ข้อใดไม่ถูกต้องเกี่ยวกับทฤษฎีของแฮรี่ แอดมอน เฮส

    ปัจจุบัน  ได้มีการหันมาสนใจในการศึกษาและพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ  โดยที่คนส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งหวังกันว่า  สิ่งเหล่านี้จะนำพาทุกคนไปสู่ “ ชีวิตที่เป็นสุข ”  ได้  การพัฒนาประเทศด้านปัจจัยต่างๆ ที่ทุ่มเทลงไปนั้น  ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร  ด้านเงินทุน  แต่ผลที่ได้รับแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว  ยังคงมีปัญหาต่างๆ เป็นปัญหาเก่าๆ ที่ยังคงมีไม่สิ้นสุด  ปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจในเรื่องสิ่งต่างๆที่อยู่ใกล้ตัว  รวมทั้งความไม่เข้าใจตนเองและผู้อื่น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและซับซ้อนมาก ต้องใช้เวลาในการศึกษาและเรียนรู้ 

          การพัฒนาประเทศที่ดีควรจะคำนึงถึงด้านการพัฒนามนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านการศึกษา  ให้มีคุณภาพมีทัศนคติที่ดีใช้ในการมองตนเองและผู้อื่นด้วยความใจกว้าง  เข้าใจและมีเหตุผล “Jigzaw  Puzzle  รูปปริศนาการเรียนรู้จากทฤษฎีบุคลิกภาพสู่กระบวนการเรียนการสอน”   เป็นบทความอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์และสังเคราะห์แนวความคิดจากหนังสือ  ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ  (รู้เรา  รู้เขา)  ของ รศ. ดร. ศรีเรือน  แก้วกังวาล  และหนังสือ “ฟรอยด์  และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์จากความฝันสู่ทฤษฎีสังคม” ของ ศาสตราจารย์ ดร. ยศ  สันตสมบัติ  หนังสือทั้ง 2 เล่มเป็นการรวบรวมแนวคิดและทฤษฎีบุคลิกภาพที่สำคัญจากนักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยา รวมทั้งผู้นำทฤษฎีด้านจิตวิเคราะห์ในยุคต้นๆ ของการศึกษาอย่างเช่น ซิกมันด์  ฟรอยด์  บทความนี้เป็นการเสนอทฤษฎีที่น่าจะเหมาะสำหรับการเรียนการสอนได้
 ทฤษฎีบุคลิกภาพเป็นวิชาที่สำคัญที่จะสร้างฐานแนวคิดในการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน  ทั้งผิวเผิน  ซ่อนเร้น  และลึกซึ้ง  แม้ว่าผลสรุปของทฤษฎีหลายทฤษฎีจะมีบางส่วนที่ไม่ชัดเจน  และการตีความในแนวความคิดต่างๆ ก็มีการตีความได้หลายมุมมอง  มีทั้งที่อาจเหมือนกันหรือขัดแย้งกันอยู่บ้าง  แต่มันกลับทำให้ทฤษฎีบุคลิกภาพมีเสน่ห์และฝึกให้เราคิดทั้งแบบวิเคราะห์และสังเคราะห์  ทำให้เราเกิดความเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่น  รวมทั้งเข้าใจในชีวิตในมิติด้านต่างๆ ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน

          ทฤษฎีบุคลิกภาพมีหลายแนวคิด  มีหลายวิธีในการศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการศึกษาศาสตร์นี้จนถึงยุคปัจจุบัน  แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการ และจุดมุ่งหมายในการศึกษาบุคลิกภาพ  ตั้งแต่เพื่อประโยชน์เพียงเพื่อนำไปใช้ในคลินิกจิตแพทย์ เป็นวงแคบ ๆ  ไปสู่การเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน   ในครอบครัว  การเลือกอาชีพการทดสอบ  ลักษณะบุคลิกภาพ ในการพัฒนาตนเองและผู้อื่น  เพื่อพัฒนาสู่ความเจริญวัฒนะ  ตลอดจนเพื่อพัฒนาสังคม บุคลิกภาพ  ความหมายของคำนี้มีหลากหลาย  เนื่องจากความลี้ลับและความซับซ้อนของบุคลิกภาพ  เพราะบุคลิกภาพของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป  เราอาจจะนิยามได้ว่า บุคลิกภาพคือลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลในด้านต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก  ลักษณะต่างๆ ของบุคลิกภาพไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ ออกจากกันโดยเด็ดขาดได้  เพราะทุกๆ ลักษณะของบุคลิกภาพมีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน  เช่น ส่วนภายนอก  คือ  ส่วนที่มองเห็นชัดเจน  เช่น  รูปร่าง  หน้าตา  กิริยามารยาท  การนั่ง  การยืน  การแต่งตัว  ฯลฯ ส่วนภายใน  คือ  ส่วนที่มองเห็นได้ยาก  แต่อาจทราบได้จากการอนุมาน  เช่น  สติปัญญา  ความถนัด  ลักษณะอารมณ์  ปรัชญาชีวิต  ความสนใจ  ฯลฯ  เนื่องจากบุคลิกภาพของมนุษย์นั้นถูกหล่อหลอมและประสมประสานด้วยพันธุกรรม วัฒนธรรม  การเรียนรู้  รวมทั้งวิธีปรับตัวของบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรมและวัตถุธรรม ทำให้บุคลิกภาพของแต่ละคนเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ  การเรียนรู้  และสิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคม  และวัตถุธรรมดังกล่าว มนุษย์ทุกชาติ  ทุกภาษามีบุคลิกภาพของบุคคลทั้งส่วนร่วมที่มีลักษณะเป็นสากล  และมีส่วนซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ส่วนตัว”  ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของบุคลิกของแต่ละบุคคล  การทำความเข้าใจในบุคลิกภาพนั้น  เราสามารถทำนายลักษณะนิสัย ความสามารถ ความถนัด  ความเป็นเอกลักษณ์ของบุคคล  และทายพฤติกรรมของเราและเราได้แม่นยำ  ซึ่งความสามารถดังกล่าวมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต  ทั้งส่วนตัวและงาน  อาชีพ  ในชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง  เมื่อมนุษย์มีพันธุกรรมที่ต่างกัน  รวมทั้งเติบโตในสิ่งแวดล้อมทางสังคม  เศรษฐกิจ  ระบบวัฒนธรรมและการเมืองที่แตกต่างกัน  ดังนั้น บุคลิกภาพของมนุษย์จึงมีมากมายหลายแบบ ซึ่งบางลักษณะเป็นลักษณะของมนุษย์ จึงทำให้มีมากมายหลายแบบ  ซึ่งบางลักษณะเป็นลักษณะร่วมกันของมนุษย์เป็นสากลางลักษณะก็เป็นลักษณะเฉพาะวัฒนธรรม เฉพาะศาสนา หรือเชื้อชาติ บางลักษณะก็เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว  อันซับซ้อนลึกลับ  เหนือความเข้าใจของคนธรรมดาโดยทั่วไป
ในยุคปัจจุบันได้มีการศึกษาบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นวิทยาการบุคลิกภาพในอารยธรรมตะวันตก  ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ได้อย่างถี่ถ้วนทุกแง่มุม การประกาศทฤษฎีบุคลิกภาพในยุคแรกๆ มักได้รับการศึกษาอบรมและประกอบอาชีพเป็นนายแพทย์ หรือจิตแพทย์เป็นส่วนมาก การได้มาซึ่งข้อมูลที่ใช้ในการอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีบุคลิกภาพคือ  การสังเกตศึกษาบุคคลในคลินิก  ในระยะหลัง  นอกจากนายแพทย์หรือจิตแพทย์แล้วก็มีบุคคลวิชาชีพอื่นๆ หันมาสนใจศึกษาบุคลิกภาพเช่นกัน  เช่น  นักวิทยาศาสตร์  ( เพียเจท์ )  นักสังคมวิทยา ( ฟรอมม์ )  และนักจิตวิทยาสาขาต่างๆ โดยตรง ( สกินเนอร์ และโรเจอร์ )  เนื่องจากการศึกษาค้นคว้ายังไม่เพียงพอที่จะเข้าใจมนุษย์ทุกรูปแบบได้  นักวิชาการด้านนี้ได้พยายามศึกษาและจัดทฤษฎีต่างๆ โดยวิธีการศึกษาที่มีความละเอียด สลับซับซ้อน  ประณีตมากขึ้น  ข้อมูลที่ศึกษาก็ขยายประเภทไปอย่างกว้างขวาง คือ ไปสู่บุคคลปกติธรรมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บุคคลที่มีชื่อเสียง ผู้นำทางประวัติศาสตร์ สายอาชีพต่างๆ หรือชนชาติในกลุ่มต่างๆ เช่น ชาวเขาหรือชาวเกาะ  สัตว์ในห้องทดลอง ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ส่งผลที่ได้จากการศึกษาพัฒนาของวิชานี้คือ เกิดแนวคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพของมนุษย์มากมายหลายทฤษฎี  ทฤษฎีเหล่านี้ก็มีการจัดหมวดหมู่เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการศึกษาและการทำความเข้าใจ  ทฤษฎีทุกๆ แนวคิด ย่อมมีขีดจำกัด  มีจุดเด่นและจุดด้อยแต่ทุกทฤษฎีก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง  ขึ้นอยู่กับการนำทฤษฎีไปใช้อย่างเหมาะสมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย  และให้ประโยชน์มาก  เพราะทฤษฎีแต่ละแนวคิดเปรียบเหมือนข้อมูลที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจบุคลิกภาพของมนุษย์แต่ละแบบแต่ละคนให้ลึกซึ้งถี่ถ้วนยิ่งขึ้น  บุคลิกภาพบางแบบต้องนำแนวคิดหลายแนวคิดมาใช้ในการร่วมอธิบาย  ซึ่งเปรียบการเรียนรู้ทฤษฎีบุคลิกภาพหลายทฤษฎีเหมือนกับการต่อรูปปริศนา  ชิ้นส่วนเล็กๆ เป็นองค์ประกอบของรูปใหญ่  ชิ้นส่วนเล็กๆ คือ ทฤษฎีบุคลิกภาพแต่ละทฤษฎีคือชิ้นส่วนของรูปปริศนานั้นๆ ทำให้เรามองเห็นรูปภาพปริศนานั้นว่ามันคืออะไร  บุคคลแต่ละคนก็คือรูปปริศนานั้น  เราใช้วีการสังเกตพฤติกรรมตามแนวทางทฤษฎีเหล่านั้น  จนเราเข้าใจเหตุผลและเข้าใจผู้นั้นได้อย่างลึกซึ้ง  เหมือนที่เราควรที่จะเรียนรู้ตนเอง  และผู้อื่น  รวมทั้งตัวนักเรียนที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านพฤติกรรม  การเรียนรู้  สภาพสิ่งแวดล้อมทางบ้าน  การเลี้ยงดูเพื่อการส่งเสริมให้เด็กมีศักยภาพอย่างเต็มที่

การศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีบุคลิกภาพ  มีอยู่ 4 แนวคิด  ที่สำคัญ คือ
  1.  แนวคิดกลุ่มจิตวิเคราะห์
  2.  แนวคิดกลุ่มพฤติกรรม
  3.  แนวคิดกลุ่มมนุษยนิยม
  4.  ลักษณะนิสัย  (Trait  theory)
แนวคิดแต่ละกลุ่มในที่นี้ผู้เขียนได้จัดกลุ่มเจ้าของแนวความคิดทฤษฎีที่มีความใกล้เคียงกันเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา ซึ่งทฤษฎีของแต่ละคนก็ได้รับแนวความคิดของกันและกัน

1.  แนวคิดกลุ่มจิตวิเคราะห์
 ผู้นำกลุ่มนี้คือ  ชิกมันต์  ฟรอยด์  แนวคิดกลุ่มนี้มีทัศนคติในการมองมนุษย์ว่าเป็นสิ่งมีชีวิต  ประกอบด้วยสัญชาตญาณและข้อขัดแย้ง  นักคิดกลุ่มนี้เชื่อว่า  จิตใต้สำนึกและพลังจูงใจที่ไร้เหตุผล เป็นตัวกระทำพฤติกรรมนานาประการรวมทั้งเป็นตัวกำหนดบุคลิกภาพของบุคคล เป็นแนวคิดอันดับแรกในประวัติการศึกษาบุคลิกภาพอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  ข้อมูลที่เป็นที่มาของความคิดนี้ได้มาจากคนไข้โรคจิต  โรคประสาท   นักคิดแนวกลุ่มนี้เช่น
     1.)  ซิกมันด์  ฟรอยด์  (Sigmund  Freud)    1856 - 1939
     2.)  คาร์  กุสตาฟ  (Carl  Gustav  Jung)    1875 - 1961
     3.)  อัลเฟรด  แอดเลอร์  (Alfred  Adler)    1870 - 1937
     4.)  แอริค  เอช.  แอริสัน  (Erik  H.  Erikson  )    1902 – ปัจจุบัน 

 ในที่นี้จะขอกล่าวถึง ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์  ฟรอยด์ 

          ซิกมันด์  ฟรอยด์  (Sigmund  Freud)  ปี  1856-1939
ฟรอยด์  ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำแนวคิดจิตวิเคราะห์แบบคลาสสิค  ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขามีชื่อว่า  Freudian  Psychoanalysis  แม้ว่าทฤษฎีนี้จะมีจุดอ่อนหลายแง่มุมแต่ก็มีความเหมาะสมได้ผลดีกับบุคคลบางบุคลิกลักษณะ  และในบางวัฒนธรรม
 ฟรอยด์  ศึกษาพฤติกรรมและบุคลิกภาพของมนุษย์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์  ข้อมูลที่เขาได้มาจากคนไข้โรคจิต  โรคประสาทในคลินิกของเขา  โดยเขาเริ่มมีการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมโดยละเอียดและนำมาศึกษา  วิเคราะห์  ตีความ  และตั้งเป็นกฎเกณฑ์และทฤษฎีจิตวิเคราะห์ขึ้นมา
 ฟรอยด์  เป็นทั้งจิตแพทย์  นักคิด  นักการศึกษา  นักปรัชญา  นักเขียน  และนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายจิตและฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์  ฟรอยด์เป็นชาวยิว  เกิดเมื่อ  6  พ.ค.  ค.ศ.  1856  ที่เมืองไฟรเบิร์ก  รัฐโมราเวีย  ประเทศเชโกสโลวะเกีย  เขาประกอบอาชีพเป็นจิตแพทย์เพราะเขาสนใจทางประสาทวิทยาและการสะกดจิต  ศึกษาค้นคว้าจิตวิทยาในแนวจิตวิเคราะห์จนได้รับผลสำเร็จ
แนวคิดที่สำคัญ
1. จิตใต้สำนึก
 ฟรอยด์  เป็นผู้ริเริ่มสนใจเรื่องจิตใต้สำนึก  ซึ่งจิตใต้สำนึกนี้มีกลไกทางจิตหลายประเภทด้วยกันคือ  แรงจูงใจ  อารมณ์ที่ถูกเก็บกด  ความรู้สึกนึกคิด  ความฝัน  ความทรงจำ  ฯลฯ  พลังจิตใต้สำนึกมีอิทธิพลเหนือจิตสำนึกที่กระตุ้นเตือนให้ปฏิบัติพฤติกรรมประจำวันทั่ว ๆ  ไป  เป็นแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมไร้เหตุผล  และผิดปกติในลักษณะต่าง ๆ
 จิตหรือพฤติกรรมที่มีอยู่ในความควบคุมของความสำนึกตัวเปรียบเหมือนเวลาอันเป็นปกติ  บุคคลย่อมรู้สึกสงบ  สบาย  มีสติ  พลังจิตจิตสำนึกควบคุมพฤติกรรมทั้งหลายให้เป็นไปตามที่เห็นว่าถูกต้อง  แต่ถ้าหากบุคคลมีอารมณ์ขุ่นมัว  เคร่งเครียด  เกลียด  อิจฉา  กลัว  ตื่นเต้น  จิตใต้สำนึกก็จะมีพลังบีบคั้นให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ  ออกมา  ในภาวะนี้ทำให้อธิบายได้ว่าคนเราแตกต่างกันในรูปพลังจิตสำนึก  และใต้สำนึก  ฉะนั้นคนแต่ละคนจึงมีบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนกัน
2. ด้านโครงสร้างบุคลิกภาพ
 โครงสร้างบุคลิกภาพอาจประกอบด้วยพลัง  3  ประการ  คือ  Id , Ego และ  Super  Ego  ทั้ง  3  ตัวมีลักษณะเฉพาะตัว  แต่ก็มีอิทธิพลที่ต้องทำงานร่วมกัน  บุคลิกภาพของคนเรามีลักษณะใดขึ้นอยู่กับการทำงานประสานร่วมกันในลักษณะอย่างไร  เช่น
          2.1  Id  เป็นพลังงานที่มนุษย์มีตั้งแต่เกิด  รวมทั้งสัญชาตญาณ  เกี่ยวกับการตอบสนอง
ความปรารถนาทางกายเพื่อให้ได้มาซึ่งความพอใจ  และไม่คำนึงถึงเหตุผลตามความเป็นจริงหรือความถูกต้อง  ดีงาม
         2.2  Ego  เป็นพลังแห่งการเรียนรู้และเข้าใจ  การใช้เหตุผล  การรับรู้ข้อเท็จจริง  การ
ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย  การแสดงหาวิธีการตอบสนองพลัง  Id
         2.3  Super  Ego  เป็นพลังที่เกิดจากการเรียนรู้เช่นเดียวกับ  Ego  แต่แตกต่างกันในส่วนที่เกี่ยวกับค่านิยมต่าง ๆ  เช่น  ความดี  ความชั่ว  ถูก  ผิด  ความยุติธรรม  ฯลฯ
 กล่าวโดยสรุปแล้ว คือ  บุคลิกภาพของคนเกิดจากการทำงานร่วมกันของพลังทั้ง  3  ซึ่งถ้าพลังงานด้านใดมีพลังหรือมีอิทธิพลมากเหนือพลังอื่นก็จะเป็นตัวชี้ลักษณะบุคลิกภาพของคนนั้น
3. ขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพ
 ความแตกต่างตามวัยหรือความต้องการทางร่างกาย  เป็นความต้องการตามธรรมชาติ  เป็นพลังชีวิต  การแสวงหาความสุข  ความพอใจ  ก็พัฒนาไปตามขั้นตอนตามลำดับ  เริ่มต้นจากแรกเกิดจนสิ้นสุดในวัยรุ่น  ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่าเป็นรากฐานของบุคลิกภาพของมนุษย์  จากเด็กเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่หากมีการพัฒนาตามขั้นตอนด้วยดีก็จะทำให้บุคคลนั้นมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่สมบูรณ์
ขั้นตอนการพัฒนามี  5  ขั้นตอน  ตามที่ฟรอยด์ได้อภิปราย  ดังนี้
  1.  ขั้นแสวงหาความสุขจากอวัยวะปาก  (Oral  Stage)  เริ่มตั้งแต่คลอด – 18  เดือน
  2.  ขั้นแสวงหาความสุขจากอวัยวะทวารหนัก  (Anal  Stage)  18  เดือน – 3  ปี
  3.  ขั้นแสวงหาความสุขจากอวัยวะเพศปฐมภูมิ  (Phallic  Stage)  3  ปี – 6  ปี
  4.  ขั้นแสวงหาความสุขจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว  (Latency  Stage)  6  ปี – 11  ปี
  5.  ขั้นแสวงหาความสุขจากแรงกระตุ้นของทุติยภูมิทางเพศ  (Gential  Stage) 12 ปี – 20 ปี
 กล่าวโดยสรุป  ในแต่ละขั้นเมื่อเด็กพัฒนาแล้วเด็กเหล่านี้ก็ยังคงแสวงหาความสุขจากส่วนต่าง ๆ  ของร่างกายอยู่  แต่บางคนอาจจะลดความเข้มลงหรือเปลี่ยนไปตามรูปแบบอย่างอื่น  ฉะนั้นบุคลิกภาพที่ดีต้องมีการประสมประสานและได้รับความพอใจ  ตอบสนอง  แรงกระตุ้นจากส่วนต่าง ๆ  ของร่างกายเหล่านั้นในอัตราส่วนที่เหมาะสมตามวัยแต่ละขั้น
4. สัญชาตญาณ
 ฟรอยด์  อธิบายสัณชาตญาณไว้  2  แบบ  กล่าวคือ
  1.  ฐิติสัญชาตญาณ  (Life  Instinct)  หรือมุ่งเป็น  คือ  สัญชาตญาณเพื่อเอาชีวิตรอดและการดำรงพันธุ์  เช่น  ความหิว  ความกระหาย  แรงขับดันทางเพศ
  2.  ภังคสัญชาตญาณ  (  Death  Instinct)  หรือมุ่งตาย  ลักษณะที่เด่นชัดของสัญชาตญาณนี้คือ  แรงกระตุ้นให้ก้าวร้าว  ทำลาย  เป็นลักษณะความจริงที่มนุษย์ยอมก้าวร้าวต่อตัวเอง  ซึ่งในส่วนลึกของจิตใต้สำนึกมนุษย์ปรารถนาจะตาย  มนุษย์ตระหนักดีว่าเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตก็คือความตาย
 สรุปได้ว่าทั้งฐิติสัญชาตญาณและภังคสัญชาตญาณ  เป็นพลังที่ปะทะสังสรรค์ในตัวบุคคล  เช่น  ทั้งรักทั้งเกลียด  ทำให้ทั้ง 2 มีความสัมพันธ์กัน
5. ความหวาดกังวล  (Anxiety)
ความหวาดกังวลเป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไปไม่พ้น  เพราะความปรารถนาของมนุษย์ไม่ได้รับ
การตอบสนองสมใจเสมอไป  หรือ  Ego  มาสามารถควบคุม  Id  และ  Super  Ego  ได้อย่างสมดุล  ความหวาดกลัวอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว  ความหวาดกลัวตัวเอง  การถูกประจาน  และความหวาดกลัวที่เกิดจากความสำนึกผิดชอบ  ชั่วดี
6. Ego  และกลวิธานป้องกันตัว  (Defense  Mechanism)
กลวิธานป้องกันตัวเป็นการปฏิเสธหรือปิดบังอำพรางความเป็นจริง  เป็นกลไกทางจิตใต้สำนึก
มากกว่าจิตสำนึก  ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถหลบหลีกความกังวลหรือความเครียดที่เกิดจากกระบวนการทางกาย  ความคับข้องใจ  หรือการกระทบกระเทือน  สิ่งที่บีบคั้นจิตใจทำให้  Ego  แสวงหาวิธีภาวะที่ไม่พึงปรารถนาโดยวิธีที่เรียกว่า  “กลวิธานป้องกันตัว”  ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ  เช่น
1. การเก็บกด  (Repression)  คือ  การเก็บกดความไม่พอใจต่าง ๆ  ไว้ในระดับจิตใต้สำนึก
2. การทำตนให้เหมือน  (Indentification)  คือ  การเลือกบุคคลบางคนเป็นแบบเพื่อทำตาม
เช่น  เด็กเลียนแบบแม่หรือพ่อ
3. การทดแทน  (Displacement)  คือ  การนำเอาสิ่งหนึ่งมาทดแทนสิ่งที่ปรารถนา  แต่ไม่
สมหวังตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่  การรู้จักการทดแทนทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการทางอารยธรรม
  4.   การซัดทอดโทษผู้อื่น  สิ่งอื่น  (Projection)
  5.   การแสดงปฏิกิริยาแกล้งทำ  (Reaction  Formation)
  6.   การชะงักงันของการพัฒนา  (Fixation)
 ทฤษฎีจิตวิเคราะห์บ่งบอกถึงมนุษย์ที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง  โลกมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับข้อขัดแย้งภายในตนเองและกับผู้อื่น  แต่ขณะเดียวกันก็เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีความสามารถในการคิดมีเหตุผล  ข้อคิดเห็นจากจิตวิเคราะห์ยังคงให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยพฤติกรรมเด็กอย่างกว้างขวาง  เพื่อหาแนวทางการศึกษาอบรมเด็กอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันโรคประสาท  โรคจิตในวัยผู้ใหญ่  ที่อาจจะเกิดกับตัวเด็กได้

2  แนวคิดกลุ่มพฤติกรรม
 ผู้นำกลุ่มนี้มีหลายท่านที่สำคัญ  เช่น  Watson  และ  B.F. Skinner  แนวคิดนี้เป็นแนวคิดลำดับที่สองถัดมาจากแนวคิดกลุ่มจิตวิเคราะห์  แนวคิดนี้มีทัศนะว่าบุคลิกภาพของมนุษย์  ยืดหยุ่นอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและทางสังคม  มนุษย์จะมีบุคลิกลักษณะอย่างไรจะประสบโชคดี  โชคร้ายขึ้นอยู่กับลักษณะรูปแบบของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา  ทั้งนี้  นักคิดเชื่อว่า พฤติกรรมของสัตว์มีลักษณะคล้ายกับพฤติกรรมของมนุษย์หลายอย่าง ดังนั้น  จึงมักอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์โดยอาศัยการทดลองและการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เป็นพื้นฐาน  และเชื่อว่าพฤติกรรมใดๆ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งการเรียนรู้ ในที่นี้จะขอกล่าวทฤษฎีของสกินเนอร์ 

บี  เอฟ  สกินเนอร์  ( Burrhus  Frederic  Skinner )  ปี  1904 – ปัจจุบัน
 สกินเนอร์  เป็นนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม  ผลงานการทดลองของเขาและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ที่ได้มาจากการทดลองนั้น  สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและต่องานอาชีพหลายแขนงวิชา  งานค้นคว้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาคือ  การทดลองเรื่องการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ  และกฎของการเสริมแรง
 วงการศึกษาสายจิตวิทยาบุคลิกภาพให้การยอมรับทฤษฎีของสกินเนอร์  ในแง่บุคลิกภาพของมนุษย์เกิดจากการผสมผสานการเรียนรู้และการเสริมแรง  (การให้รางวัลและการลงโทษ)
แนวคิดสำคัญ
 คำอธิบายเกี่ยวกับบุคลิกภาพของมนุษย์  ตามแนวคิดของสกินเนอร์แฝงอยู่กับทฤษฎีการเรียนรู้แบบลงมือกระทำและกฎแห่งการเสริมแรง  สกินเนอร์ให้ความสนใจกฎเกณฑ์การเสริมแรงทั้งทางบวกและทางลบ  กระบวนการเสริมแรงเป็นพลังกระตุ้นที่ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ  หรือลบพฤติกรรมเก่า ๆ  หรือสั่งสมลักษณะพฤติกรรมใด ๆ  จนกลายเป็นลักษณะบุคลิกภาพประจำตัวของบุคคล
 ทฤษฎีและข้อคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์สามารถนำไปปฏิบัติจริง  และพิสูจน์ได้ในช่วงเวลาที่ศึกษาในทุกสายวิชาชีพ  ตั้งแต่โรงเลี้ยงเด็ก  โรงเรียนประถมศึกษา  มัธยมศึกษา  มหาวิทยาลัย
 สกินเนอร์  เป็นนักจิตวิทยาผู้นิยมแนวคิดกลุ่มพฤติกรรมนิยม  และได้เสริมสร้างทฤษฎีสิ่งเร้า – การตอบสนอง  (S – R  Theory)  ใช้ในการแก้ปัญหาทางจิตวิทยาได้ได้อย่างสมบูรณ์  และเกิดประโยชน์ในวงการศึกษาและฝึกฝนพฤติกรรม  พฤติกรรมทั่ว ๆ  ไปมี  2  ชนิด  คือ
  1.  พฤติกรรมแบบถูกเร้าให้ทำ  คือ  พฤติกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสิ่งเร้าโดยตรง
  2.  พฤติกรรมแบบลงมือกระทำ  เป็นพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาโดยการกระทำของร่างกายมากกว่าเกิดขึ้นเพราะถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้า
 สกินเนอร์  สนใจและเชื่อในเรื่องของพฤติกรรมของมนุษย์  ว่าส่วนมากเป็นไปในลักษณะแสดงอาการกระทำต่อสิ่งแวดล้อม  เพื่อจุดหมายบางอย่างหรือเป็นพฤติกรรมที่ทำให้มีผลเกิดขึ้นเสมอ  ไม่ว่าจะกระทำโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ  รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
 การเสริมแรง – ตัวเสริมแรง  (Reinforcement - Reinforcers)
 ลักษณะของการเสริมแรง  เริ่มจากการวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ  การวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ  มี  3  แบบ
  1.  การฝึกแบบให้รางวัล
  2.  การฝึกแบบให้หลบหนี
  3.  การฝึกแบบให้หลีกเลี่ยง
 โดยสรุปแล้วการใช้วิธีเสริมแรงนี้ในชีวิตมนุษย์จริงได้มีการปฏิบัติกันโดยทั่วถึง  ตั้งแต่การปกครองเลี้ยงดูทารกในครัวเรือนไปจนถึงการปกครองบ้านเมือง  และที่สำคัญการเสริมแรงได้กลับมีบทบาทในการเรียนการสอนในชั้นเรียนในปัจจุบันอย่างมากแต่ควรใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

3.  แนวคิดกลุ่มมนุษยนิยม
  แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นล่าสุด  มีทัศนคติในการมองธรรมชาติมนุษย์ในด้านที่ดีงาม  ซึ่งอธิบายได้ว่า  มนุษย์มีธรรมชาติที่ใฝ่ดี  สร้างสรรค์แต่ความดี  ปรารถนาความเจริญวัฒนะแห่งตัวตน  และบุคลิกภาพของตน  รู้คุณค่าในตนเอง  มีความรับผิดชอบในชีวิต  และที่สำคัญคือ  มนุษย์มีความปรารถนาที่จะประจักษ์รู้จักตน  และความสามารถเฉพาะตัวของตน  เพื่อใช้พลังความรู้  ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ดีที่สุด ถ้ามนุษย์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความเจริญวัฒนะแล้วเขาจะพัฒนาไปสู่ความมุ่งดี  ความเจริญของบุคลิกภาพและวุฒิภาวะเสมอ  ผู้นำแนวคิดกลุ่มนี้  เช่น  อับราฮัม  มาสโลว์
  1.  แฮรี่  สแตค  ซัลลิแวน  (Harry  Stack  Sullivan)  1892 - 1949
  2.  คาเรน  ฮอร์นาย  (Karen  Horney)  1885 – 1952
  3.  แอริค  ฟรอมม์  (Erich  Fromm)  1900 – ปัจจุบัน
  4.  อับราฮัม  มาสโลว์  (Abraham  Maslow)  1908 – 1970
  5.  คาร์  โรเจอร์  (Carl  Rogers)  1902 – 1985
  6.  เฮนรี่  เอ.  เมอร์เร่ย์  (Henry  A.  Murray)  1893 –

 ในที่นี้จะขอกล่าวเป็นภาพรวมในกลุ่มนี้โดยนำทฤษฎีของมาสโลว์  มานำเสนอ
อับราฮัม  มาสโลว์  (Abraham  Maslow)  1908 – 1970
 มาสโลว์  ได้ชื่อว่าเป็นนักจิตวิทยาอเมริกัน  เป็นผู้นำแนวคิดกลุ่มมนุษยนิยม  เป็นแนวคิดใหม่ที่สุดในวิทยาการจิตวิทยา
แนวคิดที่สำคัญ
 การศึกษาแนวคิดนี้เพียงเพื่อเข้าใจมนุษย์อย่างถ่องแท้  ควรศึกษาจิตวิทยาจากบุคคลผู้มีสุขภาพจิตดี  บุคลิกภาพมั่นคง  ประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิต  เพื่อค้นคว้าว่าคุณลักษณะของบุคลิกภาพที่ดีนั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และมีแนวทางพัฒนาอย่างไร แนวคิดที่ได้เสนอไว้  เช่น
 แรงจูงใจของพฤติกรรมมนุษย์ทุกรูปแบบเกิดจากแรงจูงใจของตัวเอง  แรงจูงใจต่างกันจึงทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน  ซึ่งแรงจูงใจต้องมีลำดับขั้นของแรงจูงใจ  มีการพัฒนาตามลำดับขั้นตอน  แรงจูงใจที่เกิดจากความขาดแคลน  และแรงจูงใจเพื่อการเจริญเติบโต  แรงจูงใจเหล่านี้ทำให้มนุษย์สามารถฝึกตน  มีค่าในตนเอง  สังคม  ต่อผู้อื่น  เพื่อความเจริญวัฒนะ
 กล่าวได้ว่า  แนวคิดกลุ่มมนุษยนั้นนิยมเน้นสนใจศึกษาบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี  มีผลงานสร้างสรรค์ต่อสังคม  และต่อมนุษยชาติ  ซึ่งมองแตกต่างกับแนวคิดกลุ่มจิตวิเคราะห์  และพฤติกรรมนิยมที่มองมนุษย์ในแง่ดำมืด  สับสน  มีบาป  เต็มไปด้วยส่วนไม่ดีมากกว่าส่วนดี 

4. ลักษณะนิสัย  (Trait  theory)
 เป็นทฤษฎีบุคลิกภาพที่มีมุมมองกว้าง ลักษณะนิสัย หรือความเคยชินมีมากมายหลายประการ เช่น ความเป็นมิตร  ความมักใหญ่ ความกระตือรือร้น นักทฤษฎีที่มีมุมมองหรือแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน คือ
  1.  กอร์ดอน  เอ็ม.  อัลล์พอร์ท  (Gordon  M.  Allport)  1897 – 1967
  2.  เรมอน  บี  แคทเทลล์  (Raymond  B.  Cattell)  1905 -
 ในที่นี้ขอกล่าวของแคทเทลล์ 

เรมอน  บี  แคทเทลล์  (Raymond  B.  Cattell)  1905 -
 แคทเทลล์  เป็นนักจิตวิทยาบุคลิกภาพ  ผู้พยายามศึกษาบุคลิกภาพอย่างมีระบบระเบียบด้วยวิธีการทางสถิติ  ครอบคลุมบุคลิกภาพปัจเจกชนและบุคลิกภาพประจำสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ
 แคทเทลล์  มีความเชื่อเช่นเดียวกับอัลล์พอร์ทว่า  ถ้าเรารู้ลักษณะเทรทหลัก ๆ  ของคนใดคนหนึ่งแล้ว  เราก็สามารถเข้าใจหรือทำนายลักษณะนิสัยใจคอของบุคคลนั้นได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ  แคทเทลล์เห็นด้วยกับอัลล์พอร์ทว่า  เทรทของบุคคลมีทั้งส่วนที่เป็นเทรทร่วม  ( Common  trait )  และเทรทที่โดดเด่นเฉพาะตัวบุคคคล  ( Personal  trait )  แต่เขาไม่เห็นพ้องกับอัลล์พอร์ทในแนวคิดที่ว่า  การศึกษาเทรทอาจดูได้จากลักษณะทางกายและ หรือระบบประสาท  เขาเชื่อว่าการศึกษาเทรทต้อง  “ทำการวัด”  พฤติกรรมภายนอกที่สามารถสังเกตเห็นได้  (Overt  behavior)  ผลของการวัดเป็นแนวทางที่ทำให้เราเข้าใจบุคลิกภาพด้านอื่น ๆ  รวมทั้งบุคลิกภาพด้านในด้วย
 แคทเทลล์  เชื่อว่า  ผลสรุปของทฤษฎีและหรือข้อคิดใด ๆ  เกี่ยวกับบุคลิกภาพ  ต้องได้มาจากการทำการวิจัยที่มีกระบวนการรัดกุม  มีเครื่องมือวัดที่เที่ยงตรง  ใช้กระบวนการทางสถิติที่ซับซ้อนสำหรับวิเคราะห์ข้อมูล  สำหรับเขาแล้ววิธีการทางสถิติสำหรับวิเคราะห์บุคลิกภาพที่แม่นยำ  คือ  Multivariate  statistics  และการวิเคราะห์องค์ประกอบ  (Factor  analysis)

 บุคลิกภาพของมนุษย์นั้นมีความหลากหลายยิ่งนัก  การรู้จักบุคลิกภาพของมนุษย์ควรเริ่มตั้งแต่รู้จักตัวเอง  คนที่อยู่ใกล้ชิด  คนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย  ทั้งในครอบครัวและในกิจธุรการงาน  ตลอดจนแผ่กว้างไปถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก  ย่อมให้ประโยชน์ และนำมาประยุกต์ใช้เกิดผลกว้างใหญ่ไพศาลทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน
 ความพยายามที่จะศึกษาบุคลิกภาพของมนุษย์จากแง่มุมต่าง ๆ  ผลของความพยายามได้ปรากฏเป็นหลักวิทยาการอย่างหลากหลาย  เมื่อกล่าวถึงในวงกว้างก็เห็นได้ว่า  หลักวิทยาการทั้งสิ้นมีอยู่ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และในสาขาศิลปศาสตร์   ซึ่งมีนักค้นคว้าตั้งทฤษฎีตามแนวคิดต่าง ๆ  มากมาย  อย่างไรก็ดีผู้ประกาศตั้งทฤษฎีแต่ละคนย่อมเล็งเห็นไปตามแนวคิดของตน  และในขอบเขตของข้อมูลที่มีให้เขาศึกษา  จึงบางครั้งไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าแต่ละทฤษฎีครอบคลุมคำอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ทั่วถึงหรือไม่  แต่ละทฤษฎีมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย  การศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงคือ  เราควรรู้จักวิเคราะห์  และผสมผสานทฤษฎีของนักปราชญ์หลาย ๆ  ทฤษฎี  เอาไปใช้สังเกตบุคลิกและพฤติกรรมของคนที่เป็นเป้าแห่งการศึกษาของเรา  ซึ่งอาจรวมถึงตัวของเราเองด้วย
 วิทยาการบุคลิกภาพ  สะท้อนให้เห็นภาพชีวิตมนุษย์ว่าเป็นสัตว์โลก  กระทำพฤติกรรมที่พึงศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์และในเชิงศิลปะศาสตร์  มีข้อสังเกตว่า  ทฤษฎีบุคลิกภาพที่ชาวยุโรปและอเมริกันบัญญัติขึ้นนั้นเน้นเพียงการรู้ข้อเท็จจริง  ในขั้นเอาไปประยุกต์ใช้ประโยชน์อยู่เพียงขั้นตอนการใช้ในการประกอบกิจการงานทั่ว ๆ  ไปในวงเศรษฐกิจ  สังคมและการศึกษา  อย่างมากก็นำไปใช้ในการทำจิตบำบัดแก่ผู้มีปัญหาในทางจิต   เมื่อมองในภาพรวม  ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงได้ทัศนะที่ใช้มองคน คือ ตัวท่านเองและคนอื่น ๆ  ให้ตรงตามเป็นจริงยิ่งขึ้น  ยอมรับทั้งส่วนดีส่วนไม่ดีในตนเองและผู้อื่นด้วยใจกว้างและมีเหตุผลยิ่งขึ้น  นี้คือการเริ่มต้นพัฒนาตนเองและสร้างฐานมั่นคงให้แก่บุคลิกภาพและสุขภาพจิต
 หากย้อนมาดูถ้าหากนำทฤษฎีหรือแนวคิดต่าง ๆมาใช้ด้านการเรียนการสอน ซึ่งถ้าหากเราได้มีการศึกษาหรือวิเคราะห์ถึงบุคลิกภาพของผู้เรียนในลักษณะต่าง ๆทั้งภายในและภายนอก ทั้งด้านดีและด้านไม่ดีของตัวเด็ก โดยเราอาจศึกษาแนวคิดหรือทฤษฎีที่จะนำมาใช้ในการศึกษาให้มีความสอดคล้องเหมาะสม ซึ่งเด็กคนเดี่ยวเราอาจจะต้องใช้หลายทฤษฎีเข้ามาใช้ในการศึกษา  ในส่วนนี้จะยิ่งทำให้ครูผู้สอนมีความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอน และเข้าใจถึงบุคลิกภาพของผู้เรียนที่มีความแตกต่างทั้งด้านสภาพจิตใจ สภาพสิ่งแวดล้อม สภาพการเลี้ยงดู มากยิ่งขึ้น  การศึกษาไม่ว่าจะเป็นแนวคิดด้านจิตวิเคราะห์ ที่มุ่งศึกษาจิตใต้สำนึก  กลุ่มแนวคิดพฤติกรรม   กลุ่มแนวคิดกลุ่มมนุษยนิยม   หรือด้านลักษณะนิสัย  (Trait  theory)  ตามแนวคิดต่าง ๆ  เราสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ตัวผู้เรียนได้   ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจใช้หลาย ๆ ทฤษฎีมาใช้ในการศึกษาได้เหมือนกัน เหมือนกับเวลาที่เราต่อจิ๊กซอเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้  ทำให้เราเข้าใจพัฒนาการของเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ  ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขเต็มตามศักยภาพ  เพื่อเด็กเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพและสุขภาพจิตที่ดี  เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไป

ข้อใดไม่ถูกต้องเกี่ยวกับทฤษฎีของแฮรี่ แอดมอน เฮส