ประเทศใดที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง

ด้วยจำนวนประชากร 650 ล้านคนและอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เฉลี่ยร้อยละ 5 มูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งประชากรในวัยหนุ่มสาวที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศรวมกันจึงเป็นภูมิภาคที่เปี่ยมพลวัตที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก สหรัฐอเมริกาและอาเซียนทำงานร่วมกันตลอด 42 ปีที่ผ่านมาเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 ก่อนยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในปี 2558 ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นว่า หลักการที่เชิดชูไว้ในมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด–แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) อันได้แก่ การมีส่วนร่วม การเปิดกว้าง การเป็นภูมิภาคซึ่งยึดถือหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ หลักการเหล่านี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ว่าด้วยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ตลอดจนแนวทางดำเนินการในภูมิภาคของพันธมิตร หุ้นส่วน และมิตรประเทศของสหรัฐฯ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันเข้มแข็งของสหรัฐฯ และอาเซียน

เศรษฐกิจอันอุดมพลวัตและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงของอาเซียนทำให้อาเซียนเป็นตลาดการส่งออกและการลงทุนที่สำคัญของสหรัฐฯ

  • อาเซียนคือจุดหมายปลายทางการลงทุนอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด–แปซิฟิก การลงทุนของสหรัฐฯ ในอาเซียน (ปริมาณการลงทุนรวมสะสม 329,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นั้นมากกว่าปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) หรือ FDI ของสหรัฐฯ ในจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดียรวมกัน
  • อาเซียนเป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับที่ 4 ของสหรัฐฯ การส่งออกของสหรัฐฯ ไปยังอาเซียนสนับสนุนตำแหน่งงานกว่า 500,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 4 ของอาเซียน
  • โครงการระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) หรือ ASW ซึ่งพัฒนาโดยได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจากสหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2551 ได้ช่วยให้อาเซียนลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการการค้าขายสินค้าให้ยิ่งกระชับขึ้น องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้ให้ความช่วยเหลือในการยกระดับซอฟต์แวร์ด้านเทคนิคและการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อรองรับระบบ ASW ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลศุลกากรระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนกับสหรัฐฯ ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น
  • เครือข่ายการดำเนินงานและความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ (Infrastructure Transaction and Assistance Network) หรือ ITAN ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงและมีความยั่งยืนทางการเงินในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อช่วยอาเซียนตอบสนองความจำเป็นในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่าย ITAN ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ฟิลิปปินส์ สนับสนุนเวียดนามในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (Power Development Plan) และดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน ตลอดจนร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าแห่งอินโดนีเซียปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัยและแสวงหาแหล่งพลังงานที่หลากหลายยิ่งขึ้น
  • กองทุนให้คำปรึกษาด้านการดำเนินการ (Transaction Advisory Fund) ของ ITAN ประกาศจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2561 จะบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและมอบความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อประเมินศักยภาพของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการจะประกาศภายในปลายปี 2562
  • บรรษัทการลงทุนภาคเอกชนในต่างประเทศ (OPIC) มุ่งเน้นความสำคัญของโครงการในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และเมียนมา โดยมีโครงการปัจจุบัน อาทิ การดำเนินงานเชื่อมโยงผู้ให้กู้ยืมเงินทุนกับผู้ผลิตสินค้าเกษตรในเมียนมา มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการริเริ่ม มูลค่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับพัฒนาฟาร์มกังหันลมในอินโดนีเซีย

โครงการหุ้นส่วนเมืองอัจฉริยะสหรัฐฯ–อาเซียน (USASCP) – การลงทุนในนวัตกรรม

เมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่นำเทคโนโลยีด้านข้อมูลมาใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมและบริหารจัดการทรัพยากรของเมือง อันเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในสหรัฐฯ และอาเซียน

  • กิจกรรมแรกของโครงการ U.S.-ASEAN Smart Cities Partnership หรือ USASCP จัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเดือนกรกฎาคม โดยผู้แทนจาก 26 เมืองนำร่องในเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) มาแลกเปลี่ยนมุมมองกับภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองอัจฉริยะ พร้อมทั้งศึกษาบริการโซลูชั่นเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เพื่อตอบรับความท้าทายของเมืองอัจฉริยะ สหรัฐฯ ลงทุนเบื้องต้นในโครงการนี้ คิดเป็นมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การสร้างศักยภาพของอาเซียนในโลกดิจิทัล

เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับปัญหาท้าทายในด้านการเชื่อมโยงและความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งสหรัฐฯ ได้นำความรู้ความชำนาญมาช่วยจัดการ

  • สหรัฐฯ เตรียมต่อยอดจากโครงการหุ้นส่วนการเชื่อมโยงด้านดิจิทัลและความมั่นคงทางไซเบอร์ (Digital Connectivity and Cybersecurity Partnership – DCCP) และถ้อยแถลงผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (U.S.-ASEAN Leaders’ Statement on Cybersecurity Cooperation) โดยวางแผนจัดการหารืออาเซียน–สหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายไซเบอร์ (U.S.-ASEAN Cyber Policy Dialogue) ขึ้นเป็นครั้งแรกในงาน Singapore International Cyber Week ระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคมนี้
  • ภายใต้กรอบความร่วมมือ DCCP สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (USTDA) ได้สนับสนุนกิจกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาค เช่น สนับสนุนเงินทุนสำหรับความช่วยเหลือทางเทคนิคที่มอบแก่ฟิลิปปินส์ เพื่อดำเนินโครงการโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband Network Project) ความช่วยเหลือนี้จะช่วยขัดเกลาแผนออกแบบทางเทคนิคและปฏิบัติการให้สามารถขยายการเข้าถึงบรอดแบนด์ไปยังตลาดที่ขาดแคลนทั่วฟิลิปปินส์
  • โครงการฝึกอบรมประเทศที่สามระหว่างสหรัฐฯ–สิงคโปร์ (U.S.–Singapore Third Country Training Program) U.S.-ASEAN Connect และ DCCP มุ่งลดช่องว่างทางการพัฒนาในภูมิภาคผ่านการฝึกอบรมบุคลากรจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและติมอร์-เลสเต เกี่ยวกับการเชื่อมโยงทางดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปีนี้ สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถด้านแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศว่าด้วยการวางนโยบายไซเบอร์แห่งชาติด้วยการปรับปรุงความสามารถในการตอบสนองเหตุ เพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ และพัฒนาแรงงานไซเบอร์
  • โครงการ Digital Economy Series ภายใต้ U.S.-ASEAN Connect นำเสนอกิจกรรมเชื่อมโยงผู้กำหนดนโยบายในอาเซียนกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในภาคดิจิทัล และช่วยอำนวยการจัดพื้นที่ดิจิทัลที่เปิดกว้างและทันสมัย

หุ้นส่วนความมั่นคงด้านพลังงาน

มีการประมาณการว่า ความต้องการพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ใน 3 ภายในปี 2583 การสนับสนุนของสหรัฐฯ นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโตพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

  • แผนดำเนินงานส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานสหรัฐฯ–อาเซียน (U.S.-ASEAN Energy Cooperation Work Plan) สนับสนุนความมุ่งหมายและจุดประสงค์ด้านพลังงานระดับภูมิภาคของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาตลาดไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค การใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดขั้นสูง และการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
  • ภายใต้โครงการ Clean Power Asia Program สหรัฐฯ เตรียมทุ่มงบประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงทุนด้านพลังงานสะอาดเป็นระยะเวลา 5 ปีผ่านการฝึกอบรมภาครัฐสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการคัดเลือก ให้สามารถจัดการประมูลย้อนกลับ (reverse auction) ในการประมูลเสนอบริการพลังงานหมุนเวียน รูปแบบการประมูลเช่นนี้อาศัยการแข่งขันเพื่อลดค่าใช้จ่ายและนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้
  • Asia EDGE (Enhancing Development and Growth through Energy) ซึ่งริเริ่มดำเนินโครงการโดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนคณะมนตรีอาเซียนด้านปิโตรเลียม (ASEAN Council on Petroleum) เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศว่าด้วยการบริหารจัดการท่อส่งปิโตรเลียมข้ามพรมแดนและการกำหนดมาตรฐานคุณภาพก๊าซธรรมชาติ อันเป็นส่วนสำคัญในการบูรณาการด้านพลังงานของอาเซียน

