จ้างงานผู้ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 2564

จ้างงานผู้ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 2564

โนวา ออร์แกนิค พร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบในประเทศไทย จุดประกายสร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงวัย จ้างงานเป็น Telesales สนับสนุนให้มีรายได้พอเพียงแก่การดำรงชีพ


นายนวพล จันทร์จุฑามาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โนวา ออร์แกนิค จำกัด (มหาชน) หรือ NV ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบหลักจากวัตถุดิบหลากหลาย ภายใต้เครื่องหมายการค้าบริษัท โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุภายใต้แบรนด์ "Livnest" ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภคสูงวัย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ประเทศไทยเข้าสู่งสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2564 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 20% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 สัดส่วนผู้วัยจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าวได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและกลายเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต

NV ในฐานะองค์กรเอกชน ขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พร้อมสร้างคุณค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ชีวิตการทำงานก่อให้เกิดรายได้ที่เพียงพอแก่การดำรงชีพ ในตำแหน่ง Telesales ติดต่อหาลูกค้า เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการผ่านโทรศัพท์โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุ คุณสมบัติโดยรวม เป็นชาย/หญิง อายุ 50 ปีขึ้นไป มีสุขภาพแข็งแรง ใจรักงานบริการ มีทักษะสื่อสารที่ดีและไม่จำกัดวุฒิการศึกษา โดยทำงานที่บ้านและได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท (ไม่รวมค่าคอมมิชชั่น) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดโน๊ตบุ๊ค เบอร์โทรศัพท์ พร้อมจัดอบรมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เพื่อเติมเต็มความมั่นใจในการติดต่อลูกค้า โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท โนวา ออร์แกนิค จำกัด (มหาชน) หรือ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

“NV ภูมิใจที่ได้ร่วมสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับผู้สูงวัยได้มีหน้าที่การงานที่ดี สอดคล้องกับนโยบายบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการเป็นองค์กรเกื้อหนุนสังคม ลดความเหลื่อมล้ำพร้อมสร้างความเท่าเทียม เพื่อจะต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายนวพล กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรผู้สูงอายุคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด หรือราว 13-14 ล้านคน และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือ พ.ศ. 2576 ไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่ 30% ของประชากรทั้งประเทศ

ผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีหลายประการทั้งต่อเศรษฐกิจโดยรวม รายได้รัฐบาล และหลายชีวิต หลายครอบครัวของสังคมไทย ผลกระทบมีอย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่

- กระทบเศรษฐกิจ จำนวนแรงงานที่ลดลง เสี่ยงกระทบผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวหรือขยายตัวช้า

- กระทบรายได้และรายจ่ายของรัฐ ในเชิงรายได้ เมื่อประชากรวัยทำงานลดลง ตลอดจนเศรษฐกิจภาพรวมโตช้า เสี่ยงทำให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคโดยรวมลดลง กระทบภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ ในทางตรงข้ามประชากรสูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้น เสี่ยงเพิ่มภาระรายจ่ายด้านสวัสดิการของรัฐให้สูงขึ้น

- กระทบคุณภาพชีวิตครัวเรือนไทย ผู้สูงอายุจำนวนมากอยู่ในภาวะ “แก่ก่อนรวย” ที่เกษียณแล้วเงินออมไม่พอใช้จ่ายหลังเกษียณ ผู้สูงอายุหลายคนยังมีหนี้ที่สร้างไว้ตอนทำงานและยังผ่อนไม่หมด ทั้งที่ไม่มีรายได้แล้ว ทำให้ครัวเรือนมีอัตราการพึ่งพิงสูง ลูกหลานวัยทำงานจำนวนน้อยต้องดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายจำนวนมาก กระทบคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในครัวเรือนรายได้น้อย และยิ่งหากครอบครัวใดมีผูสูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ค่าใช่จ่ายยิ่งสูง ต้องจ้างคนดูแล หรือลูกหลานบางคนอาจต้องเสียสละออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ

- ก่อปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นในคนทุกช่วงวัย คนวัยทำงานเครียดจากมีภาระค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลครอบครัว แบกรับความรับผิดชอบมากขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุเครียดจากความรู้สึกไร้ค่า ต้องพึ่งพาคนอื่น ดูแลตัวเองได้ไม่ดีเหมือนในอดีต

เพื่อรักษาสมรรถภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากต้องส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อชดเชยประชากรวัยทำงานที่ลดลง ให้ประเทศสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ การส่งเสริมการจ้างงานในผู้สูงอายุก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะปัจจุบันผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ยังสุขภาพดี แข็งแรง และทำงานได้

ประโยชน์ของการจ้างงานผู้สูงอายุ มีอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่

- ช่วยรักษาจำนวนแรงงานในระบบ เพื่อให้กระทบผลิตภาพทางเศรษฐกิจลดลง

- แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่มีประสบการณ์การทำงานสูง ช่วยให้องค์กรได้ประโยชน์จากความรู้ ความชำนาญของแรงงานผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบางวิชาชีพที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน

- ลดภาระรายจ่ายด้านสวัสดิการของรัฐ ทั้งช่วยให้ไม่กระทบฐานภาษีมากเกินไปนัก

- ช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของทุกสมาชิกในครอบครัว การที่ผู้สูงอายุทำงานทำให้มีรายได้ ช่วยให้ไม่เป็นภาระทางการเงินของสมาชิกครอบครัววัยหนุ่มสาวมากเกินไป

