ศูนย์มะเร็งชลบุรีรักษาอะไรบ้าง

“ผู้ป่วยอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ 3-6 เดือน”

สิ้นสุดคำวินิจฉัย ราวกับขั้วหัวใจของ นนทชพร ถูกของมีคมกรีดเฉือน

คุณแม่ของ “นนทชพร” ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดลามไปถึงสมอง ขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 3-4 ล่าสุดแพทย์บอกกับเธอว่า คุณแม่ของเธอจะอยู่ได้อีกไม่เกินครึ่งปี

ขณะนั้น คุณแม่ของเธอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ทว่า ประสบการณ์จากการเข้ารับการรักษาค่อนข้างเลวร้าย โรงพยาบาลแออัด รอคิวนาน เจ้าหน้าที่พูดจาราวกับมะนาวไม่มีน้ำ การเดินทางมารับการรักษาแต่ละครั้งจึงเต็มไปด้วยความทุกข์

“แม่บอกว่าไม่อยากรักษาต่อแล้ว” นนทชพร เล่า โดยขณะนั้นเธอเชื่อว่า เป็นเพราะคุณแม่ของเธอใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ให้การรักษาฟรี

เมื่อรักษาฟรี ก็สมควรแล้วที่ได้รับการบริการอย่างตามมีตามเกิด เธอคิดเช่นนั้น

สำหรับ “นนทชพร” และแม่แล้ว การเดินทางเข้ามารักษาโรคร้ายใน กทม.ไม่ใช่เรื่องที่น่ารื่นรมย์ ด้วยครอบครัวของเธอมีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคเหนือ หากต้องเดินทางไป-กลับ คุณแม่คงแบกรับไม่ไหว

ที่สุดแล้ว “นนทชพร” ตัดสินใจย้ายคุณแม่มาอยู่ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เธอทำงานอยู่

“เราก็เทียวไปเทียวมา กทม.-ชลบุรี” เธอเล่า “และทุกครั้งที่ไปถึงโรงพยาบาล แม่ก็เอาแต่ร้องอยากกลับบ้าน เพราะไม่อยากรักษาที่นี่”

“นนทชพร” เป็นทุกข์มาก ทว่าก็ไม่มีทางอื่นให้เลือก

กระทั่งช่วงบ่ายของวันฟ้าเปิด ในระหว่างที่เธอขับรถ จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงมาจากวิทยุว่า “นโยบายยกระดับบัตรทอง โรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เริ่ม 1 มกราคม 2564”

แน่นอน เธอไม่เคยได้ยินโครงการนี้มาก่อน นั่นทำให้เมื่อถึงที่หมาย เธอรีบหาข้อมูลโดยทันที

เราอ่านข้อมูลแล้วก็เลยลองโทรเข้าที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีเลย เจ้าหน้าที่รับสายและอธิบายอีกครู่หนึ่งก็บอกว่า สามารถจองคิวพาแม่มารักษาได้ในวันพรุ่งนี้เลย

เหมือนฟ้าหลังฝน เพราะเมื่อมาถึงโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี เธอและคุณแม่พบว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนให้การต้อนรับดีมาก ไม่เหมือนฝันร้ายอย่างที่เคยพานพบมา

“เราประทับใจตั้งแต่ตอนคุยกับเจ้าหน้าในโทรศัพท์แล้ว เขาพูดทำนองว่าอยากให้แม่เราได้รักษา เขาไม่รังเกียจเราที่ใช้บัตร 30 บาท” เธอระบุ

“นนทชพร” เล่าต่อไปว่า การดำเนินการย้ายคุณแม่จากโรงพยาบาลใน กทม. มาที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีนั้น แพทย์ที่โรงพยาบาลใน กทม. แนะนำว่าเธอต้องกลับไปขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลที่บ้านเกิดของเธอในภาคเหนือมาก่อน

เมื่อได้เอกสารแล้ว จึงรีบนำใบส่งตัวนั้นมายื่นที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี

ทว่าเมื่อมาถึง พยาบาลที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีกลับบอกว่า เอกสารเหล่านี้ไม่ต้องนำมาแล้วนะ ใช้แค่บัตรประชาชนเพียงอย่างเดียวจากนั้นพยาบาลก็แนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “Cancer Anywhere” โดยข้อมูลผู้ป่วยจะถูกบันทึกอยู่บนนั้น

สรุปคือไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว ทุกอย่างเขารู้หมด สุดท้ายเราจบทุกอย่างด้วยบัตรประชาชนเพียงแค่ใบเดียว นนทชพร ระบุ

ทั้งที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่เธอและคุณแม่เคยหมดหวัง ขณะนั้นไม่รู้เลยว่าจะอดทนต่อสู้ได้อีกนานเท่าใด แต่เมื่อเข้าสู่เดือนมกราคม 2564 ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีทำให้เราได้รับบริการที่เท่าเทียมกับคนอื่น ซึ่งทำให้เรายิ้มได้ แม่บอกว่าเหมือนได้ชีวิตใหม่ ถึงเราไม่มีเงินถุงเงินถัง เราก็ยังไปต่อได้ และแม่ก็มีความสุขที่ได้รับการรักษา ไม่คิดเลยว่าบัตร 30 บาท จะทำได้ถึงขนาดนี้ เธอบอก

ขณะนี้ “นนทชพร” เข้าใจแล้วว่าบัตรทองเป็นสิ่งที่ดีมาก ส่วนการให้บริการที่ดีหรือไม่ดีนั้น เป็นเรื่องของแต่ละโรงพยาบาล ไม่ใช่เรื่องของบัตรทอง

เหนือสิ่งอื่นใด จนถึงขณะนี้คุณแม่ของเธอยังมีกำลังใจ มีความเชื่อมั่น และมีความสุขในเข้ารับการรักษาต่อไป

ชลบุรีเดินหน้านโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ยกระดับบัตรทอง พบการประสานเครือข่ายโรงพยาบาล “รัฐ-เอกชน” เปิดช่องให้ผู้ป่วยเลือกรักษา ส่งต่อโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม (Cancer Anywhere)” ของโรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ลดความแออัดของหน่วยบริการ และลดความล่าช้าในการรอคิวเข้ารับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั้น เดิมทีผู้ป่วยที่ต้องใช้รังสีรักษาในเขตสุขภาพที่ 6 มีจำนวนประมาณปีละ 3,000 ราย ขณะที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีมีเครื่องฉายแสง 3 เครื่อง โดย 1 เครื่องสามารถฉายแสงได้ทั้งหมด 600 ราย ซึ่งทั้งปีก็จะได้แค่ประมาณ 1,800 ราย ขณะที่ผู้ป่วยอีก 1,200 ราย ต้องเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)

นพ.อัครฐาน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี อาจต้องใช้เวลารอคอยการรักษาถึง 8 สัปดาห์ ทั้งที่ปกติไม่ควรเกิน 6 สัปดาห์ เป็นเหตุให้โรงพยาบาลต้องมองหาวิธีการระบายผู้ป่วยไปยังภาคเอกชน

ทั้งนี้ เมื่อมีโครงการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ได้ทำให้เกิดแนวคิดเชื่อมต่อภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือกัน มีการทำสนธิสัญญาบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับโรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร        จ.ชลบุรี และหลังจากมีการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ผลปรากฏว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยนั้นเข้ารับรังสีรักษาได้อย่างทันเวลา

“ปัจจุบันผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยหรือกำลังวินิจฉัยนั้น สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ทุกที่ในโรงพยาบาลร่วมโครงการ โดยจะมีการส่งต่อผ่านระบบ The ONE ซึ่งเป็นโปรแกรมบันทึกข้อมูล-ประวัติการรักษา จองคิวการรักษา ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว และถือเป็นมิติใหม่ของทางการแพทย์ที่ สปสช. ได้ยกระดับบัตรทองให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้ทุกที่อย่างแท้จริง” นพ.อัครฐาน กล่าว

นพ.ธนู ลอบันดิส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร จ.ชลบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลมะเร็งวิภาราม อมตะนคร มีศักยภาพในการรักษามะเร็งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา โดยได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะผู้ป่วยด้านรังสีรักษา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งระบบบัตรทองในพื้นที่

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการขยายการให้บริการจากโรงพยาบาลของรัฐมาสู่โรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับมาตรฐานชัดเจนนั้น พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจขึ้นมาก ซึ่ง สปสช.จะสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายให้

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถ้าได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้นเร็วตามลำดับ ที่ผ่านมาจะเคยเห็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเร็วแต่รักษาช้า ตรงนี้นอกจากจะกระทบต่อร่างกายแล้วยังตามมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะที่โรงพยาบาลก็มีความยากลำบากเนื่องจากมีภาระงานเพิ่มขึ้น ฉะนั้นโครงการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมจะมาเป็นที่พึ่งของผู้ป่วย และช่วยไม่ให้ผู้ป่วยต้องล้มละลายจากการรักษา

“ผมคิดว่าเป็นที่สิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามทำให้เกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับเอกชนจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีทรัพยากร ก็พยายามจะนำทรัพยากรในส่วนนี้มาใช้ นั่นเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และต่อจากนี้ไป สปสช. จะพัฒนาระบบนี้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นในกลุ่มโรคอื่น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

อนึ่ง นโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นไปตามแนวทางยกระดับบัตรทองของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเมื่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง จะสามารถเลือกเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพรักษาภายใต้การตัดสินใจร่วมกับแพทย์ โดยจะเป็นการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

ทั้งนี้ สธ. ได้จัดเตรียมระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขดสุขภาพทั้ง 13 เขต โดยปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบท ศักยภาพ และทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว