สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร

๒๔๗๖ หนึ่งปีหลังจากสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย  บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม จากนั้นปีต่อมาในเดือน กรกฎาคม ๒๔๗๗ บุญรอดฯ ก็เริ่มผลิตเบียร์ออกวางตลาดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของเมืองไทย เบียร์ - เครื่องดื่มที่เคียงคู่กับอารยธรรมมนุษย์มายาวนานร่วมหมื่นปี และอุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครคาดฝันว่าจะเป็นไปได้ในประเทศเมืองร้อน - เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์  ความคิดริเริ่ม และกำลังแรงใจของพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร ๒๔๑๕ – ๒๔๙๓)

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร
พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ในเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการพลเรือนยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จากเด็กชายสู่ “ท่านเจ้าคุณ”

พระยาภิรมย์ภักดีถือกำเนิดที่กรุงเทพฯ ในตระกูลเศรษฐบุตร ซึ่งเป็นตระกูลคนไทยเชื้อสายจีน ผ่านประสบการณ์ทำงานหลายรูปแบบมาตั้งแต่อายุยังไม่มาก  เขาเริ่มต้นเข้ารับราชการเป็นครูก่อนหันไปทำงานเป็นเสมียนห้าง แล้วออกมาทำกิจการค้าไม้ซุงของตนเอง กระทั่งเติบโตในธุรกิจเดินเรือรับส่งผู้โดยสารข้ามฟากระหว่างพระนครกับฝั่งธนบุรี จนได้รับพระราชทานราชทินนาม “ภิรมย์ภักดี” สืบตระกูลขุนนางพ่อค้าตามที่บิดาเคยได้รับมาก่อนในสังกัดกรมท่าซ้าย

ต้นทศวรรษ ๒๔๗๐ เมื่อทางราชการมีดำริให้สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งธนบุรี เฉลิมฉลองวาระ ๑๕๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์  ท่านเจ้าคุณจึงเล็งเห็นว่าเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง สังคมจะก้าวหน้าทันสมัยยิ่งขึ้น ธุรกิจดั้งเดิมอย่างเช่นเรือข้ามฟากคงไม่สามารถตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป และเมื่อได้ลองลิ้มเบียร์รสดีที่มิตรชาวเยอรมันเปิดให้ชิม ท่านจึงตั้งปณิธานที่จะเป็นคนไทยคนแรกที่ตั้งโรงงานเบียร์ขึ้นในประเทศให้จงได้

ขณะนั้นคือปี ๒๔๗๒ และพระยาภิรมย์ภักดีอายุได้ ๕๗ ปี

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการก่อสร้างโรงงานบุญรอดบริวเวอรี่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๗๖

จุดเริ่มโรงเบียร์

ในวัยใกล้ ๖๐ พระยาภิรมย์ฯ ยังคงมองหาลู่ทางใหม่ ๆ สำหรับชีวิต ท่านเล็งเห็นว่าสยามยังไม่มีเบียร์ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ กำไรจากการจำหน่ายเบียร์นับแสนขวดที่ขายได้ในเมืองไทยสมัยนั้นจึงไหลออกไปต่างประเทศทั้งหมด  ดังนั้นถ้าสามารถผลิตเบียร์ขึ้นได้สำเร็จ ประเทศชาติก็ย่อมได้ประโยชน์จากการนี้

ด้วยความมุ่งมั่น พระยาภิรมย์ฯ ใช้เวลาเกือบตลอดทั้งปี ๒๔๗๓ เสาะหาข้อมูลการตั้งโรงเบียร์ด้วยความกระตือรือร้น ท่ามกลางเสียงเยาะหยันในวงสังคมที่ทราบข่าว ทว่าคำถากถางยิ่งกลับเป็นกำลังใจที่ผลักดันให้ท่านเจ้าคุณมุ่งมั่นว่าเกิดมาทั้งทีต้องทำให้สำเร็จให้จงได้

หลังจากศึกษาดูงานในประเทศเพื่อนบ้านและการเจรจากับทางราชการเพื่อขอสัมปทานผลิตเบียร์  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  พระยาภิรมย์ฯ จึงเดินทางไปยุโรปเพื่อแสวงหาเครื่องจักรที่เหมาะสมรวมถึงหาตัวผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ตลอดเวลาเกือบ ๖ เดือน ท่านได้เยี่ยมชมโรงงานเบียร์ไม่รู้กี่แห่งต่อกี่แห่ง รวมทั้งไปเยือนแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญสองชนิดของเบียร์ ทั้งไร่ฮอปส์และนาข้าวบาร์เลย์ ต้นทางของ “มอลต์” ท่านเจ้าคุณบันทึกไว้ว่า (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)

“…ต้นฮอบส์ขึ้นเลื้อยบนเสาไม้ค้างบนร่อง เช่นเดียวกับเถาพลูบ้านเรา ขณะนี้กำลังมีดอกเป็นพวงเฉพาะในฤดูร้อน มีเกสรสีเหลืองหอมฉุน…แล้วก็ได้ดูไร่ข้าวบาเล่ขึ้นมีรวงคล้ายต้นข้าว…”

ในท้ายที่สุดท่านเจ้าคุณจึงคัดเลือกให้บริษัทเมี้ยก (MIAG) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อเบราน์ชไวค์ (Braunschweig) แต่สามารถสร้างโรงเบียร์ได้ทุกขั้นตอน เป็นผู้ผลิตเครื่องจักร แล้วขนส่งทางเรือเข้ามา

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร

ตราหนุมานคาบศรของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

กำเนิด “บุญรอดบริวเวอรี่”

เมื่อพระยาภิรมย์ฯ กลับเข้ามายังกรุงเทพฯ และเจรจาต่อรองกับทางราชการจนได้รับสัมปทานเรียบร้อยแล้วจึงเตรียมจดทะเบียนตั้งบริษัท แต่แรกตั้งใจจะใช้ชื่อ บริษัท เบียร์สยาม จำกัด ตามชื่อประเทศยุคนั้น แต่กลับมีเสียงทักท้วงจากเพื่อนฝรั่งว่า ชื่อบริษัทห้างร้านต่าง ๆ สมัยนั้นล้วนเต็มไปด้วยคำว่า “สยาม” ท่านจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ชื่อตัวเองคือ “บุญรอด” จดทะเบียนเป็น “บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” ด้วยทุน ๖ แสนบาท เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๗๖

นับแต่นั้นมาทางบริษัทฯ จึงถือเอาวันที่ ๔ สิงหาคมของทุกปีเป็นวาระเฉลิมฉลองการก่อตั้งเรื่อยมาจนวันนี้

พระยาภิรมย์ฯ เลือกใช้ตราหนุมานคาบศรเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทฯ ทั้งในความหมายแทนตัวท่านเองซึ่งเกิดปีวอก และความหมายที่ว่าหนุมานเป็นทหารเอกของพระราม หนุมานในตราบุญรอดบริวเวอรี่จึงคาบลูกศร อันเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ อันมีที่มาจากพระนาม “เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” (เดชน์แปลว่าลูกศร) ทั้งยังอาจหมายถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งออกแบบให้มีแผนผังเป็นรูปลูกศรตามพระนามาภิไธย

ส่วนที่ตั้งโรงงานนั้น แต่แรกเช่าที่ดินโรงสีเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านสามเสน ก่อนจะขอซื้อเป็นของบริษัทฯ ในเวลาต่อมา  เมื่อติดตั้งเครื่องจักรและทดลองผลิตได้เรียบร้อยจึงมีพิธีเปิดป้ายบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๗ โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จมาเป็นองค์ประธาน จากนั้นในวันรุ่งขึ้นจึงเปิดจำหน่ายเบียร์สามยี่ห้อที่ได้จากการประกวดออกแบบฉลากเบียร์ คือ ตราว่าวปักเป้าทอง ตราสิงห์ และตราพระปรางค์ ซึ่งภายหลังเหลือเพียง “ตราสิงห์” อย่างเดียว

หลังจากนั้นไม่นาน บุญรอดฯ ยังเพิ่มการผลิตน้ำโซดาและน้ำหวานที่เป็นน้ำอัดลมอีกด้วย

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร

โรงงานบุญรอดบริวเวอรี่แลเห็นประตูทางเข้าดั้งเดิม

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร
ประจวบ ภิรมย์ภักดี (แถวหน้ากลางภาพ) บรูว์มาสเตอร์คนแรกของเมืองไทย

นักปรุงเบียร์คนแรก

แม้ว่าในระยะบุกเบิก พระยาภิรมย์ฯ สามารถเสาะหาตัว “นักปรุงเบียร์” (brew master) ชาวเยอรมันเข้ามาร่วมงานกับโรงเบียร์แห่งแรกของสยามได้คนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันท่านก็ตระหนักดีว่า หากต้องการดำเนินงานต่อไปอย่างมั่นคง ย่อมไม่อาจหวังพึ่งเฉพาะแต่การ “นำเข้า” ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติไปเรื่อย ๆ ทว่าต้องมีคนในครอบครัวที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ด้วย

ประจวบ ภิรมย์ภักดี บุตรชายของท่านเจ้าคุณซึ่งขณะนั้นศึกษาอยู่ในยุโรปจึงได้รับการวางตัวให้เป็น “นักปรุงเบียร์” คนแรกของสยาม

เขาเข้าฝึกงานกับโรงเบียร์ในเยอรมนีทันทีระหว่างที่พระยาภิรมย์ฯ ยังอยู่ในยุโรปเมื่อปี ๒๔๗๕ จากนั้นในปี ๒๔๗๗ เขาจึงเข้าเรียนหลักสูตรนักปรุงเบียร์ที่สถาบันเดอเมินส์ ซึ่งก่อตั้งโดย ดร. อัลเบิร์ต เดอเมินส์ (Dr. Albert Doemens) เมื่อสำเร็จแล้วก็ยังไปฝึกงานต่อในโรงเบียร์ฮัคเกอร์ และสถานีวิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตเบียร์ต่อ จนสำเร็จการศึกษาด้านนี้ และเดินทางกลับมาเมืองไทยในปี ๒๔๗๙ ในฐานะ “บรูว์มาสเตอร์” ชาวสยามคนแรกในประวัติศาสตร์

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร

โรงงานบุญรอดบริวเวอรี่ยุคบุกเบิก

มุ่งมั่นยั่งยืน

ขณะเดียวกันเมื่อโรงเบียร์เปิดดำเนินการแล้ว พระยาภิรมย์ฯ ในวัย ๖๒ ปีก็เริ่มงานขั้นต่อไป คือการออกตระเวนเดินทางไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในยุคที่การคมนาคมนอกเมืองหลวงยังเป็น “การผจญภัย” กลางแดนทุรกันดาร  วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อหาตัวแทนจำหน่าย สร้างเครือข่าย และผลักดันผลิตภัณฑ์ของบุญรอดบริวเวอรี่เข้าสู่ตลาด เพราะท่านเจ้าคุณมองเห็นว่าตลาด “หัวเมือง” ยังมีศักยภาพของตนเองที่พร้อมจะขยายตัวต่อไป จึงพยายามหาผู้แทนจำหน่ายให้ได้ในหัวเมืองใหญ่ทุกภาคของประเทศ

เช่นเมื่อไปถึงหาดใหญ่ ปรากฏว่ามีชายหนุ่มจากปัตตานีมาขอพบ เขาได้ยินชื่อเสียงของเบียร์เจ้าคุณจึงเดินทางจากปัตตานีมาอ้อนวอนขอเป็นตัวแทนจำหน่าย พระยาภิรมย์ฯ ใจอ่อน ยอมขึ้นรถไฟลงไปปัตตานีเพื่อร่วมสำรวจตลาด ท้ายที่สุดจึงยอมแต่งตั้งให้บริษัทของชายหนุ่มผู้พากเพียรเป็นตัวแทนของบุญรอดบริวเวอรี่ในภาคใต้

แม้จนต่อมาอีกกว่า ๘๐ ปี ห้างหุ้นส่วนจำกัดปัตตานีวัฒนานิกรก็ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายของบุญรอดบริวเวอรี่มาจนถึงปัจจุบัน

กุญแจสำคัญอีกประการหนึ่งในการทำธุรกิจของพระยาภิรมย์ภักดีคือการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวและรักษาขวัญและกำลังใจ ตลอดจนความสามัคคีในหมู่พนักงาน เช่นการจัดอาหารกลางวันให้พนักงาน โดยร่วมรับประทานกับครอบครัวและพนักงานด้วย

เมื่อถึงต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ บุญรอดบริวเวอรี่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์ในประเทศได้กว่าร้อยละ ๖๐ เป็นอันว่าธุรกิจอุตสาหกรรมของท่านเจ้าคุณที่หลายคนเคยแคลงใจได้กลายเป็น “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ของประเทศไปเรียบร้อยแล้ว

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร
“ครุฑตราตั้ง”

บททดสอบ

สยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยในปี ๒๔๘๑ จากนั้นในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๘๒ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ “ครุฑตราตั้ง” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

เดือนกันยายน ๒๔๘๓ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เปิดฉากขึ้นในยุโรป  สภาวการณ์ของสงครามทำให้วัตถุดิบในการทำเบียร์เช่นมอลต์และฮอปส์ขาดแคลน  ประจวบ ภิรมย์ภักดี พยายามทดลองแก้ปัญหาโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเช่นข้าวเจ้า ผลิตเบียร์แทนมอลต์ที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก จนสุดท้ายก็ต้องยุติไป เช่นเดียวกับการผลิตโซดาและน้ำอัดลมซึ่งขาดแคลนส่วนผสมและคาร์บอนไดออกไซด์จนต้องหยุดผลิต

รายได้หลักที่เลี้ยงบริษัทฯ ในระยะนั้นจึงมาจากการผลิตน้ำแข็งขาย

สงครามที่ลุกลามเข้าสู่เมืองไทยเมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ ในนาม “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก เครื่องบินสัมพันธมิตรเริ่มเข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดจุดยุทธศาสตร์และที่ตั้งกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย  บางช่วงถึงกับมีหน่วยทหารของญี่ปุ่นเข้ามาตั้งค่ายในพื้นที่โรงเบียร์ จนทำให้เครื่องจักรเสียหายไปบางส่วน

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเมืองไทยถือว่ายุติลงภายหลังมีพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ หลังจากนั้นบุญรอดบริวเวอรี่ก็สามารถกลับมาผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้ตามเดิมภายในเวลาไม่นานนัก

ยุคเปลี่ยนผ่าน

พระยาภิรมย์ภักดีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๙๓ ขณะมีอายุได้ ๗๗ ปี หรือ ๓๐ ปีภายหลังจากเริ่มคิดตั้งโรงเบียร์แห่งแรกของประเทศ

แนวคิดสำคัญที่ท่านทิ้งไว้ให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังก็คือการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส รวมทั้งตอบแทนสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“หากมีผู้ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ไม่ว่าเมื่อใดหรือที่ไหน เราควรที่จะต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร็วหากกระทำได้”

นอกจากนั้นพระยาภิรมย์ฯ ยังสั่งไว้อีกด้วยว่า

“สิ่งที่กฎหมายกำหนดเราต้องทำตาม และต้องจ่ายภาษีให้ครบถ้วน”

คำกล่าวเหล่านี้ได้กลายเป็นรากฐานวัฒนธรรมองค์กรของบุญรอดบริวเวอรี่ที่สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

หลังยุคของท่านเจ้าคุณเป็นช่วงเวลาของบุตรชายทั้งสามผู้เป็น “ภิรมย์ภักดี รุ่นที่ ๒” ได้แก่ ประจวบ วิทย์ และ จำนงค์ ภิรมย์ภักดี  ความร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหารได้สร้างความมั่นคงและรุ่งเรืองให้แก่บุญรอดบริวเวอรี่ สินค้าหลัก ๆ ยังคงเป็นเบียร์ น้ำหวาน และโซดาตราสิงห์ โดยเฉพาะเบียร์ ซึ่ง “สิงห์” ถือเป็นเจ้าตลาด

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร

สามพี่น้องตระกูลภิรมย์ภักดี

ปัญหามีไว้ฝ่าฟัน

หลังจาก ประจวบ ภิรมย์ภักดี ยุติบทบาทลงในปี ๒๕๓๖ บริษัทฯ จึงตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของ “ภิรมย์ภักดี รุ่นที่ ๓” หรือรุ่นลูกของประจวบ ได้แก่ ปิยะ ซึ่งเป็นบรูว์มาสเตอร์คนที่ ๒ ของครอบครัวและของประเทศ กับ สันติ ภิรมย์ภักดี

ยุคนี้หรือช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ ถือเป็นเวลาแห่งความผันผวนและความท้าทายยิ่งใหญ่สำหรับบุญรอดฯ เพราะเกิดมีบริษัทคู่แข่งขนาดใหญ่เข้ามาในตลาดเบียร์เมืองไทย ทำให้บุญรอดฯ ต้องพยายามกอบกู้สถานการณ์ รักษาศักดิ์ศรีของผู้ริเริ่มโรงเบียร์ในเมืองไทยและ “เบอร์ ๑” ในตลาดเบียร์เอาไว้ให้ได้

ซ้ำร้ายช่วงก่อนสงกรานต์ เดือนเมษายน ๒๕๓๘ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงเบียร์ปทุมธานี โรงงานเบียร์แห่งที่ ๒ ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เสียหายอย่างหนัก สินค้าที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้คิดเป็นปริมาณถึงร้อยละ ๘๐ ของสินค้าในเครือทั้งหมด  และการฟื้นฟูโรงเบียร์ปทุมธานีแทบจะเป็นการนับหนึ่งเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

แต่ในภาวะเช่นนั้นก็ยังมีโอกาส  เหตุไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณสำคัญในการเรียกร้องความร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน “ผมเรียกรวมพลพนักงานและถามว่ายังเชื่อในบริษัทอยู่หรือเปล่า ?” สันติ ภิรมย์ภักดี เล่า

“ทุกคนตะโกนตอบพร้อมกันว่า เชื่อ !”

ขณะเดียวกันบรรดาบริษัทผลิตเครื่องจักรในเยอรมนีซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุญรอดบริวเวอรี่มาหลายชั่วอายุคน ต่างเต็มอกเต็มใจช่วยเหลือ “เพื่อนเก่า” อย่างดียิ่ง บางแห่งถึงกับนำเครื่องจักรที่มีอยู่มาดัดแปลงให้ แล้วรีบเช่าเหมาลำเครื่องบินขนส่ง นำเครื่องจักรและวิศวกรมาช่วยกันติดตั้ง เพื่อให้โรงเบียร์ของบุญรอดฯ กลับมาทำการผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง

วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ในปี ๒๕๔๐ ยิ่งซ้ำเติมฐานะทางการเงินของบริษัทมากขึ้นไปอีกเพราะทำให้หนี้ต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง “ชั่วข้ามคืน”

นับแต่เมื่อพระยาภิรมย์ภักดีบุกเบิกโรงงานเบียร์แห่งแรกของสยามท่ามกลางสารพันปัญหา ความ “ไม่ยอมแพ้” กลายเป็นอุดมคติสำคัญที่ทุกคนในบริษัทยึดมั่น เช่นเดียวกับคุณธรรมความซื่อสัตย์ที่พระยาภิรมย์ฯ เน้นย้ำเสมอ  ดังนั้นเมื่อมีคุณธรรมเป็นกระดูกสันหลัง มีอุดมคติเป็นแรงผลักดัน ผนวกด้วยความมุ่งมั่นฟันฝ่าและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารรุ่นใหม่ ร่วมกับการทำงานหนักและทุ่มเทของทั้งพนักงานและคู่ค้า ในที่สุดบุญรอดฯ ก็ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเหล่านั้นมาได้

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร

การช่วยเหลือสังคมเช่นกิจกรรมของ “สิงห์อาสา” ในระหว่างน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ถือเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของบริษัทฯ ที่สืบทอดมาจากพระยาภิรมย์ภักดี

มองไปข้างหน้า

บุญรอดบริวเวอรี่ฉลองครบรอบ ๘๐ ปีในปี ๒๕๕๖ ขณะนั้นบริษัทฯ ได้กลับมาผงาดในฐานะผู้ผลิตเบียร์อันดับ ๑ ของประเทศอีกครั้ง “ภิรมย์ภักดี” รุ่นที่ ๔ และรุ่นที่ ๕ ต่างทยอยก้าวออกมาอยู่แถวหน้า ร่วมกันผลักดันขับเคลื่อน “ธุรกิจครอบครัว” ให้ก้าวสู่โลกยุคใหม่

กิจการที่เริ่มต้นจากความฝันใฝ่ของท่านเจ้าคุณเมื่ออายุเกือบ ๖๐ ปี เติบโตขยายตัวไปอย่างมหาศาล จนกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ บุญรอดบริวเวอรี่กลายเป็นบริษัทโฮลดิง โดยการจัดตั้ง สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ให้เป็นบริษัทที่ดูแลงานบริหารประจำวันของกว่า ๑๐๐ บริษัทในเครือ

มาถึงวันนี้สินค้าดั้งเดิมอย่างเบียร์และโซดาอาจมิได้เป็นรายได้หลักของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น อีกต่อไป เพราะยังมีผลิตภัณฑ์อีกสารพัด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว กีฬา อาหาร ซอสปรุงรส ธุรกิจบันเทิง โรงไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการคอนโดมิเนียมย่านอโศกของบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) จนถึงธุรกิจใหม่เอี่ยมสำหรับโลกในวันพรุ่งนี้ เช่น โลจิสติกส์ สตาร์ตอัป

ที่ดินของบริษัทฯ ในจังหวัดเชียงรายที่เคยเป็นแปลงข้าวบาร์เลย์มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ได้รับการพัฒนาต่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในชื่อใหม่ว่า สิงห์ปาร์ค เชียงราย นับแต่เปิดอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๕๖ ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะเทศกาลบอลลูนนานาชาติ ซึ่งกำลังเติบโตเป็นงานใหญ่ระดับภูมิภาค ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ ๔ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีบอลลูนจาก ๓๖ ประเทศเข้าร่วม

ส่วนบรรดา “เอเจนต์” หรือตัวแทนจำหน่ายที่ร่วมงานกันมา  ทางบุญรอดฯ ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียมิได้  งาน “ร้อยดวงใจสายใยสิงห์” ซึ่งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๖ แล้ว ก็เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองและการแสดงความขอบคุณ

จากยุคของพระยาภิรมย์ภักดีจนถึงปัจจุบัน ตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศก็ยังคงเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดสนิทสนม

สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผลิตอะไร

สรวิช ภิรมย์ภักดี กรรมการ บริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด

พิพิธภัณฑ์สิงห์

ปี ๒๕๖๑ อันเป็นวาระ ๘๕ ปีนับแต่แรกก่อตั้งในปี ๒๔๗๖ ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในงานด้านวัฒนธรรมของสิงห์ เพราะเป็นการเริ่มต้นของบริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด บริษัทน้องใหม่ในเครือที่มาพร้อมกับภารกิจแห่งประวัติศาสตร์

สรวิช ภิรมย์ภักดี ทายาทรุ่นที่ ๔ ของบุญรอดฯ นักสะสมผู้สนใจใฝ่รู้เรื่องราวของอดีต ในฐานะผู้บริหารพิพิธภัณฑ์สิงห์ เล่าให้เราฟังว่ากิจกรรมที่ผ่านมามีทั้งการจัดทำนิตยสาร Singha Magazine นิตยสารภายในราย ๓ เดือน การเรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือแนวประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัท เช่น ระลึกถึงคุณปู่ วิทย์ ภิรมย์ภักดี, ตำนานท่านเจ้าคุณ, The Singha Story, สิงห์ปกรณัม และเล่มล่าสุดคือ ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า รวมถึงการฟื้นฟูอนุรักษ์โรงงานที่สามเสนในนาม “พิพิธภัณฑ์สิงห์”

“โรงงานสามเสนหยุดผลิตเบียร์ไปตั้งแต่ ๒๕๔๓ เพราะว่าตอนนั้นกรุงเทพฯ ขยายออกมาแล้ว เขาไม่อยากให้มีโรงงานใหญ่ ๆ  ทีนี้พอโรงงานเดิมหยุดผลิตไปก็ไม่มีใครทำอะไรเลย ผมเดินผ่านทุกวัน เห็นคนเริ่มเอาของมาสุม ฝุ่นเกาะ กระจกแตก ก็เลยเสียดาย ก็ไปเรียนผู้ใหญ่ว่าขออนุญาตปรับปรุงหน่อย ทุกท่านก็ยินดีอยู่แล้ว

“ถ้าเดินในพิพิธภัณฑ์สิงห์ ทุกอย่างคือของเดิมทั้งหมด  สิ่งที่จะมาแสดงคือสร้างขึ้นใหม่ เอามาวางเท่านั้น ทุกอย่างถอดได้หมดโดยไม่มีผลกระทบกับอาคาร ตอนนี้ทำเสร็จมา ๒ ปีแล้ว คนก็เริ่มเห็นความสำคัญ อย่างฝ่ายบุคคลรับคนใหม่เข้ามาก็จะพามาที่นี่แล้วก็เล่าเรื่องให้ฟังเลย พนักงานใหม่ก็จะซึมซับประวัติศาสตร์ไปในตัว แขกต่างประเทศหรือคู่ค้าของเราที่มา เดี๋ยวนี้ก็จะพามาที่นี่ เพื่อจะได้รู้ว่าบริษัทฯ เราเป็นมาอย่างไร ก็เลยกลายเป็นเหมือนที่รับแขกแห่งใหม่ของบริษัทฯ”
ทายาทรุ่นที่ ๔ คนนี้ยังอธิบายให้ฟังด้วยว่า จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของบริษัทฯ มา สิ่งสำคัญที่ทำให้บุญรอดฯ เป็น “ธุรกิจครอบครัว” ของไทยที่อยู่ยืนยาวมาได้เกือบศตวรรษก็คือ

“ผมคิดว่าเราอยู่ได้เพราะใจของคนทุกคน ครอบครัวสิงห์คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญแล้วก็อยากจะให้ทุกคนได้ความรู้สึกแบบเดียวกัน  มันก็กลับมาเรื่องเดิม ตั้งแต่สมัยพระยาภิรมย์ภักดี คนที่ทำงานกับเราเขาก็จะได้ในสิ่งที่บริษัทอื่นไม่เคยให้ เพราะว่าเราคือครอบครัว

“สมัยก่อนผมเจอคนคนหนึ่งในบริษัทฯ พ่อเขาก็เคยทำงานที่นี่ แล้วในที่สุดลูกเขาก็จะมาทำงานที่นี่อีก คือเรารู้จักกันหมด เป็นความผูกพันที่มองไม่เห็น แล้วเราก็ยังทำอย่างนั้นอยู่  แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้บริษัทฯ ใหญ่ขึ้น คนมากขึ้น การทำอย่างนั้นยากขึ้น อาจจะดูแลคนได้ไม่ทั่วถึงเหมือนเมื่อก่อน มันก็ต้องปรับ เลยเกิดเรื่องทุนการศึกษา อะไรต่ออะไรขึ้นมา