ล้าน นา โปร ดัก ส์ ว่า ซา บิ

บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด

LANNA PRODUCTS COMPANY LIMITED

สถานะ ยังดำเนินกิจการอยู่
วันที่จดทะเบียน 1 กุมภาพันธ์ 2532
ทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท

สมาชิก dataforthai.com สามารถดูข้อมูลการติดต่อเพิ่มเติมได้

สมัครสมาชิกฟรี


ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อว่า “เจโทร” ได้ทำการสำรวจความนิยมในการบริโภคอาหารญี่ปุ่นของคนไทย

พบว่าปี 2564 ในประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด 4,370 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.7% แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯทั้งหมด 2,073 ร้าน ในต่างจังหวัด 2,297 ร้าน เมื่อธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตขึ้นส่งผลดีกับผู้ขายวัตถุดิบ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ 3 ทายาท “บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด” จ.ลำพูน ผู้ผลิต “วาซาบิ” รายแรกของไทย “นรา โกวิทยา” กรรมการผู้จัดการ ในฐานะพี่ชายคนโตของครอบครัว พร้อมน้องสาวฝาแฝด “นลินี-นีรชา โกวิทยา” ผู้จัดการฝ่ายบัญชี-การเงิน

และผู้จัดการฝ่ายการตลาดและออนไลน์ ที่ร่วมสานต่อธุรกิจผลิตและส่งออกวาซาบิ ที่พ่อ “ปรีชา โกวิทยา” ตั้งต้นไว้เมื่อ 33 ปีที่ผ่านมา ถึงมุมมองและการลงทุนก้าวต่อไป ที่ปัจจุบันสร้างยอดขาย 500 ล้านบาท/ปี

OEM 30 แบรนด์ยักษ์

นรากล่าวว่า การเข้ามาสานต่อธุรกิจวาซาบิที่พ่อได้สร้างฐานไว้ 33 ปี ถือเป็นงานท้าทายของรุ่นลูกที่ต้องทำให้ธุรกิจมีการเติบโตยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันมุ่งแตกไลน์ ต่อยอดธุรกิจวาซาบิ และเพิ่มไลน์ธุรกิจใหม่ด้านค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์

หลังเรียนจบด้าน bio จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ามาช่วยงานของพ่ออย่างเต็มตัว ส่วนน้องสาวฝาแฝดเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านบริหารธุรกิจ และมนุษยศาสตร์ภาษาจีน

ปัจจุบันกล่าวได้ว่า บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นผู้นำด้านวาซาบิแบบครบวงจรอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีพื้นที่ปลูกวาซาบิในประเทศอินโดนีเซียราว 10,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกของบริษัทเอง 1,000 ไร่ และอีก 9,000 ไร่ บริษัทได้ทำระบบเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกร

นลินีกล่าวเสริมว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องไปใช้แหล่งปลูกวาซาบิที่ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขาสูง อากาศเย็น คงที่ตลอดปี ซึ่งต้นวาซาบิจะเจริญเติบโตและปลูกได้ดีในสภาพอากาศเย็นเท่านั้น ประกอบกับสภาพดินบริเวณที่ปลูกเป็นดินภูเขาไฟซึ่งมีแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นสารอาหารสำคัญ

ทำให้วาซาบิเจริญเติบโตได้ดีและมีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังมีความสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบทางเรือจากประเทศอินโดนีเซียมายังประเทศไทย โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะส่งกลับมาที่โรงงานของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน เพื่อผลิตสินค้ากลุ่มวาซาบิ ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 20-30 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 100,000 ซองต่อวัน

นรากล่าวต่อว่า ตลาดวาซาบิในประเทศไทยมีขนาดใหญ่ เฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นมีมากกว่า 4,000 ร้าน เป็นตลาดกลุ่มเฉพาะหรือนิชมาร์เก็ต (niche market) โดยบริษัทเน้นรับจ้างผลิต (OEM) เป็นหลักให้ลูกค้า 30 บริษัทนำไปใส่แบรนด์สินค้าของตัวเอง

และนำไปจัดจำหน่ายต่อให้กับโมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ต เซเว่นอีเลฟเว่น และร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วประเทศ รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ดังรายใหญ่ อาทิ ฟูจิ จะดิวกับบริษัทโดยตรงเพื่อให้บริษัทผลิตสินค้าแบบ OEM เช่นกัน ซึ่งบริษัทมีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล เชื่อถือได้ในเรื่องคุณภาพที่หลายแบรนด์ไว้วางใจ

นอกจากนี้ทางบริษัทยังเป็น partner กับ 3 บริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ อาทิ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จํากัด, บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งได้นำวาซาบิแบบซองของบริษัทภายใต้แบรนด์ “ลานนา” บรรจุในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเพื่อจำหน่าย

สำหรับภาพรวมตลาดวาซาบิของบริษัทในปัจจุบัน แบ่งเป็นสัดส่วนตลาดในประเทศ 40% และส่งออกต่างประเทศ 60% มียอดขายต่อปีราว 500 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอินเดีย เป็นต้น

ต่อยอด “ซอส” สู่อาหารทุกชาติ

นลินีกล่าวว่า นอกจากวาซาบิซึ่งเป็นธุรกิจหลักแล้ว บริษัทยังผลิตสินค้ากลุ่มอาหารอีกหลายประเภท อาทิ มัสตาร์ด เครื่องเทศ ผักและผลไม้แช่แข็ง ข้าวโพดหวาน และถั่วแระญี่ปุ่นแช่แข็ง (frozen) เป็นต้น

