Swot analysis ตัวอย่าง การจัดการเรียนเศรษฐกิจพอเพียง

แม้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงถูกตีความและเข้าใจอย่างหลากหลายแง่มุม แต่สำหรับนักวิชาการ อาจารย์ที่ปรึกษาด้านการตลาดระดับแนวหน้า ได้ให้ข้อสรุป และวิเคราะห์หลักการฯอย่างน่าสนใจ

วัตถุนิยม สู่ สุขนิยม

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ศิษย์เอกของศาสตราจารย์ด้านการตลาด ฟิลลิป คอตเลอร์ วิเคราะห์หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ว่า มีจุดเด่นทำให้เห็นความต้องการจะออกห่างจาก “ลัทธิวัตถุนิยม” ที่สุดโต่งเกินไป มาสู่ความเป็น “คน” มากขึ้น และพยายามแสวงหาเครื่องมือที่จะสร้างความผาสุกให้แก่ชีวิต (Gross Domestic Happiness)

หลักการเศรษฐกิจพอเพียงในแนวทางสมานฉันท์ หากต้องการทำให้ทุนและกระแสโลกาภิวัตน์สามารถอยู่กันได้กับความพอเพียง ทุกส่วนควรยึดความต้องการ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หมายถึง ขยัน อดทน เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง และใส่ความรู้เข้าไปในระดับสร้างผลผลิต เพื่อเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน เขาได้เสนอกรอบไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ความต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Changes) 2.การมีส่วนร่วม (Paticipation) 3.ความต้องการในอิสระ (Freedom) และ 4.ความมั่นคง และมีเสถียรภาพ (Stability) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน องค์กรเอกชน และประเทศ

เขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พึ่งพาตัวเอง และตอบสนองความต้องการภายนอกได้ ก่อนจะบรรลุถึงความมั่นคง มั่งคั่ง และเสถียรภาพที่จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันตนอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน บุคคลและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ยังสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม เพื่อกำหนดนโยบายรัฐบาลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความผาสุกแก่ชนทุกหมู่เหล่าในประเทศได้ด้วย

นอกจากนี้ควรมีระบบ “ธรรมาภิบาล” เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และมีเสถียรภาพ

พึ่งพาตัวเอง – ไม่ก่อหนี้

ทางด้านอาจารย์ที่ปรึกษาด้านการตลาดชื่อดัง ดร.เสรี วงษ์มณฑา ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง โดยมี “จุดแข็ง” อยู่ ทำให้ไม่เติบโตอย่างไร้วินัย และไม่ก่อหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ชีวิตมีความสุขสบายในระดับพอเหมาะพอดี ขณะที่ “จุดอ่อน” อาจมองเป็นเรื่องการไม่ลงทุน ไม่พัฒนาอยู่กับที่ อาจนำไปสู่การปิดประเทศ อีกทั้งทั้งเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องคนจนไม่เกี่ยวกับคนรวย

ด้าน “โอกาส” หลักเศรษฐกิจพอเพียงถือว่ายังสามารถนำมาใช้อย่างกว้างขวางได้มาก เพราะตอนนี้เป็นกระแสที่พูดถึงเป็นระดับนโยบาย ดังนั้นโอกาสที่จะส่งเสริมในสังคมจึงไม่ยากนัก ขณะที่ “อุปสรรค” โดยเฉพาะคนที่ระบบทุนนิยมสุดโต่งสามารถสร้างความสำเร็จได้เช่นกัน อาจทำให้คนอื่นไม่เชือมั่นว่าเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำได้จริงและประสบความสำเร็จเท่า

“ตอนนี้คนเข้าใจระบบเศรษฐกิจพอเพียงดีขึ้นพอสมควร เพราะรัฐมนตรีออกมาพูดมาตลอด และไม่ใช่เรื่องคนจน แต่เป็นหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต แบบพึ่งพาตนเองและมีวินัยมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เป็นกระแสวูบวาบ ควรมีการรณรงค์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นแม่งานโปรโมต”

อาจารย์เสรียังเสนอด้วยว่า สำหรับนักการตลาด การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ได้ โดยการไม่กู้เงิน และระมัดระวังในการเก็บออมทรัพย์สินที่มีเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน หรือก่อนการลงทุนใช้งบประมาณควรคิดให้รอบคอบและคำนึงถึงความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว

ทางด้านนักวิชาการตลาดจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ชลิต ลิปะนะเวช มองว่า ความหมายที่แท้จริงของหลักเศรษฐกิจพอเพียงถูกตีความกันไปคนละเรื่อง แต่จากการที่ได้มีโอกาสได้ฟังดร.สุเมธได้อธิบายให้ฟัง เศรษฐกิจพอเพียง คือการไม่ใช้จ่ายเกินตัว หมายความว่า หากมี 100 บาท ควรใช้ 70 บาท และอีก 30 บาทควรเก็บไว้