บุคคลในข้อใดมีคุณธรรมมากที่สุด

ความรู้คู่คุณธรรม 

        “… การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้วเป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทาง ด้วยความสวัสดี คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้น ในการที่จะประกอบการงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้ทุกคนสำนึกไว้เป็นนิจ โดยตระหนักว่าการงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้โดยยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใดก็ตาม ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความดีสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย…”

(ความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐)

       การมีความรู้คู่คุณธรรม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับบุคคลผู้แสวงหาความสำเร็จในชีวิต เพราะการงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้โดยยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใดก็ตาม ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความดีสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย... 

         การทำให้เกิด ”ความรู้คู่คุณธรรม” เป้าหมายคือการพัฒนาคนอยู่ที่การกระทำให้คนมีคุณภาพและคุณธรรม

         คนมีคุณภาพ หมายถึง คนที่มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ในวิชาชีพจนสามารถ เลี้ยงตนเองและครอบครัว

         คนมีคุณธรรม หมายถึง เป็นคนดี คิดดี และประพฤติดี ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นในสังคม และมีเมตตากรุณาตนเอง และผู้อื่น เป็นคนใฝ่รู้อยู่เสมอ รู้จักตนเอง เสียสละเพื่อส่วนรวม มองการณ์ไกล ไม่ประมาท และมีศีลธรรม

       หลักการเสริมสร้างคุณธรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสายพระเนตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของคุณธรรมความรับผิดชอบ ที่จะต้องมีประจำอยู่ในตัวบุคคลที่มีคุณภาพ และคุณธรรม จะเห็นได้จากแบบอย่างพระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจที่สะท้อนถึงคุณธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดเป็นคุณธรรมประจำพระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธาน อันแน่วแน่ที่จะทรงกระทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ โดยอาศัยธรรมะแห่งพระพุทธศาสนา โดยอาศัยธรรมะที่เรียกกันว่า ราชธรรมหรือธรรมะของพระราชา (ทศพิธราชธรรม)

      คุณธรรมต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำและแสดงไว้ในพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสเป็นคุณธรรมสำคัญในชีวิต ทั้งในแง่ของการทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถดำรงชีวิต อยู่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและสามารถค้ำจุนสนับสนุนให้ดำเนินงานต่างๆ ในหน้าที่สำเร็จลุล่วง ไปด้วยดี

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีคุณธรรม ความรับผิดชอบประจำพระองค์ในการ ทรงปฏิบัติภาระหน้าที่พระมหากษัตริย์ของแผ่นดินไทย ความหมายของคุณธรรม ความรับผิดชอบคือสภาพที่รู้จักภาระหน้าที่ และทำงานหรือดำเนินการตามภาระหน้าที่ให้บังเกิดผลลัพธ์มากที่สุด และเงื่อนไขที่ต้องมี คือการรู้ (เรียนรู้และ/หรือรับรู้) ว่าภารกิจที่ต้องกระทำในหน้าที่นั้นๆ มีอะไรบ้าง หรืออีกนัยหนึ่งคือ รู้หน้าที่นั่นเอง การมีคุณธรรม ความรับผิดชอบ สื่อการมีคุณธรรมการรู้จักหน้าที่ นั่นคือการมีความสำนึกในหน้าที่

       จากความหมายของคุณธรรมตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง ของการรู้จักหน้าที่แล้ว ยังประกอบไปด้วยคุณธรรมความรับผิดชอบในเรื่องอื่นๆ ดังนี้

       ความรับผิดชอบกับการมีวินัย เป็นเรื่องที่สำคัญบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบจักต้องเป็นคน ที่ มีวินัยคือ การปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ และวิธีการที่ได้กำหนดไว้สำหรับภารกิจในบทบาทหน้าที่นั้นๆ ถ้ามีการปฏิบัติตนที่แตกต่างไปจากวิธีการ และ/หรือระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินการย่อมมีน้อย และไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ให้เป็นไปตามคาดหวังไว้ในบทบาทหน้าที่นั้นๆ การมีวินัยจึงมักกล่าวเชื่อมโยงกับ ความอดทน” “ความพากเพียรที่จะดำเนินการ ให้บังเกิดผลตามที่ต้องการ ความหมายของ การมีวินัยจึงกินความไปถึงความเพียรพยายาม ความบากบั่น ตลอดจนความอดทนที่เกิดขึ้นอย่างอยู่ตัว และจริงจังเพื่อให้บังเกิดผลงานที่คาดหวัง

        ความรับผิดชอบกับการตรงต่อเวลา ผู้มีวินัยแล้วจะเป็นผู้ที่ ตรงต่อเวลาในการปฏิบัติงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นบทบาท/หน้าที่อะไรก็ตาม จะเกี่ยวกันกับเวลาเสมอ ทั้งแง่เวลาที่ต้องใช้ในการ ทำกิจกรรม และเวลาที่เป็นตัวกำหนดการทำงานแต่ละขั้น ผู้ที่มีความรับผิดชอบเมื่อดำเนินตรงตามเวลา ผลงานที่บังเกิดขึ้นก็จะเป็นไปตามความต้องการทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และเวลา

         ความรับผิดชอบกับความเป็นเลิศ คนที่มีความรับผิดชอบจักต้องเป็นคนที่มีวิญญาณของ การเรียกร้อง ความเป็นเลิศ” (Pursuit of excellence) จากตัวเองขณะเดียวกันต้องมีความพากเพียรพยายาม และต้องมี การเสียสละตัวเอง (ในรูปของเวลา แรงกาย พลังสมอง การพักผ่อนหย่อนใจ) กล่าวคือไม่ใช่การทำงานแบบ เช้าชามเย็นชามเพื่อทำให้วันและเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ทำงานด้วยความ กระดือร้น การทุ่มเทพลังกายพลังสมอง เพื่อให้บังเกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

        ขณะเดียวกันย่อมมีโอกาสทำให้เกิดความริเริ่มใหม่ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม (innovation) ในบุคคลผู้นั้นอันเป็นผลจากความพยายาม การเรียกร้องความเป็นเลิศจากตัวนี้เอง ก็จัดเป็นสภาพหนึ่งของ ความใฝ่สำเร็จ” (need for achievement or anachievement) การที่บุคคลยอมบากบั่นพากเพียรเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานย่อมต้องเรียกร้องความเป็นเลิศจากตัวเองเพื่อนำ ไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว

       ความรับผิดชอบกับความก้าวหาญ คนที่มีคุณธรรมความรับผิดชอบ จักมี ความกล้าหาญที่จะดำเนินการใดๆ โดยไม่รีรอ มีความเด็ดขาดแน่วแน่ในการตัดสินใจอันเป็นหนึ่งขององค์ประกอบในบุคลิกของผู้ที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งตรงกันข้ามกับการผัดวันประกันพรุ่งหรือการรีรอไม่ดำเนินการ ในภารกิจนั้นๆ ด้วยความไม่กล้าตัดสินใจการดำเนินงานไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ความกล้าหาญจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคุณธรรมความรับผิดชอบที่สำคัญเช่นกัน

       ความรับผิดชอบกับความซื่อสัตย์ ผู้ที่มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง และมีวินัย ที่จะปฏิบัติตามระเบียบเกณฑ์ที่กำหนด กล่าวคือ การเป็นผู้ที่ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามจรรยาบรรณ ของอาชีพหรือการงานนั้นๆ ดังนั้นผู้ที่มีความรับผิดชอบจึงอยู่ในสภาพที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อภาระหน้าที่ ของตนเองไม่ดำเนินการอื่นใดที่จะผิดแผกแปลกไปจากแนวปฏิบัติที่กำหนด โดยจรรยาบรรณของอาชีพ และการงาน ไม่หลอกลวงทั้งทางด้านการให้บริการ ผลผลิตที่มีเจตนาดำเนินการทุจริตให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ ก่อให้เกิดความเสียหาย ขาดคุณธรรมความรับผิดชอบกับความซื่อสัตย์เป็นเรื่องอันตรายมาก

       ความรับผิดชอบกับการคำนึงถึงผู้อื่นในการดำเนินงานใดๆ ก็ตามจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น การไม่สร้างภาระหรือปัญหาให้แก่ผู้อื่นโดยคำนึงถึงผู้อื่นเป็นคุณธรรมรับผิดชอบที่ตระหนักถึงบุคคล จะต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และกระทบกับงานที่กระทำ

       ความรับผิดชอบเป็นคุณธรรมที่สำคัญครอบคลุมความหมายของคุณธรรมความรับผิดชอบ ที่กล่าว มาข้างต้น คือให้คนเรามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การทำงาน ในเรื่องเวลา ฯลฯ หากจะพิจารณาจากทรรศนะของตัวบุคคล และบทบาท/หน้าที่ต่างๆ ของบุคคลในสังคมแล้วอาจจำแนกความรับผิดชอบ ของคนเราในเชิงกิจกรรมได้ 3 ประเภทคือ ความรับผิดชอบในการใช้ชีวิต ความรับผิดชอบในการทำงาน ความรับผิดชอบในบทบาท/หน้าที่อื่นๆ

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหลักปรัชญาส่วนพระองค์ที่กำกับการปฏิบัติพระองค์ ตลอดช่วงเวลาที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของชาวไทย ที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงเป็น ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์โดยทรงเลือกที่จะสร้างสรรค์ ประโยชน์ สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เหนือกว่าความคาดหวังที่พึงมี จากบทบาท และหน้าที่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ จัดเป็นการปฏิบัติพระองค์เยี่ยงผู้มีคุณธรรม ความรับผิดชอบที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนในโลก

ที่มา :

 1. มติชน วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ.2550 

 2. นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.