One plus เคร องนอกเข าศ นย ได ม ย

เผยแพร่: 29 เม.ย. 2556 11:53 โดย: MGR Online

One ถือเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นความหวังของ เอชทีซี ที่คาดว่าจะมาเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์เดิมๆของเอชทีซี ที่เป็นเพียงผู้ตามในตลาดสมาร์ทโฟน ให้กลับขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี จากการนำพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค ไปวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ออกมาตรงตามความต้องการมากที่สุด

อย่างที่รู้กันว่าจุดเด่นหลักๆของ One คงหนีไม่พ้นในเรื่องของจอแสดงผลที่มีลำโพงหันหน้าเข้าหาผู้ใช้ (Boom Sound) ประกอบกับการดีไซน์ของตัวเครื่องที่เป็นเอกลักษณ์และมีจุดเด่นแบบไร้รอยต่อ สุดท้ายคือในโหมดของกล้องที่มีการคิดค้นเซ็นเซอร์บันทึกภาพแบบใหม่ที่เรียกว่า อัลตร้าพิกเซล (UltraPixel) ขึ้นมากับโหมดบันทึกภาพ โซอี้ (Zoe) ที่มีความแปลกใหม่อย่างชัดเจน

การออกแบบและสเปก

ด้วยความที่ตัวเครื่องใช้การออกแบบที่เป็นอะลูมิเนียมไร้รอยต่อ (Unibody) ทำให้ตัวเครื่องให้ความรู้สึกหรูหรา และแข็งแรงเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆในท้องตลาด โดยขนาดตัวเครื่องของ One จะอยู่ที่ 137.4 x 68.2 x 9.3 มม. น้ำหนัก 143 กรัม

ด้านหน้า - ไล่จากส่วนบนลงมาจะเป็นช่องลำโพงสนทนา ฝังมาอยู่ในจุดเดียวกับลำโพงสปีกเกอร์ และไฟแสดงสถานะ โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดและและจับใบหน้าอยู่เยื้องไปทางซ้าย ส่วนทางขวาเป็นกล้องหน้าความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล ที่สามารถใช้ถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงได้

ถัดลงมาเป็นหน้าจอทัชสกรีนแบบ Capacitive ที่ใช้เทคโนโลยี Super LCD 3 ขนาด 4.7 นิ้ว ที่ให้ความละเอียดแบบ Full HD (1920 x 1080 พิกเซล) และถือเป็นหน้าจอสมาร์ทโฟนที่มีความละเอียดเม็ดสีสูงสุดที่ 468 ppi ส่วนล่างหน้าจอก็จะมีปุ่มย้อนกลับ และกลับสู่หน้าแรก อยู่ทางซ้ายและขวา ของสัญลักษณ์ HTC โดยมีลำโพงสปีกเกอร์อีกฝั่งอยู่ที่ขอบล่าง

ทางเอชทีซี ให้เหตุผลในการนำลำโพงสเตอริโอ มาวางไว้ที่ขอบเครื่องด้านหน้าทั้ง 2 ฝั่ง ก็เพื่อที่เวลาใช้งานในการดูคลิปวิดีโอ หรือชมภาพยนตร์ต่างๆในแนวนอน ลำโพงที่เอชทีซีให้ชื่อว่า BoomSound ก็จะหันเข้าหาตัวผู้ใช้งาน ส่งผลให้พลังเสียงที่ได้ดีกว่าเครื่องที่มีลำโพงอยู่ด้านหลัง

ด้านหลัง - จะเห็นว่ามีส่วนของอะลูมิเนียมที่ถูกนำพลาสติกมาคาดทั้งส่วนบนและล่าง ซึ่งใช้เป็นจุดรับสัญญาณไวไฟ และโทรศัพท์ป้องกันการจับเครื่องแล้วเกิดอาการ Dead Grip โดยที่ส่วนบนจะมีกล้องความละเอียด 4 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช LED อยู่ข้างๆกัน ถัดลงมาตรงกลางมีการสลักโลโก้ HTC ไว้ ส่วนล่างจะมีสัญลักษณ์ของ Beats Audio ที่ช่วยเพิ่มพลังเสียงให้แก่ตัวเครื่อง

