ประวัติศาสตร์จีน มีอะไรบ้าง

ประวัติศาสตร์จีน ส่งผลต่อวิธีคิดและมุมมองของสี จิ้นผิง ต่อโลกอย่างไร

25 ตุลาคม 2021

ประวัติศาสตร์จีน มีอะไรบ้าง

ที่มาของภาพ, Getty Images

ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาคมโลกจับตามองจีน โดยหลายประเทศสงสัยว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำหนดบทบาทจีนให้อยู่ตรงจุดไหนบนเวทีโลก บางที สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตของจีนอาจจะช่วยบอกอะไรบางอย่างได้ รานา มิตเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด อธิบายเรื่องนี้

ปัจจุบันจีนเป็นชาติมหาอำนาจของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการได้เมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้ว

อำนาจของจีนอาจจะมาจากการที่จีนขยายความร่วมมือกับโลกมากขึ้น อย่างการร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

หรือบางครั้งอาจจะหมายถึงการแข่งขันกับโลกก็ได้ อย่างโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในกว่า 60 ประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกที่ไม่ได้รับเงินกู้จากชาติตะวันตก

แต่การพูดในเวทีโลกของจีนหลายครั้งก็มีท่าทีที่แสดงออกถึงการเผชิญหน้า

รัฐบาลจีนประณามสหรัฐฯ ที่พยายาม "ควบคุม" จีนผ่านข้อตกลง AUKUS ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านกลาโหมในการสนับสนุนให้ออสเตรียเลียสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ( AUKUS เป็นตัวย่อที่หมายถึง 3 ประเทศคือ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) นอกจากนี้จีนยังได้เตือนสหราชอาณาจักรถึง "ผลที่จะตามมา" จากการให้ชาวฮ่องกงที่เดินทางออกจากฮ่องกงพำนักในสหราชอาณาจักรได้ หลังจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่รุนแรง และจีนได้บอกกับเกาะไต้หวันว่า ควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรวมประเทศกับจีนแผ่นดินใหญ่

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ยังรักษาสถานะของจีนบนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่งมากกว่าที่ผู้นำคนก่อนหน้านี้ของจีน นับตั้งแต่เหมา เจ๋อตุง ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของจีนในช่วงสงครามเย็น เคยทำมา

และการย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์จีนในสมัยโบราณและสมัยใหม่อาจจะช่วยทำให้เข้าใจมุมมองของ สี จิ้นผิง มากขึ้น

วิถีขงจื๊อ

หลักคิดของลัทธิขงจื๊อส่งผลต่อสังคมจีนมานานกว่า 2,000 ปี ขงจื๊อ (551-479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นนักปรัชญาได้สร้างระบบจริยธรรมที่ประกอบด้วยเรื่องของลำดับชั้น ซึ่งผู้คนรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนในสังคม และหลักเมตตากรุณา ซึ่งเป็นความคาดหวังให้คนที่อยู่ในสถานะที่สูงส่งกว่าช่วยดูแลคนที่ด้อยกว่า

เมื่อเวลาผ่านไปแนวคิดของขงจื๊อก็ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยอย่างมาก ระบบวิธีคิดนี้ค้ำจุนราชวงศ์ของจีนจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติขึ้นในปี 1911 ซึ่งการโค่นล้มจักรพรรดิองค์สุดท้ายทำเกิดการต่อต้านขงจื๊อและคำสอนของเขาอย่างสิ้นเชิง รวมถึงการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์

ที่มาของภาพ, Getty Images

เหมา เจ๋อตุง แกนนำคอมมิวนิสต์คนสำคัญ เป็นผู้ที่ต่อต้านปรัชญาจีนโบราณอย่างมากในช่วงที่เขามีอำนาจ (1949-1976) แต่ในยุคทศวรรษ 1980 แนวคิดของขงจื๊อก็กลับเข้ามาในสังคมจีนอีกครั้ง โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยกย่องว่า ขงจื๊อเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมที่ทิ้งคำสอนมากมายไว้ให้แก่จีนในปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้ จีนยกให้ "ความสามัคคี" เป็น "ค่านิยมสังคมนิยม" แม้ว่าจะเป็นลักษณะคำสอนของขงจื๊อก็ตาม แต่คำถามสำคัญคือว่าในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว หลัก "เมตตากรุณา" ซึ่งเป็นคำสอนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของขงจื๊อนั้น มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกภายนอกอย่างไร

ศาสตราจารย์เหยียน เสวียทง จากมหาวิทยาลัยชิงหัว เคยอธิบายว่า จีนพยายามทำอย่างไรในการสร้าง "อำนาจจากความเมตกรุณา" แทนที่จะเป็น "การครอบงำ" ซึ่งต่างจากบทบาทสหรัฐฯ ที่เขามองว่า มีความเมตตากรุณาที่น้อยกว่า

แม้กระทั่งแนวคิด "ประชาคมโลกที่มีชะตากรรมร่วมกัน" ของสี จิ้นผิง ก็ยังสนับสนุนหลักปรัชญาโบราณนี้ และสีก็เคยไปเยือนเมืองชวีฟู่ สถานที่เกิดของขงจื๊อ และกล่าวถึงคำสอนของขงจื๊อในที่สาธารณะด้วย

