หลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 2564 ด้านประมง

ทั่วไป

26 ต.ค. 2564 เวลา 15:20 น.2.3k

"เยียวยาเกษตรกร" เช็คหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการช่วยเหลือ "เกษตรกร" ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยปี 2564

ตามที่มีการนำเสนอข่าวสารประเด็นเรื่อง หลักเกณฑ์ช่วยเหลือ "เยียวยาเกษตรกร" ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยปี 2564  ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเกษตรกร โดยยึดตาม “หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564”

ซึ่งเป็นไปตาม ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น จะดำเนินการช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม และตรวจสอบได้ โดยที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการแจ้งให้เกษตรกรทั้งด้านพืชปศุสัตว์ ประมง ขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน ตามกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อสิทธิประโยชน์เกษตรกร และยืนยันสถานภาพ ในการรับการช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐบาล

หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการช่วยเหลือ ประกอบด้วย

ด้านพืช  ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่

  • ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท
  • พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท
  • ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท

ด้านประมง (สัตว์น้ำ) ได้แก่

  • ปลาทุกชนิด/สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
  • กุ้ง/หอยทะเล ไร่ละ11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
  • กระชัง/บ่อซีเมนต์ตรม. ละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตรม.

ด้านปศุสัตว์ ได้แก่

  • โค ตัวละ 13,000 – 35,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว)
  • กระบือ ตัวละ 15,000 – 39,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว)
  • สุกร ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว)
  • แพะ/แกะ ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว)
  • ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง ตัวละ 30–80 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว)
  • ไก่ไข่/เป็ดไข่ ตัวละ 30 – 100 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว)
  • ไก่เนื้อ ตัวละ 20 – 50 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว)
  • เป็ดเนื้อ/เป็นเทศ ตัวละ 30 – 80 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว)
  • นกกระทา ตัวละ 10 – 30 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว)
  • นกกระจอกเทศ ตัวละ 2,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว)
  • ห่าน ตัวละ100 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว)

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายทุกหน่วยงานในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ และหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว จะได้มีการลงพื้นที่สำรวจต่อเนื่อง ให้คำแนะนำเกษตรกร ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ สนับสนุนพันธุ์ไม้ผล ไม้ยืนต้น เมล็ดพันธุ์ผัก สารชีวภัณฑ์ เป็นต้น

และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.moac.go.th หรือโทร 02-2815955

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2562

หลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 2564 ด้านประมง

คุณสมบัติของเกษตรกร

     เกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนด้านประมงกับหน่วยงานของกรมประมง ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น

ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือ

     1. จังหวัดดำเนินการประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

     2. เกษตรกรแจ้งขอรับการช่วยเหลือตามแบบยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (แบบ กษ 01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน/อบต. หรือนายกเทศมนตรีประจำท้องที่ตรวจสอบรับรอง และยื่นขอรับความช่วยเหลือกับประมงอำเภอหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

     3. ประมงอำเภอ ดำเนินการสำรวจ และตรวจสอบความเสียหายของเกษตรกรเป็นรายบุคคล และตรวจสอบกับทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง

     4. ประมงอำเภอ นำรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและผ่านการตรวจสอบแล้ว นำมาประมวลรวบรวม และคำนวณมูลค่าความช่วยเหลือพร้อมลงนามรับรองตามแบบประมวลรวบรวมการช่วยเหลือรายหมู่บ้าน (แบบ กษ 02)

     5. ประมงอำเภอ นำรายชื่อเกษตรกรตามแบบประมวลรวบรวมการช่วยเหลือรายหมู่บ้าน (แบบ กษ 02) นำไปติดประกาศในสถานที่ราชการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อให้เกษตรกรตรวจสอบข้อมูล หรือดำเนินการประชาคมหมู่บ้าน กรณีมีผู้คัดค้านให้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องใหม่ทั้งหมด 

     6. นำรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ที่ผ่านการติดประกาศ หรือประชาคมหมู่บ้านแล้วเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจอำเภอ

     7. หากวงเงินในอำนาจของอำเภอมีไม่เพียงพอให้นำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด 20 ล้านบาท

     8. หากวงเงินในอำนาจของจังหวัดมีไม่เพียงพอสามารถขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (50 ล้านบาท)

อัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

     1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่

     2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นนอกจากข้อ 1. ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682  บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่

     3. สัตว์น้ำตามข้อ 1. และข้อ 2. ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร

     ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท

ดาวน์โหลดเอกสาร :

 คู่มือ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ด้านการเกษตร

 คู่มือ หลักเกณฑ์ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ด้านการเกษตร

 - ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

 - หลักเกณฑ์การใช้จ้ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563

 - หลักเกณฑ์วิธีปฎิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการใช้จ้ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

แบบฟอร์มรายงานความเสียหาย :

 บันทึกข้อความรายงานสถานการณ์อุทกภัย

 ตารางรายงานความเสียหายเบื้องต้นเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

 แบบรายงานความก้าวหน้าการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ

แบบประมวลรวบรวมความเสียหายด้านประมง และการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย

 แบบ กษ 01 / แบบ กษ 02 / แบบ กษ 03