สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ

ถ้าสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่หลอดลมส่วนใดส่วนหนึ่ง หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปอดอักเสบ หลอดลมพอง หลอดลมตีบ ปอดแฟบ (atelectasis) ปอดทะลุ ฝีในปอด ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด

 

ในเด็กเล็กอาจทำให้สมองขาดออกซิเจนกลายเป็นสมองพิการได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

ถ้าสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์ (สนิท) จะตรวจพบอาการหายใจลำบาก หรือไม่สามารถหายใจได้ หน้าเขียว เล็บเขียว ผู้ป่วยใช้มือกุมที่ลำคอ ในรายที่เป็นรุนแรง สมองขาดออกซิเจนอยู่นาน ก็จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการหมดสติ

ถ้าสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจเพียงบางส่วน หรือไม่สนิท จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการไออยู่ติด ๆ กันเรื่อย ๆ อาจพบมีอาการหายใจมีเสียงฮื้ด (stridor)

ถ้าสิ่งแปลกปลอมหล่นลงไปติดอยู่ที่หลอดลมข้างใดข้างหนึ่ง (มักพบอยู่ที่หลอดลมข้างขวา) เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจดูจะพบว่าเสียงหายใจของปอดข้างนั้นค่อยลงหรือไม่ได้ยิน หรือมีเสียงวี้ด (wheezing)

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง (laryngoscopy) หรือหลอดลม (bronchoscopy)

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจเพียงบางส่วน หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในหลอมลมข้างใดข้างหนึ่ง แพทย์จะใช้เครื่องมือทำการคีบเอาสิ่งแปลกปลอมออก และอาจต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการอักเสบในปอด

2. ในรายที่สงสัยมีสิ่งแปลกปลอมติดที่กล่องเสียงอย่างสมบูรณ์ คือ มีอาการหายใจไม่ได้ หน้าเขียว เล็บเขียว จะทำการปฐมพยาบาล ในบางรายอาจจำเป็นต้องทำการเจาะคอ (tracheostomy) ช่วยหายใจ

แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล ให้การรักษาแบบประคับประคอง (เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ) ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ แก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการปฐมพยาบาล และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

 

ผลการรักษา ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมติดที่กล่องเสียงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินร้ายแรง หากให้การปฐมพยาบาลได้ถูกต้องทันการ ก็จะปลอดภัยและหายเป็นปกติ แต่ถ้าให้การช่วยเหลือไม่ได้ทันการ ก็มีโอกาสเสียชีวิตสูง หรือมีภาวะสมองพิการถาวร

 

ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่กล่องเสียงหรือในหลอมลมข้างใดข้างหนึ่ง และแพทย์สามารถใช้เครื่องมือคีบออก ก็จะหายได้เป็นปกติ

การดูแลตนเอง

1. เมื่อพบเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการสำลักอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมติดคอ ถ้ายังไอได้แรง ๆ พูดได้ และหายใจเป็นปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่ยังไม่มีอันตรายร้ายแรง ควรรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที โดยไม่ต้องทำอะไร อย่าพยายามให้ความช่วยเหลือใด ๆ (เช่น ใช้นิ้วล้วงคอเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก) เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนที่ลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นอันตรายได้

ระหว่างนั้นกระตุ้นบอกให้ผู้ป่วยไอไปเรื่อย ๆ อาจช่วยให้สิ่งที่สำลักหลุดออกมาได้ แม้ว่าหลุดออกมาแล้วก็ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมตกลงไปในหลอมลมหรือมีภาวะแทรกซ้อนอะไรหรือไม่

2. ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ได้ หน้าเขียว ตัวเขียว เล็บเขียว ไอไม่ออก พูดไม่ออก ร้องไม่มีเสียง แสดงท่าใช้มือกุมที่ลำคอ แสดงว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจรุนแรง ให้รีบช่วยชีวิตด้วยการลงมือทำการปฐมพยาบาลทันทีพร้อม ๆ กับให้คนช่วยโทรแจ้งหน่วยรับเหตุฉุกเฉิน (โทร.191 หรือ 1669)

 

3. หลังจากแพทย์ให้การรักษาและกลับมาอยู่ที่บ้าน ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด หากมีอาการผิดปกติ (เช่น ไข้ ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น) หรือสงสัยเกิดอาการแพ้ยา (เช่น เป็นลมพิษ ผื่นคัน) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

การปฐมพยาบาลผู้ที่มีภาวะฉุกเฉินจากการสำลัก


เมื่อพบเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการสำลักอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมติดคอ ถ้ายังไอได้แรง ๆ พูดได้ และหายใจเป็นปกติ ไม่ต้องทำอะไร แต่ควรรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที อย่าพยายามให้ความช่วยเหลือใด ๆ (เช่น ใช้นิ้วล้วงคอเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก) เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนที่ลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นอันตรายได้

 

ถ้าผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ได้ หน้าเขียว เล็บเขียว ไอไม่ออก พูดไม่ออก ร้องไม่ออก ควรรีบให้ความช่วยเหลือดังนี้

 

1. กรณีที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี

 

ก. ผู้ใหญ่และเด็กโต ใช้วิธี "รัดท้องอัดยอดอก (Heimlich maneuver หรือ abdominal thrust)" โดย

(1) ผู้ช่วยเหลือยืนข้างหลังผู้ป่วย ใช้แขน 2 ข้างโอบรอบเอวผู้ป่วย

(2) ผู้ช่วยเหลือใช้มือข้างที่ไม่ถนัดกำหมัด โดยเก็บนิ้วหัวแม่มือไว้ในกำปั้น แล้ววางกำปั้นไว้เหนือสะดือ (อยู่ใต้กระดูกอ่อน "ลิ้นปี่") ของผู้ป่วย โดยให้ด้านหัวแม่มืออยู่ติดกับหน้าท้องผู้ป่วย (ภาพที่ 1)

(3) ผู้ช่วยเหลือใช้มืออีกข้างที่ถนัดจับมือที่กำหมัดไว้แล้ว จากนั้นผู้ช่วยเหลือรัดกระตุกแขนทั้งสองข้างเข้าหาลำตัว ทำการอัดมือที่กำหมัดไว้เข้าท้องแรงๆ เร็ว ๆ ในลักษณะเฉียงขึ้นไปข้างบนเพื่อเข้าไปในอก (ทำคล้ายกับจะพยายามยกตัวผู้ป่วยขึ้น)

(4) อัดหมัดเข้าท้องซ้ำ ๆ ติด ๆ กัน จำนวน 5 ครั้ง ต่อหนึ่งยก ทำไปเรื่อย ๆ (ยกละ 5 ครั้ง) จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา ถ้าไม่หลุดและผู้ป่วยหมดสติ ให้การช่วยเหลือดัง "ข้อ 2 กรณีผู้ป่วยหมดสติ"

 

หมายเหตุ : สำหรับคนอ้วน ลงพุง หรือหญิงตั้งครรภ์ ให้ทำการช่วยเหลือคล้าย ๆ กัน แต่ควรวางมือตรงตำแหน่งที่สูงกว่าคนทั่วไป คือวางตรงลิ้นปี่ และอัดหมัดเข้ายอดอกแทน (ภาพที่ 2)

 

สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ

กรณีอยู่ตามลำพัง ไม่มีผู้ช่วยเหลือ ให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเอง โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

วิธีที่ 1

(1) กำหมัดข้างหนึ่งโดยเก็บนิ้วหัวแม่มือไว้ในกำปั้น แล้ววางกำปั้นไว้เหนือสะดือ โดยให้ด้านหัวแม่มืออยู่ติดกับหน้าท้อง (ภาพที่ 3)

(2) ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้ แล้วก้มตัวให้มือที่วางไว้หน้าท้องนั้นกระทบขอบแข็ง ๆ ที่สามารถดันมือเข้าในท้องได้แรง ๆ (เช่น ขอบโต๊ะ ขอบเคาน์เตอร์ พนักพิงเก้าอี้ ขอบอ่างล้างมือ)

(3) หลังจากนั้น ก้มตัวลงแรง ๆ เพื่อกระแทกหมัดอัดเข้าท้องในลักษณะดันเฉียงขึ้นข้างบน ทำซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้งจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
 

สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ


วิธีที่ 2

กระแทกหน้าท้องเข้ากับขอบแข็ง ๆ (เช่น ขอบโต๊ะ พนักพิงเก้าอี้) ทำซ้ำ ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา (ภาพที่ 4)
 

สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ


ข. สำหรับทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้ทำการช่วยเหลือ ดังนี้

(1) จับทารกนอนคว่ำบนแขน ให้ศีรษะต่ำลงเล็กน้อย

(2) ใช้ฝ่ามือตบลงตรงกลางหลังของทารก (ระหว่างกลางของสะบัก 2 ข้าง) เร็ว ๆ 5 ครั้ง (ภาพที่ 5)

 

สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ


(3) ถ้าไม่ได้ผล จับทารกนอนหงายบนแขนให้ศีรษะต่ำ แล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางบนกระดูกลิ้นปี่ แล้วกดหน้าอกลง (สักครึ่งถึง 1 นิ้ว) เร็ว ๆ 5 ครั้ง (ภาพที่ 6)

สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ


(4) ถ้าไม่ได้ผล ให้ทำการ "ตบหลัง" 5 ครั้ง สลับกับ "กดหน้าอก" 5 ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุด (ถ้าหมดสติก็ให้การช่วยเหลือดัง "ข้อ 2 กรณีผู้ป่วยหมดสติ")
 

 

2. กรณีผู้ป่วยหมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) ให้ทำการช่วยเหลือดังนี้

(1) จับผู้ป่วยนอนหงายลงบนพื้น

(2) เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยใช้มือยกคางขึ้นและกดศีรษะลง (ภาพที่ 7)


สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ


(3) ตรวจในช่องปาก ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมชัดเจน ให้ใช้นิ้วชี้ค่อย ๆ เขี่ยและเกี่ยวออกมา แต่ต้องระวังอย่าทำแรงหรือลึกเกินไป เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดลึกเข้าไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดกับเด็กเล็ก (ภาพที่ 8)

ถ้าสิ่งแปลกปลอมอยู่ลึกเกินไป หรือมองสิ่งแปลกปลอมไม่เห็น ห้ามใช้นิ้วล้วง เพราะจะเกิดอันตรายได้

 

สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ


(4) ให้ทำการช่วยหายใจโดยการเป่าปาก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 วินาทีครึ่ง (ภาพที่ 9)
 

สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ


(5) ทำการรัดท้องอัดยอดอก 6-10 ครั้ง ในท่านอนหงาย (สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 1 ปี) (ภาพที่ 10) หรือทำการตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับกดหน้าอก 5 ครั้ง (สำหรับทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี) ทำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมหลุด หรือผู้ป่วยหายใจเองได้
 

สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ


(6) ตรวจดูช่องปาก ทำการเขี่ยและเกี่ยวสิ่งแปลกปลอมออกตามข้อ (3)

(7) ถ้าสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออก หรือผู้ป่วยยังหายใจไม่ได้ ให้ทำตามข้อ (4) ถึง (6) ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล