ความดันตัวล่างต่ํา ตัวบนสูง

นาย วิศิษฐ์ จันทร์วิเศษ : ผู้ถาม
ผมได้เป็นสมาชิกนิตยสาร “หมอชาวบ้าน” ปีแรก และได้ซื้อหนังสือ ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป ของ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ เมื่ออ่านแล้วผมได้รับความรู้อย่างมากมายคุ้มค่าจริง ๆ ผมได้อ่านเรื่องความดันโลหิตสูง มีบอกไว้ว่าความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ทั้งค่าบนและค่าล่าง บางรายสูงข้างบนอย่างเดียว ( isolated systolic hypertension ) พบในผู้สูงอายุ โรคคอพอกเป็นพิษ ภาวะหลอดเลือดใหญ่แดงตีบ

แต่ผู้ป่วยความดันโลหิตค่าล่างสูงอย่างเดียวผิดปกติ ( diastolic hypertension ) ขอถามว่า
1. มักจะพบกับบุคคลระดับอายุเท่าใด
2. มีสาเหตุ การรักษา และการใช้ยาอย่างไร
3. บางคนบอหกว่าค่าล่างสูงอย่างเดียวอาจมีไขมันในหลอดเลือดจริงหรือไม่
หวังว่าคุณหมอคงจะกรุณาตอบให้เป็นที่เข้าใจด้วย

นพ. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ : ผู้ตอบ
ปกติความดันโลหิตจะมี 2 ค่าคือ ค่าบนกับค่าล่าง ค่าบนหมายถึงค่าความดันที่วัดได้ขณะหัวใจบีบตัว ( ในผู้ใหญ่ค่าปกติจะต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท ) ส่วนค่าล่าง หมายถึงค่าความดันที่วัดได้ขณะหัวใจคลายตัว ( ในผู้ใหญ่ค่าปกติจะต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท )

ถ้าหากมีค่าบนหรือค่าล่าง ค่าใดค่าหนึ่งสูงเกินปกติ ก็ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักจะมีค่าล่างสูง ( ตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ) ร่วมกับค่าบนสูง ( ตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ) มีน้อยคนที่จะสูงเฉพาะค่าล่าง โดยค่าบนไม่สูงและเนื่อง
จากผู้ป่วยที่มีความดันค่าล่างสูง ไม่ว่าจะมีค่าบนสูงหรือไม่ก็ตาม จะมีสาเหตุ การรักษา และการใช้ยาเหมือน ๆกัน จึงไม่ได้แยกเป็นกลุ่มย่อยออกไปต่างหาก

ส่วนผู่ที่มีความดันค่าบนสูงเพียงอย่างเดียว โดยค่าล่างไม่สูง จะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ กับผู้ที่มีความผิดปกติบางอย่าง ( เช่น คอพอกเป็นพิษ หลอดแดงใหญ่ตีบ ) ซึ่งจะมีวิธีการและการใช้ยาแตกต่างจากกลุ่มผู้ป่วยที่มีค่าล่างสูง จึงได้จัดแยกประเภทไว้ต่างหาก

ดังนั้นจึงขอตอบคำถามของคุณเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ
1. ผู้ป่วยที่มีความดันค่าล่างสูงอย่างเดียว จะพบในคนอายุตั้งแต่ 30-35 ปีขึ้นไป ( เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงทั้ง 2 ค่า ) และจะพบได้มากขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น

2. มีสาเหตุ การรักษา และการใช้ยาเหมือนกับผู้ที่มีค่าความดันสูงทั้ง 2 ค่า
สาเหตุมักเกี่ยวกับกรรมพันธุ์ ( มีพ่อแม่ พี่น้องเป็นด้วย ) หรือน้ำหนักตัวมากเกิน ส่วนความเครียด การกินเค็ม และการดื่มเหล้าจัด จะเป็นปัจจัยทำไห้โรคกำเริบมากขึ้น หรือทำให้การรักษาได้ผลน้อยลง
ส่วนการรักษา ผู้ป่วยจะต้องหาทางลดน้ำหนัก ( ถ้าน้ำหนักเกิน ) หมั่นออกกำลังกาย คลายเครียด ลดอาหารเค็มและอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง ( เช่น ผงชูรส ผงฟู สารกันบูด ) ควรงดเหล้าหรือดื่มแต่ปริมาณเพียงเล็กน้อย และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะเสริมให้ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด ( เช่น งดสูบบุหรี่ ควบคุมโรคเบาหวาน หรือภาวะไขมันเลือดสูงที่อาจพบร่วมด้วย )

ส่วนยาลดความดันมีให้เลือกใช้อยู่หลายชนิด โดยควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะเลือกชนิดและปรับขนาดของยาได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจึงควรเลือกติดตามรักษากับแพทย์ใกล้บ้านที่ไว้ใจคนใดคนหนึ่งเป็นประจำ ข้อสำคัญโรคนี้มักจะไม่มีอาการให้รู้สึก ( ได้ชื่อว่า “ นักฆ่าเงียบ ” หรือ “ มัจจุราชมืด ” )

3. ข้อนี้ไม่จริงเสมอไปครับ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงบางคนเท่านั้นครับที่อาจมีภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน หรือโรคเกาต์ร่วมด้วย ซึ่งโรคเหล่านี้อาจเสริมให้เกิดโรคแทรกช้อนทางหัวใจและหลอดเลือดได้มากขึ้น ถ้าพบก็ต้องรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป

ความหมาย ความดันต่ำ

Share:

ความดันต่ำ (Low Blood Pressure/Hypotension) เป็นภาวะความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ หรือมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ในผู้ใหญ่ สำหรับบางรายที่มีภาวะความดันเลือดต่ำ แต่ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ในทางการแพทย์ยังจัดว่าสุขภาพเป็นปกติดีและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา

ความดันตัวล่างต่ํา ตัวบนสูง

โดยปกติหัวใจจะมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายอย่างสม่ำเสมอผ่านหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดฝอย โดยอาศัยแรงดันภายในหลอดเลือดเป็นตัวช่วยสูบฉีด ซึ่งมีค่าการวัดเป็นมิลลิเมตรปรอท และสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ค่า โดยตัวแรก (หรือตัวบน) เรียกว่า ค่าความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic Pressure) เป็นแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจบีบตัว และตัวที่สอง (หรือตัวล่าง) เรียกว่าค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic Pressure) เป็นแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว ความดันโลหิตของผู้ใหญ่จะอยู่ระหว่าง 90/60 มิลลิเมตรปรอท และ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้น หากวัดค่าความดันโลหิตได้สูงต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท จึงทำให้เกิดภาวะความดันเลือดต่ำ แต่ถ้าค่าที่วัดได้สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปจะจัดเป็นภาวะความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ภาวะความดันโลหิตต่ำยังแบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะในแต่ละช่วงเวลาที่ค่าความดันโลหิตลดลง เช่น ความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension) จะเกิดเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางอย่างทันทีทันใดจากการนั่งหรือนอนมาลุกขึ้นยืน หรือจากท่านอนมาเป็นท่านั่ง ความดันโลหิตต่ำหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ (Postprandial Hypotension) ความดันโลหิตต่ำขณะยืนเป็นเวลานาน (Neurally Mediated Hypotension) หรือความดันโลหิตต่ำรุนแรงจนนำไปสู่อาการช็อก

อาการของภาวะความดันโลหิตต่ำ

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำกว่าปกติโดยธรรมชาติมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่สำหรับผู้ที่เคยมีความดันโลหิตสูงแล้วลดลง แม้อาจไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความดันโลหิตปกติก็ถือว่าเป็นภาวะผิดปกติที่ต้องรักษา ภาวะความดันโลหิตต่ำบางครั้งอาจเป็นผลมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกายจนเป็นผลให้ภาวะความดันโลหิตลดต่ำลง ผู้ป่วยจึงอาจพบอาการได้ดังนี้

