โยนิโสมนสิการมีความสำคัญอย่างไร

 ความหมายของโยนิโสมนสิการ
            โยนิโสมนสิการ มาจากคำว่า โยนิโส กับ มนสิการ แปลความได้ว่า การทำในใจโดยแยบคาย กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย การพิจารณาโดยแยบคาย คือ พิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริงโดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยหรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิใช่เกิดอวิชชาและตัณหา ความรู้จักคิด คิดถูกวิธี ประกอบด้วยลักษณะของการคิด 4 ประการ คือ
            1. อุบายมนสิการ คือ ลักษณะการคิดแบบวิเคราะห์กระบวนการหรือความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ เป็นความคิดที่ช่วยให้เข้าถึงรากเหง้าหรือแก่นแท้ของความคิดจริง ๆ นั้น
            2. ปถมนสิการ คือ ลักษณะการคิดเป็นทาง หรือคิดถูกทาง มีลำดับขั้นตอนเป็นเหตุเป็นผลเป็นระเบียบ ไม่วกวน หรืออีกนัยหนึ่ง ปถมนสิการ หมายถึง การคิดได้หลายทางหรือหลายแง่มุม ลักษณะการคิดแบบ ปถมนสิการ เป็นความคิดซึ่งหมู่นักปราชญ์ใช้กันทั่วโลกแต่อาจไม่ครบถ้วนทุกข้อ ผลของความคิดจึงดีแต่ยังไม่สมบูรณ์
            3. การณมนสิการ คือ ลักษณะการคิดสืบสาวหาเหตุผล จนเห็นความสัมพันธ์ของเหตุและผลโดยสมบูรณ์ หรือเมื่อเห็นปัญหาและเหตุของปัญหาก็พิจารณาสืบไปว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
            4. อุปปาทกมนสิการ คือ ลักษณะการคิดมุ่งกุศล หรือคิดเฉพาะสิ่งที่ดีมุ่งแต่ความดีตัดขาดจากสิ่งชั่วร้าย หรือไร้สาระ มุ่งทำให้สิ่งที่จะไม่ก่อทุกข์แก่ตนและผู้อื่น มุ่งทำสิ่งที่ทำให้ตนและผู้อื่นมีความสุขที่แท้จริง ผลของความคิดก่อให้เกิดปัญหาจึงเป็นความคิดที่ดีและสมบูรณ์
            ลักษณะการคิดทั้ง 4 ประการ มีความสัมพันธ์กัน เป็นการคิดที่ทำให้เกิดปัญหา เห็นลักษณะและความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ อย่างละเอียดถูกต้อง เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การฝึกความคิดเช่นนี้เป็นประจำ นอกจากจะทำให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ยังทำให้ปัญญาของผู้นั้นเจริญงอกงามขึ้น ตามความหมั่นเพียรฝึกฝนของบุคคลนั้น (กรมสามัญศึกษา, 2545)
           วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
            วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ คือ วิธีคิด 10 ประการ ดังต่อไปนี้
            1. วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุผล คือ เมื่อเห็นผลหรือเห็นปัญหาก็สืบหาเหตุ ได้เหตุแล้วก็สืบหาเหตุก่อนหน้านั้นจนเห็นความสัมพันธ์ของเหตุและผลโดยสมบูรณ์ หรือเมื่อเห็นปัญหาและเหตุของปัญหาก็พิจารณาสืบไปว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นบ้าง ดังนี้เป็นต้น
            2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ คือ มุ่งพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ให้ตรงตามสภาพเป็นจริงจึงต้องรู้รายละเอียดว่า เรื่องนั้น ๆ มีองค์ประกอบย่อยอะไรบ้าง ประกอบกันขึ้นอย่างไร เช่น แยกแยะร่างกายออกเป็นระบบต่าง ๆ ว่ามีระบบหายใจ ระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบเนื้อเยื่อ เป็นต้น จนทำให้เราเข้าใจร่างกายมนุษย์ตามสภาพที่เป็นจริง
            3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์หรือไตรลักษณ์ คือ การคิดแบบวิเคราะห์กระบวนการหรือความเป็นไปของชีวิต เช่น การวิเคราะห์ลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ได้แก่
                ทุกข์ ความไม่อาจคงสภาพอยู่อย่างเดิมได้
                อนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่คงที่
                อนัตตา ความไม่เป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวตน
            4. วิธีคิดแบบอริยสัจ/คิดแบบแก้ปัญหา คือ การคิดแบบสืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้ว หาวิธีการแก้ไขที่เหตุ เป็นการคิดที่มีหลักการสำคัญโดยเริ่มต้นจากปัญหา ทำความเข้าใจกับปัญหาให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข ในเวลาเดียวกันก็กำหนดเป้าหมายให้แน่ชัด พร้อมกันนั้นจึงคิดวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหาและดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ วิธีคิดแบบอริยสัจประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค เป็นวิธีคิดที่ใช้แก้ปัญหาซึ่งตรงตามกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์
