นางเฉลย ศุขะวณิช มีความสําคัญต่อวงการละครไทยอย่างไร

นักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปทุกคน เมื่ออ่านประวัติรำ ระบำ หรือฟ้อน ที่อยู่หนังสูตร มักจะพบชื่อของครู ๒ ท่าน คือ คุณครูเฉลย  ยมุปต์ (พระ) และคุณครูเฉลย  ศุขะวณิช (นาง) อยู่เสมอๆ คุณครูทั้ง ๒ ท่านถือได้ว่าเป็นผู้วางรากฐานให้วิทยาลัยนาฏศิลป จนมีความแข็งแกร่งด้านวิชาการนาฏศิลป์ไทยมาจนถึงปัจจุบัน คนในวงการนาฏศิลปต่างเรียนคุณครูทั้ง ๒ ท่านว่า แม่ทุกครั้ง เพราะท่านเปรียบประดุจ แม่คนที่สองของศิษย์เก่านาฏศิลปทุกแห่งทั่วประเทศ

กำเนิด                คุณครูเฉลย  ศุขะวณิช หรือ แม่เหลยของลูกศิษย์นาฏศิลปทั่วประเทศ เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๔๗ (ท่านอายุมากกว่าคุณครูลมุล ๑ ปี) เป็นบุตรีของนายเงินและนางเน้ย แต้สุข  ชื่อเดิมท่านชื่อกิมฮวย

การศึกษา                เมื่อเติบโตพอสมควร บิดามารดานำไปฝากเรียนวิชาสามัญในชั้นประถม ณ โรงเรียนราษฎร์ใกล้บ้าน  ต่อมาอายุประมาณ ๗ ปี พ่อ-แม่ท่านแยกทางกัน คุณแม่ได้นำลูกสาวมาเลี้ยงดูเอง โดยอยู่ในความอุปการะของคุณหญิงจรรยายุทธกิจ (เอี่ยม  ไกรฤกษ์) น้องสะใภ้ของคุณท้าวนารี วรคณารักษ์  พระอภิบาล (ปกครอง) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เจ้าของวังสวนกุหลาบ ซึ่งคุณท้าวนารี วรคณารักษ์ นี้  เป็นผู้ควบคุมดูแลนางละครวังสวนกุหลาบด้วย  คุณครูเฉลย ต้องการฝึกละครวังสวนกุหลาบ แต่แม่ไม่อนุญาต จึงหนีตามคุณท้าวฯ เข้าวังมา ขณะนั้นมีเด็กหญิงมาฝึกละครเป็นรุ่นแรก ประมาณ ๑๕๐ คน ได้เบี้ยเลี้ยงคนละ ๓ บาทต่อเดือน 

                วิธีการฝึกหัดละครของวังสวนกุหลาบ อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ได้ทำการสัมภาษณ์ คุณครูลมุล ยมะคุปต์ และคุณครูเฉลย  ศุขะวณิช ไว้ว่า

 ๐๕.๐๐น.              -รำเพลงช้า เพลงเร็ว

-จบแล้ว ผู้ฝึกหัดเป็นตัวพระจะแยกไปเต้นเสา (ฝึกหัดเพื่อให้มีกำลังขาแข็งแรง) ตัวนางฝึกหัดรำเพลงเชิดฉิ่ง

-ตัวพระไปฝึกหัดแม่ท่ายักษ์ ตัวนางฝึกหัดแม่ท่าลิง

๐๗.๐๐ น.             -พัก อาบน้ำ

๐๘.๐๐ น.             -รับประทานอาหารเช้า

๐๙.๐๐ น.              -เริ่มเรียนวิชาสามัญ

  (เป็นวิธีการที่แปลกใหม่ เพราะละครหลวงสมัยโบราณไม่มีการสอน

   วิชาสามัญ เน้นเรื่องการอ่าน การเขียน เพื่อให้อ่านบท จดบทได้)

๑๒.๐๐ น.            -พักกลางวัน

๑๓.๐๐ น.             -ซ้อมการแสดงทั้งโขน-ละคร   (ฝึกหัดรำตามบทบาทต่างๆ)

๑๖.๐๐ น.             -พักผ่อน อาบน้ำ รับประทานอาหารเย็น

๒๐.๐๐ น.             -ซ้อมเฉพาะบทหรือซ้อมเข้าเรื่อง

๒๐.๐๐ น.             -รับประทานอาหาร อาบน้ำ เข้านอน

ท่านครูของคุณครูเฉลย  ศุขะวณิช

คุณท้าวนารี วราคณารักษ์ หม่อมครูอึ่ง   หม่อมครูนุ่ม หม่อมครูแย้ม (อิเหนา) คุณครูหงิม          ท้าววรจันทร์ฯ (เจ้าจอมมารดาวาด อิเหนา)  เจ้าจอมมารดาเขียน  เจ้าจอมมารดาทับทิม  เจ้าจอมมารดาสาย เจ้าจอมละม้าย พระยานัฎกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต)

