อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมีอะไรบ้าง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) จำนวน 10 คลัสเตอร์ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดเพื่อจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุน ต่อไป

2. เห็นชอบในหลักการมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นมาตรการทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนเงินทุน และมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณามาตรการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป

3. เห็นชอบในหลักการมาตรการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณามาตรการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป

4. เห็นชอบในหลักการกลไกการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณารายลเอียดของร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-curve) ได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 คือ First s-curve ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิตโดยการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา S-curve ในรูปแบบที่ 2 คือ New S-curve ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ ซึ่งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมจะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณ ร้อยละ 70 จากเป้าหมาย ส่วนอีกร้อยละ 30 จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่

1. การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

1.1 การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)

2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)

3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)

4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy)

5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

1.2 การเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)

2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)

3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)

4) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital)

5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเป็นที่สนใจของนัก ลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น

2. มาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง เป็นมาตรการทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนเงินทุน ประกอบด้วย

1) มาตรการสนับสนุนในภาพรวม

2) มาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์ยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)

3) มาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy)

4) มาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์หุ่นยนต์ (Robotics)

5) มาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์การบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558--


สวัสดีพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน
ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบทุกท่าน ณ ที่นี้ รวมถึงผู้รับชมผ่าน Live streaming ด้วยครับ
       ผมย้อนคิดเสมอถึงวันที่ผมตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 7 ปีก่อน วันนั้นประเทศไทยมีการแบ่งขั้ว สลับกันต่อต้านซึ่งกันและกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมานับ 10 ปี เป็นเหตุให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนไทยไม่มีความสุข และประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ซึ่งในวันนี้ พวกเราหลายคนอาจจะลืมกันไปแล้ว และเมื่อผมได้ตัดสินใจไปแล้ว ผมก็ได้เดินหน้าทำให้ดีที่สุด
       การมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็เข้าใจดีว่าต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย ในเวลานั้น คสช.ได้พยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าทุกคนสามารถมีเสรีภาพทางความคิด ภายใต้กรอบกฎหมายที่ผ่อนปรนกับทุกฝ่ายมากที่สุด ในช่วงเป็นรัฐบาล คสช. มีอำนาจพิเศษมากมาย แต่ผมก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม การตรวจสอบต่าง ๆ องค์กรอิสระยังคงทำหน้าที่เป็นอิสระ โดยผมจะไม่เข้าไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ใด ๆ
       วัตถุประสงค์ของการเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่นประเทศไทย ทุกคนก็ได้เห็นว่าในช่วงหลังจากนั้น รัฐบาลไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และประเทศเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยียนกว่า 40 ล้านคน ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลได้บริหารประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
       การสร้างบ้านสร้างชาติให้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ จำเป็นต้องมี Master Plan ซึ่งก็ คือ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2580 ประกอบด้วย 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้าน    การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
       ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนภาพรวมใหญ่ที่จะทำให้ทุกภาคส่วน    ในสังคมเข้าใจและเห็นภาพบ้านของเราในอนาคตเดียวกัน เดินไปสู่เป้าหมายที่ตรงกัน โดยเป็นกรอบเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ที่ทำให้การพัฒนาเกิดความต่อเนื่อง มีแผนระยะสั้น และระยะปานกลาง ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดการขับเคลื่อนประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์ชาติ

         เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 ผมได้มีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผมและคณะรัฐมนตรีทุกคน ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาประเทศ ให้กับหน่วยงานของรัฐ ทุกภาคส่วน ให้ปฏิบัติตาม โดยจะมีการวัดผลและทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ ตามสถานการณ์และความจำเป็นของประเทศ ในช่วงเวลานั้น แม้หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ประเทศไทยก็ยังเติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งในระหว่างนั้น รัฐบาลก็ได้พยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเดิม พร้อมทั้งมุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถ โดยสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต เพื่อให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป         
       รัฐบาลนี้ ได้สานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ รวมทั้งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ และมีความได้เปรียบ โดยนำมาประยุกต์-ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม (First S-curve)  ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร
       และการ “ต่อยอด” 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์  เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การป้องกันประเทศ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
       โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โครงการโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ได้รับการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อเป็นประตูสำคัญ ที่เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก / นอกจากนี้ มีการพัฒนา “เมืองแห่งนวัตกรรม” หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเมืองไทย และ “เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม” หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ โดย EEC จะเป็นโมเดลความสำเร็จสำหรับการดึงดูดการลงทุน และกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาไว้ในแต่ละภาคไว้ด้วยแล้ว

         ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนจริง ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐ ในช่วงปี 2558 – 2562 ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ทุกทิศทาง ได้แก่
          ทางถนน : ปี 2557 มี 4,271 กิโลเมตร ปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตร
          มอเตอร์เวย์ : สร้างเพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญ บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด       
           ทางราง : ปี 2557 ระยะทาง 4,073 กิโลเมตร ครอบคลุม 47 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นทางเดี่ยว มีทางคู่-ทางสาม 357 กิโลเมตร ปัจจุบันมีแผนสร้างเพิ่ม ระยะเวลา 20 ปี จะมีระยะทาง 8,900 กิโลเมตร ครอบคลุม 62 จังหวัด เป็นทางคู่-ทางสาม 5,640 กิโลเมตร สถานีกลางบางซื่อ เป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุด ในอาเซียน เชื่อมรถไฟทางไกล – รถไฟความเร็วสูง – รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ – รถไฟชานเมือง – สถานี บขส. และสนามบิน รถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
          ทางน้ำ : เพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณการขนส่งทางน้ำ จากเดิมปี 2557 ประมาณ 279 ล้านตัน           ปี 2564 เพิ่มเป็น 355 ล้านตัน โดยพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเดินเรือเฟอร์รี่ “พัทยา-หัวหิน” ใช้เวลา 2 ชั่วโมง  เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปีละ 4,000 ล้านบาท
          ทางอากาศ : ปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 57 รองรับ 118 ล้านคน ปี 64 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน

          โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วขึ้นมาก โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเตอร์เน็ตบ้านของไทย ที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที (Mbps) ถือว่าแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก
       รัฐบาลได้ดำเนินโครงการเน็ตหมู่บ้าน 74,987 หมู่บ้าน ทั้งประเทศเข้าถึงบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม เป็นโครงการที่ได้รับรางวัล The Winner ในงาน World Summit on the Information Society (WSIS) Prizes 2019 ซึ่งจัดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)
      นอกจากนี้ ยังมีโครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่จะช่วยเสริมบทบาทของไทยเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน” ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ เชื่อมต่อจีน - อินเดีย - อาเซียน มีประชากรรวมกันกว่า 3,300 ล้านคน หรือเกือบ “ครึ่งโลก”
       รัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่ (Transform) รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ โดยได้บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ พัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID  พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการภาคเอกชนและประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ และเข้าถึงง่าย ซึ่งได้ทำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัล อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการพัฒนาระบบ “พร้อมเพย์” เพื่อสนับสนุนการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที (ปี 2558) ยกระดับระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการออกใบอนุญาต (ปี 2559) พัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ (ปี 2563)
       การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเตรียม “น้ำต้นทุน” สำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนน้ำอุปโภค-บริโภค สำหรับทุกครัวเรือน อย่างทั่วถึง
       โดยเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ภายใต้แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ และโครงการสำคัญๆ พัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำ ในรูปแบบ One Map ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai Water ตัวอย่างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่รัฐบาล ขับเคลื่อนและดำเนินการ ในแต่ละภาค ได้แก่

ภาคเหนือ

อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา  เริ่มโครงการฯ ปี 2559 จะแล้วเสร็จปี 2568 มีความจุ 91 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 25,000 ไร่

ภาคกลาง

โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มโครงการฯ ปี 2560 จะแล้วเสร็จปี 2569 ช่วยระบายน้ำได้ 1,025 ลบ.ม/วินาที เพิ่มการเก็บกักน้ำได้ 31 ล้าน ลบ.ม. บรรเทาพื้นที่น้ำท่วมได้ 4,900 ไร่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย เริ่มโครงการฯ ปี 2561 จะแล้วเสร็จปี 2569 เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ 150 ลบ.ม/วินาที ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตจังหวัดอุดรธานีและหนองคายได้ 54,390 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำ 246 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 300,195 ไร่

ภาคตะวันออก

โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ “เขื่อนห้วยโสมง” จ.ปราจีนบุรี เริ่มโครงการฯ ปี 2553 ขณะนี้ได้เปิดใช้งานแล้ว ความจุ 295 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่

ภาคใต้

โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา เริ่มโครงการฯ ปี 2558 จะเปิดใช้งานปี 2565 นี้ เป็นการปรับปรุงคลองเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพ การระบายน้ำ จากเดิม 456 ลบ.ม/วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที พร้อมสถานี สูบน้ำ 90 ลบ.ม/วินาที
          และโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่

