กฎหมายการจ้างงานคนพิการ 2564

คุกกี้พื้นฐานที่จำเป็น เพื่อช่วยให้การทำงานหลักของเว็บไซต์ใช้งานได้ รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่ที่ปลอดภัยต่าง ๆ ของเว็บไซต์ หากไม่มีคุกกี้นี้เว็บไซต์จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม และจะใช้งานได้โดยการตั้งค่าเริ่มต้น โดยไม่สามารถปิดการใช้งานได้

Show

คุกกี้ในส่วนวิเคราะห์ จะช่วยให้เว็บไซต์เข้าใจรูปแบบการใช้งานของผู้เข้าชมและจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งาน โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการใช้งานของผู้ใช้งาน


คุกกี้ในส่วนการตลาด ใช้เพื่อติดตามพฤติกรรมผู้เข้าชมเว็บไซต์เพื่อแสดงโฆษณาที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานแต่ละรายและเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการโฆษณาสำหรับผู้เผยแพร่และผู้โฆษณาสำหรับบุคคลที่สาม

กฎกระทรวง : กำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ดาวน์โหลดกฎกระทรวง

11777

การจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจ้างงานคนพิการเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในสังคม มีโอกาสในการเข้าถึงการประกอบอาชีพ ได้ใช้ศักยภาพของตนเอง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมาตราที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการ ได้แก่ มาตรา 33 34 35 36 37 38 และ 39 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
คนพิการ พ.ศ. 2550
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
  • มาตรา 33 ให้สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงาน
  • อัตราส่วน 100:1 คือต้องจ้างคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้าง/เจ้าหน้าที่ 100 คน เศษของลูกจ้าง/เจ้าหน้าที่ 50 คน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน [1]
  • นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ (เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ฯลฯ) มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า [2]
  • มาตรา 34 หากสถานประกอบการไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนด ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดในปีก่อนส่งเงินเข้ากองทุนฯ x 365 (วัน) x จำนวนคนพิการที่ไม่รับเข้าทำงาน
  • หากสถานประกอบการที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ แต่ไม่ได้ส่ง ส่งเงินล่าช้า หรือส่งเงินไม่ครบถ้วน ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ส่งเข้ากองทุนฯ
  • นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนฯ มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่จ่ายจริง
  • มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือสถานประกอบการไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบการนั้นอาจดำเนินการ
    1. ให้สัมปทาน
    2. จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ
    3. จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการด้วยวิธีพิเศษ
    4. ฝึกงาน
    5. จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก
    6. จัดให้มีล่ามภาษามือ
    7. ให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้
  • ตามคำสั่งกรมสรรพากรฯ [3] สถานประกอบการที่ดำเนินการตามมาตรา 35 มีสิทธิได้รับสิทธิทางภาษีดังนี้
    1. การให้สัมปทาน และการจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ ไม่มีสิทธินำมูลค่าการให้คนพิการได้ใช้สิทธิประโยชน์ในทรัพย์สินมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
    2. การจัดจ้างเหมาช่วงหรือจ้างเหมาบริการด้วยวิธีพิเศษที่เป็นไปเพื่อกิจการของตน หรือเป็นไปเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณ-ประโยชน์ โดยเป็นการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการไปยังสถานที่ดังต่อไปนี้สามารถนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่จ่ายจริง
      ก. ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
      ข. สภากาชาดไทย
      ค. วัดวาอาราม

      ง. สถานพยาบาลของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล

      จ. สถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชน

      ฉ. งค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
    3. การฝึกงาน และการจัดให้มีล่ามภาษามือ สามารถนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่จ่ายจริง
    4. การจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก สามารถนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า [4]
    5. การให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เช่น การซื้ออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการ สามารถนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ถ้าให้เงินคนพิการโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานให้กับคนพิการ กรณีนี้ไม่มีสิทธินำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
  • มาตรา 36 เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้อายัดทรัพย์สินของสถานประกอบการซึ่งไม่ส่งเงินที่จะต้องส่งตามมาตรา 34
 
  • มาตรา 37 เอกชนซึ่งได้จัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอํานวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะบริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้  มีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นภาษีเป็นร้อยละของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด
  1. การจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสามารถนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า [5]    
  • มาตรา 38 สถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้าง โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่า 180 วันในปีภาษีใดมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น
  • นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ (เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ฯลฯ) มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 3 เท่า [6]
  • มาตรา 39 ให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีอำนาจประกาศโฆษณาข้อมูลการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 ต่อสาธารณะอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
    • นกรณีที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐจะพิจารณาให้สัมปทาน การส่งเสริมการลงทุน การประกาศเกียรติคุณ สินเชื่อ รางวัล เครื่องราช-อิสริยาภรณ์ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดแก่สถานประกอบการ ให้นําข้อมูลที่ได้ประกาศโฆษณาข้อมูลการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33, 34 และ 35 มาประกอบด้วย
    • ปัจจุบัน สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ได้มีการพิจารณารางวัล “องค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ ประจำปี” ได้แก่
      1) 
      องค์กรที่ส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการตามมาตรา 33, 35
      2) 
      องค์กรที่สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากการดำเนินการตามมาตรา 35
      3) 
      องค์กรสื่อมวลชนที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ
 

 

มาตรา 33 การจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ

การคำนวณอัตราส่วนการจ้างงานคนพิการ

มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนําส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการต้องมีอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อคนพิการ 1 คน เศษของลูกจ้าง 50 คน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน เช่น

  • สถานประกอบการมีลูกจ้าง 500 คน จะต้องจ้างคนพิการ 5 คน
  • สถานประกอบการมีลูกจ้าง 549 คน จะต้องจ้างคนพิการ 5 คน
  • สถานประกอบการมีลูกจ้าง 550 คน จะต้องจ้างคนพิการ 6 คน

การนับจำนวนลูกจ้างให้นับทุกวันที่ 1 ตุลาคมของแต่ละปี และกรณีสถานประกอบการมีหน่วยงานหรือสาขาในจังหวัดต่าง ๆ ให้นับรวมลูกจ้างที่มีความสัมพันธ์เป็นนายจ้างและลูกจ้างในองค์กรนั้นทุกสาขา และนำมาคำนวณตามอัตราส่วน 100:1

การติดต่อ: นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถแจ้งความต้องการหาลูกจ้างคนพิการที่สำนักงานจัดหางาน เพื่อให้สำนักงานจัดหางานอำนวยความสะดวกในการจับคู่คนพิการและตำแหน่งงานว่างได้

  • หน่วยงานหรือสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครให้แจ้ง ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-10
    รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานกทม/
  • หน่วยงานหรือสถานประกอบการในจังหวัดอื่นให้แจ้ง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด
    รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานจังหวัด/

หมายเหตุ: คนพิการที่รับเข้าทำงานตามมาตรา 33 ต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ เนื่องจากต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการประกอบการรายงานผลการจ้างงานแก่กรมการจัดหางาน

สิทธิทางภาษีตามมาตรา 33

ตามมาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงานสำหรับเงินได้ เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว กล่าวคือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ (เงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส ค่ารักษาพยาบาล เงินประกันสังคม ฯลฯ) มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า เช่น

  • สถานประกอบการจ้างคนพิการ 1 คน เดือนละ 15,000 บาท
  • สถานประกอบมีรายจ่ายในการคนพิการ 15,000 x 12 = 180,000 บาทต่อปี
  • สามารถลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า เป็นเงิน 360,000 บาท
  • สถานประกอบการประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น (360,000 – 180,000) x 20% = 36,000 บาท

 

มาตรา 34 การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในกรณีไม่สามารถจ้างคนพิการได้ตามมาตรา 33

มาตรา 34 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 หรือไม่ดำเนินการตามมาตรา 35 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

การส่งเงินเข้าและขอรับเงินคืนจากกองทุนฯ: การส่งเงินเข้ากองทุนฯ คำนวณจาก อัตราต่ำสุดของค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้บังคับครั้งหลังสุดในปีก่อนปีที่มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ คูณด้วย 365 (วัน) และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน

ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือดำเนินการตามมาตรา 35 แต่ไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ให้ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามจำนวนวันที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เว้นแต่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น

การส่งเงินเข้ากองทุนฯ ให้ส่งเป็นเงินสด เช็คขีดคร่อมหรือธนาณัติสั่งจ่ายกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยส่งต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือส่งทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกำหนด ภายในวันที่ 31 มีนาคมของแต่ละปี

หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ แต่ไม่ได้ส่ง ส่งเงินล่าช้า หรือส่งเงินไม่ครบถ้วน ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ส่งเข้ากองทุนฯ

ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของกิจการได้รับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดหรือดำเนินการตามมาตรา 35 ภายหลังจาก 31 มีนาคมของแต่ละปี ให้ยื่นคำขอต่อกองทุนฯ เพื่อขอรับเงินที่ได้ส่งเข้ากองทุนฯ ไปได้ตามจำนวนค่าจ้างที่ได้จ่ายไปจริง (แต่ไม่เกินจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นรายวันที่ได้ส่งเข้ากองทุนฯ) คูณด้วยจำนวนวันที่ได้จ้างจริง และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ได้จ้างจริง

สิทธิทางภาษีตามมาตรา 34

นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนฯ มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่จ่ายจริง เนื่องจากจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนฯ ถือเป็นรายจ่ายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยกองทุนฯ ประกอบด้วย

 

มาตรา 35 การให้สัมปทาน สถานที่จำหน่ายสินค้า จ้างเหมา ฝึกงาน หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถดำเนินการสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 ได้โดยการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานด้วยวิธีพิเศษ ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ

โดยให้แจ้งการให้สิทธิและดำเนินการให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเข้ารับสิทธิภายในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยการแจ้งให้สิทธิตามข้างต้น ให้หน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการแจ้ง ณ ท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานหรือสถานประกอบการ ดังนี้

  • หน่วยงานหรือสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครให้แจ้ง ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-10
    รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานกทม/
  • หน่วยงานหรือสถานประกอบการในจังหวัดอื่นให้แจ้ง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด
    รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานจังหวัด/
  • แบบแจ้งขอใช้สิทธิตามมาตรา 35
    https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/8016eddba5dcce47467847d9b135917f.pdf

การดำเนินการตามมาตรา 35

  1. การให้สัมปทาน หมายถึง การให้สิทธิคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการใช้ประโยชน์จากอาคาร สถานที่ หรือทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ เช่น ให้คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการใช้พื้นที่ในการทำเกษตรจำนวน 2 ไร่ เพื่อปลูกผัก และให้เป็นผู้หาประโยชน์จากการขายผักตลอดระยะเวลาการให้สัมปทาน เป็นต้น
    แบบคำขอการให้สัมปทาน
    https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/2e60285bb686faf62ad4791bfb0f14d4.pdf
  2. การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ หมายถึง การจัดสถานที่ทั้งภายในหรือภายนอกองค์กรเพื่อให้คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เช่น ให้พื้นที่บริเวณโรงอาหารเพื่อให้คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการขายอาหารจำนวน 1 ร้าน และผลประโยชน์และเงินรายได้จากการขายอาหารให้ตกเป็นของคนพิการ เป็นต้น
    แบบคำขอการจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ
    https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/f8cdc999f6d6e2db8ed3113e3e50e1a5.pdf
  3. การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ หมายถึง การจ้างเหมาช่วงงานหรือการจ้างเหมาบริการจากคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการโดยตรง เช่น หน่วยงานทำสัญญาจ้างเหมากับคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการในการทำป้ายไวนิลจำนวน 100 แผ่น ในระยะเวลา 2 เดือน ในราคา 20,000 บาท เป็นต้น
    แบบคำขอการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ
    https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/afa9e423f82c597b646291713f5d201d.pdf
  4. การฝึกงาน หมายถึง การเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ หรือการถ่ายทอดวิทยาการหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เช่น หน่วยงานฝึกงานหลักสูตรซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 30 คน โดยหน่วยงานเป็นผู้จัดหาที่พัก วัสดุ อุปกรณ์ วิทยากร เอกสาร ค่าพาหนะ และค่าเบี้ยเลี้ยง ตลอดการเข้าฝึกงานให้แก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ รวมระยะเวลาการฝึกงานทั้งสิ้น 6 เดือน โดยหลักสูตรต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น
    แนวปฏิบัติการพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรฝึกงานคนพิการตามมาตรา 35 โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
    http://www.dsd.go.th/wepdp/Region/Download_Doc/5838
    แบบคำขอความเห็นชอบหลักสูตรการฝึกงานให้แก่คนพิการตามมาตรา 35
    http://www.dsd.go.th/DSD/Doc/Download/4946
    แบบคำขอการฝึกงาน
    https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/BKK_th/df2702a7f8e267c73631d123e27172a8.pdf
  5. การจัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก หมายถึง การจัดให้มีขึ้นใหม่หรือปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ โดยดำเนินการในสถานที่หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทำงาน เช่น หน่วยงานจัดให้มีทางลาด ที่จอดรถ ลิฟท์เคาน์เตอร์สำหรับบริการคนพิการทางการเคลื่อนไหว เป็นต้น
    แบบคำขอการจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก
    https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/c178b3980c2a877524ca6f3e703e8b01.pdf
  6. การจัดให้มีล่ามภาษามือ หมายถึง การจัดให้มีล่ามภาษามือในหน่วยงานที่มีคนพิการทางได้ยินปฏิบัติงานอยู่ เช่น หน่วยงานที่มีคนพิการทางการได้ยินได้จ้างบุคคลซึ่งจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสาร โดยหน่วยงานเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้ล่ามภาษามือ เป็นต้น
    แบบคำขอการจัดให้มีบริการล่ามภาษามือ
    https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/4a9ca3cfebeaff6d882104cf28f3e61d.pdf
  7. การให้ความช่วยเหลืออื่นใด หมายถึง การให้การสนับสนุนด้านการเงิน วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องมือ หรือทรัพย์สินอื่น รวมทั้งการซื้อสินค้าจากคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการโดยตรง เช่น หน่วยงานสนับสนุนจักรเย็บผ้าให้คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ พร้อมอุปกรณ์ในการเย็บผ้า (ด้าย เข็ม ฯลฯ) เพื่อให้นำไปประกอบอาชีพเย็บผ้า เป็นต้น

 หมายเหตุ: คนพิการที่เข้าใช้สิทธิตามมาตรา 35 ต้องมีบัตรประจำตัวคน เนื่องจากต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการประกอบการรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 35 แก่กรมการจัดหางาน

สิทธิทางภาษีตามมาตรา 35

หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ดำเนินการตามมาตรา 35 จะได้รับสิทธิทางภาษีดังนี้

  1. การให้สัมปทาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินำมูลค่าการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ
  2. การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินำมูลค่าการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของตนมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ
  3. การจัดจ้างเหมาช่วงหรือจ้างเหมาบริการด้วยวิธีพิเศษที่เป็นไปเพื่อกิจการของตน หรือเป็นไปเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ โดยเป็นการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการไปยังสถานที่ดังต่อไปนี้ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
    – ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
    – สภากาชาดไทย
    – วัดวาอาราม
    – สถานพยาบาลของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล
    – สถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชน
    – องค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
  4. การฝึกงาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
  5. การจัดให้มีล่ามภาษามือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
  6. การจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า
  7. การให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เช่น การซื้ออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่ถ้านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการให้เงินคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานให้กับคนพิการ กรณีนี้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

 

มาตรา 36 การอายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งไม่ส่งเงินที่จะต้องส่งตามมาตรา 34

ในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้อายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งไม่ส่งเงินที่จะต้องส่งตามมาตรา 34

 

มาตรา 37 การจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะบริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่นแก่คนพิการ

นายจ้างหรือสถานประกอบการซึ่งมีการดำเนินการตามมาตรา 37 คือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอํานวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะบริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้  มีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นภาษีเป็นร้อยละของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด

สิทธิทางภาษีตามมาตรา 37

นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอํานวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะบริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มีสิทธินำค่าใช้จ่ายมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า

 

มาตรา 38 การจ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการ

หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละ 60 ในสถานประกอบการ โดยมีระยะเวลาการจ้างเกินกว่า 180 วันในปีภาษีใด นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้นตามที่กฎหมายกำหนด

หมายเหตุ: คนพิการที่รับเข้าทำงานตามมาตรา 38 ต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ เนื่องจากต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการประกอบการรายงานผลการจ้างงานแก่กรมการจัดหางาน

สิทธิทางภาษีตามมาตรา 38

นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ (เงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส ค่ารักษาพยาบาล เงินประกันสังคม ฯลฯ) มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 3 เท่า เช่น ในปีภาษี (1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม) สถานประกอบการมีลูกจ้างทั้งหมด 100 คน เป็นลูกจ้างคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 61 คน โดยลูกจ้างคนพิการมีระยะเวลาการจ้างงานเกิน 180 วันในปีนั้น สถานประกอบการจะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ดังนี้

  • สถานประกอบการจ้างคนพิการ 1 คน เดือนละ 15,000 บาท
  • สถานประกอบมีรายจ่ายในการคนพิการ 15,000 x 12 = 180,000 บาทต่อปี
  • สามารถลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 3 เท่า เป็นเงิน 540,000 บาท
  • สถานประกอบการประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น (540,000 – 180,000) x 20% = 72,000 บาท

 

มาตรา 39 การประกาศโฆษณาข้อมูลการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 ต่อสาธารณะ

ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 39 ให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีอำนาจประกาศโฆษณาข้อมูลการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 ต่อสาธารณะได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นอกจากนั้น ในกรณีที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐจะพิจารณาให้สัมปทาน การส่งเสริมการลงทุน การประกาศเกียรติคุณ สินเชื่อ รางวัล เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด แก่นายจ้างหรือสถานประกอบการใด ให้นําข้อมูลที่ได้ประกาศฯ มาประกอบการพิจารณาด้วย

ในปัจจุบัน สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ได้มีการพิจารณารางวัล “องค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ ประจำปี” เพื่อส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในภาครัฐและเอกชน สนับสนุนการมีงานทำของคนพิการ และเชิดชูเกียรติให้แก่หน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมงานด้านคนพิการ โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. องค์กรที่ส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการตามมาตรา 33, 35
  2. องค์กรที่สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากการดำเนินการตามมาตรา 35
  3. องค์กรสื่อมวลชนที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียด

  • สำนักงานจัดหางาน
    • สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-10
      รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานกทม/
    • สำนักงานจัดหางานจังหวัด
      รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.mol.go.th/งานจังหวัด/
  • กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
    • กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
      โทรศัพท์ 0 2245 1707-8, 0 2248 4782-7 โทรสาร 0 2248 3389
      สายด่วน 1506 กด 4
  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
    • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
      สายด่วน 1506 กด 3
    • สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด
      รายละเอียดสถานที่ตั้งและเบอร์ติดต่อ https://www.labour.go.th/index.php/contact/contact-m2
  • กองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ
    • ตึกนิวยอร์ก ชั้น 2 บริเวณสถานีรถไฟสามเสน แขวงสามเสนใน กรุงเทพมหานคร
      โทร. 02-106-9300, 02-106-9327-31 หรือศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน เขต 1-50
    • สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

“สิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีการจ้างงานคนพิการ”

http://www.rd.go.th/ratchaburi/fileadmin/templates/ratchaburi/tax_disability.pdf

“ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์ หรือสิ่งอํานวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. 2558

https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/BKK_th/de08ea90398718af0469b351708dc5c3.pdf

“พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556”

http://dep.go.th/uploads/Docutents/33cb9847-0905-4854-842e-fec9922ff1e6พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ%20พ.ศ.%202550%20(ปรับปรุงครั้งที่%206).pdf

“ถาม-ตอบการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ”

          https://ejob.dep.go.th/qa/

“กฎกระทรวง กำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนําส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554

          http://203.107.181.6/sites/default/files/files/law/167_1.pdf

“กฎกระทรวง กำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนําส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

http://203.107.181.6/sites/default/files/files/law/กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการ%20ฉบับที่2%20พ.ศ.2560.PDF

“แนวปฏิบัติตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556”

          http://www.thaiarmywives.org/web/downloads/1.pdf

คู่มือการให้บริการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 (ฉบับสมบูรณ์)”

https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/ems_th/15599001b579efff7be56c25e712aa3f.pdf



[1] กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนําส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554

[2] มาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553

[3] คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 156/2561 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.157/2561 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550

[4] มาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553

[5] มาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553

[6] มาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 499 พ.ศ. 2553 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 215) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการเข้าทำงานเกินกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างในสถานประกอบการ