โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน

Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นสภาวะความเครียดทางอารมณ์และความสัมพันธ์ที่เกิดจากการทำงาน โดยอาการประกอบด้วยความเหนื่อยล้า (Exhaustion) ทั้งความคิด ร่างกาย จิตใจ การไม่อยากมีส่วนร่วมกับงาน (Cynicism) และความรู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ (Inefficacy) ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ เข้าอาจนำไปสู่ภาวะวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า จนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ตัดสินใจลาออก และส่งผลกระทบกับการดำเนินงานขององค์กรในที่สุด

ก่อนที่ภาวะเหนื่อยล้าจะบานปลายไปสู่โรคทางใจและการตัดสินใจลาออก ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมสังคม Good Factory ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ก่อตั้ง ‘โครงการดูแลสุขภาพจิตวัยทำงาน’ เชิญชวนบุคลากรและองค์กรที่โดนภาวะ Burnout เล่นงาน มาเข้าร่วมโครงการดูแลจิตใจให้กลับมามีไฟในการทำงานอีกครั้ง

เราเลยชวนคนจุดไฟอย่าง ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ จากศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชุติกา อุดมสิน และ ฐิติฤกษ์ พรหมวนิช แห่ง Good Factory มาเล่าเรื่องโครงการนี้ให้ฟัง

โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน
โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน

เพราะเห็นเธอหมดไฟ

“โครงการนี้เริ่มจากเราไปเจอรายงานโรคและการบาดเจ็บของคนไทยจาก Burden of Disease Research Program Thailand สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่าโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุอันดับเก้าที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วย โดยคนจะเป็นเยอะช่วงอายุสิบถ้าถึงยี่สิบเก้าปี เราเลยเริ่มสนใจประเด็นนี้และสัมภาษณ์เจาะลึกผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทำแบบสำรวจสุขภาพจิตในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่และคนวัยทำงาน พบว่าคนวัยทำงานมีภาวะหมดไฟเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุมาจากงานหนัก ความคาดหวังในตัวเองและองค์กร รวมถึงปัญหาภายในองค์กร พอคุยกับทางอาจารย์ณัฐสุดา เต้พันธุ์ ก็พบว่าคนวัยทำงานยังไม่ค่อยมีระบบช่วยดูแลจิตใจที่เข้าถึงได้ง่าย เลยเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา” คุณชุติกาเล่าที่มาของโครงการให้ฟัง

เมื่อถามถึงสถานการณ์ภาพรวมของภาวะ Burnout ในประเทศไทย ผู้ก่อตั้งโครงการทั้ง 3 ท่านบอกว่า แม้ยังไม่มีสถิติชัดเจน แต่จากการทำแบบสำรวจองค์กรและบุคลากรที่สมัครเข้าร่วมโครงการในเวลานี้ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวถึงสาเหตุของอาการ Burnout ไปในทิศทางเดียวกัน คือเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานที่ค่อนข้างหนัก 

“เราเกิดเมืองไทยแต่ไปทำงานแคนาดาอยู่พักหนึ่ง ก็เห็นวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน ที่นั่นหลังเลิกงานต้องกลับทันที เสาร์อาทิตย์ต้องพักผ่อน ต้องลางานไปเที่ยวเพื่อชาร์จแบตจิตใจ แต่พอกลับมาทำงานที่เมืองไทยได้เห็นวัฒนธรรมที่นี่ว่าเลิกงานก่อนหัวหน้าโดนเพ่งเล็ง ลางานไปเที่ยวโดนเพ่งเล็ง หลังเลิกงานหรือวันหยุดหัวหน้ายังสั่งงานเราได้ บางทีสั่งงานตอนเที่ยงคืนก็มี 

“อีกอันที่คิดว่าเป็นความแตกต่าง คือเห็นว่าพนักงานไทยต้องทำงานพิเศษเพิ่ม แปลว่ารายได้จากการทำงานเราไม่ได้สูงมาก ไหนจะชั่วโมงการทำงานที่นานมาก ไหนจะรถติด วัฒนธรรมการทำงานแบบนี้เป็นสาเหตุทำให้พนักงาน Burnout ได้จริงๆ” คุณชุติมาอธิบาย อาจารย์ณัฐสุดาจึงแสดงความคิดเห็นเรื่องความเชื่อในการทำงานหนักของคนไทยที่ถูกปลูกฝังกันมา

โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน
โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน

“ในฐานะนักจิตวิทยา เราได้เห็นว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่ๆ ของบ้านเราคือโรคซึมเศร้า และคนที่มารับคำปรึกษาที่ศูนย์สุขภาวะทางจิตก็มีคนวัยทำงาน เราพบว่าพอเขาอยู่กับภาวะที่เหนื่อยกับงานมานานๆ จนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถ มันส่งผลกับภาวะจิตใจ ปล่อยเรื้อรังไปนานๆ ก็จะเข้าสู่โรคทางอารมณ์ต่างๆ

“พอบำบัดหรือคุยไป เราจะเจอว่าวัฒนธรรมการทำงานหนักมีรากความเชื่อที่ฝังลึกว่าการทำงานหนักมันดี มันแปลว่าฉันขยัน ฉันรับผิดชอบ ฉันจัดการได้ ซึ่งมันอาจทำให้เราหลงลืมการดูแลจิตใจที่เหนื่อยล้า จนนำไปสู่ภาวะหมดไฟในที่สุด โครงการนี้เหมือนไปดีลกับคนก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ๆ อย่างโรคซึมเศร้า ตอนที่ Good Factory ติดต่อมาเราเลยอยากทำ เพราะเหมือนได้ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” 

อยากให้เธอมีไฟ

เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โครงการดูแลสุขภาพจิตวัยทำงานจึงผสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายนวัตกรรม ฝ่ายจิตวิทยาการปรึกษา และฝ่ายจิตวิทยาอุตสากรรมและองค์กร เนื่องจากปัญหานี้ต้องแก้ในระดับองค์กรและวัฒนธรรมการทำงาน โดยใช้กระบวนการและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาแก้ปัญหา บนแนวคิดสำคัญคือ ‘การเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลเพื่อจัดการภาวะหมดไฟในการทำงาน’

“หลังจากที่เรารับสมัครบุคคลทั่วไปหรือองค์กรเข้ามาแล้ว ทุกคนจะได้ร่วมทำแบบทดสอบที่ประเมินว่าเรามีภาวะหมดไฟในการทำงานมากแค่ไหน เป็นแบบทดสอบที่เราซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ เมื่อเขาได้รับการประเมินก็จะเข้าสู่การทำกระบวนการกลุ่มเพื่อดูแลจิตใจ และสิ่งที่เราพยายามทำตอนนี้ คือถอดกระบวนการเหล่านั้นมาไว้บนออนไลน์ ให้คนทั่วไปดูแลจิตใจได้ โดยให้เขาได้ตระหนักถึงสี่มิติที่สำคัญ ได้แก่ ความหวัง (Hope) ความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองได้ (Resillence) การรับรู้ความสามารถในตนเอง (Self-efficacy) และการมองโลกในแง่ดี (Optimism)” คุณฐิติฤกษ์อธิบาย อาจารย์ณัฐสุดาจึงเสริมเรื่องกิจกรรมออฟไลน์และออนไลน์ให้เราเห็นภาพมากขึ้น

“กิจกรรมออฟไลน์หรือกระบวนการกลุ่ม เกิดจากพื้นฐานความเชื่อว่าแต่ละคนมีศักยภาพที่ดีในตนเองอยู่ด้วย เราจึงสร้างพื้นที่พูดคุย รับฟัง และทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งที่ใช้คือปฏิสัมพันธ์ของคน เพราะการที่คนพูดคุยกัน มันทำให้ผู้พูดรู้สึกว่ามีคนฟัง เรามีตัวตน และยังช่วยสะท้อน ช่วยฟื้นพลัง ทำให้คนรู้ว่าเรามีศักยภาพในตัวเองนะ เรามีของนะ เราก้าวข้ามและจัดการปัญหาได้นะ เช่น ทะเลาะกับหัวหน้ามา เราอาจคิดว่าเราแย่ เราไร้ความสามารถ แต่กระบวนการกลุ่มจะช่วยพาเราไปเห็นคุณค่าในมิติอื่นๆ ของตัวเอง ว่าเรายังมีคุณค่ากับพ่อแม่นะ เรายังมีความสามารถที่ทำได้ดีเป็นศักยภาพของเรา คอนเซปต์เหล่านี้จะถอดผ่านในทุกครั้งที่พบกัน แล้วถอดกระบวนการออกมาเป็นรูปแบบออนไลน์ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้” 