วิชาการด้านนาฏศิลป์ที่ได้รับถ่ายทอดจากท่านครูวังสวนกุหลาบเชิดฉิ่งศุภลักษณ์แบบเต็ม  ศุภลักษณ์อุ้มสม  ศุภลักษณ์วาดรูป  ฝรั่งคู่ (พระอุณรุท-นางอุษา พระอรชุน-เมขลา อุณากรรณ-มะลาหรา) ฉุยฉายวันทองแบบเต็ม  ฉุยฉายเบญกาย  ฉุยฉายศูรปนขา  ฉุยฉาย     ยอพระกลิ่น   ฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง (สองนางเนื้อเหลือง) เบิกโรงกิ่งไม้เงินทอง  เมขลานั่งวิมาน-เชิดฉิ่งเมขลา กริชดรสา (ดรสาแบหลา) บุษบาชมศษล วิยะดาทรงเครื่อง รจนาเลือกคู่ 

การแสดงเป็นตัวนางขณะอยู่วังสวนกุหลาบ

ละครใน

เรื่อง อิเหนา                         แสดงเป็น              มะเดหวี  ดรสา

เรื่อง อุณรุท                          แสดงเป็น              นางศุภลักษณ์

เรื่อง รามเกียรติ์                   แสดงเป็น              ชมพูพาน

ละครนอก

เรื่อง สังข์ทอง                      แสดงเป็น              นางมณฑา นางจันทร์

เรื่อง สังข์ศิลป์ไชย              แสดงเป็น              นางเกสรสุมณฑา

เรื่อง คาวี                               แสดงเป็น              นางเฒ่าทัศประสาท นางคันธมาลี

เรื่อง พระอภัยมณี               แสดงเป็น              นางวารี นางสุวรรณมาลี

เรื่อง เงาะป่า                         แสดงเป็น              นางฮอยเงาะ

             

ย้ายมาอยู่วังเพชรบูรณ์

                เมื่อคุณครูเฉลย อายุประมาณ ๑๖-๑๗ ปี (พ.ศ.๒๔๖๓-๖๔) ได้ย้ายออกจากวังสวนกุหลาบมาอยู่    วังเพชรบูรณ์ ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก  กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๔๖๒) คุณครูเฉลยมีหน้าที่เป็นหัวหน้าควบคุมตัวละครน้องๆ ซึ่งมี ๔ หมู่ๆ ละ ๓๐ คน  ขณะนี้คุณครูเฉลยถือว่าเป็นข้าหลวงละครรุ่นใหญ่แล้ว เช่นเดียวกับคุณครูลมุลตัวละครในวังเพ็ชรบูรณ์จะต้องซ้อมละครทุกวัน ในเวลา ๒๐.๐๐ น. สมเด็จฯ จะเสด็จทอดพระเนตรการฝึกซ้อมละครแทบทุกคืน ตรัสเรียกซ้อมชุดใดๆ ก็ต้องได้ การฝึกซ้อมมากจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวละครจดจำท่ารำได้แม่นยำ  สถานที่ที่ใช้ในการฝึกซ้อมละคร คือ ใต้ถุนของเรือนกินกรรำ ในระหว่างซ้อม มีอาหารว่างเลี้ยงทุกคน และจะทำการซ้อมจนถึงเที่ยงคืนละครวังเพชรบูรณ์อยู่ได้ ๓-๔ ปี ก็เลิกล้ม เพราะทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ สิ้นพระชนม์  (พ.ศ.๒๔๖๖) ขณะพระชนมายุเพียง  ๓๑  พรรษา 

ชีวิตสมรส            คุณครูเฉลย  สมรสกับพระยาอมเรศร์สมบัติ (ต่วน ศุขะวณิช) มีบุตร-ธิดา ๔ คน

รับราชการพ.ศ.๒๕๐๐  คุณครูเฉลย อายุได้ ๕๓ ปี คุณครูลมุล ได้ชักชวนให้ท่านมาเป็นครูสอนละครนาง ณ โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ (วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน) เพื่อสอนแทนหม่อมครูต่วน (ศุภลักษณ์  ภัทรนาวิก) ซึ่งถึงแก่กรรม

คุณครูเฉลย ได้สร้างคุณูปการมากมายให้แก่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และวงการนาฏศิลป์ไทย จนได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๐

สิ่งที่นับว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดของชีวิตความเป็นครูของคุณครูเฉลย  ศุขะวณิช คือ การได้ถวายการสอนแด่องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านรับราชการจนเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ และได้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร จนสิ้นอายุของท่าน เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๔