ความช่วยเหลือทางทะเลเพื่อความมั่นคงอาเซียน

อาเซียนที่เข้มแข็งและมีความสามารถ ณ ใจกลางของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้นมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างระดับภูมิภาคซึ่งส่งเสริมการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยและสามารถระงับข้อพิพาทโดยสันติด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ

  • สหรัฐฯ ฝึกฝนหน่วยยามฝั่ง (Coast Guards) และฝึกอบรมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านกรอบความร่วมมือ Southeast Asia Maritime Lane Enforcement Initiative (ชื่อทางการคือ ความร่วมมืออ่าวไทย) เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
  • โครงการความช่วยเหลือด้านความมั่นคง อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือทางทหารต่างประเทศ (Foreign Military Financing) โครงการศึกษาและฝึกอบรมทางการทหารระหว่างประเทศ (International Military Education and Training) และข้อริเริ่มด้านความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security Initiative) ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความชำนาญของกองกำลังทางทหารของประเทศสมาชิกอาเซียนในแต่ละประเทศ ตลอดทั้งเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลและพัฒนาความสามารถในการตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเลของชาติสมาชิก
  • ในเดือนกันยายนนี้ สหรัฐฯ กับไทยจะร่วมเป็นเจ้าภาพจัด การฝึกผสมทางทะเลระหว่างอาเซียน–สหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Maritime Exercise) การฝึกครั้งนี้มุ่งเสริมสร้างความสามารถด้านการตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการขัดขวางการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายทางทะเล

การส่งเสริมผู้นำเยาวชนผ่านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

ประชากรอาเซียนร้อยละ 65 มีอายุน้อยกว่า 35 ปี การส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ให้มีบทบาทนำในชุมชนอาเซียนย่อมเป็นการรับรองว่าสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองจะธำรงสืบต่อไป

  • นักท่องเที่ยวจากอาเซียนเพิ่มมูลค่าแก่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
  • นักเรียนนักศึกษาจากอาเซียนนำเงินเข้าสู่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
  • โครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) อบรมผู้นำรุ่นใหม่รวมเกือบ 5,000 คนตั้งแต่ พ.ศ. 2556 โดยมีเยาวชนอายุระหว่าง 18-35 ปี มากกว่า 142,000 คนเข้าร่วมเป็นสมาชิกออนไลน์ของโครงการ YSEALI
  • โครงการแข่งขันชิงทุน YSEALI Seeds for the Future มอบทุนรวมกว่า 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เพื่อสนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นแก่โครงการพัฒนาชุมชน
  • แต่ละปี มีนักเรียนนักศึกษาจากประเทศในอาเซียนเกือบ 60,000 คนศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ
  • โครงการ Fulbright ASEAN Research Program สำหรับนักวิชาการจากสหรัฐฯ ได้มอบทุนจำนวน 14 ทุนนับตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เพื่อดำเนินงานศึกษาวิจัยร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาประจำสำนักเลขาธิการอาเซียน https://asean.usmission.gov/

*การแปลนี้จัดทำขึ้นโดยความอนุเคราะห์และเฉพาะต้นฉบับภาษาอังกฤษเท่านั้นที่ควรถือว่าเชื่อถือได้

โดย U.S. Embassy Bangkok | 2 สิงหาคม, 2019 | ประเภท: ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก, เอกสารข้อเท็จจริง