ตัวอย่าง นวัตกรรม พัฒนาผู้เรียน

ศตวรรษที่ 21 สังคมโลกกลายเป็นสังคมแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) ทำให้วิถีชีวิตและการเรียนรู้ของคนในสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในระบบการศึกษาได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพในการเรียนรู้

นวัตกรรมการศึกษา

ความหมายของนวัตกรรม คำว่า “นวัตกรรม” มาจากภาษาบาลีสันสกฤต คือ นว (ใหม่) + อตฺต (ตัวเอง) + กรฺม (การกระทำ) จึงสามารถแปลได้ว่า การกระทำที่ใหม่ของตนเอง หรือ การกระทำของตนเองที่ใหม่ ในด้านการศึกษา มีนักการศึกษาหลายท่านให้ความหมายของคำว่านวัตกรรม ไว้ดังนี้

โรเจอร์ (Rogers, 2003, p. 12) ให้ความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” (Innovation) ในหนังสือ Diffusion of Innovations สามารถสรุปได้ว่านวัตกรรม คือ ความคิด การกระทำ หรือวัตถุใหม่ๆ ที่รับรู้ว่าเป็นสิ่งใหม่ อาจรับรู้ด้วยตัวบุคคลแต่ละคนหรือหน่วยอื่นๆ ของการยอมรับในสังคม นอกจากนี้ Rogers ยังอธิบายถึงการพิจารณาว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นนวัตกรรม จะขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา ฉะนั้นนวัตกรรมของสังคมใดสังคมหนึ่งอาจไม่ใช่นวัตกรรมของสังคมอื่นก็ได้ ดังนั้นความใหม่ของนวัตกรรมมี 3 ลักษณะ ได้แก่ 1. สิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน 2. สิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วและถูกล้มเลิกไป และถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เพราะเหมาะสม 3. สิ่งใหม่ที่พัฒนามาจากของเก่าที่มีอยู่เดิม ฮิวซ์ (Hughes, 1971 อ้างถึงใน กีรติ ยศยิ่งยง, 2552) อธิบายถึงนวัตกรรม ว่าเป็นการนำวิธีการใหม่ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆ แล้ว โดยมีขั้นตอนตามลำดับ คือ การคิดค้น การพัฒนา และนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติ วัชรพล วิบูลยศริน (2556, น. 10) กล่าวถึงความหมายของ นวัตกรรม คือ แนวคิด วิธีการปฏิบัติ หรือสิ่งใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายหรือยังไม่เคยใช้มาก่อน และเข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือสิ่งที่มีอยู่เดิม โดยผ่านการคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ หรือพัฒนาจากของเดิมที่มีอยู่ให้ทันสมัย และปรับปรุงจนได้ผลดีมีประสิทธิภาพ วรวิทย์ นิเทศศิลป์ (2551, น. 21) ให้ความหมาย นวัตกรรมการศึกษา หมายถึง การนำเอาความคิดหรือวิธีปฏิบัติทางการศึกษาใหม่ๆ มาใช้กับการศึกษา สุคนธ์ สินธพานนท์ (2553, น. 16) ได้อธิบายว่า นวัตกรรมทางการศึกษา หมายถึง สิ่งใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนหรือพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่แนวคิด รูปแบบ วิธีการ กระบวนการ สื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา ทิศนา แขมมณี (2557, น. 418) กล่าวว่า นวัตกรรมหรือนวกรรม วงการศึกษานำคำนี้มาใช้ในความหมายของ “การทำขึ้นใหม่” หรือ “สิ่งที่ทำขึ้นใหม่” ซึ่งได้แก่ แนวคิด แนวทาง ระบบ รูปแบบ วิธีการ กระบวนการ สื่อและเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาซึ่งได้รับการคิดค้นและจัดทำขึ้นใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทางการศึกษา เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” “นวกรรม” หรือ “Innovation” ที่นักการศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศหลายท่านได้ให้ความหมายและอธิบายเอาไว้นั้น อาจสรุปได้ว่า นวัตกรรม คือ สิ่งที่ทำให้เกิดผลในเชิงบวกเมื่อปฏิบัติ สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม สามารถช่วยลดภาระด้านแรงงาน และเวลาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่านวัตกรรมนั้นจะปรากฏออกมาในรูปความคิด การกระทำ หรือวัตถุ ก็ตาม ส่วน “นวัตกรรมการศึกษา” คือ รูปแบบ แนวคิด กระบวนการ หรือสื่อใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สอดคล้องกับหลักสูตร และสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาความสามารถของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเภทของนวัตกรรมการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2550, น. 155-172 อ้างถึงใน เกริก ท่วมกลาง, 2555) กล่าวถึงการจำแนกประเภทของนวัตกรรมการศึกษาว่า นวัตกรรมทางการศึกษาได้มีผู้คิดพัฒนาขึ้นมาเป็นจำนวนมาก สามารถจำแนกได้ดังนี้ 1. จำแนกตามผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.1 ประเภทสื่อสำหรับครู ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ คู่มือครู เอกสารประกอบการสอน เครื่องมือวัดผล อุปกรณ์โสตทัศนวัสดุ 1.2 ประเภทสื่อสำหรับนักเรียน ได้แก่ บทเรียนสำเร็จรูป เอกสารประกอบการเรียน ชุดฝึกปฏิบัติ ใบงาน ชุดเพลง ชุดเกม การ์ตูน 2. จำแนกตามลักษณะของนวัตกรรม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 2.1 ประเภทเทคนิควิธีการหรือกิจกรรม เช่น บทบาทสมมุติ การสอนแบบศูนย์การเรียน การสอนความคิดรวบยอดด้วยวิธีสอนอุปนัยและนิรนัย ฯลฯ 2.2 ประเภทสื่อการเรียนการสอน เช่น บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการสอน ชุดสื่อประสม บทเรียนโมดูล วีดีทัศน์ เกม เพลง ใบงาน ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2533. อ้างถึงใน ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์, 2555, น. 63 – 64) จำแนกนวัตกรรมทางการศึกษาไว้ดังนี้ 1. นวัตกรรมทางด้านหลักสูตร 2. นวัตกรรมการเรียนการสอน 3. นวัตกรรมสื่อการสอน 4. นวัตกรรมทางด้านการประเมินผล 5. นวัตกรรมการบริหารจัดการ จากการจำแนกประเภทของนวัตกรรมการศึกษา เห็นได้ชัดเจนว่าการจำแนกนวัตกรรมไม่สามารถใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งมาจำแนกได้ แต่จะขึ้นอยู่กับบริบทในขณะนั้นว่าผู้พัฒนานวัตกรรมมุ่งเน้นไปที่จุดใด ต้องการพัฒนานวัตกรรมในส่วนใด ทั้งนี้ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การจำแนกหรือจัดประเภทนวัตกรรมการศึกษา จำแนกได้จาก 2 ลักษณะ คือ จำแนกจากองค์ประกอบในภาพรวมของระบบการศึกษา ก็สามารถจำแนกได้ตามลักษณะที่ไชยยศ เรืองสุวรรณ กล่าวไว้ แต่หากต้องการจำแนกจากผู้ใช้นวัตกรรมหรือลักษณะนวัตกรรม ก็สามารถจำแนกได้ตามลักษณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด

การนำนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ การนำนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ในแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนจะต้องพิจารณาลักษณะต่างๆ ต่อไปนี้ (ทิศนา แขมมณี, 2557, น. 419 – 420) 1. เป็นนวัตกรรมที่ไม่ซับซ้อนและยุ่งยากจนเกินไป ใช้ง่าย ใช้สะดวก 2. เป็นนวัตกรรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเยอะเกินไป 3. เป็นนวัตกรรมที่สำเร็จรูป อำนวยความสะดวกในการใช้งาน 4. เป็นนวัตกรรมที่ไม่กระทบกระเทือนบริบทเดิมมากนัก 5. เป็นนวัตกรรมที่ไม่มีคนเกี่ยวข้องมากนัก 6. เป็นนวัตกรรมที่ให้ผลชัดเจน นอกจากนี้ กิดานันท์ มลิทอง (2543, น. 248) ได้เสนอแนะว่าการนำนวัตกรรมไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้ 1. นวัตกรรมที่นำมาใช้นั้นต้องมีจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนกว่าวัสดุ อุปกรณ์ หรือวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด 2. นวัตกรรมนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่กับระบบหรือสภาพที่เป็นอยู่ 3. มีกรณีวิจัยหรือการศึกษายืนยันแน่นอนแล้วว่า สามารถนำมาใช้ได้ดีในสภาพสภาวการณ์ที่คล้ายคลึงกัน 4. นวัตกรรมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้ใช้อย่างจริงจัง

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ความหมายของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ความหมายของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนี้ ทิศนา แขมมณี (2557, น. 120) กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นตัวตั้ง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้เรียนและประโยชน์สูงสุดที่ผู้เรียนควรจะได้รับ และมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างตื่นตัวและได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ อันจะนำผู้เรียนไปสูการเกิดการเรียนรู้ พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์ (2553, น. 21) กล่าวว่า การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉงเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายเป็นวิธีการที่ให้อำนาจแก่ผู้เรียน ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต วชิราพร อัจฉริยโกศล (2548) กล่าวว่า การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ให้อิสระแก่ผู้เรียนในการสำรวจสิ่งที่ศึกษาในด้านที่สนใจ ผลักดันให้หาคำตอบ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเข้าใจจากผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ซึ่งก็คือผู้สอนนั่นเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบทั้งตัวบุคคล รวมทั้งสติปัญญา ความคิด และความรู้สึก สำลี รักสุทธี (2544, น. 1) กล่าวว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดคือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ตามมาตรา 22-24 โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ กิจกรรมทางการศึกษา ลงมือปฏิบัติจริง ครูเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ชี้บอกให้ความรู้อย่างเดียว เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวก คอยช่วยเหลือแนะนำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน จากแนวคิดข้างต้นอาจสรุปได้ว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นแนวคิดอย่างกว้างที่นำพื้นฐานความเป็นจริงมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ คือ ให้ผู้เรียนได้มีอิสระในการเรียนรู้ ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ โดยครูมีหน้าที่เตรียมกิจกรรมการเรียนรู้ และเป็นผู้แนะนำ ผู้ให้กำลังใจ และเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแสดงศักยภาพในการเรียนรู้ของตนเองออกมาอย่างเต็มที่

ปรัชญา/ทฤษฎี กับการจัดการเรียนรู้ ปรัชญาการศึกษา เป็นต้นกำเนิดของการจัดการเรียนรู้ประเภทต่างๆ ในส่วนของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้พื้นฐานความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่า สามารถเรียนรู้ได้อย่างอิสระ และเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อได้ลงมือปฏิบัติจนเกิดความรู้ (Learning by doing) ตามแนวคิดของ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) และเกิดแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอีกหลายแนวคิดจากทฤษฎีร่วมสมัยที่เพิ่มความอิสระในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน เช่น ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism) และทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning) ที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว

หลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีนักการศึกษาหลายๆ ท่าน ให้ข้อเสนอในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้อย่างหลากหลาย โดยจะมีรายละเอียดที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ และมีรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันตามทัศนคติของนักการศึกษาแต่ละท่าน และเมื่อนำรายละเอียดดังกล่าวมาสังเคราะห์แล้ว สามารถจำแนกหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังต่อไปนี้ 1. วิเคราะห์ผู้เรียน (Analyze learner) ผู้สอนจำเป็นต้องวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องและตอบสนองผู้เรียนมากที่สุด 2. อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Facilitator) ครูจะไม่ใช่ผู้สอนอีกต่อไป แต่ครูจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน โดยการจัดสภาพการเรียนรู้ที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ 3. การส่งเสริม (incitement) ผู้สอนต้องทำหน้าที่ส่งเสริม กระตุ้น และปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดทักษะและคุณลักษณะเชิงบวกในการเรียนรู้จากกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดขึ้น โดยประเด็นหลักๆ ที่ผู้สอนควรส่งเสริมและให้ความสำคัญ คือ 3.1 ผู้เรียนพึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ (Autonomy) 3.2 ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ (Participation) 3.3 ผู้เรียนร่วมมือและมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ (Cooperation and Interaction) 3.4 ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Construction) 3.5 ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ (Application)

นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ตัวอย่าง นวัตกรรม พัฒนาผู้เรียน

แผนภาพแสดงนวัตกรรมการเรียนการสอน

นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดอยู่ในนวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งนวัตกรรมประเภทนี้ จะประกอบด้วย เทคนิควิธีการสอน และสื่อการเรียนการสอน โดยพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาจากพื้นฐานแนวคิดของ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังแผนภาพ

ตัวอย่างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ประเภทเทคนิคการเรียนการสอน

“บันได 5 ขั้น สู่การเรียนรู้กำแพงเห็ด” โรงเรียนวัดชนะสงคราม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร เป็นการนำทฤษฎี Constructionism มาใช้กับโครงงานในเชิงทดลอง เพื่อปลูกเห็ด และนำเห็ดเล่านั้นมาทำเป็นอาหารกระป๋อง อาหารแห้ง มีการต่อยอดจากสิ่งที่ทำอยู่เดิม ซึ่งมีขั้นตอนและการประพฤติปฏิบัติ 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การตั้งคำถาม / สมมติฐาน ขั้นที่ 2 การสืบค้นความรู้และสารสนเทศ ขั้นที่ 3 การสร้างองค์ความรู้ ขั้นที่ 4 การสื่อสารและการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นที่ 5 การบริการสังคมและจิตสาธารณะ ผลที่ได้รับ เกิดการต่อยอดสำหรับผลงานที่ได้รับ เป็นการสร้างรายได้และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

“การเรียนรู้ตามแนวทฤษฎี Constructionism แบบ I – Cake” โรงเรียนวัดลาดสนุ่น สังกัด สำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 เป็นการนำทฤษฎี Constructionism มาใช้กับรายวิชาต่างๆ ภายในสถานศึกษา โดยแบ่งขั้นตอนและการประพฤติปฏิบัติ 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การสร้างแรงบันดาลใจภายในตัวผู้เรียน (Inspiration) ขั้นที่ 2 กระตุ้นให้อยากเรียนรู้ (Curious) ขั้นที่ 3 ลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง (Action) ขั้นที่ 4 สร้างองค์ความรู้ (Knowledge) ขั้นที่ 5 นำองค์ความรู้สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (Exhibition) ผลที่ได้รับ ผู้เรียนมีอิสระในความคิด การทำงาน ได้ค้นคว้าความรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลายทั้งในและนอกห้องเรียน แก้ปัญหาได้จริง เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อ เรียนแล้วมีความสุข สนุกกับการได้ลงมือปฏิบัติ

ตัวอย่างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ประเภทสื่อการเรียนการสอน 1. สื่อการเรียนการสอนประเภทสิ่งพิมพ์ ได้แก่ เอกสารประกอบการสอน บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการเรียน ชุดการสอน แบบฝึกหัด แผ่นพับ ฯลฯ ตัวอย่างดังภาพ

ตัวอย่าง นวัตกรรม พัฒนาผู้เรียน

2. สื่อการเรียนการสอนประเภทโสตทัศนูปกรณ์ เป็นสื่อการเรียนการสอนและสื่อการเรียนรู้ที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือเรียนรู้ได้จากการฟัง ดู ฟัง-ดู มักสร้างขึ้นจากอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นสื่อการเรียนรู้ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ตัวอย่างดังภาพ

ตัวอย่าง นวัตกรรม พัฒนาผู้เรียน

จากตัวอย่างข้างต้น คือ นวัตกรรมประเภทสื่อโสตทัศนูปกรณ์ โดยปัจจุบันนอกจากการที่ครูหรือบุคคลากรทางการศึกษาเป็นผู้สร้างสื่อการเรียนรู้ขึ้นเพื่อใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ แต่พบว่าการเรียนรู้นั้น ผู้เรียนหรือแม้แต่ตัวผู้สอนสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ตนต้องการรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา