Primary right ส ทธ พ น ม อะไรบ าง

ครบรอบ 30 ปีแล้ว ที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กถือกำเนิดขึ้น โดยมีการจัดทำขึ้นในปี พ.ศ.​2532 ซึ่งอนุสัญญาฯ นี้เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลกถึง 196 ประเทศ ข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์นี้คือ การที่ผู้นำทั่วโลกได้มาร่วมให้สัญญากับเด็กๆ ทุกคน ทุกรุ่น ว่าจะให้ความคุ้มครองดูแลอย่างเต็มความสามารถและเท่าเทียมกัน แม้กระนั้น ก็ยังคงมีเด็กๆ และเยาวชนหลายล้านคนทั่วโลกที่ยังตกหล่น ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่นานาประเทศได้ให้สัญญาไว้จากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น ความยากจน ความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงความไม่เท่าเทียม เด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมากยังไม่ได้รับโอกาสที่จะมีบทบาทเข้ามามีส่วนร่วม หรือได้รับการรับฟัง แม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง

ถึงแม้จะเป็นเส้นทางที่อาจจะยาวไกล แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะร่วมกันเดินเส้นทางที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีทั้งสิทธิและเสียง ได้รับการประคับประคองให้เติบโตขึ้นมา ได้ใช้ศักยภาพของพวกเขา และมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในสังคม ยูนิเซฟขอเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้สังคมได้เข้ามาร่วมกันเติมเต็มสัญญาเมื่อ 30 ปี และยืนหยัดเคียงข้างเด็กๆ ที่กำลังลุกขึ้นมาด้วยศักยภาพของตนเอง และสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่เหมาะสมกับเด็กทุกคน

พลังแห่งอนุสัญญา

“เด็ก” คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (เว้นแต่กฎหมายของประเทศจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น) เป็นผู้ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยลงนามภาคยานุวัติรับรอง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กๆ ทุกคนในประเทศไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันตามอนุสัญญาฯ รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติด้วย

สิทธิเด็กที่ผู้ใหญ่ต้องรู้

อนุสัญญาฯ ทั้งหมด 54 ข้อ จะประกอบไปด้วยสาระสำคัญเรื่องสิทธิของเด็ก 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม และตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง มาทำความเข้าใจและความสำคัญของแต่ละด้านกันดีกว่า

1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด

เริ่มตั้งแต่เมื่อแรกเกิด เด็กๆ มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ได้รับการจดทะเบียนเกิด มีสิทธิที่จะมีชื่อ ได้สัญชาติ และได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน ไม่ถูกแยกจากครอบครัว รวมทั้งได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม โดยรัฐมีหน้าที่ประกันสิทธิเหล่านี้ และจัดหาบริการพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีชีวิตรอด และเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น การสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานในยามเจ็บป่วย ในด้านโภชนาการ ก็ต้องมีอาหารที่ดีมีประโยชน์ที่เหมาะสำหรับเด็ก มีน้ำดื่มที่สะอาด ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชน ที่สะอาด ตลอดจนโอกาสเข้าถึงการพัฒนาต่อไปในอนาคต ฯลฯ

2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง

เมื่อเด็กๆ ได้เกิดและรอดชีวิตมาแล้ว สิ่งต่อมาที่พวกเขาควรได้รับคือการปกป้องคุ้มครอง คือได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ และยังรวมไปถึงการคุ้มครองจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การทำงานอันตราย หรือขัดขวางการศึกษา ในเรื่องสารเสพติดก็เช่นกัน เด็กๆ จะต้องได้รับการคุ้มครองจากสารอันตราย สารมีพิษ และสิ่งเสพติดต่างๆ อีกหนึ่งการให้ความคุ้มครองที่สำคัญยิ่ง ก็คือ คุ้มครองจากการค้ามนุษย์ การขายและการลักพาเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ และการแสวงประโยชน์กับเด็กในทุกรูปแบบ โดยรัฐจะมีหน้าที่ต้องฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจได้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรีอีกด้วย

ในแง่ของกระบวนการกฎหมาย แม้จะเป็นเด็กก็มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน และมีลักษณะเฉพาะตัวอีกด้วย นั่นคือ ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การให้ปากคำ ตลอดจนถึงการพิจารณาคดี จะต้องถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ สำหรับเด็กที่ถูกพรากจากครอบครัว จะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเหมาะสม ตามภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมของเด็ก ในภาวะสงคราม เด็กๆ ต้องได้รับการคุ้มครองจากภัยสงคราม ไม่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร หรือมีส่วนร่วมในการสู้รบ ในกรณีที่เด็กเป็นผู้ลี้ภัย จะได้รับการช่วยเหลือ และได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ

3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา

เพราะเด็กในวันนี้คืออนาคตของชาติในวันข้างหน้า การศึกษาและพัฒนาการจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เริ่มตั้งแต่ที่เด็กๆ จะต้องได้รับบริการพัฒนาปฐมวัย และได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่หลากหลาย โดยมีพ่อแม่เป็นผู้คอยช่วยแนะนำ ขณะที่เด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ เช่น เด็กพิการ ก็ต้องได้รับการดูแลให้มีชีวิตที่ปกติสุข ได้รับโอกาสพัฒนาและการศึกษาที่เหมาะสม ให้สามารถเติบโตพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนมีส่วนร่วมในชุมชน สิทธิด้านการพัฒนานี้นี้ยังหมายรวมถึงการต่อยอดไปสู่ทักษะเฉพาะต่างๆ การพัฒนาความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ที่จะทำให้เด็กๆ ได้ก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต

4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม

เด็กๆ ก็คือสมาชิกคนหนึ่งในสังคม อาจจะตัวเล็กสักหน่อย แต่ก็มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว ทั้งการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี หรือเข้ามามีบทบาทในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ส่งผลกระทบ หรือมีส่วนโดยตรงกับตัวเด็กและเยาวชนเอง โดยความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กคนนั้น

เด็กและเยาวชนแทบทุกคนมีศักยภาพที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย ในขณะที่ภาครัฐมีหน้าที่ที่จะเอื้ออำนวยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับชุมชนเป็นต้นไป ทุกภาคส่วนก็ควรจะมีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กๆ และเยาวชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ได้แสดงความคิดเห็น มีพื้นที่ในการใช้ศักยภาพของตนเอง ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่สังคม

เพราะเสียงของพวกเขา...เราให้ความสำคัญ

แน่นอนว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะได้รับสิทธิที่ตัวเองพึงมี เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผู้ใหญ่อย่างเราจะให้ความช่วยเหลือเด็กๆ อย่างไรดี?

ในประเทศไทยยังมีเด็กที่ตกหล่นไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก กว่า 11% ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังเตี้ยแคระแกร็น ยังมีเด็กอายุ 3-5 ปี อีกกว่า 15% ที่ไม่เคยได้รับบริการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังมีเด็กวัยมัธยมอีกอย่างน้อย 14% ที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะใดๆ และเด็กอายุ 1-14 ปี อย่างน้อย 3 ใน 4 เคยถูกทำร้ายทางร่างกายหรือคุกคามทางจิตใจ เยาวชนและวัยรุ่นเป็นจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงข้อมูลที่จำเป็นด้านสุขภาพ การพัฒนาทักษะ และไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เราในฐานะผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กๆ และเยาวชนทุกคนได้มีสิทธิอย่างครบถ้วน เพราะสิทธิเหล่านั้นคือสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตที่จะช่วยฟูมฟักศักยภาพ และเปิดประตูโอกาสในชีวิตให้กับพวกเขาทุกคน โอกาสครบรอบ 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือโอกาสที่เราจะร่วมยืนยันกันอีกสักครั้งในสัญญาที่พวกเราให้ไว้กับเด็กๆ เพราะพวกเราทุกคนคือกำลังสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเด็กๆ ผู้เป็นอนาคตของสังคม ให้เติบโตขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ และได้มีโอกาสก้าวเข้ามามีส่วนร่วม ได้แสดงความคิดเห็น และมีบทบาทในเรื่องต่างๆ ในชีวิตในสังคมร่วมกับผู้ใหญ่ทุกคน

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นข้อตกลงสำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมกันเพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความคุ้มครองสิทธิเด็ก

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอธิบายคำจำกัดความของคำว่าเด็ก สิทธิทั้งหมด และหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐ สิทธิทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน มีความสำคัญเท่าเทียมกัน และไม่สามารถลิดรอนไปจากเด็กได้

ดาวน์โหลด อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฉบับ Child-Friendly และร่วมเป็นกระบอกเสียงเรื่องสิทธิเด็ก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่เป็นสถานที่ของเด็กทุกคนได้แล้ววันนี้