การสื่อสารเพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต

ทักษะชีวิตเพื่อการสื่อสาร

By 21:19:00 ต่อเนื่อง พื้นฐาน อัธยาศัย basic Extras God

บทที่ 9

ทักษะชีวิตเพื่อการสื่อสาร

การสื่อสารเพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต

ขอบคุณภาพจาก https://pixabay.com/static/uploads/photo/2016/03/31/23/20/communication-1297544_960_720.png


สาระสำคัญ
การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ทักษะการเข้าใจผู้อื่น จะช่วยให้บุคคลดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างมีความสุข
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เพื่อให้ผู้เรียน
1. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะชีวิตที่จำเป็น 3 ประการ ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และทักษะการเข้าใจผู้อื่น
2. ประยุกต์ใช้ทักษะชีวิตในการดำเนินชีวิต และในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบข่ายเนื้อหา
เรื่องที่ 1 ความหมายของทักษะชีวิต
เรื่องที่ 2 ทักษะชีวิตที่จำเป็น 3 ประการ

อ่านเนื้อหา :: บทที่ 9

การสร้างทักษะชีวิตในเด็กวัยเรียน

                                                                               ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต (Life skills) หมายถึง ความสามารถในการนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหา และความขัดแย้งต่างๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น

ทักษะชีวิต เป็นความสามารถที่ประกอบด้วยความรู้ เจตคติ และทักษะ ในการที่จะจัดการกับความกดดัน ความบีบคั้น ปัญหารอบตัวในสภาพสังคมปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต

การสอนเด็กให้มีทักษะชีวิตมีความสำคัญอย่างไร?

สำหรับเด็กวัยเรียน ควรเสริมสร้างพัฒนาทักษะชีวิตพื้นฐานที่สำคัญ 2 ด้าน 4 องค์ประกอบ ได้แก่             1) ทักษะชีวิตด้านเจตคติ มี 2 องค์ประกอบ คือ ความภูมิใจในตนเอง ความตระหนักรู้ในตนเองหรือการมีวินัยและความรับผิดชอบ 2) ทักษะชีวิตด้านทักษะ มี 2 องค์ประกอบ คือ การสร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสารหรือทักษะทางสังคม ทักษะชีวิตดังกล่าวนี้จะเป็นพื้นฐานด้านบุคลิกภาพที่สำคัญที่เด็กควรได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง

  • ความภูมิใจในตนเองคือ ความคิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความภูมิใจ เห็นคุณค่าความสามารถของตนเอง มีความมั่นใจในการคิด ตัดสินใจ มีการแสดงออก สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีความสุข ประสบความสำเร็จ สร้างประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม เด็กวัยเรียนจะเป็นวัยที่พัฒนาความรู้สึก ความรับผิดชอบในตนเอง เป็นวัยที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ อยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต สนใจสิ่งต่างๆ ชอบคิด ชอบทำ แก้ปัญหาได้ มีความขยัน ตั้งใจ ต้องการความสำเร็จ เป็นคนเด่น เป็นคนสำคัญ เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ใหญ่ จึงเป็นวัยที่สามารถสร้างเสริมพัฒนาบุคลิกภาพ ปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับคุณค่า ความภูมิใจในตนเอง เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณค่าต่อไป
  • การมีวินัยและความรับผิดชอบเด็กที่มีวินัยในตนเองและมีความรับผิดชอบ จะเป็นเด็กที่สามารถบังคับตนเองให้ปฏิบัติตนให้ถูกกาลเทศะ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม เคารพสิทธิของผู้อื่น ทำตามหน้าที่ของตน และมีความซื่อสัตย์สุจริต โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุมหรือลงโทษ หากผู้ใหญ่เสริมสร้างความมีวินัยในตนเองและความรับผิดชอบให้กับเด็กวัยเรียน จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวและยอมรับกติกา กฎระเบียบของกลุ่ม ของโรงเรียน เข้าใจสิทธิของผู้อื่น ยอมรับฟังความคิดเห็น มีความอดทน อดกลั้น ควบคุมตนเองได้ และสามารถปรับตัวอยู่ในกลุ่มสังคมได้อย่างภาคภูมิ
  • ทักษะทางสังคมคือ การที่เด็กสามารถแสดงออกเหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นที่ยอมรับในสังคม เด็กวัยเรียนเป็นช่วงสำคัญสำหรับ “เตรียมตัว” เข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เริ่มเรียนรู้มารยาททางสังคม เรียนรู้ที่จะทำกิจกรรม อยู่ร่วมกับผู้อื่น ที่นอกเหนือไปจากคนในครอบครัว

เด็กที่มีทักษะชีวิตที่ดี จะช่วยให้เด็กรู้จักที่จะอยู่กับตัวเอง รู้จักที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความบากบั่น รู้จักคิด พบปัญหา สามารถแก้ไขได้ รู้จักปรับตัวที่จะอยู่ในสังคมได้ เป็นภูมิคุ้มกัน สร้างความเข้มแข็งให้เด็กรู้จักดูแลตนเองและพึ่งตนเองได้ในที่สุด

ทักษะชีวิตมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?

ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต หรือใช้ทักษะชีวิตเป็น จะเกิดประโยชน์ต่อเด็ก ดังนี้

  • มีความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัวเห็นคุณค่าของการมีชีวิตและครอบครัวที่อบอุ่นเป็นสุข มีการแสดงออกถึงความรัก ความกตัญญูระหว่างกันในครอบครัวในโอกาสที่เหมาะสม ช่วยทำงาน ช่วยแบ่งเบาภาระในครอบครัว และรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ
  • มีความรู้ ทักษะ และกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ และนำมาแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม มีทักษะในการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร สามารถเชื่อมโยงความรู้ จัดกลุ่มความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ที่ได้จากการเรียนรู้ นำมาจำแนกเป็นประเด็นความรู้เดิมกับประเด็นความรู้ใหม่ ตั้งใจเรียนหนังสือ และมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  • ทำงานและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขสามารถทำงานด้วยตนเองและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้สำเร็จ ยอมรับฟังความคิดเห็น และแสดงความคิดเห็นของตนเองด้วยกิริยาวาจาสุภาพ สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม
  • รู้จักป้องกันหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น สามารถดูแลสุขภาพร่างกายของตนตามหลักของสุขบัญญัติ ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย ไม่ก่อเหตุที่นำไปสู่การทะเลาะวิวาทและความรุนแรง มีสุขภาพจิตที่ดี มีมุมมองเชิงบวก มีการควบคุมอารมณ์ สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดด้วยการปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อผ่อนคลายความเครียดได้

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิตให้ลูกได้อย่างไร?

  1. พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติและชักนำให้ลูกเกิดการประพฤติปฏิบัติตาม พ่อแม่

แสดงความรักและยอมรับลูก ครอบครัวมีความอบอุ่น เป็นมิตร ทำให้ลูกมีความปลอดภัย ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ลูกมีความเข้าใจในการพัฒนาทักษะตนเองที่จะช่วยให้ตนเองประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ต่อไป

  1. ปลูกฝังให้ลูกเกิดศรัทธาต่อตนเองเสริมสร้างให้ลูกมีวินัยในตนเองและมีความรับผิดชอบ รักษากฎ

กติกา มารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เห็นข้อดีของตัวเองที่น่าภาคภูมิใจ มีความสุข ความพอใจในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ มีพฤติกรรมความเคยชินที่ดีในการปฏิบัติกิจกรรมอย่างประณีต ละเอียดรอบคอบ ทั้งการกิน การอยู่ การดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย การจัดเก็บของใช้ส่วนตัวและส่วนรวม การรับประทานอาหาร เป็นต้น

  1. สร้างทักษะการเข้าใจตนเองและเข้าใจคนอื่นให้ลูกได้ตระหนักรู้ว่าตนเองมีลักษณะเป็นอย่างไร มี

ความสามารถในด้านใดบ้าง ได้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตนเองชอบหรือไม่ชอบ และได้เรียนรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เพื่อนชอบและไม่ชอบ เพื่อเป็นการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เริ่มรู้จักการมีเหตุผล และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่ต่างไปจากตน รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยการฝึกให้ลูกทำงานบ้าน ให้ลูกเป็นผู้บริการผู้ใหญ่ในบ้าน เช่น เสิร์ฟน้ำ จัดโต๊ะอาหาร ทำอาหาร เลี้ยงน้อง รดน้ำต้นไม้ กรอกน้ำใส่ตู้เย็น เป็นต้น

  1. เสริมทักษะทางสังคมทั้งการพูดสื่อสาร การรู้จักฟัง รู้จักขอบคุณขอโทษ ให้ลูกสามารถสื่อสารกับ

คนอื่นให้เข้าใจ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น สามารถรู้ว่า เมื่อไร อย่างไร กับใคร ควรจะสื่อสารอย่างไรจึงจะเป็นการสื่อสารที่ถูกกาลเทศะ สอนให้ลูกรู้จักฉลาดในสิ่งที่มากระทบ ฝึกให้ลูกรู้จักวิเคราะห์โฆษณาที่มีอยู่รอบตัวว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าแท้หรือคุณค่าเทียม ทำอย่างไรลูกจึงจะรู้เท่าทัน รู้จักสำรวม ระวัง ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ทำให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนกับใคร นอกจากนี้พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับคุณธรรมและการรู้เท่าทันอารมณ์ แนะนำวิธีบริหารจัดการอารมณ์ต่างๆ รู้จักผ่อนคลายอารมณ์ พยายามฝึกละสิ่งที่ไม่ดี เพิ่มสิ่งที่ดี ปลูกฝังให้ลูกมีความเป็นห่วงเพื่อนมนุษย์ เป็นห่วงสิ่งแวดล้อม ประเทศชาติ และมีอุดมการณ์ในการช่วยเหลือคนอื่น

ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต หรือการใช้ทักษะชีวิตเป็น เป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสามารถก้าวไปสู่จุดหมายแห่งความเป็นชีวิตที่ดี ผู้ใหญ่รอบตัวจึงควรสอนให้เด็กรู้จักตนเอง เรียนรู้ที่จะปรับตัว อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข รู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น สามารถจัดการกับความกดดัน ความบีบคั้น ปัญหารอบตัว และเตรียมพร้อมสำหรับปรับตัวในอนาคต จึงจะเรียกได้ว่า เป็นคนสมบูรณ์แบบ เป็นสมาชิกที่ดีมีคุณค่าอย่างแท้จริงของสังคม สามารถนำสังคมไปสู่สันติสุข

เอกสารอ้างอิง

ประไพ ประดิษฐ์สุขถาวร. (2558). สอนลูกให้มีทักษะชีวิต (life skills). (ออนไลท์) เข้าถึงได้จาก:

taamkru.com/th/สอนลูกให้มีทักษะชีวิต.

สมาคมไทสร้างสรรค์. (2558). การพัฒนาทักษะชีวิต. (ออนไลท์) เข้าถึงได้จาก:

http://www.taiwisdom.org/artclnchdev/lfskll/chddvpartcl04.

สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2551). คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 4) กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

        เอกพจน์  สืบญาติ