มาตรการรักษาความมั่นคง ปลอดภัย ข้อมูลส่วน บุคคล

มาตรการรักษาความมั่นคง ปลอดภัย ข้อมูลส่วน บุคคล

20 มิ.ย.2565 - เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเรื่อง มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๕

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ าที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประกาศกำหนด เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระยะแรกที่กฎหมายมีผลใช้บังคับมีความเหมาะสม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ (๔) และมาตรา ๓๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

T_0028

ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ประกาศข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยบังคับใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงาน หรือกิจการตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล[1] ซึ่งควรครอบคลุมถึงมาตรการป้องกันด้านการบริหารจัดการ (administrative safeguard) มาตรการป้องกันด้านเทคนิค (technical safeguard) และมาตรการป้องกันทางกายภาพ (physical safeguard) ในเรื่องการเข้าถึงหรือควบคุมการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล (access control) โดยอย่างน้อย ต้องประกอบด้วยการดำเนินการดังต่อไปนี้
  • การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและอุปกรณ์ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลโดยคำนึงถึงการใช้งานและความมั่นคงปลอดภัย
  • การกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตหรือการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
  • การบริหารจัดการการเข้าถึงของผู้ใช้งาน (user access management) เพื่อควบคุม การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว
  • การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ใช้งาน (user responsibilities) เพื่อป้องกัน การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดเผย การล่วงรู้ หรือการลักลอบทำสำเนาข้อมูล ส่วนบุคคล การลักขโมยอุปกรณ์จัดเก็บหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
  • การจัดให้มีวิธีการเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับการเข้าถึง เปลี่ยนแปลง ลบ หรือถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องเหมาะสมกับวิธีการและสื่อที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  1. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องแจ้งมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้แก่บุคลากร พนักงาน ลูกจ้างหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ รวมถึง สร้างเสริมความตระหนักรู้ด้านความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับกลุ่มบุคคลดังกล่าว ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอาจเลือกใช้มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่แตกต่างไปจากประกาศฯ ฉบับนี้ได้ หากมาตรฐานดังกล่าวมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในประกาศฯ นี้

[1] “ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า การธำรงไว้ซึ่งความลับ (confidentiality) ความถูกต้องครบถ้วน (integrity) และสภาพพร้อมใช้งาน (availability) ของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ

แนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ประกาศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565

กรมพัฒนาที่ดิน (ต่อไปเรียกว่า “กรม”)  กำหนดกรอบการทำงานเป็นขั้นตอนการปฏิบัติของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล  (Data Controller) โดยอ้างอิงจากมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่องหน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้

มาตรา 37 (1)จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ และต้องทบทวนมาตรการดังกล่าวเมื่อมีความจำเป็นหรือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

กรม ให้ความหมายของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้

1)  การธำรงไว้ซึ่งความลับ (Confidentiality)

2)  ความถูกต้องครบถ้วน (Integrity) และ

3)  สภาพพร้อมใช้งาน (Availability) ของข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ

โดยกรม จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. มาตรการป้องกันด้านการบริหารจัดการ (Administrative Safeguard)

1.1  การออกระเบียบ วิธีปฏิบัติ สำหรับควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและอุปกรณ์ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลโดยคำนึงถึงการใช้งานและความมั่นคงปลอดภัย เช่น กำหนดให้มีบันทึกการเข้าออกพื้นที่ กำหนดให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจสอบผู้มีสิทธิผ่านเข้าออก มีการกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าถึง

ทั้งนี้ความเข้มข้นของมาตรการ ให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยง หรือ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ถูกแก้ไข ถูกคัดลอก หรือ ถูกทำลาย โดยมิชอบ

1.2 การกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตหรือการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน (User Responsibilities) แบ่งเป็น รูปแบบต่าง ๆ เช่น สิทธิในการเข้าดู แก้ไข เพิ่มเติม เปิดเผยและเผยแพร่ การตรวจสอบคุณภาพข้อมูล ตลอดจนการลบทำลาย

2. มาตรการป้องกันด้านเทคนิค (Technical Safeguard)

2.1  การจัดให้มีวิธีการเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับการเข้าถึง เปลี่ยนแปลง ลบ หรือถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องเหมาะสมกับวิธีการและสื่อที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

2.2  การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาต ตามระดับสิทธิการจัดการข้อมูล ได้แก่ การนำเข้า เปลี่ยนแปลง แก้ไข เปิดเผย ตลอดจนการลบทำลาย

2.3  การจัดให้มีระบบสำรองและกู้คืนข้อมูล เพื่อให้ระบบ และ/หรือ บริการต่าง ๆ ยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

3. มาตรการป้องกันทางกายภาพ (Physical Safeguard) ในเรื่องการเข้าถึงหรือควบคุมการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล (Access Control)

3.1  การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและอุปกรณ์ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลโดยคำนึงถึงการใช้งานและความมั่นคงปลอดภัย เช่น มีบันทึกการเข้าออกพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพื้นที่ มีระบบกล้องวงจรปิดติดตั้ง มีระบบผ่านเฉพาะผู้มีสิทธิเข้าออก

ทั้งนี้ความเข้มข้นของมาตรการ ให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยง หรือ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ถูกแก้ไข ถูกคัดลอก หรือ ถูกทำลาย โดยมิชอบ

3.2  การกำหนดผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์จัดเก็บหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ตามหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดเผย การล่วงรู้ หรือการลักลอบทำสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล การลักขโมยอุปกรณ์จัดเก็บหรือประมวลผลข้อมูล
ส่วนบุคคล การลักลอบนำอุปกรณ์เข้าออก

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรา 37 (2)ในกรณีที่ต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ

กรม จัดให้มีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. การประเมินก่อนส่งมอบข้อมูล

1.1  ให้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิ อำนาจหน้าที่ และฐานกฎหมายที่บุคคล และ/หรือ นิติบุคคลรายอื่นนั้นใช้เพื่อร้องขอข้อมูลส่วนบุคคล

1.2  ให้สอบถามวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลไปใช้งานเพื่อให้สามารถประเมินว่าควรสำเนาข้อมูลให้ในระดับรายละเอียดเท่าใด (เช่น จำเป็นต้องทราบวัน-เดือน-ปีเกิด หรือบ้านเลขที่ หรือไม่ หรือเพียงปี พ.ศ. เกิด และ รหัสไปรษณีย์ ก็เพียงพอ) และจำเป็นต้องทราบข้อมูลที่ชี้จำเพาะบุคคล (เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัว 13 หลัก) หรือไม่ หากแปลงข้อมูลที่ชี้จำเพาะบุคคลแทนด้วยรหัสใหม่ที่เป็นนิรนามจะเพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์หรือไม่ 

2. เมื่อส่งมอบข้อมูล

2.1  จัดเตรียมข้อมูลใหม่จากข้อมูลดิบให้มีระดับรายละเอียดเท่าที่จำเป็นต่อจุดประสงค์การใช้งาน

2.2  ส่งมอบข้อมูล พร้อมทำการบันทึกชื่อผู้ขอข้อมูล ข้อมูลสำหรับติดต่อ วัน-เดือน-ปี ที่ให้ข้อมูล ฐานกฎหมายที่ใช้สำหรับเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนวัตถุประสงค์การนำไปใช้งาน

2.3  แจ้งให้บุคคล หรือ นิติบุคคลนั้น ทราบว่าเมื่อรับข้อมูลไปแล้ว ผู้รับข้อมูลจะต้องดำเนินการตามหน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับข้อมูลชุดที่ร้องขอไปนั้นเช่นเดียวกัน ตามขอบเขตและวัตถุประสงค์การใช้งานที่แจ้งไว้

3. หลังส่งมอบข้อมูล

3.1  ติดตามการใช้งานเป็นครั้งคราว เช่น ทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อบันทึกสถานะล่าสุดในการใช้งานข้อมูลนั้น หากไม่มีความจำเป็นใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้เดิม ควรแจ้งให้บุคคล หรือ นิติบุคคลนั้น ลบทำลายข้อมูล

3.2  กำหนดวิธีการในการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยต่อการใช้งานของผู้ใช้อยู่เสมอ เช่น มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเชื่อมต่อปรับปรุงให้ข้อมูลต้นทางและปลายทางมีความทันสมัยเท่ากันโดยอัตโนมัติตลอดเวลา

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรา 37 (3) จัดให้มีระบบการตรวจสอบเพื่อดำเนินการลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการเก็บรักษา  หรือที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลนั้น   หรือตามที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลร้องขอ   หรือที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ถอนความยินยอม เว้นแต่เก็บรักษาไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการเก็บรักษาไว้เพื่อวัตถุประสงค์ตามมาตรา  24 (1)  หรือ (4)  หรือมาตรา 26 (5) (ก) หรือ (ข)  การใช้เพื่อการก่อตั้งสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย  การปฏิบัติตามหรือการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือการยกขึ้นต่อสู้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้นำความใน มาตรา 33 วรรคห้า มาใช้บังคับกับการลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคลโดยอนุโลม

กรม จัดให้มีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. ติดตามสม่ำเสมอ (เช่น ทุกสัปดาห์ หรือ ทุกเดือน) ว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความดูแลของตนนั้น (ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล) มีรายการหรือมีชุดข้อมูลใดที่พ้นกำหนดระยะเวลาการเก็บรักษาหรือไม่ (ตามที่แจ้งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) ไว้ในประกาศความเป็นส่วนตัว (Privacy Notice) หรือ ตามที่ขอความยินยอมไว้) ทั้งนี้เพื่อดำเนินการลบทำลายหรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคล
เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ ตามแต่กรณี

2. กรณีเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลขอใช้สิทธิให้ลบทำลายข้อมูล (หรือขอถอนความยินยอม)
และผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้ฐานความยินยอมในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล เช่นนี้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องดำเนินการลบทำลายหรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ ตามแต่กรณี

3. การลบทำลายข้อมูล หรือ การทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ อาจยกเว้นไม่กระทำก็ได้ในกรณีผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีเหตุผลความจำเป็นที่เหนือกว่าสิทธิของเจ้าของข้อมูล เช่น

3.1  เพื่อวัตถุประสงค์การจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์หรือจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะ การศึกษาวิจัยหรือสถิติ

3.2  เพื่อการสร้างประโยชน์สาธารณะตามหน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายนั้น

3.3  เพื่อประเมินความสามารถในการทำงานของลูกจ้าง  การวินิจฉัยโรคทางการแพทย์
การให้บริการด้านสุขภาพหรือด้านสังคม การรักษาทางการแพทย์ การจัดการด้านสุขภาพ หรือระบบและการให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์

3.4  การป้องกันด้านสุขภาพจากโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดที่อาจติดต่อหรือแพร่เข้ามาในราชอาณาจักร หรือการควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพของยา เวชภัณฑ์ หรือเครื่องมือแพทย์

ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีมาตรการดูแลข้อมูลที่เหมาะสมและเจาะจงเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะการรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลตามหน้าที่หรือตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรา 37 (4)แจ้งเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแก่สำนักงานโดยไม่ชักช้าภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง นับแต่ทราบเหตุเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เว้นแต่การละเมิดดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล  ในกรณีที่การละเมิดมีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ
ของบุคคล   ให้แจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบพร้อมกับแนวทางการเยียวยา
โดยไม่ชักช้าด้วย ทั้งนี้ การแจ้งดังกล่าวและข้อยกเว้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

กรม จัดให้มีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. กำหนดตัวพนักงานผู้รับผิดชอบกิจกรรมและวิธีการแจ้งเหตุละเมิดให้แก่ตัวแทนของกรมให้ชัดเจน เช่น การส่งอีเมลล์ และ แจ้งทางโทรศัพท์กรณีเป็นเหตุละเมิดที่มีความรุนแรงและเร่งด่วน

2. กำหนดวิธีปฏิบัติให้ตัวแทนกรมต้องดำเนินการแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูล
ส่วนบุคคล ทราบถึงเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้ภายใน 72 ชั่วโมง (นับแต่ทราบเหตุ)

3. การแจ้งเหตุละเมิดอาจได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการก็ได้ หากไม่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตัวอย่างการประเมินความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เช่น

3.1  ตัวอย่างกรณีความเสี่ยงต่ำ: ข้อมูลส่วนบุคคลถูกเข้ารหัส (ไม่สามารถเปิดอ่านได้หากไม่ทราบรหัสผ่าน) ถูกซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) เข้ารหัสจนไม่สามารถใช้งานได้ และไม่ได้ถูกโจรกรรมข้อมูลออกไป อย่างไรก็ตามผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีระบบสำรองรองรับการบริการได้อย่างต่อเนื่อง กรณีนี้ถือได้ว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการเพียงบันทึกเหตุการณ์ไว้ (เป็นการภายใน) ก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบ และ ไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ

3.2  ตัวอย่างกรณีความเสี่ยงสูง: เว็บไซต์รับสมัครงานออนไลน์ถูกละเมิด โดยผู้โจมตีทำการฝังมัลแวร์เพื่อเข้าถึงข้อมูลใบสมัครงานออนไลน์ (ตรวจพบ 1 เดือนหลังมัลแวร์ถูกติดตั้ง) เนื้อหาข้อมูลเป็นข้อมูลทั่วไปเพื่อการสมัครงาน อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เช่นนี้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องดำเนินการบันทึก (เป็นการภายใน) ว่าเคยมีเหตุโจรกรรม พร้อมทั้งแจ้งเหตุดังกล่าว (ภายใน 72 ชั่วโมง) ไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบ และ ยังต้องแจ้งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบด้วย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มาตรา 37 (5) ในกรณีที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 5 วรรคสอง ต้องแต่งตั้งตัวแทนของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหนังสือซึ่งตัวแทนต้องอยู่ในราชอาณาจักรและตัวแทนต้องได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่มีข้อจำกัดความรับผิดใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

 หน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลในข้อนี้ ยังไม่มีความจำเป็นที่ กรมพัฒนาที่ดิน ต้องดำเนินการใด ๆ

เวอร์ชันเอกสาร 1/2565