ผลกระทบ จาก Digital Banking

ถ้าถามว่าใน Digital Disruption ที่เข้ามานั้น อุตสาหกรรมอะไรที่โดนก่อน และต้องปรับตัวอย่างหนัก คำตอบที่ได้ จากที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น อุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะสถาบันทางการเงินที่จำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่เรียกได้ว่าต้องวิ่งมาราธอนกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่หันมาให้บริการทางการเงิน ทำหน้าที่ราวกับสถาบันการเงิน ที่ให้ผู้คนให้เข้าถึงบริการทางการเงินกันได้อย่างง่ายดายขึ้น 

ผลกระทบ จาก Digital Banking

ทุกวันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเพียงแค่สถาบันการเงินช่องทางเดียวอีกต่อไป เพราะในยุคนี้แทบจะทุกแอปพลิเคชันที่เรารู้จักและใช้งานในชีวิตประจำวันต่างก็มีบริการทางการเงินรองรับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น GrabPay, ShopeePay, True Money หรือแม้กระทั่ง LINE และ Facebook ก็มีการสร้างฟีเจอร์สำหรับบริการทางการเงิน 

จะเห็นได้ว่า Digital Banking หรือบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล จะเข้ามาแย่งพื้นที่การบริการแบบเดิม ๆ ไปได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นทุก ๆ วัน และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาสนใจใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้อนาคตเราต้องแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้สามารถให้บริการทางการเงิน แบบไม่ต้องพึ่งพาธนาคารได้ 

เทคโนโลยี ทำให้ บทบาทบริการทางการเงิน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ธนาคาร

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Neobank มาก่อน ซึ่งคำว่า Neobank ก็คือ บริษัท FinTech ที่เข้ามาให้บริการซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้าน Mobile banking และ Online banking โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริการทางด้านการเงิน เช่น เปิดบัญชีเงินฝาก ถึงแม้ว่าบริการเหล่านี้จะมีความโปร่งใส และว่องไวกว่าการทำงานของธนาคารรายใหญ่ ๆ บางราย 

นอกจากนี้บางบริษัท FinTech เหล่านี้ก็เริ่มร่วมมือกับธนาคาร หรือสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิม เพื่อขยายฐานลูกค้า และดึงความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของพวกเขา

ซึ่งการเข้ามาของ Neobank ในอุตสาหกรรมการเงิน มักถูกเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่โดยบริการดิจิทัลเข้ามา Disrupt อย่าง Airbnb ที่เข้ามาปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมที่พัก หรืออย่าง Grab และ Uber ที่เข้ามาเปลี่ยนในส่วนของบริการขนส่ง ส่วน FinTech ก็เช่นกันที่จะเข้ามาเปลี่ยนบริการทางการเงินให้เป็นไปในรูปแบบที่สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลจาก Exton Consulting บริษัทด้านยุทธศาสตร์และการจัดการบริการทางการเงินจากฝรั่งเศส ระบุว่า ในปี 2020 มีบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็น Neobank อยู่ 256 แห่งทั่วโลกแล้ว

ต้องยอมรับว่าการผุดขึ้นมาของบริษัท FinTech และบริษัทอื่น ๆ ที่ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทาง API (Application Programming Interface) ซึ่ง API นี้จะมีประโยชน์ตรงที่โปรแกรมซอฟต์แวร์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรมอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถรับส่งข้อมูลข้าม Server ได้ ทำให้ในแต่ละเว็บไซต์ หรือแอพลิเคชันสามารถทำงานได้หลายฟีเจอร์ หลายรูปแบบนั่นเอง เช่น แพลตฟอร์มของ Grab ที่มีทั้งบริการ GrabMart, GrabGroceries รวมทั้ง GrabPay ทั้งนี้ ที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ หันมาใช้ API ก็เพื่อจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตัวเอง ดังนั้น ด้วยบริการทางการเงินบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินดั้งเดิมเต็ม ๆ 

กรณีศึกษาในต่างประเทศอย่าง Mashreqbank PSC หนึ่งในธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ปรับตัวเองมาให้บริการในช่องทาง Digital Banking อย่างเดียว โดยธนาคารนี้จะปิดตัวสาขาต่าง ๆ ในประเทศ เพราะมองว่าเทรนด์การใช้บริการทางการเงินของคนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดนเฉพาะหนุ่มสาวที่หันมาพึ่งเทคโนโลยีเป็นหลัก และจำนวนผู้เข้าใช้งานในสาขาของธนาคารที่ลดลงทุกวัน

หรือแม้แต่ Visa ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตอันดับต้นๆของโลก ที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการ Tink แพลตฟอร์ม API หรือ Application Programming Interface ในยุโรป ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน และใช้งานบริการทางการเงินอัจฉริยะ (Smart financial service) ซึ่งทาง Tink เองก็ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ทำงานร่วมกับธนาคารและสถาบันทางการเงินมากกว่า 3,400 แห่ง อีกทั้งยังให้บริการกับลูกค้าหลายล้านคนทั่วยุโรป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานของ Open Banking 

แพลตฟอร์มรอบตัวมีใครขยายบริการ รับบทแบบเดียวกับธนาคารบ้าง ?

ตัวอย่างสำคัญที่เราเห็นได้ในประเทศไทย คือ LINE BK ซึ่งเกิดมาจากความร่วมมือของแอปพลิเคชันแชทสื่อสารชื่อดังระดับโลกอย่าง LINE กับธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2563 ซึ่ง LINE BK ถือเป็น Social Banking เต็มรูปแบบรายแรกของเมืองไทย ที่มาพร้อมบริการทางการเงินที่หลากหลาย ทั้ง บัญชีเงินฝาก, บัญชีเงินออมดอกพิเศษ, บัตรเดบิต, และวงเงินให้ยืม ซึ่งทุกอย่างสามารถใช้งานแสร็จ จบในแอปฯ เดียว โดยปัจจุบันนี้ทาง LINE BK ก็มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 2.8 ล้านบัญชี (ข้อมูลเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564)

นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการรับ-ส่งและเดลิเวอรี่อย่างทาง Grab ที่ปัจจุบันก็ได้มีบริการ GrabPay มาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าของ Grab เช่นกัน และครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของ KBank กับทาง Grab Financial Group ในการดำเนินการของ GrabPay และด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกับทาง LINE ทาง GrabPay ก็พร้อมที่จะให้บริการครบ จบในที่เดียวสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการของ Grab โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นจะต้องพกเงินสดติดตัวเวลาใช้บริการจากทาง Grab หรือใช้บริการอื่น ๆ เช่น จ่ายบิล ชำระเงินร้านค้า และเติมเงินโทรศัพท์

รวมทั้ง Dolfin ที่เป็นกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet ภายใต้การบริหารของ บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค จำกัด (Central JD FinTech) โดยเมื่อปี 2020 ยังได้จับมือกับทาง KBank เพื่อให้สินเชื่อส่วนบุคคลบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบผ่านแอปฯ Dolfin และสามารถใช้บริการทางการเงินบน Dolfin ในการช้อปปิ้งกับร้านค้าชั้นนำในเครือเซ็นทรัลและร้านค้าพันธมิตรได้

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าบางบริการ ทั้งธนาคารและแพลตฟอร์มก็ยังคงพาร์ทเนอร์ซึ่งกันและกัน

กรณีศึกษาของต่างประเทศ ที่ธนาคารถูกแทนที่ไปแล้ว 

จากการศึกษา และรวบรวมข้อมูลพบว่ามีธนาคารในหลากหลายประเทศที่บางธนาคารเปลี่ยนไปให้บริการธนาคารแบบดิจิทัลมักจะสามารถเอาชนะคู่แข่ง และขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศเสมอ

ตัวอย่างเช่น Kakao Bank ของเกาหลีใต้ ซึ่งได้เปิดตัวบริการทางการเงินแบบดิจิทัลไปเมื่อปี 2017  ที่เตรียมขาย IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และดันมูลค่าบริษัทขึ้นเป็นธนาคารอันดับที่ 3 ของเกาหลีใต้ทันที โดยบริการ Digital Banking นั้นทำให้ธนาคารเติบโตได้รวดเร็วขึ้นจนสามารถแซงหน้าธนาคารคู่แข่งอื่น ๆ ในประเทศไปได้ ด้วยการบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้สามารถลดต้นทุนในเรื่องของงานบริการตามสาขา 

สำหรับการระดมทุนของ Kakao Bank ในครั้งนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ในการพัฒนาบริการ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับลูกค้า และจะนำไปเพื่อเข้าซื้อกิจการ FinTech อื่น ๆ ในประเทศ ทำให้ธนาคารแบบดั้งเดิมในเกาหลีใต้ต้องเป็นกังวลกับแผนที่ทาง Kakao จะขยายธุรกิจออกไปไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศ 

ในขณะเดียวกันทางธนาคารดั้งเดิมได้ให้ความเห็นว่า อย่างไรก็ตาม Kakao Bank ก็จะต้องไปต่อสู้กับบริษัท FinTech อื่น ๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อธนาคารเปลี่ยนรูปแบบไป ธุรกิจ FinTech และบริการทางการเงินดิจิทัลก็จะเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นที่ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้ ธนาคารแบบดั้งเดิมเริ่มมีที่ยืนน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น Rakuten Group Inc. ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ที่เป็นรูปแบบ e-Commerce คล้ายกับ Amazon ที่รุกเข้าตีตลาดธนาคารในญี่ปุ่นแล้ว โดยมีบริการปล่อยกู้ เพื่อแย่งลูกค้าจากธนาคารดั้งเดิมไปยังธนาคารออนไลน์ 

ธุรกิจของ Rakuten เติบโตรวดเร็วมาก โดยธุรกิจนี้สามารถขยายตัวได้กว่า 20% ในปีที่แล้ว และล่าสุดมียอดการใช้งานถึง 10 ล้านบัญชี ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาผู้ให้กู้ออนไลน์ของประเทศ มีเงินฝากเติบโตประมาณ 50% และในช่วงเวลาเดียวกันมีการเติบโตกว่า 5 ล้านล้านเยน (4.6 หมื่นล้านดอลลาร์) เทียบเท่ากับธนาคารระดับภูมิภาคขนาดกลางของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

การเติบโตของ Rakuten ในส่วนของการให้บริการทางการเงินนั้น ส่งผลให้ทางคู่แข่งซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารในภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น อย่าง Fukuoka Financial Group ที่กำลังเดินหน้าปรับตัวไปให้บริการแบบดิจิทัลเช่นกัน ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่หนุ่มสาวที่ใช้สมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ 

อย่างไรก็ตามจากกรณีศึกษาในประเทศไทยเอง ธนาคารต่าง ๆ ก็ออกมาพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อสานต่อไปเป็น Digital Banking รวมถึงการพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อให้สามารถให้บริการทางการเงินแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าทำไม ธนาคารถึงต้องทำทุกอย่าง พยายามเข้าไปอยู่ในทุกที่ที่มีลูกค้า และแทรกซึมอยู่ทุกอณูการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ขณะที่ต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่เห็นได้ชัด แม้แต่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดยังต้องปรับตัวไปสู่ Digital Banking จากการมาของคู่แข่งน่ากลัวที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่กลับเป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce เสียอย่างนั้น

ข้อมูลจาก  Bloomberg1, Businesswire, Nikkei Asia, Bloomberg2