คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ข้อ

คุณลักษณะอันพึงประสงค์

แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมมีหลักเกณฑ์ หลักสูตร หรือแบบแผนที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา การศึกษาไทยก็เช่นกัน ได้มีการกำหนดหลักสูตรการเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือที่เราเรียกกันว่า ‘คุณลักษณะอันพึงประสงค์’ มีทั้งหมด 8 ประการ ดังต่อไปนี้

มีการกำหนดหลักสูตรการศึกษาเพื่อเป็นแกนกลางให้เหล่าบุคลากรทั้งหลายได้นำไปปฏิบัติตาม เพื่อนำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดของการศึกษาไทย และเสมือนเป็นการบ่งบอกถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่ควรพึงมี ยึดเป็นหลักปฏิบัติที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วย 8 ประการ ดังต่อไปนี้

1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กล่าวคือ นักเรียนควรแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย และคงความเป็นไทยให้สืบเนื่องต่อไป

 2. ซื่อสัตย์สุจริต กล่าวคือ นักเรียนควรแสดงให้เห็นคุณค่าที่ดีที่ควรนำไปปฏิบัติในเรื่องของการพัฒนาจิตใจ เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมไทย

 3. มีวินัย กล่าวคือ นักเรียนสามารถที่จะรู้จักการควบคุมตนเองในการทำสิ่งใดสิ่งนึงป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ อย่างการศึกษาเล่าเรียนจนจบระดับปริญญา เป็นต้น

 4. ใฝ่เรียนรู้ กล่าวคือ นักเรียนควรรักการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือพัฒนาสิ่งเดิมให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักเรียนยิ่งต้องใฝ่หาความรู้ และเรียนรู้สิ่งใหม่ให้ทันกระแส เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน

 5. อยู่อย่างพอเพียง กล่าวคือ นักเรียนควรดำเนินตามแนวพระราชดำริหรือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งเน้นเรื่องความพอเพียง การออมเงิน รวมทั้งการใช้เงินอย่างไม่ประมาท ซึ่งเป็นหลักที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของตนเอง ชุมชน และท้องถิ่น เพราะการไม่มีหนี้ถือเป็นลาภอันประเสริฐยิ่ง

 6. มุ่งมั่นในการทำงาน กล่าวคือ นักเรียนควรรู้จักการวางแผนและเลือกวิธีการปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อนำไปสู่จุดหมายของการเรียนรู้ และปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 7. รักความเป็นไทย กล่าวคือ นักเรียนควรมีความตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองดีในสังคมไทย สืบทอดเอกลัษณ์และความเป็นไทยให้สืบเนื่องต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

 8. มีจิตสาธารณะ กล่าวคือ นักเรียนควรมีจิตสำนึกที่ดีสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน หรือขาดโอกาศในสังคมไทย รู้จักการเสียสละเพื่อส่วนรวม เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เพื่อสังคมไทยจะได้เป็นสังคมที่น่าอยู่

คุณภาพโดยรวมของผู้เรียน หมายความไปถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมของสังคม สามารถพิจารณาจากสภาพความเป็นอยู่ในสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน นำมาซึ่งความจำเป็นที่ต้องปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังกล่าวไว้
นอกจากจะเป็นคุณลักษณะพึงประสงค์ขั้นพื้นฐานที่ผู้เรียนควรปฏิบัติตามแล้ว ยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นได้ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมในด้านของสติปัญญา รวมทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมไปพร้อมๆ กัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้า ความมีรากฐานที่มั่นคง รวมทั้งความสงบสุขในสังคมไทยของเรา ทั้งหมดทั้งมวลนี้รวมไว้ในคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนเรียบร้อยแล้ว

หากพูดถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ หลายท่านอาจกำลังสงสัยถึงนิยามหรือความหมายที่แท้จริงของคำเหล่านี้ ว่ามีนิยามหรือความหมายรวมไปถึงเรื่องใดในสังคมบ้าง

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 8 ประการ เป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ถูกกำหนดขึ้นในปีพุทธศักราช 2551 หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 2551 ซึ่งก็ประกอบไปด้วย คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการของผู้เรียน ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 เชื่อว่าทุกคนอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่ ดังนั้นหลักปฏิบัติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากเรามีหลักปฏิบัติที่ดีและแข็งแรง คนรุ่นหลังก็จะสามารถดำเนินตามรอยและทำให้สังคมไทยน่าอยู่สืบไป

อัพเดทครั้งสุดท้าย เมื่อ 4 กันยายน 2022

 

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ข้อ

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551

มี 8 ประการ ได้แก่

1) รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

2) ซื่อสัตย์สุจริต

3) มีวินัย

4) ใฝ่เรียนรู้

5) อยู่อย่างพอเพียง

6) มุ่งมั่นในการทำงาน

7) รักความเป็นไทย

8) มีจิตสาธารณะ

การนำคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการดังกล่าวไปพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลนั้น สถานศึกษาต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์อย่างชัดเจน โดยพิจารณาจากนิยาม ตัวชี้วัด พฤติกรรมบ่งชี้ และเกณฑ์การให้คะแนนของคุณลักษณะอันพึงประสงค์

นิยาม ตัวชี้วัด พฤติกรรมบ่งชี้

ข้อที่ 1 รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

นิยาม

            รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการเป็นพลเมืองดีของชาติ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย ศรัทธายึดมั่นในศาสนาและเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

            ผู้ที่รักชาติศาสน์กษัตริย์ คือ ผู้ที่มีลักษณะซึ่งแสดงออกถึงการเป็นพลเมืองดีของชาติ มีความสามัคคี ปรองดอง ภูมิใจเชิดชูความเป็นชาติไทยปฏิบัติตนตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ และแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ตัวชี้วัด

1.1 เป็นพลเมืองดีของชาติ

1.2 ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย

1.3 ศรัทธา ยึดมั่น และปฏิบัติตนตามหลักของศาสนา
1.4 เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

 ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

พฤติกรรมบ่งชี้

1.1 เป็นพลเมืองดีของชาติ

1.1.1 ยืนตรงเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติ และอธิบายความหมายของเพลงชาติได้ถูกต้อง
1.1.2 ปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่พลเมืองดีของชาติ
1.1.3 มีความสามัคคีปรองดอง

1.2 ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย

1.2.1 เข้าร่วมส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีปรองดองที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และสังคม
1.2.2 หวงแหนปกป้องยกย่องความเป็นชาติไทย

1.3 ศรัทธา ยึดมั่น และปฏิบัติตนตามหลักของศาสนา

1.3.1 เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ
1.3.2 ปฏิบัติตนตามหลักของศาสนาที่ตนนับถือ
1.3.3 เป็นแบบอย่างที่ดีของศาสนิกชน

1.4 เคารพเทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์

1.4.1 เข้าร่วมและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
1.4.2 แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์
1.4.3 แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อที่ 2 ซื่อสัตย์ สุจริต

นิยาม

ซื่อสัตย์ สุจริต หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการยึดมั่นในความถูกต้อง ประพฤติตรงตามความเป็นจริง
ต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งทางกาย วาจา ใจ

ผู้ที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต  คือ ผู้ที่ประพฤติตรงตามความเป็นจริง ทั้งทางกาย วาจา ใจ และยึดหลักความจริง
ความถูกต้องในการดำเนินชีวิต มีความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำผิด

ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

1.1    ประพฤติตรงตามความเป็นจริงต่อตนเองทั้งทางกาย วาจา ใจ

1.2    ประพฤติตรงตามความเป็นจริงต่อผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา ใจ

ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

พฤติกรรมบ่งชี้

2.1    ประพฤติตรงตามความเป็น

จริงต่อตนเองทั้งทางกาย วาจา ใจ

2.1.1 ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงต่อตนเองทั้งทางกายวาจา ใจ

2.1.2 ปฏิบัติตนโดยคำนึงถึงความถูกต้อง ละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำผิด

2.1.3 ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา

2.2    ประพฤติตรงตามความเป็นจริงต่อผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา ใจ

2.2.1 ไม่ถือเอาสิ่งของหรือผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเองต่อผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา ใจ

2.2.2 ปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยความซื่อตรง

2.2.3 ไม่หาประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง

ข้อที่ 3 มีวินัย

นิยาม

มีวินัย หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการยึดมั่นในข้อตกลง กฎเกณฑ์ และระเบียบ ข้อบังคับของ ครอบครัว โรงเรียนและสังคม

ผู้ที่มีวินัย  คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนตามข้อตกลง กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับของครอบครัว โรงเรียนและสังคม 
เป็นปกติวิสัย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ตัวชี้วัด  ปฏิบัติตามข้อตกลง กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับของครอบครัว โรงเรียนและสังคม

ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

พฤติกรรมบ่งชี้

3.1    ปฏิบัติตามข้อตกลง กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับของครอบครัว โรงเรียนและสังคม

3.1.1 ปฏิบัติตนตามข้อตกลง กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับของครอบครัวโรงเรียนและสังคม ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

3.1.2 ตรงต่อเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และรับผิดชอบในการทำงาน

ข้อที่ 4 ใฝ่เรียนรู้

นิยาม

ใฝ่เรียนรู้ หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียน แสวงหาความรู้ จากแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน

ผู้ที่ใฝ่เรียนรู้  คือ ผู้ที่มีคุณลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ จากแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม บันทึกความรู้ วิเคราะห์ สรุปเป็นองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอด เผยแพร่ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ตัวชี้วัด

4.1    ตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้

4.2    แสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ด้วยการเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม สรุปเป็นองค์ความรู้ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

พฤติกรรมบ่งชี้

4.1 ตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้

4.1.1 ตั้งใจเรียน
4.1.2 เอาใจใส่และมีความเพียรพยายามในการเรียนรู้
4.1.3 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ

4.2 แสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ด้วยการเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม สรุปเป็นองค์ความรู้ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

4.2.1 ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ สื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ แหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน และเลือกใช้สื่อได้อย่างเหมาะสม
4.2.2 บันทึกความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลจากสิ่งที่เรียนรู้ สรุปเป็นองค์ความรู้
4.2.3แลกเปลี่ยนความรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ข้อที่ 5 อยู่อย่างพอเพียง

นิยาม

            อยู่อย่างพอเพียง หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุผล รอบคอบ มีคุณธรรม มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

            ผู้ที่อยู่อย่างพอเพียงคือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตอย่างประมาณตน มีเหตุผล รอบคอบ ระมัดระวัง อยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความรับผิดชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ มีการวางแผนป้องกันความเสี่ยง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ตัวชี้วัด

            5.1 ดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุผล รอบคอบ มีคุณธรรม
            5.2 มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

พฤติกรรมบ่งชี้

5.1 ดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุผล รอบคอบ มีคุณธรรม

5.1.1 ใช้ทรัพย์สินของตนเอง เช่น เงิน สิ่งของ เครื่องใช้ ฯลฯ อย่างประหยัด คุ้มค่า และเก็บรักษาดูแลอย่างดี รวมทั้งการใช้เวลาอย่างเหมาะสม
5.1.2 ใช้ทรัพยากรของส่วนรวมอย่างประหยัด คุ้มค่า และเก็บรักษาดูแลอย่างดี
5.1.3 ปฏิบัติตนและตัดสินใจด้วยความรอบคอบ มีเหตุผล
5.1.4 ไม่เอาเปรียบผู้อื่นและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน พร้อมให้อภัยเมื่อผู้อื่นกระทำผิดพลาด

5.2 มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

5.2.1 วางแผนการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันบนพื้นฐานของความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร
5.2.2 รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม ยอมรับและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ข้อที่ 6 มุ่งมั่นในการทำงาน

นิยาม

            มุ่งมั่นในการทำงาน หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจและรับผิดชอบในการทำหน้าที่การงานด้วยความเพียรพยายาม อดทน เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย

            ผู้ที่มุ่งมั่นในการทำงาน คือ ผู้ที่มีลักษณะซึ่งแสดงออกถึงความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเพียรพยายาม ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่กำหนดด้วยความรับผิดชอบ
และมีความภาคภูมิใจในผลงาน

ตัวชี้วัด

6.1 ตั้งใจและรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่การงาน
            6.2 ทำงานด้วยความเพียรพยายามและอดทนเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย

ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

พฤติกรรมบ่งชี้

6.1 ตั้งใจและรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่การงาน

6.1.1  เอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
6.1.2 ตั้งใจและรับผิดชอบในการทำงานให้สำเร็จ
6.1.3 ปรับปรุงและพัฒนาการทำงานด้วยตนเอง

6.2 ทำงานด้วยความเพียรพยายามและอดทนเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย

6.2.1 ทุ่มเททำงาน อดทน ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน
6.2.2 พยายามแก้ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย6.2.3 ชื่นชมผลงานด้วยความภาคภูมิใจ

ข้อที่ 7 รักความเป็นไทย

นิยาม

            รักความเป็นไทย หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่า ร่วมอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรม ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม

            ผู้ที่รักความเป็นไทย คือ ผู้ที่มีความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่า ชื่นชม มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สืบทอดเผยแพร่
ภูมิปัญญาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย มีความกตัญญูกตเวที ใช้ภาษาไทย ในการสื่อสารอย่าง
ถูกต้องเหมาะสม

ตัวชี้วัด

7.1  ภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมไทย และมีความกตัญญูกตเวที
            7.2 เห็นคุณค่าและใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
            7.3 อนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาไทย

 ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

พฤติกรรมบ่งชี้

7.1  ภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมไทย และมีความกตัญญูกตเวที

7.1.1 แต่งกายและมีมารยาทงดงามแบบไทย มีสัมมาคารวะ กตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
7.1.2 ร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย
7.1.3  ชักชวน แนะนำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย

7.2 เห็นคุณค่าและใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

7.2.1 ใช้ภาษาไทยและเลขไทยในการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
7.2.2  ชักชวน แนะนำให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง 

7.3 อนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาไทย

7.3.1  นำภูมิปัญญาไทยมาใช้ให้เหมาะสมในวิถีชีวิต
7.3.2  ร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาไทย
7.3.3  แนะนำ มีส่วนร่วมในการสืบทอดภูมิปัญญาไทย

ข้อที่ 8  มีจิตสาธารณะ

นิยาม

            มีจิตสาธารณะ หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น ชุมชน และสังคม ด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น โดยไม่หวังผลตอบแทน

            ผู้ที่มีจิตสาธารณะ คือ ผู้ที่มีลักษณะเป็นผู้ให้และช่วยเหลือผู้อื่น แบ่งปันความสุขส่วนตนเพื่อทำประโยชน์แก่
ส่วนรวม เข้าใจ เห็นใจผู้ที่มีความเดือดร้อน อาสาช่วยเหลือสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยแรงกาย
สติปัญญา ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดในชุมชน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ตัวชี้วัด

            8.1 ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทน
            8.2 เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และสังคม

ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้

ตัวชี้วัด

พฤติกรรมบ่งชี้

8.1 ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทน

8.1.1 ช่วยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูทำงานด้วยความเต็มใจ
8.1.2 อาสาทำงานให้ผู้อื่นด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญาด้วยความสมัครใจ
8.1.3 แบ่งปันสิ่งของ ทรัพย์สิน และอื่นๆ และช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างความสุขให้กับผู้อื่น

8.2 เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และสังคม

8.2.1  ดูแลรักษาสาธารณสมบัติและสิ่งแวดล้อมด้วยความเต็มใจ
8.2.2 เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และสังคม
8.2.3 เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาหรือร่วมสร้างสิ่งที่ดีงามของส่วนรวมตามสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นด้วยความกระตือรือร้น

ที่มา : http://www.curriculum51.net/

วิดีโอ YouTube