คุณชุติมาเล่าว่า ในส่วนของการเพิ่มทุนทางจิตใจผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ยังอยู่ระหว่างการทดลองและพัฒนา โดยมีเป้าหมายคือให้คนทั่วไปเข้าถึงบริการดังกล่าวเพื่อดึงศักยภาพในตนเอง จนรับมือกับภาวะหมดไฟในการทำงานได้ และเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับองค์กรที่มาเข้าร่วมนั้น นอกจากการทำแบบทดสอบ ทำกระบวนการกลุ่ม จะมีการพูดคุยกับหัวหน้าหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กร พร้อมแนะนำเครื่องมือในการดูแลพนักงาน เพราะภาวะหมดไฟในการทำงานนั้นต้องแก้ปัญหาไปพร้อมกันทั้งระบบถึงจะแก้ปัญหาได้ถึงต้นเหตุ

โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน
โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน

โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน
โครงการ สุขภาพจิตวัย ทำงาน

จุดไฟในวงกว้าง

เป้าหมายที่ทั้ง 3 ท่านอยากเห็นจากในโครงการดูแลสุขภาพจิตวัยทำงาน นอกจากดูแลภาวะหมดไฟในการทำงานก่อนเรื้อรังจนเป็นโรคทางอารมณ์ต่างๆ พวกเขายังอยากผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลจิตใจที่สามารถเข้าถึงคนในวงกว้าง เพราะอยากเห็นคนไทยทำงานอย่างมีความสุข

“คนทำเรื่องนวัตกรรม เราจะได้เห็นว่ามันมีปัญหามากมายในสังคม อย่างอันนี้เราอยากให้คนมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นองค์ความรู้ที่เข้าถึงคนหมู่มาก เพราะพูดกันตามจริง การผลิตนักจิตบำบัดหนึ่งคนนั้นใช้เวลานาน และในแต่ละวันนักจิตบำบัดอาจรับเคสได้ไม่มาก ซึ่งอยากให้คนได้ดูแลตัวเองในเบื้องต้นก่อน” คุณชุติมาเล่าเป้าหมายตัวเองให้ฟัง อาจารย์ณัฐสุดาจึงกล่าวว่า อยากให้คนไทยเข้าถึงการบริการดูแลจิตใจได้อย่างทั่วถึง เพราะระบบส่งเสริมสุขภาพจิตในไทยนั้นค่อนข้างจำกัด และมีราคาการรักษาที่คนบางกลุ่มอาจเข้าถึงไม่ได้ 

“เป้าหมายการทำโครงการนี้ของผมเป็นเป้าหมายส่วนตัว คือเราอยากทำอะไรสักอย่างที่ช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะเราเห็นเพื่อนรอบตัวจัดการตัวเองไม่ได้ เราเห็นเพื่อนไปหาหมอ กินยา น้องคณะเราฆ่าตัวตาย ปัญหามันเริ่มใกล้ตัวกว่าที่คิด ถ้ามีอะไรที่เราทำได้ ทำอะไรสักอย่างที่ไปถึงเขาได้ เราได้เห็นผลที่เกิดขึ้น เราก็อยากทำ” คุณฐิติฤกษ์กล่าว อาจารย์ณัฐสุดาจึงทิ้งท้ายถึงวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นจากภาวะหมดไฟสำหรับวัยทำงานทุกคน

“สมมติว่าคุณไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ และกำลังมีภาวะ Burnout คุณควรดูแลตัวเองยังไง ขอตอบในฐานะนักจิตฯ ว่าสิ่งแรกที่ควรทำคือ หาช่องให้เบรก ให้เราได้หยุดพัก ต่อมาคือลองหาเวลาสะท้อนตัวเอง ลองตอบตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่ทำมันมีความหมายอะไรกับชีวิตเรา อย่างพี่สอนหนังสือ เป็นที่ปรึกษาทีสิส มีเคสต้องบำบัด เราทำทำไม 

“ถ้าเราตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่ทำเรามีความหมาย เราก็จะสู้ แต่ถ้าเราตอบไม่ได้ เราจะเคว้ง จนมันอาจหลุดไปเรื่อยๆ ไปถึงความรู้สึกว่าเราไม่มีความสามารถ ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ตัวตน ปล่อยไปเรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นโรคทางจิตใจต่างๆ พี่ว่างานหนักไม่ได้ทำให้ใจหนัก แต่ใจหนักทำให้งานหนัก ใจที่ทำให้เราไม่รู้สึกถึงคุณค่าในงาน ยิ่งทำให้เรารู้สึกหนักมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่จะตอบโต้กับ Burnout คือตอบตัวเองให้ได้ว่าเราทำงานนี้ทำไม” อาจารย์ณัฐสุดาทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ ‘วัยทำงาน’ อย่างเราๆ ควรจะได้ถามตัวเอง