จุดมุ่งหมายของการพูดมีอะไรบ้าง

   ในการพูดแต่ละครั้ง  ผู้พูดต้องกำหนดจุดมุ่งหมายว่าต้องการจะให้ผู้ฟังได้รับ  สิ่งใด  จะพูดเรื่องอะไร  เพื่ออะไร  และพูดอย่างไร  ทั้งยังต้องคำนึงถึงผู้ฟังด้วย  การพูดที่มีความมุ่งหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวได้ตรงกับความต้องการของผู้พูด     ความมุ่งหมายโดยทั่วไปของการพูด  มีดังนี้

                  1.  เพื่อแจ้งให้ทราบ  เป็นการพูดที่แจ้งข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์  โดยทั่วไปแล้วจะใช้กับการพูดเชิงวิชาการ  กึ่งวิชาการ  หรือการเล่าเรื่องทั่วๆ ไป  เช่น  การบรรยาย  การปาฐกถา  การอธิบาย  การสาธิต  การชี้แจง  การกล่าวรายงาน  การเล่าเรื่อง  เป็นต้น

            2.  เพื่อโน้มน้าวใจ  เป็นการพูดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ฟังให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของผู้พูด  โดยให้ผู้ฟังเห็นถึงประโยชน์หรือโทษของสิ่งที่พูด  และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ฟังให้กระทำหรือเลิกกระทำสิ่งนั้น เช่น การพูดหาเสียง       การโฆษณา การพูดชักชวน  การพูดร้องขอวิงวอน  การพูดโต้แย้ง  การพูดวิจารณ์      เป็นต้น  การพูดประเภทนี้ผู้พูดต้องใช้ทั้งเหตุและผล  ข้อมูลอ้างอิง  หลักจิตวิทยา  และวาทศิลป์     จึงจะสามารถทำให้ผู้ฟังเชื่อและเปลี่ยนพฤติกรรมได้            

            3.   เพื่อจรรโลงใจ  เป็นการพูดสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้ฟัง  ขณะเดียวกันก็อาจเป็นการยกระดับจิตใจผู้ฟังให้สูงขึ้น  เช่น  การพูดเรื่องตลกขบขัน  การพูดทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ให้ความบันเทิง การสนทนาธรรม การพูดในโอกาสต่างๆ อาทิ  การกล่าวอวยพร  งานวันเกิด  งานมงคลสมรส  เป็นต้น

          4.  เพื่อค้นหาคำตอบ เป็นการพูดเพื่อขจัดข้อสงสัยของผู้พูด  ในชีวิตประจำวันเรามักจะพบกับอุปสรรคหรือปัญหาต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งเราอาจจะแก้ไขปัญหาด้วยตนเองไม่ได้  จึงต้องสอบถามหรือปรึกษาจากผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญ  เช่น  การสอบถามข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  การสอบถามเส้นทาง   การปรึกษาปัญหาชีวิตและสุขภาพ     เป็นต้น

    นอกจากนี้  ทัศนีย์  ศุภเมธี  (2526 : 35–36)  ได้ให้จุดมุ่งหมายของการพูดไว้ดังนี้

             1.  การพูดเพื่อถ่ายทอดความรู้  ความคิด  ความเข้าใจ  ผู้พูดต้องเสนอ   เรื่องราวที่เป็นจริงมีรายละเอียดพอสมควร  หรือมีความคิดเห็นของผู้พูดสอดแทรกไปด้วย  เพื่อให้ผู้ฟังได้รับรู้และเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน  เช่น  การบรรยายของวิทยากร  การอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์  เป็นต้น

                 2.  การพูดเพื่อแสดงความคิดเห็น  ผู้พูดต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ดี  และสามารถแสดงเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจถึงแนวความคิดของผู้พูดได้  เช่น  การอภิปราย  การโต้วาที  เป็นต้น

                 3.  การพูดเพื่อจรรโลงใจ  เป็นการพูดให้ผู้ฟังเกิดความสนุกเพลิดเพลิน  นอกจากนี้การพูดประเภทนี้ยังเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถยกระดับจิตใจของผู้ฟังให้สูงขึ้นได้ด้วย มิใช่เพียงสนุกสนานเท่านั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้พูดบรรลุความมุ่งหมายได้คือ ต้องมีกลวิธีในการเสนอเรื่องและความสามารถในการใช้ภาษา  ตลอดจนแสดงท่าทางอย่างสอดคล้องกัน  เช่น  การพูดเรื่องตลกในวงสนทนา  การแสดงของคณะตลกต่างๆ  การพูดเรื่องที่สอนคติเตือนใจ  เป็นต้น 

                 4.  การพูดเพื่อโน้มน้าวใจผู้ฟัง  เป็นการพูดที่ผู้พูดต้องมีความสามารถและระมัดระวังเป็นพิเศษว่าจะพูดอย่างไร  จึงจะทำให้ผู้ฟังเกิดการยอมรับความคิดและการกระทำของผู้พูด  การพูดแบบนี้ผู้พูดต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ฟังและต้องพูดให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม  บางทีอาจเปลี่ยนความคิด   ความเชื่อ  หรือพฤติกรรมที่มีอยู่เดิมของ    ผู้ฟังได้ด้วย 

                  อวยชัย  ผกามาศ  ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของการพูดไว้ว่า  การพูดแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นการพูดเดี่ยวหรือพูดเป็นกลุ่มย่อมมีความมุ่งหมายแตกต่างกันออกไปตามกาลเทศะและบุคคล  สามารถประมวลได้ดังนี้

                  1.  พูดเพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริง  ข้อนี้มุ่งให้ผู้ฟังได้รับความรู้สาระจากเรื่องที่พูดให้มากที่สุด  ดังนั้นผู้พูดต้องมีการเตรียมตัวมาดีพอสมควรใช้สำนวนภาษาที่น่าสนใจเหมาะสมกับผู้ฟัง  เช่น  การกล่าวรายงาน  การกล่าวปราศรัย  การกล่าวสุนทรพจน์    การบรรยาย  การอธิบาย  เป็นต้น

                  2.  พูดเพื่อความบันเทิง  ข้อนี้มุ่งให้ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นสำคัญ  พูดให้ตรงเป้าหมาย  อย่าเยิ่นเย้อหรือเนิ่นนานจนเกินไป  ใช้สีหน้ากิริยา  ท่าทาง  เสียง  และสำนวนภาษาที่สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง  เช่น  การเล่าเรื่องในประเภทต่างๆ

                  3.  พูดเพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวใจ  ข้อนี้มุ่งให้ผู้ฟังมีเจตคติที่ดี  เปลี่ยนแนวคิดเดิมหรือความคิดเก่าๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำ  หรือข้อเสนอแนะในที่สุดเพราะผู้ฟังมีความรู้สึกว่าตนเองได้รับประโยชน์  ผู้พูดต้องใช้ศิลปะการพูดและลีลาการพูด น้ำเสียงกิริยาอาการต่างๆ เพื่อประกอบการพูดจนผู้ฟังคล้อยตามได้ เช่น การพูดเชิญชวนบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณประโยชน์  เป็นต้น

จุดมุ่งหมายของการพูดเพื่อให้ความรู้มีอะไรบ้าง

ความมุ่งหมายของการพูด ความมุ่งหมายของการพูด คือ การแสดงหรือเสนอข้อคิดเห็นต่อผู้ฟัง และผู้ฟังสามารถรับรู้เรื่องราวและเข้าใจได้ตรงกับความต้องการของผู้พูด ตลอดจนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่า พูดได้อย่างใจนึก ระลึกได้ดังใจหวัง

ข้อใดคือจุดมุ่งหมายของการพูดแบบอธิบาย

การพูดอธิบาย มีจุดมุ่งหมาย ดังต่อไปนี้ เพื่อให้ผู้ฟังได้รับความรู้ความเข้าใจ เป็นการอธิบายที่มุ่งให้ผู้ฟังมีความรู้ 1. ความเข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องที่พูด ตามเนื้อหาสาระของวิชาการในสาขาต่าง ๆ เช่น การ อธิบายเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้นักเรียนฟัง โดยอาจจะยกตัวอย่าง พร้อมกับการใช้สื่อ

จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการพูดจูงใจคืออะไร

สรุปได้ว่า การพูดจูงใจ หมายถึง การพูดเพื่อโน้มน้าวใจผู้ฟังให้เห็นคล้อยตาม หรือ เชื่อถือเลื่อมใส ศรัทธา แล้วนำไปประพฤติตามคำแนะนำ การพูดจูงใจผู้พูดต้องมีศิลปะในการพูด ชักนำ หรือเกลี้ยกล่อมอย่างมากจึงจะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ การพูดจูงใจมีความสำคัญมากทั้งต่อตนเองและต่อสังคม ผู้พูดต้องมีจรรยาบรรณในการพูด

การกำหนดจุดประสงค์และขอบเขตในการพูดคืออะไร

2.2) การกำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตของเรื่องที่จะพูด ผู้พูดจะต้องกำหนด จุดมุ่งหมายในการพูดแต่ละครั้งให้ชัดเจนว่าต้องการให้ความรู้ โน้มน้าวใจหรือเพื่อความบันเทิงเพื่อจะได้เตรียมเรื่องให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย นอกจากนี้ผู้พูดจะต้องกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะพูดด้วยว่าจะครอบคลุมเนื้อหาลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด