เกณฑ์ในการวิจารณ์งานเขียนประเภทสารคดี

เกณฑ์ในการวิจารณ์งานเขียนประเภทสารคดี
การประเมินคุณค่าเรื่องสั้น  ควรประเมินครอบกลุ่ม  ๔  ประเด็นคือ

    ๑. เนื้อหาและแนวคิด  มีความเป็นสากลและมีลักษณะเฉพาะ
    ๒. กลวิธีในการนำเสนอเรื่อง  พิจารณาองค์ประกอบดังนี้
        ๒.๑ โครงเรื่อง  ควรมีโครงเรื่องเดียว  โครงเรื่องมีการสร้างปมปัญหาหรือความขัดแย้งและคลี่คลายปมปัญหาได้อย่างน่าสนใจ
        ๒.๒ แก่นเรื่อง  มีแก่นเรื่องเดียวและมีความชัดเจน
        ๒.๓ การดำเนินเรื่อง  มีการเปิดเรื่องน่าสนใจ  ดำเนินเรื่องตามปมปัญหาหรือความขัดแย้งอย่างชัดเจนน่าติดตาม  เสนอเหตุการณ์ในระยะรวบรัดและปิดเรื่องอย่าน่าประทับใจ  อาจปิดเรื่องด้วยการคลายปมปัญหา  หรือการทิ้งเรื่องไว้ให้ผู้อ่านนำไปขบคิดต่อ  จะทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจและจดจำเรื่องนั้นไว้ในใจ
        ๒.๔  ฉาก  ต้องสอดคล้องกับเหตุการณ์ในเรื่อง  ทำให้เข้าใจลักษณะนิสัย และอารมณ์ของตัวละครชัดเจนขึ้น  ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ  ช่วยสร้างจินตภาพของผู้อ่านที่มีต่อตัวละครได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

        ๒.๕ ตัวละคร  ต้องสอดคล้องกับแนวเรื่อง   ตัวละครมีการพัฒนานิสัยอย่างสมเหตุสมผลและมีบทบาทสัมพันธ์กับเรื่อง
        ๒.๖ บทสนทนา  ช่วยในการดำเนินเรื่อง  บทสนทนาต้องสอดคล้องกับตัวละครและใช้ภาษาสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง         

    ๓. การใช้ภาษา  เหมาะสมกับลักษณะของเรื่องและภาษามีลีลาเฉพาะตัว
    ๔. คุณค่าของเรื่อง  เนื้อเรื่องให้ความบันเทิง  ให้ข้อคิดที่ทำให้ตระหนักและเข้าใจชีวิตอย่างลุ่มลึกหรือเสนอแง่คิดแก่ผู้อ่าน  รวมทั้งมีเนื้อเรื่องจรรโลงใจหรือสังคม 


เกณฑ์ในการวิจารณ์งานเขียนประเภทสารคดี
การประเมินคุณค่าสารคดี  การประเมินคุณค่าสารคดี  ควรพิจารณาประเมินให้ครอบคลุม  ๔  ประเด็นใหญ่ๆ  ดังนี้
    ๑. เนื้อหา  มีเนื้อหาสะท้อนแนวคิดสร้างสรรค์ที่เป็นสากล  และแนวคิดเฉพาะตน  รวมทั้งพิจารณาความถูกต้องของเนื้อหาที่นำเสนอ  มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
    ๒. วิธีการนำเสนอ  พิจารณาชื่อเรื่องต้องมีความน่าสนใจ  กระชับตรงประเด็น เปิดเรื่องอย่างมีศิลปะ  ลำดับเรื่องชวนติดตาม  ปิดเรื่องอย่างน่าประทับใจ  กลวิธีในการนำเสนอเหมาะสมกับเนื้อหาและน้าสนใจ  กลั่นกรองข้อมูลและนำเสนอในรูปแบบที่เหมาะสมถูกต้อง  นำเสนอข้อเท็จจริงที่ผู้อ่านควรรู้และเกิดประโยชน์ต่อสังคม  ไม่สอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัว
    ๓. การใช้ภาษา  ใช้ภาษาถูกต้องชัดเจน  การใช้สำนวนภาษามีพลังในการส่งสาร  ใช้ภาษาที่สื่อความหมายได้อย่างตรงไปตรงมา  รวมทั้งเลือกใช้ศัพท์เฉพาะหรือศัพท์บัญญัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับเรื่อง  หากจำเป็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศควรมีการอธิบายให้ชัดเจนด้วย  เพื่อให้ผู้อ่านซึ่งมีความรู้พื้นฐานแตกต่างกันเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ตรงกัน
    ๔. คุณค่าของสารคดี  เป็นงานที่เรียบเรียงขึ้นจากเรื่องจริงที่ให้ทั้งความรู้  ความคิด  และสอดแทรกความบันเทิงไว้ด้วย  ช่วยเพิ่มพูนความรู้ความคิดให้กับผู้อ่าน  รวมทั้งช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้อ่านให้กว้างไกล  ทำให้เป็นคนที่มีความรู้ที่ทันสมัยทันโลกตลอดเวลา


การประเมินคุณค่างานกวีนิพนธ์ 
    การประเมินคุณค่างานกวีนิพนธ์ควรประเมินให้ครอบคุลมทั้ง ๔ ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้ คือ
    ๑. เนื้อหา  สะท้อนแนวคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นสากล สะท้อนแนวคิดเฉพาะตน
    ๒. รูปแบบคำประพันธ์  พิจารณาจากการมีรูปแบบตามฉันทลักษณ์หรือประยุกต์จากฉันทลักษณะเดิมหรือมีรูปแบบที่คิดขึ้นเอง โดยรูปแบบนั้นมีความเหมาะสมกับเนื้อหา
    ๓. ความงามด้านการประพันธ์ มีการเล่นเสียง  การสรรคำ มีเสียงเสนาะ     มีการใช้โวหารภาพพจน์อย่างมีชั้นเชิงและมีการเสนออย่างมีเอกภาพ

    ๔. คุณค่ากวีนิพนธ์  บทกวีก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ  สร้างจินตนาการ  ให้ข้อคิด  ทำให้ตระหนักและเข้าใจชีวิตอย่างลุ่มลึก  หรือเสนอแนวคิดแก่ผู้อ่านและมีโครงเรื่องจรรโลงสังคม


     วรรณกรรมบางเรื่องอาจมีคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วนตามหลักดังกล่าว  ผู้อ่านสามารถวิจารณ์ทั้งจุดเด่นและจุดด้อยได้เต็มที่  ส่วนวรรณคดีที่มีผู้วิจารณ์มาแล้วและตัดสินแล้วว่าแต่งดี  ผู้วิจารณ์อาจเห็นพ้องด้วยหรือไม่ก็ได้  แต่ทั้งนี้ผู้วิจารณ์ต้องชี้ให้เห็นว่าดีเด่น  หรือบกพร่องอย่างไร

อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ คนอยากเป็นนักเขียนยังมีอยู่มาก คนอ่านก็มีไม่น้อย แต่คนที่อ่านแล้วให้ความเห็นออกมาดังๆ ที่เรียกกันว่า นักวิจารณ์ นับวันดูจะหาได้ยากเต็มที

ทั้งที่เป็นอีกบทบาทสำคัญของวงการวรรณกรรม ในการเป็นสะพานเชื่อมคนอ่านกับงานเขียน และเป็นคล้ายกระจกสะท้อนให้คนเขียนได้มองเห็นงานตัวเองจากอีกมุมหนึ่ง

แต่ความพยายามในการปลุกพลังสังคมการณ์วิจารณ์ก็ยังมีอยู่เป็นระยะ หลังสุดเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดโครงการเพิ่มพูนความรู้ภาษาไทย เป็นกิจกรรมพิเศษให้กับนักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้สนใจทั่วไป ในหัวข้อการวิจารณ์ ๗ กลุ่มงานเขียน ได้แก่ วรรณคดี กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย วรรณกรรมเยาวชน สารคดี และบทละครโทรทัศน์ โดยเชิญผู้สร้างสรรค์งานแต่ละประเภทประกบคู่นักวิจารณ์ พูดถึงการสร้างงานและเปิดการวิจารณ์เป็นกรณีศึกษาให้ผู้ร่วมประชุมได้ความรู้ควบคู่ไปพร้อมกัน

กลุ่มสารคดีผมอยู่คู่กับคุณจรูญพร ปรปักษ์ประลัย นกวิจารณ์มือเก๋าผู้คลุกคลีกับงานนี้มายาวนาน ผู้เข้าร่วมกระบวนการส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาเอกไทย และครูอาจารย์จากทั่วประเทศรวมราว ๔๐ คน

พูดถึงการวิจารณ์สารคดีก็เริ่มจากการทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้นว่าด้วยเรื่องจริง (Nonfiction) เรื่องแต่ง (Fiction) องค์ประกอบของงานสารคดี กลุ่มข้อมูล กลวิธีการนำเสนอ ฯลฯ

ในการวิจารณ์เบื้องต้นก็วิจารณ์ผ่านหลักการและกรอบเกณฑ์ต่างๆ นี้ หรือแม้เมื่อจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานเอง ก็สามารถทำผ่านหลักวิธีการนี้ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ความรู้ทั้งหลายจะกลายเป็นความรู้ของตนได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อได้ลงมือทำเอง ช่วงหนึ่งของการเข้าร่วมกิจกรรมจึงเป็นการเปิดให้สมาชิกทุกคนมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติการวิจารณ์ด้วย นอกเหนือจากฟังการสนทนา ถาม-ตอบข้อสงสัย โดยใช้ตัวอย่างงานเขียนสารคดีขนาดสั้น ๓-๔ หน้า เป็นแบบฝึกหัดจับใจความของเรื่อง พร้อมให้คำวิจารณ์ นำเสนองาน แล้วซ้อนการวิจารณ์จากวิทยากรและผู้ฟังทั้งห้อง หมุนเวียนกันครบทุกผลงาน ก็ได้การเรียนรู้ร่วมกันจากมุมมองที่หลากหลาย

เป็นบันไดขั้นต้นที่พอเป็นความหวังได้ว่า จะเป็นการเพาะกล้าและหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ให้ดำเนินอยู่ในวงการวรรณกรรม ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมการอ่านการเขียน


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา