บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก มีกี่องก์

ผู้แต่ง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นามแฝงว่าพระขรรค์เพชร พระองค์ทรงผูกเรื่องและทรงเรียบเรียงเอง

ลักษณะการประพันธ์ : เรื่องเห็นแก่ลูกแต่งเป็นบทละครพูด เป็นเรื่องขนาดสั้น มี ๑ องค์

ลักษณะการแต่ง
รัชกาลที่  ๖  ทรงผูกเรื่องอย่างรัดกุมและดำเนินเรื่องโดยใช้บทสนทนาของตัวละครโต้ตอบกัน ทำให้ทราบเรื่องราวที่ดำเนินไป และทราบเบื้องหลังของตัวละครแต่ละตัว นอกจากนี้ ยังทรงบรรยายกริยาท่าทางของตัวละครแต่ละตัวไว้ในวงเล็บ เพื่อช่วยให้นักแสดง แสดงตามบทได้สะดวกและสมบทบาทยิ่งขึ้น ภาษาที่ใช้ในบทละครนี้ ใช้คำพูดง่ายๆแต่ให้ความหมายคมคายลึกซึ้ง แม้ว่าบางคำที่มีใช้ในอดีตสมัย ๘๐-๙๐  ปีก่อนแต่ไม่มีใช้ในปัจจุบัน ผู้อ่านก็ยังพอเดาความหมายได้
พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เมื่อ พระชนมายุ ๘ พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรม ขุนเทพทวาราวดี และต่อมาทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร แทนสมเด็จพระบรมเชษฐา เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งสวรรคต และได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักปราชญ์ (ทรงได้รับการถวายพระ ราชสมัญญาว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) และทรงเป็นจินตกวีที่ทรงเชี่ยวชาญทาง ด้านอักษรศาสตร์โบราณคดี มีพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วร้อยกรองทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มากกว่า ๒๐๐ เรื่อง ทรงใช้นามแฝงต่างๆกัน เช่น อัศวพาหุ รามจิตติ ศรีอยุธยา พันแหลม นายแก้วนายขวัญ ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ วันที่ ๒๕  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมพระชนมพรรษา ๔๕ พรรษา

เรื่องย่อ
นายล้ำมาที่บ้านพระยาภักดีนฤนาถ มีอ้ายคำซึ่งเป็นคนรับใช้ของพระยาภักดีให้การต้อนรับ และนั่งคอยดูอยู่ห่างๆเนื่องจากไม่ไว้ใจเพราะเห็นสภาพของนายล้ำที่แต่งตัวปอนๆ ท่าทางดื่มเหล้าจัดจนเมื่อพระยาภักดีกลับมาบ้านได้พบนายล้ำจึงทำให้ทราบเรื่องราวของคนทั้งสอง จากการสนทนาโต้ตอบกันว่า เดิมนายล้ำเป็นเพื่อนกับพระยาภักดี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหลวงกำธร ส่วน นายล้ำเป็นทิพเดชะ นายล้ำมีภรรยา คือแม่นวล มีลูกสาวคือ แม่ลออ เมื่อแม่ลออมีอายุ ๒ ขวบ เศษ นายล้ำก็ถูกจำคุกเพราะทุจริตต่อหน้าที่ แม่นวลเลี้ยงดูลูกสาวมาตามลำพัง ก่อนตายจึงยก ลูกสาวให้เป็นลูกบุญธรรมของพระยาภักดี นายล้ำจำคุกอยู่ ๑๐ ปี ก็ออกจากคุกไปร่วมค้าฝิ่นอยู่ กับจีนกิมจีนเง็ก ที่พิษณุโลก พอถูกตำรวจจับได้ก็แก้ข้อกล่าวหาเอาตัวรอดฝ่ายเดียว ต่อมาก็ ตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว จึงตั้งใจจะมาอยู่กับแม่ลออ ซึ่งมีอายุ ๑๗ ปี กำลังจะแต่งงาน กับนายทองคำ แต่พระยาภักดีพยายามชี้แจงให้นายล้ำเห็นแก่ลูกสาวไม่ต้องการให้ถูกคนอื่น รังเกียจว่ามีพ่อเป็นคนขี้คุกและฉ้อโกง จนในที่สุดเสนอเงินให้ ๑๐๐ ชั่ง แต่นายล้ำก็ไม่ยอมเมื่อ แม่ลออกลับมาถึง นายล้ำจึงได้รู้จักกับแม่ลออและได้เห็นประจักษ์ว่าตนเลวเกินกว่าจะเป็นพ่อ ของแม่ลออ ซึ่งหล่อนได้วาดภาพพ่อไว้ในใจว่า พ่อเป็นคนดีที่หาที่ติไม่ได้เลย

ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
๑.ความดีความชั่วที่บุคคลได้กระทำลงไป อาจส่งผลช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆหลายประการ
๒.เหตุการณ์ที่กระทบใจมนุษย์ และมีผลให้มนุษย์แปรเปลี่ยนความตั้งใจไปได้อย่างตรงกันข้ามนั้น อาจเกิดได้โดยไม่ได้คาดฝัน และโดยมิใช่เจตนาของใครทั้งสิ้น
๓.ความรักและความภูมิใจที่บิดามีต่อบุตร ทำให้บิดายอมเสียสละให้แก่บุตรโดยไม่หวังผลตอบแทน ใดๆทั้งสิ้น
๔.ความรักอันบริสุทธิ์ที่บุคคล ๒ คนมีต่อกันนั้น จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะบุคคล ๒ คน เท่านั้น แต่อาจเผื่อแผ่ไปถึงบุคคลที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

แบบทดสอบบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก

๑. ข้อใดคือจุดประสงค์ที่แท้จริงที่นายล้ำมาพบแม่ลออ
ก.  อีกอย่างหนึ่งผมนึกว่าถ้ามีโอกาสจะได้พบแม่ลออบ้าง
ข.  ผมไม่ได้เห็นหล่อน ตั้งแต่หล่อนอายุได้ ๒ ปีเศษเท่านั้น  ผมก็อยากจะดูว่าเดี๋ยวนี้หล่อนจะเป็นยังไง
ค.   ผมไม่ต้องการเงินของคุณ ผมจะพบกับลูกผม
ง.  ผมไม่โง่นะเจ้าคุณ ถ้าให้ผมไปอยู่เสียกับลูกสาวผม เงินก็จะไม่เสียมาก

๒. “จะทำไมผม แหม! ทำเก่งจริงนะ เจ้าคุณน่ะแก่แล้วนะครับ จะประพฤติเป็นเด็กไปได้”  ข้อความนี้มีน้ำเสียงตรงกับข้อใดมากที่สุด
ก.  ยั่วยุ
ข.  เยาะเย้ย
ค. ดูถูก
ง. โกรธเกรี้ยว

๓.  “ก็ถ้าเมื่อพูดกันดี ๆ ไม่ชอบ  ก็ต้องพูดกันอย่างเดียรฉาน!”  ข้อความนี้มีการใช้ภาพพจน์ในข้อใด
ก.  อุปลักษณ์
ข.  อุปมา
ค.  สัญลักษณ์
ง.  สัทพจน์

๔. ข้อใดคือแนวคิดสำคัญของเรื่อง เห็นแก่ลูก
ก.  ความกตัญญูต่อผู้ที่มีพระคุณ
ข.  ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะกลับตัวเป็นคนดี
ค.  ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว
ง.  ความรักของพ่อที่มีต่อลูก

๕. คำกล่าวของแม่ลออที่ว่า “คุณพ่อกับคุณอาคงอยากคุยกันอย่างผู้ชาย ๆ สนุกกว่า” จากข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสังคมไทยเช่นไร
ก.  สังคมไทยให้ความสำคัญกับกิริยามารยาท
ข.  สังคมไทยให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา
ค.  สังคมไทยให้ความสำคัญกับการใช้เวลา
ง.  สังคมไทยให้ความสำคัญกับเพศชาย

อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ ๖-๘
    “เป็นคนอายุราว ๔๐ แต่หน้าตาแก่   ผมหงอกหน้าย่นมาก  แลจมูกออกจะแดง ๆ  เห็นได้ว่าเป็นคนกินเหล้าจัด  แต่งกายค่อนข้างจะปอน ๆ  แต่ยังเห็นได้ว่าได้เคยเป็นผู้ดีมาครั้งหนึ่งแล้ว”
๖. ข้อความนี้กล่าวถึงตัวละครในข้อใด
ก.  พระยาภักดีนฤนาถ
ข.  แม่ลออ
ค.  นายล้ำ
ง.  อ้ายคำ

๗. ข้อความนี้ใช้โวหารการเขียนชนิดใด
ก.  บรรยายโวหาร
ข.  พรรณนาโวหาร
ค.  อุปมาโวหาร
ง.  สาธกโวหาร    

๘. คำที่ขีดเส้นใต้มีความหมายตรงกับข้อใด
ก.  ทันสมัย
ข.  เป็นเอกลักษณ์
ค.  ซอมซ่อ
ง.  น่าสมเพช


๙. “อ้อใต้เท้ากรุณา  ผมไหว้  ใต้เท้าเห็นจะจำผมไม่ได้”  คำที่ขีดเส้นใต้เป็นคำชนิดใด
ก.  คำนาม
ข.  คำสรรพนาม
ค.  คำกริยา
ง.  คำวิเศษณ์


๑๐. “เปล่าขอรับ  อ้ายอย่างเก่าผมเข็ด แต่ถึงจะไม่เข็ดมันก็ทำอย่างเก่าอีกไม่ได้  เพราะผมไม่ได้เป็นข้าราชการแล้วอย่างที่ทำครั้งก่อน  มันก็ไม่มีโอกาสอยู่เอง  ถูกไหมล่ะครับ?”  จากข้อความนี้  คำว่า  อย่างเก่า  หมายถึงข้อใด
ก.  ทุจริตในหน้าที่
ข.  ขายของผิดกฎหมาย
ค.  เล่นการพนัน
ง.  ติดเหล้า