ด้านซ้าย - มีช่องสำหรับใส่ไมโครซิมการ์ด ที่ต้องใช้เหล็กแหลมกดเข้าไปในช่องขนาดเล็ก เพื่อดันถาดใส่ซิมออกมา ด้านขวา - เป็นปุ่มปรับระดับเสียง ที่น่าสังเกตคือบริเวณขอบของตัวเครื่องจะไม่ได้เป็นอะลูมิเนียมแต่เป็นการเชื่อมพลาสติกแบบแข็งเข้ามาใช้งานแทน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเพื่อป้องกันปัญหาด้านการรับสัญญาณโทรศัพท์ก็เป็นได้

ด้านบน - เป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. โดยมีปุ่มเปิด-ปิดเครื่องซึ่งภายในใช้เป็นที่ส่งสัญญาณอินฟาเรดด้วย ด้านล่าง - จะเห็นพอร์ตไมโครยูเอสบีสำหรับเสียบสายชาร์จ เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และใช้เป็นพอร์ต MHL สำหรับต่อกับจอภาพก็ได้ ข้างๆกันจะมีช่องไมโครโฟนสนทนาอยู่

ในส่วนของหูฟังที่ให้มากับเครื่อจะเป็นหูฟังแบบ in-ear ที่มีจุกให้เปลี่ยน 3 ขนาดด้วยกัน และมีอีกจุดที่พิเศษขึ้นคือเทคโนโลยีของ Beats Audio จะถูกฝั่งลงมาไว้ในเครื่อง และสามารถเรียกใช้งานได้แม้ไม่เชื่อมต่อกับหูฟังเฉพาะรุ่น

สำหรับ HTC One มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 600 ที่เป็น Quad Core 1.7 GHz RAM 2 GB พื้นที่เก็บข้อมูล 32/64 GB (รุ่นที่นำมาจำหน่ายในไทยเป็น 32 GB) ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1.2 (Jelly Bean) เครือข่ายที่รองรับจะเป็น 3G QuadBand Wi-Fi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac มี NFC บลูทูธ จีพีเอส และเพิ่มในส่วนของอินฟราเรดเข้ามาจากสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมาร์ทโฟนของเอชทีซีรุ่นก่อนอย่างชัดเจนคงหนีไม่พ้นเรื่องของอินเตอร์เฟสหลัก ที่เอชทีซีปรับเปลี่ยน 'HTC Sense' ให้ดูสวยงามและหน้าใช้งานขึ้น พร้อมกับใส่ HTC Blink Feed เข้ามาเอาใจผู้บริโภคที่ชื่นชอบติดตามข่าวสารและโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆตลอดเวลา

One plus เคร องนอกเข าศ นย ได ม ย

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับความสามารถใหม่ของอินเตอร์เฟส เอชทีซี มีอีกจุดหนึ่งที่อยากแนะนำคือระบบการตั้งค่าใช้งานใหม่ ที่ผู้ใช้ทุกคนจะเจอหลังจากซื้อเครื่องมาและเปิดใช้งาน คือสามารถเลือกตั้งค่าต่างๆผ่านคอมพิวเตอร์ได้ ด้วยการเข้าไปที่เว็บไซต์ start.htcsense.com หลังจากนั้นกรอกรหัสที่ปรากฏขึ้นบนเครื่อง HTC One ก็จะเข้าสู่หน้าจอการตั้งค่าต่างๆ

โดยจะแบ่งขั้นตอนหลักๆออกเป็น 2 ส่วนคือตั้งค่าการใช้งานทั่วไป เช่น เลือกฟีดข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ที่จะมาแสดงผลบน Blink Feed เลือกแอปพลิเคชันที่น่าสนใจในการติดตั้งเพิ่มเติม ตั้งเสียงเรียกเข้า เสียงเตือน และเสียงนาฬิกาปลุก เพิ่มหน้าเว็บไซต์ที่ใช้งานบ่อย เลือกภาพพื้นหลัง และรูปแบบหน้าจอล็อกสกรีน