            5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ คือ การคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นการคิดแบบหาความ สัมพันธ์ระหว่างหลักการกับความมุ่งหมาย วิธีใช้ เมื่อวิเคราะห์จนรู้สภาพจริงของปัญหาหรือธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ แล้วก็พิจารณาว่า เรามีจุดมุ่งหมายอย่างไร หลักการใดจะให้สัมฤทธิผลตามจุดมุ่งหมายนั้น วิธีคิดเช่นนี้นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ
            6. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก คือ การคิดที่มองตามความเป็นจริง เน้นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้น ๆ เป็นอยู่ทุกแง่มุม เพื่อให้รู้คุณโทษ ข้อดีข้อเสียทุกด้านแล้วจึงคิดหาทางออกของปัญหาว่ามีอยู่จริงหรือเป็นไปได้อย่างไร เลือกทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาในกรณีนั้น ๆ แล้วจึงนำไปปฏิบัติ วิธีคิดดังกล่าวจึงเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมากใช้ได้กับเรื่องทั่วไป จึงเป็นการคิดมองตามความเป็นจริงเพื่อหาทางออก คือ การปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องที่สุด
            7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม คือ การคิดที่สกัดหรือบรรเทาตัณหาของมนุษย์ ซึ่งจะใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอย ปัจจัย 4 และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีหลักการคิดที่สำคัญ คือ ในเวลาที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาด้วย “สติ” และ “ปัญญา” แยกแยะให้ได้ว่า สิ่งนั้น ๆ มี “คุณค่าแท้” หรือ “คุณค่าเทียม” ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เลือกเสพคุณค่าที่แท้จริง
            8. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม ใช้หลักการที่ว่า
         “บุคคลเมื่อประสบอารมณ์หรือรับรู้สิ่งใดก็ตาม แม้เป็นของอย่างเดียวกัน แต่การมองเห็นและนึกคิดอาจปรุงแต่งไปคนละอย่างตามโครงสร้างของจิตใจ”
            จากหลักการดังกล่าวจึงทำให้เกิดการมองเห็นและความนึกคิด 2 ลักษณะ คือ ในทางที่ดีงามและประโยชน์ เรียกว่า “กุศล” และในทางที่ไม่ดีงามเป็นโทษ เรียกว่า “อกุศล” ดังนั้นการเริ่มต้นและชักนำความคิดไปสู่ความเป็นกุศลย่อมเป็นสิ่งเริ่มต้นของกระบวนการคิดที่ดีงาม วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรมหรือเร้ากุศล เป็นวิธีที่เปิดกว้างที่สุด เพราะสามารถนำไปปรับประยุกต์เป็นแบบต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นตามความเหมาะสม
            9. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน คือ การคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจของปัญญาโดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์ วิธีคิดแบบนี้เป็นการมองอีกด้านหนึ่งของการคิดแบบอื่น ๆ หรือคลุมวิธีคิดที่กล่าวมาทั้งหมดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีคิดแบบนี้ คือ “ความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์” นั่นคือการไม่อาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วหรือฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถือความเป็นปัจจุบันโดยกำหนดที่ “สัมมาสติ” เป็นสำคัญ
            10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท คำว่า “วิภัชชวาท” ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรงแต่เป็นวิธีพูดเป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด เพราะสิ่งที่พูดล้วนมาจากความคิดทั้งสิ้น คำว่า “วิภัชชวาท” ถือเป็นคำสำคัญคำหนึ่งที่ใช้แสดงระบบความคิดที่เป็นแบบของพระพุทธศาสนา
                วิภัชชวาท มาจาก วิภัชช + วาท
                วิภัชชะ แปลว่า แยกแยะ แบ่งออก จำแนกหรือแจกแจง ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า “วิเคราะห์”
                วาท แปลว่า การกล่าว การพูด การแสดง คำสอน
                วิภัชชวาท แปลว่า การพูด แยกแยะ พูดจำแนก หรือพูดแจกแจง
            ลักษณะสำคัญของความคิดและการพูดแบบนี้ คือ การมองและแสดงความจริง โดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละด้านครบทุกแง่มุม
            3.3 การคิดแบบโยนิโสมนสิการกับการดำเนินชีวิต
            กระบวนการฝึกคนให้เป็นคน “คิดดี” และ “ทำดี” ควบคู่ไปกับ “ความรู้จริง” และ “รู้แจ้ง” เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีและมีคุณค่านั้นเกิดจากการฝึกฝนพัฒนาตนด้วยการศึกษาทั้งวิชาการควบคู่กับหลักธรรมเพื่อนำไปสู่สัมมาทิฐิอันนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งการดำเนินชีวิตดังกล่าวมีขั้นตอนดังแผนภูมิต่อไปนี้ (สุวิทย์ มูลคำ, 2549 : 60)