ห้างหุ้นส่วนประเภทใด

ความหมายของห้างหุ้นส่วน

         ในการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไปมี 3 รูปแบบ คือ กิจการเจ้าของคนเดียว กิจการห้างหุ้นส่วน และบริษัทจำกัด ซึ่งกิจการห้างหุ้นส่วนเป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจการค้าที่นิยมกันมาก เพราะมีวิธีการจัดตั้งง่ายกว่าบริษัทจำกัด และใช้เงินทุนจำนวนน้อย เหมาะสำหรับกิจการค้าขนาดกลางและขนาดย่อม มีบุคคลที่ร่วมมาลงทุนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจก็จะนำมาแบ่งปันกันตามอัตราที่ตกลงในสัญญาการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน ความหมายของห้างหุ้นส่วน           ห้างหุ้นส่วน (Partnership) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 บัญญัติไว้ว่าอันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
          จากบทบัญญัติดังกล่าว สามารถสรุปลักษณะที่สำคัญของห้างหุ้นส่วนได้ดังนี้
          1. ต้องมีสัญญาระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
          2. ต้องมีการเข้าทุนกัน ซึ่งบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องลงทุนด้วยกัน สิ่งที่นำมา ลงทุนในห้างหุ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันก็ได้ คือ
              2.1 เงินสด
              2.2 สินทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ลูกหนี้ สินค้า เป็นต้น
              2.3 ลงแรงงาน แรงงานในที่นี้อาจเป็น แรงกาย ชื่อเสียง สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ
          3. ต้องกระทำกิจการร่วมกัน คือ ร่วมกันดำเนินการอย่างเดียวกัน
          4. ต้องมีความประสงค์ที่จะแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำตามที่ตกลงกันในสัญญา ประเภทของห้างหุ้นส่วน           ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1013 ได้กำหนดห้างหุ้นส่วนออกเป็น 2 ประเภทคือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ
และห้างหุ้นส่วนจำกัด
          1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
              ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้สินของห้างทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนใช้หนี้จากสินทรัพย์ส่วนตัวได้ และผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิที่จะจัดการกับห้างหุ้นส่วนได้ ห้างหุ้นส่วนสามัญจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ
              1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา คำนำหน้าชื่อห้างหุ้นส่วนใช้คำว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญถ้าไม่ได้ระบุลงในสัญญาห้าง ตามกฎหมายให้ถือว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิที่จะจัดการกับห้างหุ้นส่วนได้
              1.2 ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน มีสภาพเป็นนิติบุคคล แยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน คำนำหน้าชื่อห้างหุ้นส่วนใช้คำว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลห้างหุ้นส่วนประเภทนี้มีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกเดียวคือหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วน โดยไม่จำกัดจำนวน และในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง จะตกลงให้มีผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการของ ห้างหุ้นส่วนก็ได้
          2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
              ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทที่มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 จำพวก ได้แก่
              2.1 หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน และหุ้นส่วนจำพวกนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างได้
              2.2 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งรับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างไม่ได้

ข้อแตกต่างระหว่างห้างหุ้นส่วนสามัญ และห้างหุ้นส่วนจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          ห้างหุ้นส่วนสามัญ และห้างหุ้นส่วนจำกัด มีข้อแตกต่างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีดังนี้
ห้างหุ้นส่วนสามัญ มีลักษณะสำคัญคือ           1. มีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงประเภทเดียว คือ ประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบในหนี้สิน
          2. ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิเข้าจัดการกับห้างหุ้นส่วนได้
          3. ทุนที่นำมาเป็นเงินสด สินทรัพย์ต่าง ๆ และแรงงานได้
          4. จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้
          5. เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนใช้หนี้จากสินทรัพย์ส่วนตัวได้
          6. เมื่อหุ้นส่วนผู้ใดถึงแก่ความตายหรือลาออกจากห้างหุ้นส่วน หรือล้มละลาย สัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนเป็นอันสิ้นสุดต้องเลิกกิจการ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีลักษณะสำคัญคือ           1. มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 ประเภท คือประเภทที่ไม่จำกัดความรับผิดชอบ และประเภทที่จำกัดความรับผิดชอบ
          2. ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบไม่มีสิทธิเข้าจัดการกับห้างหุ้นส่วน
          3. หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบลงทุนเป็นแรงงานไม่ได้
          4. ต้องจดทะเบียน และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล
          5. เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้หนี้จากสินทรัพย์ส่วนตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ
          6. หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ ตาย ลาออก หรือล้มละลาย ไม่ต้องเลิกกิจการ

การกรอกแบบคำขอจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วน

ในการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนนั้น ผู้ประสงค์จะขอจดทะเบียนต้องกรอกข้อมูลลงในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนพร้อมเอกสารการจดทะเบียน โดยการกรอกข้อความในแบบพิมพ์คำขอ และเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนให้พิมพ์ดีด หรือ เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อยื่นขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ซึ่งสถานที่ในการจดทะเบียน มีดังนี้
          1. ในเขตภูมิภาคสามารถยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดนั้น ๆ
          2. ในเขตกรุงเทพมหานครสามารถยื่นจดทะเบียนสำนักงานบริการจดทะเบียน หน่วยงาน ประกอบด้วย
              สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 1 (ปิ่นเกล้า)
              สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2 (พหลโยธิน)
              สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 3 (รัชฎาภิเษก)
              สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 4 (สุรวงศ์)
              สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 5 (รามคำแหง)
              สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 6 (ศรีนครินทร์)
              สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 7 (แจ้งวัฒนะ)
              ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (อาคารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 9)
          3. ทางอินเตอร์เน็ต เว็ปไซต์ www.dbd.go.th

แบบประเมินผลการเรียนรู้หน่วยที่ 3