ล่าสุดได้แตกไลน์สินค้ากลุ่มซอสภายใต้แบรนด์ “ลานนาโปรดักส์” ใช้รับประทานกับอาหารได้หลากหลายสัญชาติ โดยไม่จำกัดเฉพาะอาหารญี่ปุ่น ได้แก่ วาซาบิมายองเนส, วาซาบิ (รูปแบบหลอดบีบ) ศรีราชามายองเนส (มายองเนสผสมซอสพริก), เปปเปอร์มายองเนส, ซอสมัสตาร์ด (เยลโลว์ มัสตาร์ด โฮลเกรนมัสตาร์ด) และค็อกเทลซอส

ทั้งนี้ การมีสินค้าที่หลากหลายขึ้นจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดและขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มซอสจะตอบโจทย์ทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารฝรั่ง อาหารไทย อาหารจีน ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องดื่มที่บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย คือ “เครื่องดื่มวาซาบิ” ที่เตรียมผลิตออกสู่ตลาดอีกไม่นานนี้

นีรชากล่าวว่า ด้านการตลาดเน้นหาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ตลาดวาซาบิมีการขยายตัวอย่างมาก โดยช่วงสถานการณ์โควิดปีแรก ภาพรวมตลาดยอดขายสินค้าลดลง มีการยกเลิกออร์เดอร์ เพราะคนวิตกกังวล ไม่ออกมาจับจ่ายหรือรับประทานอาหารนอกบ้าน บริษัทปรับแผนมาทำตลาดออนไลน์ ทำให้ยอดขายเริ่มกลับมา หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย

ขณะนี้ยอดขายเติบโตขึ้น 10-20% และมุ่งทำตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งผ่านช่องทางไลน์ เพจเฟซบุ๊ก Shopee Lazada TikTok อาลีบาบา เป็นต้น ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนขยายตลาดผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตและโมเดิร์นเทรดเร็ว ๆ นี้

ผุดคอมมิวนิตี้มอลล์-อสังหาฯพันไร่

นรากล่าวถึงแผนงานในระยะต่อไปว่า บริษัทเตรียมขยายธุรกิจใหม่ เป็นการแตกไลน์จากธุรกิจอาหารไปสู่ segment ด้านค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ โดยโครงการแรกเตรียมทำคอมมิวนิตี้มอลล์ภายใต้ชื่อ “วาซาบิ พาร์ค” (Wasabi Park) บนถนนสายมหิดล (ถนนอ้อมเมือง) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ติดกับโรงเรียนวารี โครงการมีพื้นที่ทั้งหมด 5 ไร่ มูลค่าการลงทุนราว 100 ล้านบาท (เฉพาะค่าก่อสร้างและการตกแต่ง)

โดยที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็น land bank ของบริษัท มีจำนวนราว 20-30 ไร่ โดยแบ่งมาทำโครงการวาซาบิ พาร์ค 5 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลือเตรียมพัฒนาโครงการอื่น ๆ ในอนาคต

สำหรับการขยายไลน์มาสู่โครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ เริ่มต้นมาจากแนวคิดการอยากมีหน้าร้านในการทำร้านอาหารญี่ปุ่นและคาเฟ่เพื่อรองรับสินค้ากลุ่มวาซาบิ รวมถึงการทำ office building ของบริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด ในจังหวัดเชียงใหม่

และต้องการทำคอมมิวนิตี้เล็ก ๆ มีร้านค้าราว 20 ยูนิต รองรับกลุ่มลูกค้าโรงเรียนวารีและมงฟอร์ต ที่มีทั้งนักเรียน ผู้ปกครองมารอรับลูก สามารถมีจุดแวะพักและใช้บริการ รวมถึงรองรับลูกค้าทั่วไปที่อาศัยอยู่บนถนนสายนี้

ภายในโครงการประกอบด้วยร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านกาแฟที่บริษัททำเอง มี co-working space โรงเรียนสอนพิเศษ ร้านอาหาร ร้านทำเล็บ และมีฟาร์มทดลองปลูกวาซาบิ

โดยโครงการ “วาซาบิ พาร์ค” (Wasabi Park) เป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ สไตล์มินิมอล-มูจิ และมีจุดขายหลักเป็นโครงการ Pet Friendly สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาภายในโครงการได้ โดยแบ่งโซนพื้นที่ 1 ไร่สำหรับสัตว์เลี้ยง

นรากล่าวต่อว่า บริษัทยังมีแผนทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ภายใน 5 ปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและศึกษาตลาด ซึ่งบริษัทมีที่ดินเก่าเก็บในจังหวัดลำพูนเป็น land bank ราว 1,000 ไร่ คาดว่าจะทำเป็นบ้านจัดสรรแนวราบ เพื่อรองรับตลาดที่อยู่อาศัยที่มีดีมานด์เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของจังหวัดลำพูน ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต

เป็นก้าวรุกของ “ลานนาโปรดักส์” กับพลังของ 3 ทายาทวาซาบิ ที่จะต่อยอดธุรกิจที่พ่อสร้างไว้ ให้เติบโตในอนาคต

  • พายุโนรู ถล่ม 4 จังหวัดอีสาน “อำนาจเจริญ-ศรีสะเกษ-ยโสธร-อุบลฯ” อ่วม
  • หวั่นเวียดนามฮุบตลาดจีน หมดยุคผูกขาดทุเรียนไทย