อีกส่วนหนึ่งคือการตั้งค่าบัญชีผู้ใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล ยาฮู ฮ็อตเมล ดรอบบ็อกซ์ หลังจากนั้นระบบก็จะนำไปสู่หน้าจอล็อกอินเข้าระบบของเอชทีซี ที่สามารถเลือกใช้บัญชีเฟซบุ๊ก หรือจะใช้บัญชีของเอชทีซีที่มีอยู่เดิมก็ได้ในการเก็บค่าต่างๆเหล่านี้ไว้

ขั้นตอนต่างๆที่กดผ่านหน้าจอเว็บเบราว์เซอร์ในพีซี จะซิงค์ข้อมูลมายังเครื่อง One โดยอัตโนมัติ (เครื่องต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต) ดังนั้นเมื่อตั้งค่าเหล่านี้เสร็จ เครื่องก็จะพร้อมให้ใช้งานทันที

มาดูถึงรายละเอียดการทำงานของ Blink Feed กันบ้าง โดยภายในหน้าจอจะประกอบไปด้วยนาฬิกาบอกเวลา วันที่ และสภาพอาาศ ถัดลงมาก็จะเป็นการแสดงผลหัวข้อข่าว หรือสถานะทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของเพื่อนๆ โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งได้ว่าจะให้ทำการอัปเดตเฉพาะเวลาเชื่อมต่อไวไฟ หรือแม้กระทั่งตอนต่อผ่าน 3G รวมถึงเลือกประเภทของข้อมูลที่จะถูกซิงค์มาแสดงผลด้วย

ที่น่าสนใจคือการอินทริเกดของ Blink Feed เข้ากับเฟซบุ๊ก ที่มีความพิเศษนอกจากจะแสดงสถานะของเพื่อนแล้ว ยังมีการแสดงผลรูปภาพ หรือสถานที่ ที่เช็กอิน เป็นรูปแผนที่ ที่สามารถกดเข้าไปใช้บริการของกูเกิลแมปส์ในการนำทางได้ทันที

แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้ใช้ไม่ชอบใจการใช้งาน Blink Feed เมื่อปัดเลื่อนหน้าจอมาทางขวาก็จะเข้าสู่หน้าจอโฮมสกรีนปกติของแอนดรอยด์ ที่ผู้ใช้สามารถเลือกนำวิตเจ็ตต่างๆเข้ามาใส่ได้ตามใจตัวเองเช่นเดิม โดยที่ชอบล่างของหน้าจอทั้งหมดจะมีแถบไอค่อนลัดสำหรับกดดูแอปพลิเคชัน และเรียกใช้งานแอปฯ ที่สามารถเลือกแอปฯฯที่ใช้งานบ่อยๆมาวางทดแทนได้

ส่วนในรูปขวาสุดจะเป็นหน้าต่างขณะเรียกใช้งานโหมดขับรถ ที่จะมีการปรับไอค่อนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังตัวอย่างที่แสดงผลให้เห็นก็จะมีแถบเครื่องเล่นเพลง ระบบนำทาง โทรศัพท์ และเรียกใช้ระบบคำสั่งเสียงนั่นเอง

ในส่วนของแถบการแจ้งเตือน เอชทีซี จะเพิ่มแถบโหมดประหยัดพลังงานมาให้เลือกกดใช้กัน ส่วนรูปแบบการแจ้งเตือนอื่นๆก็อัปเดตขึ้นตามแอนดรอยด์ 4.1.2 ที่สามารถดูรายละเอียดของการแจ้งเตือนเล็กๆน้อยได้ทันที ทั้งนี้ที่มุมขวาบนจะมีปุ่มกากบาทสำหรับลบการแจ้งเตือนทั้งหมด และปุ่มฟันเฟืองสำหรับเข้าสู่หน้าจอการตั้งค่า

