรจุภาพการเคลื่อนไหวของขบวนการ 14 ตุลา ทั่วประเทศ สะท้อนพลังอันยิ่งใหญ่ของขบวนการประชาธิปไตย

ค. ศิลปะ ภาษาและวรรณกรรม วรรณกรรมวิจารณ์
 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

809 ว579ว

วิทย์ ศิวะศรียานนท์. (2544). วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ธรรมชาติ, 396 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ เป็นหนังสือแนววิชาการด้านวรรณคดี และวรรณคดีวิจารณ์แบบตะวันตกเล่มแรกๆ ที่นักวิชาการไทย นำทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์แบบตะวันตกมาเผยแพร่ และประยุกต์ใช้กับวรรณคดี และบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยงานวรรณคดีวิจารณ์ของ ดร.วิทย์ ไม่ใช่งานวิจารณ์เชิงทดลองปฏิบัติ และก้าวล่วงระดับวิเคราะห์ (Analysis) แล้ว หากเป็นงานที่สะท้อนถึง ระดับทฤษฎีทางวรรณคดี และวรรณคดีวิจารณ์ โดยสื่อออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และนำเอาทฤษฎีประสานกับงานวรรณคดี เรื่องราวในวรรณคดี หรือตัวละครในวรรณคดีไปโดยตลอด โดยได้แสดงออกมาเป็นทัศนะของตนเองอย่างแจ่มแจ้ง โดยที่วรรณคดีไทยก็มีที่ทางของตนอย่างมั่นคง ในบริบทวรรณคดีของโลก

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

730.9593 ศ523ป

ศิลป์ พีระศรี. (2491). ประติมากรรม. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 87 แผ่น.

บรรณานิทัศน์ : หนังสือเล่มนี้ เป็นการเขียนขึ้นด้วยทัศนะความเห็นเชิงศิลปะ ไม่ใช่ในแง่โบราณคดี ดังนั้น จึงเสมือนกับเป็นการตั้งต้นสอนผู้อ่าน ให้รู้จักศิลปะในแง่ของสุนทรีย์ ด้วยการเริ่มให้ผู้อ่านลองมองเปรียบเทียบ ระหว่างความงามของศิลปะตะวันตก คือ เศียรของพระเยซู กับความงามของศิลปะไทยเรา คือ เศียรของพระพุทธรูปหนังสือเล่มนี้ อาจทำให้ผู้อ่านที่เป็นคนไทยหลายคน ที่ยังมองไม่เห็นความงามของศิลปะสามารถซาบซึ้ง และค่อยๆ เรียนรู้วิธี ซึมซับความงามทางศิลปะได้ทีละน้อย และสามารถมองเห็นความคลี่คลาย อย่างสังเขปของประติมากรรมไทย โดยเฉพาะรูปคนหรือพระพุทธรูป ซึ่งถือได้เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดติดตัวมากที่สุด สำหรับคนไทยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และในท้ายที่สุดจะรู้สึกทึ่งว่า ผู้เขียนที่เป็นชาวต่างชาติ สามารถเขียนเรื่องราวที่เป็นของไทยเราให้เราได้อ่าน และซาบซึ้งได้อย่างไร

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

808.88 ส837ว

สุภา ศิริมานนท์. (2529). วรรณสาส์นสำนึก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือรวมข้อเขียน ด้านวรรณกรรมจำนวน 2 เล่ม ของสุภา ศิริมานนท์ วรรณสาส์นสำนึก เล่ม 1 ประกอบด้วยบทความประเภทต่างๆ ไว้ด้วยกันเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นข้อเขียนในหัวข้อ เรื่องศิลปะ ส่วนที่ 2 ว่าในหัวข้อเรื่องภาษา และหนังสือ ส่วนที่ 3 ในหัวข้อนักเขียนไทย และส่วนที่ 4 ในหัวข้อเรื่องนักเขียนต่างประเทศวรรณสาส์นสำนึก / เล่ม 2 ประกอบด้วย ส่วนที่ 5 ในหัวข้อ การวิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรม ส่วนที่ 6 ในหัวข้อวรรณกรรมวิพากษ์ส่วนที่ 7 ในหัวข้องานแปลวรรณกรรม สุภายังได้ริเริ่มให้เป็นแบบอย่าง ในการแปลงวรรณกรรมต่างประเทศ โดยการค้นประวัติของผู้เขียน มาเขียนอธิบายถึงชีวิต และโลกทรรศน์ของผู้เขียนนั้นๆ อย่างละเอียด และมีคุณค่า สามารถทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจซึมซาบ เนื้อหาของเรื่องได้อย่างเข้าใจถึงแก่นเรื่องได้ดี รวมทั้งได้ยกเอาวรรณกรรมระดับโลก และวรรณกรรมไทยมาเป็นตัวอย่างของการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อสนับสนุนทฤษฎีของท่าน

895.918 น172ว

นราธิปพงศ์ประพันธ์. กรมหมื่น. (2506). วิทยาวรรณกรรม : พระนิพนธ์ของ พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ [ท่านวรรณฯ]. พระนคร : แพร่พิทยา, 1148 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เนื้อหาสาระของวิทยาวรรณกรรม อุดมด้วยทัศนะทางด้านวรรณคดีหลากหลายมุมมอง ประเภทของวรรณคดี ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับภาษาศาสตร์ รสนิยมวรรณคดี เอกภาพความงามระหว่างเนื้อหาสาระกับรูปแบบ และหน้าที่ คุณค่าของคำ ลักษณะที่เป็นวรรณศิลป์ ปรัชญาวรรณศิลป์ ภาษาที่พรรณนาถึงบทบาทหน้าที่ เป็นเครื่องมือสื่อสาร สัญลักษณ์ และความหมาย ปัญหาในการจำแนกแยกแยะ วิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรมในการนำเสนอหลักคิดในการบัญญัติศัพท์ การไขความหรืออธิบายความหมายของคำ ที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งมีผู้อ่านโต้แย้ง โดยคำนึงถึงหลักตรรกวิทยา และความสอดคล้องต้องกันกับการออกเสียง เหตุนี้ หนังสือวิทยาวรรณกรรม จึงเสริมคุณค่าการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปด้วย จนกล่าวได้ว่าเป็นคลังปัญญาแห่งการบัญญัติศัพท์ ประวัติศาสตร์ และประวัติวรรณคดีที่สำคัญของไทยเล่มหนึ่ง

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

709 น111ค

น.ณ. ปากน้ำ. (2510). ความงามของศิลป์ไทย. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 512 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมบทความ 40 บทความ ผลงานของ น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติผู้เชี่ยวชาญงานด้านศิลปะไทยรวมบทความด้านศิลปะเล่มนี้ มีความหลากหลายที่น่าอ่าน เพราะผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่อง แทรกไปกับการพรรณนาความงาม สภาพของสิ่งที่พบเห็น และการเสนอแนวความคิดของผู้เขียนในด้านต่างๆ ตลอดจนในแง่ของการอนุรักษ์ เนื่องจากผู้เขียนมีพื้นฐานทางด้านศิลปะ และทำการศึกษาค้นคว้ามาหลายปี มีประสบการณ์ด้านงานศิลปะมาก่อน จึงสามารถอธิบายเรื่องราวทางด้านศิลปะ ที่ก่อให้เกิดจินตนาการสำหรับผู้อ่าน เพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อไป ผู้เขียนทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปด้วยว่า ประเทศไทยเรามีศิลปะความงาม ที่ทรงคุณค่าอยู่มาก แต่ไม่แพร่หลาย และนับวันก็จะถูกทำลาย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งถ้าไม่มีการบันทึกเอาไว้แล้ว ความงามเหล่านี้ก็จะไม่มีผู้ใดรู้จัก

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

340.014 ธ515ภ

ธานินทร์ กรัยวิเชียร.(2525). ภาษากฎหมายไทย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 173 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : ภาษากฎหมายไทย ท่านผู้แต่งได้แสดงให้เห็นว่า อันวรรณกรรมกฎหมายนั้น มิใช่จะทรงคุณค่าทางด้านนิติธรรมอย่างเดียว หากยังแฝงฝังไว้ด้วยขุมทรัพย์ทางภาษาที่น่าเรียนรู้ยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษากฎหมายไทยที่ท่านผู้เขียนมุ่งหมายเสนอ ได้จำแนกแยกแยะถี่ถ้วนเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ตั้งแต่วรรณกรรมกฎหมายยุคโบราณของไทยถึงปัจจุบัน ตลอดจนวรรณกรรมกฎหมายของต่างประเทศและแง่มุมต่างๆทางด้านภาษากฎหมายอีกมากมายเป็นสิ่งชวนสนใจ ท้าทายความรับรู้ เป็นประโยชน์ยิ่งแก่นักศึกษากฎหมายโดยตรง และยังอำนวยประโยชน์รวมไปถึงนักศึกษาทางด้านภาษาหรืออักษรศาสตร์อีกด้วย

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

089.95911 ว262

วรรณไวทยากร : ชุมนุมบทความทางวิชาการถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบรอบ 80 พรรษาบริบูรณ์ 25 สิงหาคม 2514. (2514). กรุงเทพฯ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย, 2 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเสนอแนวคิดต่างๆ ในวรรณคดีในเชิงปัญหา กล่าวคือ เป็นเรื่องที่คิดกันได้จากต่างแง่ต่างมุม "การวิจารณ์วรรณคดีนั้น จะหาหลักที่ตายตัวลงไปได้ยาก" นี่ก็เป็นการมองจากมุมหนึ่ง "แต่นักวิจารณ์ส่วนมาก ก็มิได้ย่อท้อในการที่จะแสวงหาหลักเกณฑ์"วิธีการใช้เหตุใช้ผลที่พยายามมองค้าน มองแย้ง มองเติม มองเสริม มองแก้ ทำนองนี้ เป็นแนวการพิจารณาแนวคิดต่างๆ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย การมุ่งให้เห็น "ความเป็นอื่น" นี้สะท้อนความคิดเสรีประชาธิปไตย ที่ต่างจากแนวคิดการวิจารณ์แบบชี้แนะไปทางใดทางหนึ่งโดยรวมข้อคิด และข้อมูลไว้หลายด้านหลายมุม ต่างคนอ่านก็จะเห็นต่างมุมต่างด้านกันไป โดยสังเกตได้จากงานเขียนเกี่ยวกับวรรณคดีทั้งขยายความ และไม่ขยายความ ข้อด้อยต่างๆ อันเป็นลักษณะร่วมของงานเขียนของไทยร่วมสมัยและให้ข้อคิดแก่ผู้อ่าน

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

700 ส966

แสงอรุณ 2. (25--). กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 227 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เนื้อหาเกี่ยวบทความและข้อเขียนของอาจารย์แสงอรุณ ทางด้านสถาปัตยกรรม, ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถการใช้ภาษา ทั้งการพูด และฝีมือเขียนหนังสือ จึงทำให้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นที่น่าสนใจบ่งบอกเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย

ง. สังคมวิทยา, มานุษยวิทยา, ประวัติศาสตร์สังคม
 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

390.9593 จ657พ

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2514). พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 788 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : พระราชพิธีสิบสองเดือนนี้เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งพระองค์ทรงเขียนแล้วตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ โดยตีพิมพ์ออกเป็นตอนๆ เมื่อปี พ.ศ. 2431 และได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็น "ยอดแห่งความเรียงอธิบาย เนื้อหาอธิบายมูลเหตุพระราชพิธีสำหรับพระนคร พระราชพิธีสิบสองเดือน ในกฎมณเทียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยาและที่ทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชปรารภในการพระราชนิพนธ์ ทรงชี้แจงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีและที่เลิกไปบ้าง และพระราชพิธีต่างๆ ตั้งแต่เดือน 12 ถึงเดือน 10 ( ขาดเดือน 11 เดือนเดียว)

895.916 น254ส

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2517). สาส์นสมเด็จ. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 714 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : หนังสือสาส์นสมเด็จเล่มนี้ เป็นพระราชสาส์นระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงมีโต้ตอบกันในบั้นปลายพระชนม์ชีพ เป็นเรื่องปกิณกะต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์โบราณคดี ศาสนา ศิลปกรรม วรรณคดี และอักษรศาสตร์ ฯลฯ มีคุณค่าเป็นหนังสืออ้างอิงสำคัญเล่มหนึ่ง ผู้อ่านสามารถโดยเสด็จในทางความรู้ และอ่านอย่างจำเริญใจได้ 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

305.89591 บ424ส

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (25--). 30 ชาติในเชียงราย. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.ท.], 765 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เนื้อหาในเล่มที่กล่าวถึงชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในเชียงรายได้แก่ ไทยใหญ่ เขิน ต่องสู้ อีก้อ ลื้อ ฮ่อ ลัวะ กระเหรี่ยงหรือยาง แม้ว ข่า เย้า แข่ มูเซอ เป็นต้น รวมถึงเรื่องการตั้งบ้านเรือน ชีวิตผู้คน ภาษา และความคิดความเชื่อ อันได้แก่ นิสัยใจคออาหารการกิน ประเพณี อันครอบคลุมตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปจนถึงประเพณี ที่เกี่ยวกับการผลิต นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงพิธีกรรม ศิลปะ และบทเพลง  หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเป็นตำราทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์สังคมแล้ว ยังเป็นหลักฐานอันแสดงให้เห็นชัดถึงความสุขร่มเย็นของผืนแผ่นดินไทยที่มีมา ช้านาน และยังมีต่อไปตราบนานเท่านาน

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

928 ส137ท

สงบ สุริยินทร์. (2543). เทียนวรรณ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น,

บรรณานิทัศน์ : เนื้อหาเป็นเรื่องเล่าเชิงพรรณา ที่ผู้เขียนเริ่มเล่าประวัติชีวิตของเทียนวรรณอย่างละเอียดโดย ปัญญาชน คนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้เรียกร้องระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และการปฏิรูปทางด้านสังคมอีกหลายข้อ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องติดคุกถึง 17 ปี ผู้เขียนจะนำเรื่องของเทียนวรรณมาเรียบเรียงได้อย่างเข้าใจง่ายและน่าติดตาม ยังได้นำงานบางส่วนของเทียนวรรณมาพิมพ์ไว้ในบทท้ายๆ ของหนังสือด้วย

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

915.4 บ149ก

บรรจบ พันธุเมธา. (2504). กาเลหม่านไต. กรุงเทพฯ : สมาคมภาษาและหนังสือ, 387 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : กาเลหม่านไต เป็นหนังสือแนวสารคดีเชิงวิชาการเขียนขึ้นโดยใช้รูปแบบบันทึกการเดินทางประจำวัน ในวาระที่อาจารย์บรรจบ พันธุเมธา เดินทางไปค้นคว้า เรื่องของคนไทนอกประเทศ ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ในปี 2498 จุดมุ่งหมายดั้งเดิมของการเดินทางครั้งนี้ เพื่อศึกษา และสอบเทียบภาษาอาหม หนังสือเล่มนี้ จึงมีคุณค่าทางภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะภาษาถิ่นต่างๆ ของคนไทนอกประเทศแม้จะเป็นหนังสือบันทึกประสบการณ์ ในประเทศอินเดีย แต่เป็นท้องถิ่นชนบทไท บรรยากาศตลอดทั้งเล่ม จึงอวลกลิ่นอายวัฒนธรรมไทย ที่เราต่างรู้จักคุ้นเคย และส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติ จนถือเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

398.2 ส397น

สวัสดิ์ จันทนี. (2509). นิทานชาวไร่. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือสารคดี ที่เป็นเกร็ดความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ชีวประวัติบุคคล สถานที่ ประเพณี วิถีชีวิตคนไทยทั้งขุนนาง เจ้านาย และสิ่งละอันพันละน้อย เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญในอดีต โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว ที่ไม่มีบันทึกไว้ ในประวัติศาสตร์ทั่วไปนั้น อาจกล่าวได้ว่า นิทานชาวไร่ของนาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี เป็นหนังสือ ที่อุดมด้วยเกร็ดความรู้มากที่สุดเล่มหนึ่ง ทั้งยังอ่านสนุกน่าติดตามอีกด้วยเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ จะสะท้อนให้เห็นบางมุมของชีวิตบุคคลสำคัญ หรือเสริมให้เหตุการณ์นั้น มีชีวิตชีวา มีความหลากหลาย และฉายภาพความเป็นมนุษย์ออกมา ได้อย่างที่บุคคลนั้นพึงเป็น ไม่เสกสรรค์ปั้นแต่ง จนเหนือจริงเหนือโลกย์ ดังเช่นนักประวัติศาสตร์สมัยก่อนได้บันทึกไว้