ศตวรรษแห่งความน่าอับอาย

ประวัติศาสตร์แห่งการเผชิญหน้าในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ยังคงส่งผลต่อมุมมองของจีนที่มีต่อโลกอย่างมาก

สงครามฝิ่น (Opium Wars) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ทำให้จีนมองผู้ค้าจากชาติตะวันตกว่า ใช้กำลังในการบังคับให้จีนเปิดประเทศ และห้วงเวลาส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1840-1940 ได้กลายเป็น "ศตวรรษแห่งความน่าอับอาย" เป็นยุคสมัยที่เผยให้เห็นถึงความอ่อนแอของจีน ในคราวที่ต้องเผชิญหน้ากับการรุกรานของญี่ปุ่นและยุโรป

ในสมัยนั้น จีนต้องยอมยกฮ่องกงให้อังกฤษ ยกดินแดนแมนจูเรียทางตะวันออกเฉียงเหนือให้แก่ญี่ปุ่น และให้สิทธิพิเศษทางการค้าและกฎหมายหลายอย่างแก่ประเทศตะวันตกหลายประเทศ ส่วนในช่วงยุคหลังสงคราม สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (USSR) พยายามที่ขยายอิทธิพลตามแนวพรมแดนที่ติดกับจีน รวมถึงแมนจูเรียและซินเจียง

  • สี จิ้นผิง กำลังย้อนเวลาพาแนวคิดสังคมนิยมกลับสู่จีน ?
  • 'แนวคิด สี จิ้นผิง' คืออะไร?

ประสบการณ์เช่นนี้ได้ทำให้จีนมองเจตนาของโลกภายนอกอย่างกังขา แม้แต่การพยายามจะติดต่อกับโลกภายนอก เช่น การเข้าร่วมองค์การการค้าโลกในปี 2001 ก็เกิดขึ้นจากการที่จีนมีความทรงจำเกี่ยวกับ "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย" เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาควบคุมการค้าในจีน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนประกาศว่า จะไม่มีวันยอมให้เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด

ในเดือน มี.ค. ปีนี้ ในระหว่างการเจรจากันอย่างร้อนแรงระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา จีนได้ตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์ของสหรัฐฯ ด้วยการกล่าวหาเจ้าภาพว่า "เย่อหยิ่งและเสแสร้ง" จีนในสมัยของสี ไม่ยอมให้คนภายนอกดูถูกประเทศจีนได้

พันธมิตรที่ถูกลืม

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย ก็ยังทำให้เกิดการสื่อสารในทางบวกมากขึ้นได้ อย่างในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจีนสู้รบกับญี่ปุ่นเพียงลำพังหลังจากถูกรุกรานมาตั้งแต่ปี 1937 ก่อนที่ชาติพันธมิตรตะวันตกจะเข้าร่วมสงครามนี้ที่อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในปี 1941

ในช่วงหลายปีนั้น จีนสูญเสียประชาชนไปกว่า 10 ล้านคน และมีทหารญี่ปุ่นอยู่ในประเทศมากกว่า 5 แสนคน เรื่องราวนี้มักจะปรากฏอยู่ในตำราประวัติศาสตร์ ในภาพยนตร์และโทรทัศน์อย่างแพร่หลาย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ในกรุงปักกิ่งมีการฉลองชัยชนะเหนือญี่ปุ่น

ปัจจุบัน จีนมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "พันธมิตรต่อต้านฟาสซิสต์" เช่นเดียวกับสหรัฐฯ, อังกฤษ และสหภาพโซเวียต โดยให้น้ำหนักตัวเองด้วยการย้ำเตือนโลกถึงฐานะของจีนว่า เป็นผู้ชนะเหนือกลุ่มอักษะ

จีนยังเขียนบทบาททางประวัติศาสตร์ในการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศโลกที่ 3 ในยุคของเหมาด้วย (ยกตัวอย่างในการประชุมที่เมืองบันดุงในปี 1955 และในโครงการต่าง ๆ อย่างการสร้างทางรถไฟแทนแซมในแอฟริกาตะวันออกในยุคทศวรรษ 1970) เพื่อตอกย้ำถึงบทบาทการเป็นผู้นำในโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ยังคงเป็นส่วนสำคัญของการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองตัวเองว่ามีความชอบธรรม แต่ส่วนประกอบของประวัติศาสตร์นั้น อย่างการเผชิญทุพภิกขภัยครั้งใหญ่จากนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่เรียกว่า ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (Great Leap Forward) ช่วงปี 1958-1962 ปัจจุบันยังคงเกือบไม่ถูกพูดถึงในจีน

ในเวลาเดียวกันสงครามในยุคใหม่ก็อาจมีเป้าหมายในทางเผชิญหน้ายิ่งไปกว่านั้น โดยเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ก็ได้เห็นภาพยนตร์เรื่องใหม่หลายเรื่องที่มีเนื้อหารำลึกสงครามเกาหลีระหว่างปี 1950-1953 ซึ่งเป็นสงครามที่จีนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สงครามต่อต้านอเมริกา" (War of Resistance to America)

ลัทธิมาร์กซ์

ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ได้ฝังลึกอยู่ในแนวคิดทางการเมืองของจีน และในช่วงสมัยของสี จิ้นผิง ได้มีการรื้อฟื้นแนวคิดนี้อย่างแข็งขัน

ตลอดศตวรรษที่ 20 เหมา เจ๋อตุง และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนสำคัญอื่น ๆ เข้าร่วมการถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซิสม์พร้อมกับทำให้เกิดผลที่สำคัญตามมา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักท่องเที่ยวชาวจีนถ่ายรูปหน้ารูปเหมือนของเหมา เจ๋อตุง

ยกตัวอย่าง แนวคิด "สงครามชนชั้น" ได้นำไปสู่การสังหารเจ้าของที่ดินนับล้านคนในช่วงที่เหมาขึ้นมาปกครองประเทศในช่วงปีแรก ๆ แม้ว่า "ชนชั้น" ไม่ได้ถูกนำมาใช้กำหนดนิยามทางสังคมแล้ว ขณะที่ภาษาทางการเมืองจีนในปัจจุบันก็ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิด "การต่อสู้" "ความเป็นปฏิปักษ์" และ "สังคมนิยม" เมื่อเทียบกับ "ทุนนิยม"

วารสารที่สำคัญอย่าง ฉิวซื่อ (Qiushi) ซึ่งเป็นวารสารวิชาการของพรรคคอมมิวนิสต์ มักจะมีการอภิปรายถึง "ความขัดแย้งต่าง ๆ" ในสังคมจีนโดยมีการพูดถึงทฤษฎีของมาร์กซ์อย่างกว้างขวาง

  • 200 ปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์: 5 มรดกตกทอดที่เรามองข้าม

จีนในสมัยของสี ได้อธิบายถึงการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่า เป็นการต่อสู้ที่อาจเข้าใจได้ตามคำว่า ความเป็นปฏิปักษ์ในลัทธิมาร์กซ์

เรื่องนี้ใช้อธิบายถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ ในสังคมเช่นเดียวกัน ปัญหาต่าง ๆ ในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและรักษาการเติบโตไว้โดยเป็นไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมถูกอธิบายด้วยแนวคิดความขัดแย้งในลัทธิมาร์กซิสม์ คุณจะไปถึงจุดที่เห็นชอบร่วมกันได้ แต่จะต้องผ่านช่วงเวลาของ "ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน" อันเจ็บปวดและยาวนานเสียก่อน

ไต้หวัน

รัฐบาลจีนเน้นย้ำถึงชะตากรรมของเกาะไต้หวัน ซึ่งจีนต้องการให้รวมประเทศกับจีนแผ่นดินใหญ่

แต่ประวัติศาสตร์ไต้หวันในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องสถานะของไต้หวันในการเมืองของจีนอยู่เสมอ ในปี 1895 หลังจากสงครามที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับญี่ปุ่น จีนถูกบังคับให้ยกไต้หวันซึ่งต่อมาได้กลายเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเป็นเวลา 50 ปี

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

เกาะจินเหมินของไต้หวัน มองเห็นชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนได้

ต่อมาพรรคก๊กมินตั๋งได้นำไต้หวันกลับมารวมกับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างปี 1945-1949 จีนพลาดโอกาสในการรวมเกาะไต้หวันในสมัยของเหมา ซึ่งรัฐบาลทรูแมนของสหรัฐฯ คงจะยอมให้เหมาทำเช่นนั้นได้ จนกระทั่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมกับเกาหลีเหนือในการรุกรานเกาหลีใต้ในปี 1950 จนเกิดเป็นสงครามเกาหลี และพลิกให้ไต้หวันกลายเป็นพันธมิตรสำคัญในการทำสงครามเย็น

  • จีน-ไต้หวัน : ความสัมพันธ์และความบาดหมางของสองชาติจากรากเดียวกัน

เหมา ได้เปิดฉากโจมตีชายฝั่งไต้หวันในปี 1958 แต่หลังจากนั้นก็ละเลยดินแดนนี้ไป 20 ปี หลังจากสหรัฐฯ และจีนกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์กันในปี 1979 ก็มีข้อตกลงกันว่า ทุกฝ่ายเห็นชอบว่า มีเพียงจีนเดียว (One China) แต่ไม่ได้ยอมรับว่ารัฐบาลจีนหรือรัฐบาลไต้หวันเป็นสาธารณรัฐอย่างถูกกฎหมาย

เวลาผ่านไป 40 ปี สี จิ้นผิง ยืนกรานว่า การรวมประเทศต้องเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ขณะที่ถ้อยคำที่แข็งกร้าวและชะตากรรมของฮ่องกงทำให้ประชาชนไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยเสรี รู้สึกต่อต้านการกระชับความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น

ศาสตราจารย์รานา มิตเทอร์ สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เขาเชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของจีนสมัยใหม่ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ China's Good War: How World War II Is Shaping a New Nationalism (อาจแปลได้ว่า สงครามแห่งความดีของจีน : สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลต่อลัทธิชาตินิยมใหม่อย่างไร)