อีกจุดที่ลืมไม่ได้เลยคือการกดปุ่มกลับสู่หน้าแรก 2 ครั้ง จะเป็นการเรียกดูแอปพลิเคชันที่ใช้งานล่าสุด ซึ่งในหน้านี้สามารถใช้นิ้วลากขึ้น-ลง เพื่อปิดการทำงานของแอปพลิเคชันนั้นๆได้ด้วย ส่วนถ้ากดปุ่มปิดเครื่องค้างไว้ จะเป็นการเรียกเมนูลัดในการกดปิดเครื่อง เปิดโหมดเครื่องบิน เข้าสู่โหมดเด็ก และรีสตาตเครื่อง

ขณะที่ในส่วนของการล็อกหน้าจอ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้มีการแสดงผลอะไรบ้าง เช่นแสดงให้เห็นภาพพื้นหลัง เห็นตารางนัดหมาย รูปในเครื่อง เพลง หรือไม่ใช้งาน โดยที่ขอบล่างจะเป็นเมนูลัดในการปลดล็อกเพื่อใช้งานทันที เหมือนในหน้าจอปกติ

ทั้งนี้ เมื่ออยู่ในหน้าจอล็อกสกรีน ผู้ใช้สามารถปัดหน้าจอไปทางซ้าย เพื่อเลือกใส่วิตเจ็ตเฉพาะอย่างตารางนัดหมาย หรือปัดหน้าจอไปทางขวาเพืื่อเรียกใช้งานโหมดกล้องถ่ายภาพได้ทันที

มาถึงในส่วนของเมนูหน้าตาจะคล้ายๆกับใน Blink Feed กล่าวคือบนสุดจะเป็นนาฬิกา แต่ถัดลงมาก็จะเป็นไอค่อนของแต่ละแอปพลิเคชัน ซึ่งใช้รูปแบบการเลื่อนขึ้นลง ซึ่งแอปพลิเคชันหลักๆที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องก็จะประกอบไปด้วย อีเมล ปฏิทิน รายชื่อผู้ติดต่อ ระบบควบคุมทีีวี อัลบั้มภาพ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แผนที่ ระบบใช้งานขณะขับรถ นาฬิกา หุ้น สโตร์ โหมดสำหรับเด็ก

โดยในส่วนนี้ทางเอชทีซีจะมีการรวมแอปฯเป็นโฟลเดอร์ มีเดีย กูเกิล สำหรับการทำงาน และเครื่องมือต่างๆมาให้ด้วย ซึ่งภายในก็จะรวมกลุ่มแอปพลิเคชันต่างๆไว้ เพื่อไม่ให้หน้ารวมแอปพลิเคชันมีความยาวมากเกินไปนั่นเอง

สำหรับแอปพลิเคชันที่น่าสนใจคือ TV ที่เป็นแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนรายการทีวีที่ชื่นชอบ โดยสามารถเชื่อมต่อเข้ากับประเภทของเคเบิลที่ใช้งาน เพียงแต่ว่าบริการดังกล่าวยังไม่รองรับกับรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย ซึ่งจุดนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าทางเอชทีซี จะมีพาร์ตเนอร์ในส่วนนี้เพิ่มหรือไม่

แต่ในแอปฯนี้ยังมีอีกฟังก์ชันหนึ่งที่น่าสนใจคือ สามารถแปลงสมาร์ทโฟนให้กลายเป็นรีโมท โทรทัศน์ กล่องเคเบิล หรือแม้แต่ชุดโฮมเธียร์เตอร์ได้ทันที โดยเบื้องต้นก็จะมียี่ห้อ ของแต่ละแบรนด์ให้เลือกใช้งานกัน

ซึ่งถ้าไม่มีอยู่ในลิสที่ให้ผู้ใช้ก็สามารถใช้การตั้งปุ่มด้วยตนเอง จากการใช้รีโมทนั้นๆ กดแต่ละปุ่มโดยหันเข้าหาบริเวณปุ่มเปิดเครื่อง เมื่อตั้งครบทุกปุ่มก็จะกลายเป็นรีโมทให้ใช้งานได้ทันที ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถตั้งชื่อรีโมทแต่ละอัน และเลือกสลับใช้งานได้ทันที

ในส่วนของโหมดฟังวิทยุ แต่เดิมทั่วๆไปจะเห็นแต่เพียงระบบให้เลือกแต่ละคลื่นเพื่อฟัง แต่เอชทีซี มีการผนวก Sound Cloud เข้าไปไว้ในโปรแกรมวิทยุ ส่งผลให้ถ้าฟังเพลงจากรายการวิทยุ แล้วต้องการรู้ชื่อเพลงนั้นๆ ก็สามารถกดไอค่อน Sound Cloud เพื่อค้นหาชื่อเพลง ชื่อนักร้องได้ทันที

ขณะที่เครื่องเล่นเพลง นอกจากจะสามารถใช้ดูปกอัลบั้มได้แล้ว เมื่อเครื่องมีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ก็จะมีระบบซิงค์เนื้อเพลงมาให้ด้วย ทำให้สามารถฟังเพลงไป ซ้อมร้องเพลงจากเนื้อเพลงไปด้วยก็ได้เช่นกัน

อีกจุดหนึ่งที่เอชทีซีชูความโดดเด่นมากที่สุดในเครื่องคงหนีไม่พ้น ระบบกล้องถ่ายภาพ ซึ่งจะสังเกตเห็นไอค่อนตรงกลางฝั่งซ้ายของหน้าจอ จะเป็นการเรียกใช้งานโหมด โซอี้ ที่เป็นระบบการถ่ายภาพซึ่งตัวเครื่องจะบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวนาน 3 วินาที พร้อมเสียง หลังจากนั้นก็สามารถเลือกช็อตที่ดีที่สุดแล้วแปลงออกมาเป็นภาพถ่ายปกติ

นอกจากนี้ก็ยังมีในส่วนของโหมดการถ่ายภาพต่อเนื่อง 99 ภาพใน 1 นาทีแล้วเลือกภาพที่ดีที่สุด ระบบบันทึกวิดีโอ พร้อมกับการบันทึกภาพนิ่งไปด้วย หรือแม้แต่ฟังก์ชันอย่างการดูคลิปวิดีโอ แล้วแคปออกมาเป็นภาพนิ่ง

สิ่งที่ทำให้โหมด โซอี้ ดูมีประโยชน์ขึ้นมาก็คือ เวลากดเข้าไปดูอัลบั้มภาพ แต่เดิมก็จะเห็นแต่เพียงภาพนิ่งทั่วไป แต่ถ้าใช้โหมด โซอี้ ถ่ายในอัลบั้มก็จะมีการแสดงผลเป็นภาพเคลื่อนไหว ทำให้ดูแล้วกลายเป็นอัลบั้มภาพที่มีชีวิตขึ้นมาด้วย

ทั้งนี้ภายในโหมดกล้องผู้ใช้สามารถเลือกโหมดการถ่ายภาพได้ทั้ง ปกติ บุคคล ทิวทัศน์ ย้อนแสง ข้อความ ระยะใกล้ กลางคืน ชดเชยแสง และพาโนราม่า ส่วนในโหมดบันทึกภาพเคลื่อนไหว จะรองรับการถ่ายแบบภาพช้า ภาพเร็ว และความละเอียดสูง

นอกจากนี้ยังสามารถเลือกสัดส่วนภาพ ตั้งการแสดงผลหลังถ่าย ปรับ ISO ตั้งแต่ 100 - 1600 (ตัวอย่างภาพอยู่ด้านล่าง) ปรับสมดุลแสงขาว ตั้งค่าแสงต่างๆ เลือกระบบชัตเตอร์ ระบบโฟกัส เรียกได้ว่าให้การตั้งค่ากล้องมาค่อนข้างครบครัน

สำหรับโหมดการใช้งานโทรศัพท์ ก็ยังไม่แตกต่างจากอินเตอร์เฟสเดิมๆของเอชทีซี กล่าวคือมีหน้าจอปุ่มกดที่มาพร้อมระบบคาดเดารายชื่อ หน้าจอสนทนาก็จะมีเพียงปุ่มปิดไมค์ และเปิดลำโพง ซึ่งถ้าต้องการเรียกปุ่มกดขึ้นมาก็สามารถกดที่มุมซ้ายล่าง หรือถ้าต้องการเรียกดูเมนูอื่นก็กดที่ปุ่มขวาล่างได้

การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์จะมีมาให้ทั้งเบราว์เซอร์ปกติของแอนดรอยด์ และโครมเบราว์เซอร์ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 เบราว์เซอร์ไม่รองรับการใช้งานแฟลชแล้ว ซึ่งในการใช้งานจริงตัวโครมเบราว์เซอร์ให้ความรู้สึกลื่นไหลในการใช้งานมากกว่า

Kid Mode จะเป็นการเรียกใช้งานแอปพลิเคชัน Zoodles ที่ผู้ใช้สามารถตั้งล็อกเครื่องไม่ให้ลูกๆใช้งานแอปพลิเคชันที่ไม่เหมาะสม หรือให้เลือกใช้งานเฉพาะภายในแอปฯนี้ ซึ่งก็จะมีแอปพลิเคชันสำหรับเด็กให้ดาวน์โหลดเพิ่มเติม ทั้งนี้ในการปลดล็อกออกจาก Kid Mode สามารถใช้การลากนิ้วเป็นตัวอักษร 'Z' ใส่วันเกิด หรือตั้งรหัสผ่าน 4 หลักก็ได้

คีย์บอร์ดที่ให้มารองรับการใช้งานภาษาไทยแล้ว โดยเลย์เอาท์ของคีย์บอร์ดก็เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ที่พิเศษก็คือสามารถกดปุ่มลูกศรที่แถบล่างในการเลื่อนเคอร์เซอร์ได้ด้วย

ส่วนของการตั้งค่าก็จะแยกเป็น 3 ส่วนหลักๆตามระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1.2 ที่แบ่งเป็นระบบการเชื่อมต่อต่างๆ ตั้งค่าการใช้งานส่วนตัว และตั้งค่าโทรศัพท์ ซึ่งในจุดนี้จะเห็นสัญลักษณ์ของ Beats Audio ที่ผู้ใช้สามารถเลือกเปิด-ปิดการใช้งานได้ด้วย

จุดที่ดูแล้วมีความน่าสนใจคงหนีไม่พ้นเรื่องของระบบประหยัดพลังงาน ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานจะทำการควบคุมความเร็วของซีพียู การแสดงผล การสั่น และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าตรงจุดใดที่ไม่อยากให้เครื่องควบคุมก็สามารถเลือกออกได้ และที่สำคัญถ้ายังจำระบบ Fast Boot กันได้ ในเครื่องรุ่นนี้ก็มีมาให้ด้วย

ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 10,760 คะแนน และ 19,262 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน

ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo ได้ 2,434 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ 778 คะแนน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 ได้ 61 fps Nenamark2 60.4 fps An3dBench 7,697 คะแนน และ An3dBenchXL 42,256 คะแนน

ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 2,905 คะแนน CPU 8,445 คะแนน Disk 8,957 คะแนน Memory 3,076 คะแนน 2D Graphics 2,248 คะแนน และ 3D Graphics 1,491 คะแนน

ส่วนการทดสอบ CF-Bench ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง

จุดขาย

- การออกแบบและวัสดุของตัวเครื่องที่เป็นอะลูมิเนียมชิ้นเดียวไร้รอยต่อ - ระบบเสียง Beats Audio และลำโพงคู่หน้า Boom Sound - ระบบถ่ายภาพแบบใหม่ภายใต้เทคโนโลยี อัลตร้าพิกเซล และโซอี้ - หน้าจอความละเอียดสูง ให้ภาพที่คมชัดที่สุดขณะนี้

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

- จากความที่ใช้ซีพียูควอดคอร์ กับอะลูมิเนียม ส่งผลให้เครื่องร้อนง่ายมากถ้าใช้งานต่อเนื่อง แต่ก็คลายความร้อนได้เร็ว - ไม่สามารถเพิ่มหน่วยบันทึกข้อมูลได้ - ยังไม่รองรับการใช้งาน 4G - เครื่องสีขาว บริเวณขอบเครื่องเปื้อนค่อนข้างง่าย เครื่องสีดำ ระวังรอยขนแมว

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

ถึงจุดนี้ถ้ามองดูสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆในตลาด คู่แข่งสำคัญของ One คงหนีไม่พ้น ซัมซุง Galaxy S4 ที่ชิงจังหวะเปิดขายก่อนในราคาเท่าๆกัน ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าเครื่องทั้ง 2 รุ่นก็มีความโดดเด่นในแบบของตนเอง ดังนั้นในจุดนี้ถ้าศึกษาข้อมูล และดูว่าเครื่องรุ่นในจะเหมาะกับการใช้งานมากที่สุดน่าจะดีกว่า

เมื่อมองในแง่ของประสิทธิภาพการใช้งานโดยรวม ถือว่า One ทำออกมาได้ค่อนข้างเหมาะสม ลูกเล่นที่ใส่มาส่วนใหญ่ได้ใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็น Blink Feed ที่ถ้าคนไม่ได้ติดตามข่าวสาร ก็นำมาใช้ติดตามโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆแทนได้ ลำโพง Boom Sound ที่ให้พลังเสียงหนักแน่นชัดเจน ระบบถ่ายภาพ โซอี้ ที่ใช้ๆไปแล้วจะสนุกกับมันมากขึ้นเวลาดูอัลบั้มภาพย้อนหลัง

ติดอยู่อย่างเดียวที่หน่วยบันทึกข้อมูลภายในเครื่องที่ให้มา 32 GB น่าจะไม่เพียงพอต่อการใช้งานในระยะยาว ด้วยเพราะคอนเทนต์ระดับ 1080p ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และระบบบันทึกภาพ โซอี้ ที่นอกจากบันทึกภาพนิ่งแล้ว ยังมีการบันทึกเป็นคลิปวิดีโอด้วย ยิ่งทำให้ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

ในส่วนของแบตเตอรี ถ้าไม่ได้กังวลถึงประสิทธิภาพในการใช้งานมากนัก แนะนำให้เปิดใช้โหมดประหยัดพลังงานจะดีกว่า เพราะถ้าไม่เปิดใช้เชื่อว่าใช้งานได้ไม่ถึงวันแน่ๆ แต่ถ้าเปิดใช้งานด้วยก็ใช้งานสบายๆใน 1 วัน

ส่วนเรื่องของเสียงสนทนา อย่างที่เห็นจากข่าวว่าโนเกีย ฟ้องบริษัทผู้ผลิตชิปเสียง ว่านำเทคโนโลยีไปขายต่อให้ เอชทีซี จนศาลตัดสินในเนเธอแลนด์แล้วว่าบริษัทผิดจริง จึงส่งผลให้เอชทีซี อาจต้องมีการเปลี่ยนชิปเสียงที่ใช้ภายในเครื่อง ทำให้ต้องมาลุ้นกันว่าเครื่องรุ่นที่เข้าไทยจะใช้ชิปเสียงประสิทธิภาพสูงรุ่นเดิม หรือจะมีการเปลี่ยนเป็นชิปเสียงรุ่นใหม่แทน

สำหรับเอชทีซี One จะเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 21,900 บาท วางจำหน่าย 2 สี คือ ดำ และ ขาว