  • วิงเวียนศรีษะ หน้ามืด เป็นลม
  • ทรงตัวไม่อยู่
  • มองเห็นภาพไม่ชัด
  • ใจสั่น ใจเต้นแรง
  • อาการมึนงง สับสน
  • คลื่นไส้
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • หายใจตื้นและถี่
  • กระหายน้ำ
  • ตัวเย็น ผิวซีด หนาวสั่น

อาการเหล่านี้มักจะเป็นชั่วคราว สำหรับผู้ป่วยที่เกิดอาการเล็กน้อยสามารถทำให้ดีขึ้นด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ หยุดทำกิจกรรมในขณะนั้น ค่อย ๆ นั่งพักหรือนอนลงชั่วครู่ แต่หากเป็นบ่อยหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เพราะอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติด้านอื่นจนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ

ความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานยา ไปจนถึงเป็นผลพวงมาจากความผิดปกติของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งสาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำที่พบได้บ่อยอาจมาจาก

  • พันธุกรรม อาจมีส่วนให้เกิดภาวะความดันต่ำในรุ่นลูกหากพบว่าพ่อแม่มีภาวะความดันโลหิต ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • อายุ ความดันโลหิตจะมีความแตกต่างกันในแต่ละวัน โดยปกติจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
  • การรับประทานยา ยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ที่รักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants: TCA) ยารักษาผู้ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ บางรายอาจเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อมีการรับประทานยาชนิดอื่นร่วมกับยาเสพติด แอลกอฮอล์ หรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูง   
  • ภาวะขาดน้ำ เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำปริมาณมาก เช่น การขับน้ำออกทางผิวหนังในรูปแบบของเหงื่อ การอาเจียน หรือท้องเสีย
  • อาการป่วยหรือปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หรือสภาวะที่ต้องนอนพักอยู่บนเตียงเป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำขึ้นได้ เช่น
    • โรคโลหิตจาง เกิดจากปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่เป็นสารสำคัญในเม็ดเลือดมีปริมาณต่ำกว่าปกติหรือมีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อย อันเนื่องมาจากการสูญเสียเลือดปริมาณมากจากการบาดเจ็บรุนแรง ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ภาวะเลือดออกภายใน สามารถส่งผลให้ภาวะความดันโลหิตลดต่ำลงได้
    • ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) ลิ้นหัวใจมีปัญหา ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นผลทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ในปริมาณที่ร่างกายต้องการ
    • ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ที่มีความผิดปกติหรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมการทำงานหลายส่วนภายในร่างกาย และควบคุมความกว้างและแคบของหลอดเลือด อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น โรคพาร์กินสัน
    • ปัญหาเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือในบางรายอาจมาจากโรคเบาหวาน
    • การสื่อสารระหว่างหัวใจและสมองผิดพลาด อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำบางประเภท เช่น Neurally Mediated Hypotension เป็นภาวะความดันโลหิตที่เกิดจากการยืนเป็นระยะเวลานาน ทำให้ร่างกายส่งสัญญาณไปยังสมองว่าเกิดภาวะความดันโลหิตสูงมากเกินไป แต่แท้จริงแล้วร่างกายมีความดันโลหิตต่ำ ด้วยเหตุนี้สมองจึงสั่งให้หัวใจลดอัตราการเต้นให้ช้าลง ความดันโลหิตจึงลดต่ำลงกว่าเดิม
  • การบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำอาจเกิดจากการบาดเจ็บที่รุนแรงและเกิดบาดแผลขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสียเลือดในปริมาณมาก บางรายที่เกิดอาการช็อกเนื่องจากการได้รับบาดเจ็บสาหัส ก็อาจเกิดความดันต่ำได้ นอกจากนี้ยังเกิดได้จากการติดเชื้อรุนแรง หรืออาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น
    • ภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด (Septic Shock/Toxic Shock Syndrome) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้สารน้ำในร่างกายไหลออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อรอบข้าง
    • ภาวะช็อกจากอาการแพ้ (Anaphylactic Shock) เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างเฉียบพลัน ทำให้ร่างกายผลิตสารเคมีที่ชื่อว่า ฮีสตามีน (Histamine) ในปริมาณมาก ทำให้มีปัญหาทางด้านการหายใจ ลมพิษขึ้น มีอาการคัน คอบวม รวมไปถึงความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว   
    • ภาวะช็อกจากหัวใจทำงานผิดปกติ (Cardiogenic Shock) ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ มักเกิดขึ้นในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

อีกทั้งความดันโลหิตปกติสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายส่วน เช่น กิจกรรมที่ทำในขณะนั้น ความเครียด อุณหภูมิ อาหาร ช่วงเวลาในระหว่างวัน ล้วนส่งผลต่อค่าความดันโลหิตทั้งสิ้น

การวินิจฉัยความดันโลหิตต่ำ

สิ่งสำคัญที่แพทย์ต้องทราบก่อนทำการรักษา คือ ประเภทและระดับความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตต่ำที่ผู้ป่วยเป็น รวมไปถึงสภาวะที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เพื่อการวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง

โดยปกติแพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น การตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นจะมีการตรวจวัดความดันโลหิตของผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ และตรวจหาภาวะช็อก ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตราย

นอกจากนี้ ในรายที่มีอาการรุนแรง มีอาการเกิดขึ้นบ่อย และการดูแลในเบื้องต้นไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นอาจจะต้องมีการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมตามลักษณะอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น

  • การตรวจเลือด (Blood Tests) ขั้นตอนการตรวจใช้เวลาไม่นานและไม่ซับซ้อน ผู้ป่วยจะนอนหรือนั่ง เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลหลายส่วนในเลือด รวมไปถึงโรคโลหิตจาง หรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตต่ำ
  • การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนลงบนโต๊ะตรวจเฉพาะที่ออกแบบให้สามารถปรับระดับความลาดเอียงได้ เพื่อตรวจดูค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยในขณะที่เปลี่ยนแปลงท่าทาง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) การทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความสม่ำเสมอหรือผิดปกติไป
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter and Event Monitors) เป็นการบันทึกการทำงานของหัวใจตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมงด้วยเครื่องบันทึกการทำงานของหัวใจขนาดเล็กและพกพาได้ง่าย จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้เป็นปกติ ทำให้ตรวจพบความผิดปกติได้ง่าย
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) เป็นการตรวจดูการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย เนื่องจากความผิดปกติของหัวใจบางอย่างสามารถตรวจพบได้ง่ายเมื่อหัวใจทำงานหนักและมีการสูบฉีดมากขึ้น ซึ่งโดนกระตุ้นจากการออกกำลังกาย
  • การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) เป็นการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงจังหวะการเต้นของหัวใจในขณะทำกิจกรรมบางอย่าง เพื่อวัดค่าความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในขณะผู้ป่วยหายใจเข้าลึก ๆ หรือจุ่มมือลงในน้ำเย็นจัด
  • การตรวจปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง (24 Hour Urine Test) แพทย์จะให้ผู้ป่วยเก็บปัสสาวะตลอดในช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมงลงในบรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้ให้ก่อนนำกลับมาส่งคืนให้แพทย์ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ในระหว่างนี้ควรเก็บปัสสาวะไว้ในที่เย็น

การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ

จุดประสงค์ของการรักษาจะเป็นการมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันโลหิตให้กลับมาสู่ภาวะปกติและบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกันออกไปตามหลายปัจจัย เช่น วัย สุขภาพ ความแข็งแรงของร่างกาย หรือการใช้ยา ทั้งนี้ วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของภาวะโลหิตต่ำและความรุนแรงของอาการเป็นหลัก

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำระดับไม่รุนแรงและมีสุขภาพแข็งแรงสามารถควบคุมภาวะความดันโลหิตต่ำได้ด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำทั่วไป ดังนี้

  • หากเกิดอาการอันเนื่องมาจากภาวะความดันโลหิตต่ำ ควรนั่งพักหรือนอนลงทันทีที่มีอาการ โดยพยายามยกเท้าให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ
  • เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเช้าของวัน เพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เช่น ยืดเส้นยืดสายทุกเช้าก่อนลุกขึ้นมาทำกิจกรรมอื่น ๆ ของวัน อาจเป็นการบิดตัว ไข้วขา เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันภาวะโลหิตต่ำที่เกิดจากการสื่อสารผิดระหว่างหัวใจและสมอง (Neutrally Mediated Hypotension)  
  • สวมใส่ถุงเท้าประเภทที่ช่วยเพิ่มความดัน (Support Stockings/Compression Stockings) ซึ่งเป็นถุงเท้าที่ทำมาจากผ้ายืด มีความยืดหยุ่นและรัดแน่น เพื่อช่วยระบบการไหลเวียนของเลือดและเพิ่มความดันโลหิต แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ เพราะอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกราย
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในตอนกลางคืน และจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดภาวะความดันต่ำได้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ในมื้อเดียว แต่ควรแบ่งรับประทานอาหารทีละน้อยในแต่ละมื้อ

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะช็อกขึ้น จำเป็นต้องได้รับน้ำเกลือและหาสาเหตุอย่างเร่งด่วนจากแพทย์ รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้นและเป็นอย่างต่อเนื่องก็ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • การให้น้ำเกลือ (IV Fluids) ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากภาวะการขาดน้ำและเกลือแร่ สูญเสียเลือด หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด อาจได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น
  • รักษาต้นเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ หากแพทย์สงสัยว่าภาวะความดันโลหิตต่ำมาจากความผิดปกติหรือโรคประจำตัว ผู้ป่วยอาจจะต้องมีการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมและการรักษาเฉพาะโรคนั้น ๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากฮอร์โมนผิดปกติ อาจต้องได้รับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนโดยเฉพาะ และรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน
  • การรักษาด้วยยา หากการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำและการให้สารน้ำทางเส้นเลือดไม่สามารถบรรเทาอาการ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าควรใช้ยาในกลุ่มใดที่เหมาะกับผู้ป่วยตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิต ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาหลายกลุ่ม เช่น
    • แอลฟา อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha Adrenergic Receptor Agonists) ช่วยเพิ่มความดันโลหิต และลดอาการจากภาวะความดันโลหิตต่ำ
    • สเตอรอยด์ (Steroid) ช่วยป้องกันการสูญเสียเกลือแร่ในร่างกาย เพิ่มปริมาณของเหลวและความดันโลหิตให้สูงขึ้น
    • ยาเพิ่มความดันโลหิต (Vasopressors) ออกฤทธิ์บีบหลอดเลือดให้เล็กลง เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง และลดอาการจากภาวะความดันโลหิตต่ำอื่น ๆ
    • ยาแอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (Antidiuretic Hormone) ช่วยควบคุมความดันโลหิตและลดการตื่นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อย ๆ
    • ยาทางจิตเวช (Antiparkinson Drugs) ช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้นและลดอาการจากภาวะความดันโลหิตต่ำอื่น ๆ     

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะความดันโลหิตต่ำ

ภาวะความดันโลหิตต่ำไม่รุนแรงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการหกล้มได้มากที่สุด และอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้สะโพกหักหรือกระดูกสันหลังร้าว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และส่งผลให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายยากลำบากขึ้น มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

แต่ในรายที่มีความดันลดต่ำลงจนทำให้เกิดอาการรุนแรงงอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนจนทำให้หัวใจ สมอง หรืออวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหาย และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทัน

การป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ

ภาวะความดันโลหิตต่ำแต่ละชนิดมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน การป้องกันอาจไม่สามารถทำได้เต็มที่ แต่สามารถช่วยลดความเสี่ยงด้วยการการปฏิบัติตนตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ และเพิ่มปริมาณเลือดให้สูงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสารอาหารครบถ้วน เน้นอาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
  • การลุกหรือนั่งไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วมากเกินไป
  • ตรวจเช็คความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ โดยแบ่งรับประทานเป็นมื้อย่อย ๆ หลายมื้อ และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น มันฝรั่ง ข้าว พาสต้า และขนมปัง ในปริมาณมาก เพื่อป้องกันความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็วหลังรับประทานอาหาร