ตัวอย่างวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง วัดพระแก้ว

          เที่ยววัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมแนะนำสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด พร้อมทั้งกฎระเบียบการเข้าชมต่าง ๆ หลังเปิดให้เข้าชมอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้นตามลำดับ

หลังจากเมื่อช่วงต้นปี 2563 จากการแพร่ระบาดโควิด 19 มีผลทำให้วัดพระแก้ว หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ ต้องปิดให้บริการลงชั่วคราว แต่เมื่อช่วงวันที่ 7 มิถุนายน 2563 วัดพระแก้วก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว  พระอารามหลวงชั้นพิเศษ ที่ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐาน พระมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต รวมถึงใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ เราจึงอยากจะพาไปทำความรู้จักกับวัดพระแก้วให้มากขึ้นกัน


ตัวอย่างวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง วัดพระแก้ว

ประวัติวัดพระแก้ว

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสร็จขึ้นครองราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2325 ได้ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2325 โดยมีที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระราชวังเดิมของกรุงธนบุรี

          พระบรมมหาราชวังนี้มีเนื้อที่ 152 ไร่ 2 งาน รวมความยาวโดยรอบสี่ด้านกำแพง ได้ทั้งหมด 1,910 เมตร ประกอบไปด้วยป้อมปราการกับประตูพระราชวังโดยรอบ ภายในของพระบรมมหาราชวังแบ่งเป็นสี่ส่วน คือ พระราชฐานชั้นนอก พระราชฐานชั้นกลาง พระราชฐานชั้นใน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          ลักษณะแบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มีวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ในบริเวณพระราชวังเหมือนกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นพระอารามหลวงในเขตวัง นับเป็นแบบธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณ

สำหรับ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกต รวมถึงเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล โดยเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

ตัวอย่างวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง วัดพระแก้ว

เที่ยววัดพระแก้ว

          ภายในวัดพระแก้วมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบเป็นจำนวนมาก จึงขอแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ตามตำแหน่งและความสำคัญ

          กลุ่มพระอุโบสถ : เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด มี "พระอุโบสถ" เป็นอาคารประธาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิ์ธาตุพิมาน หอราชพงศานุสรณ์ หอราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง หอพระคันธารราษฎร์

ตัวอย่างวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง วัดพระแก้ว

         

สำหรับพระอุโบสถตั้งอยู่ส่วนกลางของวัด มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม 8 ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2326 ก่อนจะสำเร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ. 2328 ส่วนหลักฐานการก่อสร้างและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถไม่ชัดเจนนัก นอกจากบ่งไว้ว่าฝาผนังรอบนอกเป็นลายรดน้ำปิดทองรูปกระหนกเครือแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกในบนพื้นสีชาด ฝาผนังด้านในเหนือประตูด้านสกัดเป็นภาพเรื่องมารวิชัยและเรื่องไตรภูมิ ฝาผนังด้านยาวเขียนภาพเทพชุมนุมตามแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ฝาผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเรื่องปฐมสมโพธิ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ซึ่งปรากฏว่ามีการแก้ไขในรัชกาลที่ 3 และ 4 ดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน

          ภายในพระอุโบสถได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตั้งแต่เพดานถึงพื้น กลางห้องประดิษฐาน "พระแก้วมรกต" ในบุษบกทองคำพร้อมด้วยพระพุทธรูปสำคัญมากมาย

          กลุ่มฐานไพที : กลุ่มอาคารบริเวณฐานไพที มีอาคารหลักสามหลัง คือ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และวัตถุประดับตกแต่งอื่น ๆ เช่น รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ บุษบกพระราชลัญจกร นครวัดจำลอง พระสุวรรณเจดีย์ และพนมหมาก

          กลุ่มอาคารและสิ่งประดับอื่น ๆ : หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง ซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

          ทั้งนี้ วัดพระแก้วได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอารามมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ.2425 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ

เวลาเปิด-ปิด และค่าบริการต่าง ๆ

         

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นแต่วันที่มีพระราชพิธีต่าง ๆ) ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น.  โดยคนไทย ไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถแสดงบัตรประชาชนได้ที่ทางเข้า

        

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าบัตรเข้าชม 500 บาท สามารถเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พิพิธภัณฑ์ผ้า ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง

          *** กรณีที่ต้องการ Audio Guide สำหรับฟังบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน รัสเซีย ญี่ปุ่น จีนกลาง และไทย สามารถเช่าในราคา 200 บาท ที่บริเวณจุดประชาสัมพันธ์

          ส่วนการซื้อบัตร สามารถซื้อได้ที่ห้องจำหน่ายภายในพระบรมมหาราชวัง หรือสามารถซื้อบัตรผ่านทางออนไลน์ ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนวันเข้าชม

ตัวอย่างวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง วัดพระแก้ว

การแต่งกายเข้าวัดพระแก้ว

          การเข้ามาชมไปวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญยิ่งของชาติ จึงต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ อีกทั้งควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัด ได้แก่ ห้ามสวมเสื้อแขนกุด สายเดี่ยว หรือเสื้อที่เปิดไหล่ทุกชนิด, ห้ามสวมใส่กางเกงขาสั้น กางเกงสามส่วน กางเกนยีนส์ขาด ๆ ส่วนกระโปรงก็ไม่สั้นจนเกินไป ทางที่ดีควรเลยหัวเข่าลงมา ส่วนรองเท้าก็ควรเป็นรองเท้าสุภาพ

          ทั้งนี้หากเครื่องแต่งกายของคุณไม่เหมาะสมหรือถูกต้อง ทางสำนักพระราชวังได้จัดเตรียมเสื้อผ้าให้ยืมฟรี โดยมีค่ามัดจำชิ้นละ 200 บาท (ไม่อนุญาตให้ใช้ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอในการปกปิดเสื้อแขนกุด) กับบัตรประชาชนเอาไว้ และเมื่อเอาชุดมาคืนทางเจ้าหน้าที่ก็จะคืนทุกอย่าง

ข้อควรระวัง

          - ไม่ควรใช้แฟลชในการถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับภาพจิตกรรมได้

          - ภายในอาคารอื่นทั้งหมดโดยเฉพาะพระอุโบสถ ห้ามถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษปรับ และยึดสื่อบันทึก

          ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เที่ยววัดพระแก้ว ไหว้พระทำบุญให้ประทับใจ ควรรู้ 20 สิ่งเหล่านี้ หรือ เว็บไซต์ royalgrandpalace.th