- ลดปัญหาสุขภาพจิตของคนทุกวัย ผู้สูงอายุมีงานทำ มีเพื่อน มีสังคม รู้สึกตัวเองมีคุณค่า ขณะเดียวกันภาระทางการเงินที่ลดลงของลูกหลาน ช่วยให้ลูกหลานไม่เครียดเกินไป

ปัจจุบันหลายประเทศขยายอายุเกษียณออกไป เพื่อรักษาแรงงานผู้สูงอายุในระบบเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่นเดิมเกษียณที่ 60 ปี ขยายเป็น 65 ปี สิงคโปร์จาก 62 ปี เป็น 67 ปี ฟิลิปปินส์จาก 60 ปี เป็น 65 ปี

ในส่วนของไทย ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น โดยข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ (มี.ค. 2564) ระบุว่าสถานประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถใช้สิทธิในการหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุไปจริง แต่ไม่เกินจำนวน 15,000 บาท นั่นหมายความว่าสถานประกอบการมีสิทธิหักรายจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้สูงสุด 30,000 บาท

ทั้งนี้ยังกำหนดว่า จำนวนการจ้างงานผู้สูงอายุต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในบริษัท เช่น หากบริษัทมีพนักงาน 100 คน บริษัทสามารถรับผู้สูงอายุเข้าทำงานได้ไม่เกิน 10 คน และยังกำหนดว่าค่าจ้างผู้สูงอายุเมื่อนำมารวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 10% ของรายจ่ายค่าจ้างบริษัทนั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่สถานประกอบการสามารถจ้างและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้นได้ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. อายุ 60 ปีขึ้นไป
2. มีสัญชาติไทย
3. ผู้สูงอายุที่จะเข้าทำงาน ต้องเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุอยู่ก่อนแล้ว หรือเป็นผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนหางานไว้กับกรมการจัดหางาน
4. ผู้สูงอายุที่สถานประกอบการรับเข้าทำงาน ต้องไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นของสถานประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุดังกล่าว

การห้ามจ้างกรรมการหรือผู้ถือหุ้น เพื่อเพื่อประโยชน์ในการจ้างงานคนอื่นที่มิใช่ตัวเอง และป้องกันการหลบเลี่ยงหรือได้ประโยชน์ทางภาษีจากกฎหมายนี้

โดยกฎหมายอนุญาตให้จ้างผู้สูงอายุทำงานได้หลากหลายทั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบมีนายจ้าง เช่น งานบริการ โรงแรม ค้าส่ง/ค้าปลีก หรือการรับงานไปทำที่บ้าน ตลอดจนอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ เช่น งานเป็นที่ปรึกษา หรืออาจารย์

สำหรับนโยบายอื่นๆ เช่น มีการส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีกองทุนเพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้กู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ มีทั้งการกู้ยืมรายบุคคล โดยให้ได้ไม่เกิน 30,000 บาท และสำหรับรายกลุ่ม (ไม่น้อยกว่า 5 คน) กลุ่มละ 100,000 บาท มีกำหนดเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี และไม่มีการคิดดอกเบี้ยการกู้ยืม

ในปี 2564 ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า มีผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพและส่งเสริมการจ้างงานแล้ว 10,514 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ 1,113 คน ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการจ้างงาน 9,401 คน ผู้สูงอายุใช้บริการจัดหางาน 888 คน และได้รับการบรรจุงาน 739 คน

ทั้งนี้ น.ส.สุทธิรัตน์ โทชนบท ผู้อำนวยการกลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลว่า ประมาณ 25% ของผู้สูงอายุมีความต้องการทำงาน โดยแบ่งตามช่วงอายุ ผู้สูงอายุวัยต้นอายุ 60-69 ปีมีความต้องการทำงาน 35.1% ในขณะที่ผู้สูงอายุวัยกลาง อายุ 70-79 ปี มีความต้องการทำงาน 13.1% และผู้สูงอายุวัยปลาย อายุ 80-89 ปี มีความต้องการทำงาน 3.4%

โดยเหตุผลที่ผู้สูงอายุยังต้องการทำงาน อันดับ 1 คือผู้สูงอายุเห็นว่าตนยังสุขภาพแข็งแรง รองลงมา ต้องหาเลี้ยงครอบครัวหรือตนเอง สำหรับเหตุผลอื่น ได้แก่ เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หรือเป็นอาชีพประจำ

เพื่อสร้างสังคมการทำงานที่มีประสิทธิภาพรองรับผู้สูงอายุ นอกจากมาตรการรัฐในแง่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจ้างผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ยังมีอีกหลายมาตรการที่ภาคเอกชนสามารถทำได้ เช่น ออกแบบสวัสดิการเฉพาะสำหรับพนักงานสูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุต้องการสวัสดิการต่างจากแรงงานวัยหนุ่มสาว เช่น ต้องการสวัสดิการด้านสุขภาพมากขึ้น ด้านเอ็นเตอร์เทนหรือสนุกสนานลดลง นอกจากนี้อาจต้องมีการวางเส้นทางอาชีพ (career path) สำหรับแรงงานสูงอายุ จากเดิมที่คิดจ้างเพียงชั่วคราว หรือจ้างโดยไม่มีเส้นทางอาชีพอะไร รวมถึงภาคเอกชนควรให้ความรู้หรือสนับสนุนการวางแผนการเงินกับแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทักษะจำเป็น แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังขาดอยู่

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด เห็นว่า การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในทางออกสำคัญของไทย สำหรับรับมือสังคมสูงวัย สมควรที่ภาครัฐและเอกชนจะเร่งสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและเร็ววัน