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

934 ก268ภ

กรุณา กุศลาสัย. (2543). ภารตวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ศยาม, 440 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมภาษา วรรณกรรม วรรณคดี และการศึกษาของไทยที่สัมพันธ์กับของอินเดียไว้อย่างลงตัว โดยคำว่า ภารตวิทยา ตรงกับคำว่า Indology นี้มาจากคำ ภรต และคำว่า วิทยา ซึ่งหมายถึง วิชาที่เกี่ยวกับภารตะประเทศ หรือประเทศอินเดียโดย อารายธรรมอินเดียตามความรับรู้ของคนไทยนั้นล้วนแล้วแต่เป็นรากฐานของ อารยธรรมไทยทั้งสิ้น นอกจากที่หนังสือเล่มนี้จะให้ความรู้พื้นฐานอย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับประเทศอินเดียแล้วยังเหมาะกับผู้ที่สนใจจะศึกษาทางด้าน ภาษาและวรรณคดีที่น่าสนใจอีกด้วย

809 ส893ฟ

เสฐียรโกเศศ. (2528). ฟื้นความหลังพระยาอนุมานราชธน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เทียนวรรณ, 3 เล่ม

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสืออัตชีวประวัติของนักประพันธ์สามัญชน ผู้รอบรู้ด้านภาษา ศิลปวรรณคดี มานุษยวิทยา และวัฒนธรรม “ท่านพระยาอนุมานราชธน หรือเสฐียรโกเศศ” นอกจากจะกล่าวถึงชีวประวัติของท่านแล้ว สาระส่วนใหญ่นั้นเป็นการบันทึก ความรู้ในประสบการณ์ชีวิต เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสภาพบ้านเมือง และสิ่งแวดล้อมที่พลิกเปลี่ยนไป อีกทั้งยังทำให้ผู้อ่าน ได้รู้จักเข้าใจสังคมไทย ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีไทยมากขึ้น เป็นหนังสือประวัติสังคมที่บันทึกผ่านการเขียนอัตชีวประวัติที่ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

495.912 จ433ค

จิตร ภูมิศักดิ์. (2535). ความเป็นมาของคำสยามไทยลาว และ ขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ศยาม, 522 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เนื้อหาเกี่ยวกับที่มาของคำต่างๆ โดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของลักษณะเชื้อชาติ ลักษณะทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ต่างๆ ในแถบสุวรรณภูมิ ที่ปรากฏขึ้นในรูปภาษา ถือเป็นงานทางนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์สังคมที่มีความโดดเด่นอย่างมาก

920.72 อ534

อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. (2522). กรุงเทพฯ : ศึกษิตสยาม, 364 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสืออัตชีวประวัติของสตรีที่หาได้ยากเล่มหนึ่ง ที่เป็นการบันทึกความทรงจำของตน ยิ่งไปกว่านี้ หม่อมศรีพรหมา ยังเป็นกุลสตรี ผู้มีโอกาสเติบโตในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เคยไปอยู่ต่างประเทศที่รัสเซีย และภายหลังเป็นหม่อม หรือภริยาของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้บุกเบิกการเกษตรสมัยใหม่ และผู้ต่อสู้คัดค้านเรื่องการเก็บภาษีพรีเมี่ยมข้าวมายาวนาน ในฐานะคู่ทุกข์คู่ยาก จากเคยอยู่สบายมาผจญชีวิตยิ่งกว่าคนธรรมดาต้องประสบ ท่านได้เขียนหลักและวิธีการนำผลิตภัณฑ์จากฟาร์มทั้งเนื้อและผักมาแปรรูปและถนอมไว้ ทั้งหมดนี้เคยพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กสิกรเพื่อเผยแพร่แก่ชาวบ้านชาวไร่นาในสมัยนั้นมาแล้ว

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

920.71 ว525ป

วิจิตรมาตรา [สง่า กาญจนาคพันธุ์]. (2523). 80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ : บัณฑิตการพิมพ์, 639 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือพิเศษที่จัดพิมพ์ขึ้นสำหรับแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านผู้ประพันธ์เอง ประวัติของท่านได้สะท้อนให้เห็นสามสิ่งพร้อมๆกันคือ ประการแรก เราได้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมไทย และทางเลือกของคนไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงในระยะต่าง ๆ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมโลก   ประการที่สอง เห็นถึงกระบวนคิดของผู้คนในวงการชนชั้นปัญญาชนผู้มีบทบาทในการผลิตงานศิลปวัฒนธรรม ประการสุดท้าย งานชิ้นนี้ทำให้ได้เห็นถึงชีวิตของท่านผู้ประพันธ์เอง ผู้ซึ่งดำเนินชีวิตอย่างสงบ เรียบง่ายตรงไปตรงมาต่อความคิดและความรู้ของตนเอง

จ. ศาสนา, ปรัชญา
 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

922.943 ว151พ

วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. (2508). พระประวัติตรัสเล่า. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 85 แผ่น.

บรรณานิทัศน์ : พระประวัติตรัสเล่านี้ ตามเนื้อความที่ปรากฏนั้นเป็นทำนองทรงสอนศิษย์ให้ละชั่วให้เห็นพฤติดี ทรงแสดงถึงเหตุชั่วและเหตุดี ที่ได้ทรงประสพมาแล้ว โดยยกพระองค์ขึ้นเป็นตัวอย่าง ก็เป็นประโยชน์ในทางประพฤติปฏิบัติมาก นอกจากนี้ยังทรงเล่าถึงระเบียบการ ราชประเพณี ขนบธรรมเนียมของเจ้านาย และเหตุการณ์ทั่วๆไปของบ้านเมือง ทรงเทียบเคียงประเพณีของเจ้านายกับประเพณีทางพระพุทธศาสนาเป็นต้น และเมื่อว่าด้วยราชาศัพท์แล้ว หนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นตำราที่ดีทีเดียว จึงเป็นหนังสือที่อำนวยประโยชน์ทั้งทางด้านจารีตประเพณี ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์และความรู้ทั่วไป

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

294.382 ต941พ

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. (2526). พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 820 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เนื้อหาเกี่ยวกับความรู้เรื่องพระไตรปิฎก แนวคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะแก่ประชาชนแล้ว ยังนำประชาชนสู่พระไตรปิฎก คือ สร้างนิสัยปัจจัยจากฉบับนี้ สู่การมีฉันทะต่อการศึกษาปฏิบัติให้ลึกซึ้งขึ้น เข้าถึงธรรมสำหรับการดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท เช่น ข้อความที่แปลถึงฐานะ 5 ที่ควรพิจารณาเนืองๆ คือ ความธรรมดาที่บุคคลไม่ล่วงพ้นไปได้ ทั้งความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย การต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง และมีกรรม คือ การกระทำกับผลแห่งการกระทำเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

120 ส291ป

สมัคร บุราวาศ. (2540). ปัญญาวิวัฒน์ : กำเนิดและวิวัฒนาการแห่งปัญญาของมนุษยชาติในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศยาม, 925 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมเป็นการบรรยายวิวัฒนาการสืบต่อจากลัทธิดาร์วิน ตามหลักปัญจนิยามธรรมของพุทธศาสนา นำท่านผู้อ่านให้รุ้จักกับรากเง่าของวิทยาการในสมัยปัจจุบัน และช่วยให้ท่านเกิดญาณพิเศษ สามารถอ่านจิตใจของคนได้ รวมทั้งเกิดปัญญาล่วงรู้อดีตและอนาคตด้วย อันจะเป็นรากฐานแห่งการทำงานในทุกแขนงอาชีพ การบริหารธุรกิจ การค้า อุตสาหกรรม องค์กรสวัสดิการชุมชนทั้งส่วนบุคคลและส่วนรัฐ เหมาะสำหรับนักศึกษาทุกแขนงวิทยาการ พัฒนากรชุมชน ผู้ที่รักปัญญาและรักสัจธรรมโดยทั่วไป

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

294.34 พ335พ

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2544). พุทธธรรมฉบับเดิม. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 375 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : นำเสนอพุทธธรรมที่สำคัญ ถ่ายทอดในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักกับความหมายของชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นอย่างไร ชีวิตนั้นควรให้เป็นอย่างไร ต่อด้วยชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไรให้มีความสุข และอีกหลากหลาย แต่ละเรื่องราวได้ให้คำอธิบายโดยละเอียด ถ่ายทอดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน พร้อมบทสรุปชัดเจน ซึ่งคุณสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

294.34 พ831อ

พุทธทาสภิกขุ. (2525). อิทัปปัจจยตา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ธรรมทานมูลนิธิ, 528 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมหลักธรรมสำคัญที่ท่านพุทธทาสได้บรรยายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2515 ท่านได้ให้ความสำคัญแก่ "อิทัปปัจจยตา" ธรรมอันลึกซึ้ง เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ ข้อธรรมอันสำคัญยิ่งนี้บ่งบอกว่า "สิ่งทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินี้ๆ เป็นตัวธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างนี้ๆ" หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดก็ว่า "ความที่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น" ในอรรถธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าบัญญัติของศาสนาใด ย่อมอยู่ใต้บังคับบัญชาของ "กฎอิทัปปัจจยตา" ทั้งสิ้น ไม่มีกฎใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่า "กฎแห่งอิทัปปัจจยตา" นี้ได้เลย

ฉ. ธรรมชาติ, วิทยาศาสตร์  
 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

030 ท485ส

ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี,เจ้าพระยา. (2513). แสดงกิจจานุกิจ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 138 แผ่น.

บรรณานิทัศน์ : อธิบายเรื่องราวต่างๆ ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ โดยได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมตะวันตก ผสมผสานอิทธิพลของพุทธศาสนาหรืออ้างว่า เป็นตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ไม่ใช่เป็นตำราวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ด้านใดด้านหนึ่ง หากเป็นหนังสือที่แสดงทัศนะหลากหลาย อีกทั้งการนำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ของตะวันตกล้วนๆ หากมีทั้งส่วนของภูมิปัญญาเดิม ที่คนไทย และชาวตะวันออกเชื่อถือสืบต่อกันมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเส้นพรมแดนแห่งความรู้ดั้งเดิม (ศาสนาความเชื่อและประสบการณ์) ของคนไทย และชาวตะวันออก

610 พ958

แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์. (2495). พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : เป็นตำราแพทย์แผนโบราณ ฉบับหลวง มีที่มาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  นอกจากจะอุดมสมบูรณ์ด้วยองค์ความรู้ อันเป็นภูมิปัญญาตะวันออก และภูมิปัญญาไทย ด้านเวชศาสตร์ และสมุนไพรไทยแล้ว ยังเป็นหนังสือที่แฝงฝังไว้ด้วยปรัชญาที่มีคุณค่า โดยเฉพาะภาคนำว่าด้วย ฉันทศาสตร์ ในฉันทศาสตร์นี้ มีเนื้อหาข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างหลายประการ ที่สำคัญที่สุดซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ คือ คุณค่าทางด้านการแพทย์ แผนโบราณโดยตรง เพราะเป็นแหล่งที่แพทย์ จะสามารถนำไปวิเคราะห์ศึกษาว่า อาการเจ็บป่วยต่างๆ นั้น คนโบราณเห็นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และควรจะมีวิธีการรักษาอย่างไร ใช้สมุนไพรชนิดใดบ้าง   จึงเป็นทั้งหนังสือแสดงองค์ความรู้แห่งภูมิปัญญาไทย อันมีค่าอเนกอนันต์ และเป็นทั้งหลักปักเขตประกาศภูมิปัญญาไทย และภูมิปัญญาตะวันออก ด้านการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย 

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

591 บ582ธ

บุญส่ง เลขะกุล. (2539). ธรรมชาตินานาสัตว์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สารคดี, 3 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : เป็นการรวมบทความสั้นๆ เชิงสาระ ว่าด้วย ชีวิตของสัตว์ ความน่ารัก ความพิสดารของสัตว์ป่า สัตว์น้ำ นก แมลง และธรรมชาติต่างๆ รวมทั้งหมดกว่า 100เรื่อง ทุกเรื่องมีภาพวาดประกอบลายเส้นสวยงาม

หนังสือสารคดี พร้อม ผู้แต่ง

089.95911 ป365ข

ประยูร จรรยาวงศ์. (2541). ขบวนการแก้จน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บ้านและสวน, 2 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือชุดที่อุดมไปด้วยความรู้ด้านการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การประกอบอาชีพสารพันเรื่อง การแก้ไขปัญหาปากท้องนานาชนิด การรู้จักพึ่งตนเอง ลดรายจ่าย ประหยัดมัธยัสถ์ รวมตลอดไปจนการทำอาหาร และขนมให้อร่อย ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อผู้อ่านและเป็นแนวทางสู้ชีวิตของคนยากจน