กรุงเทพมหานคร

ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ บริเวณถนนรัชดาภิเษก ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 6.4 กม. สร้างแล้วเสร็จปี 2563 ระบายน้ำได้ 60 ลบ.ม./วินาที ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร 8 เขต ประกอบด้วยเขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต
          ผลลัพธ์ที่ได้รับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เพิ่มการกักเก็บน้ำรวม 1,452 ล้าน ลบ.ม.  พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 124 ล้าน ลบ.ม. ลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงอย่างต่อเนื่อง จาก 36,944 หมู่บ้าน ในปี 2556 และในปี 2564/65 ไม่มีประกาศภัยแล้ง

         การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย “การศึกษา” ระดับอาชีวศึกษา เน้นเรียนจบมีงานทำ โดยการจัดการศึกษารูปแบบ “ทวิศึกษา” คือ เรียนทฤษฎีจากโรงเรียน แล้วปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ เพื่อผลิตแรงงานมีทักษะฝีมือป้อนตลาดแรงงานที่ตรงกับความต้องการพัฒนาประเทศ เช่น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น สำหรับระดับอุดมศึกษา มีการปฏิรูปการอุดมศึกษาครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยหลักการสำคัญ คือ การขับเคลื่อนทั้งสถานศึกษาและสถาบันวิจัยพัฒนา ในการสร้างคน-สร้างนวัตกรรม ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน นับตั้งแต่ปี 2562 ได้วางแนวทางส่งเสริมการศึกษาแบบ Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น (1) การลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบัน ไร้ข้อจำกัดเรื่องสถาบัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนการสอน (2) ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) เกษียณก็เรียนได้ ต่อยอดวุฒิการศึกษา-วิทยาการใหม่ๆ ได้ทุกช่วงวัย สะสมหน่วยกิตการันตีความรู้ เลือกเรียนตามความสนใจ หรือเสริมทักษะแบบ “สหวิทยาการ” อ่อนตัวเรื่องเวลาและวิธีการเรียน ทั้ง Online และ Onsite (3) ยกเลิกกรอบเวลาสูงสุดของหลักสูตร ไม่มีรีไทร์เพราะเรียนเกิน (4) การจัดทำหลักสูตร Higher Education Sandbox โดยจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ดูแลตั้งแต่ “ต้นทาง--สถาบันการศึกษา” ไปจนถึง “ปลายทาง--ตลาดแรงงาน” ให้เป็นห่วงโซ่เดียวกัน 
      นอกจากนี้ ยังมีการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงเสริมในการขับเคลื่อน EEC และเสริมทัพการศึกษายุคใหม่ ผลิตคนยุคใหม่ เตรียมพร้อมสำหรับโลกปัจจุบัน และอนาคต เช่น (1) มหาวิทยาลัยอมตะ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เปิดหลักสูตรสาขาวิศวกรรม Intelligent Manufacturing System (2) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จากสหรัฐฯ เปิดสอนหลักสูตรสารสนเทศและวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

                           การเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤติโลกที่เราไม่ได้ก่อ และเป็นมหาวิกฤติครั้งที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทย เราถูกประเมินว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในระดับต้นๆ ของโลก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 20 ของ GDP การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหยุดเดินทาง และเครื่องจักรการท่องเที่ยวไม่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เหมือนก่อน
       เมื่อมองย้อนกลับไป 2 ปี วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นี้ นับเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะเราสู้อยู่กับศัตรูที่มองไม่เห็น ไม่มีอาวุธใดจะปราบได้ โดยในช่วงเริ่มการระบาด ทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน เพื่อตั้งหลัก ประคับประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจ การต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ไม่มีอะไรที่แน่นอน จึงได้สร้างมาตรฐานการต่อสู้ใหม่ในหลายระลอก มีวัคซีนก็ต้องแบ่งปัน กระจายการฉีดอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ นโยบายต่างๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุลทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยก็ได้นำร่องเปิดประเทศในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และได้เปิดประเทศจริงจังเมื่อ 1 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ไปปฏิบัติ ทั้งนี้ แม้เปิดประเทศแล้ว เราก็ยังจำเป็นต้องระมัดระวัง ยังต้องตระเตรียมความพร้อม ทั้งวัคซีนและยารักษาไว้อย่างเพียงพอ เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดยังไม่จบสิ้น ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม.และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับ และชื่นชมประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุด เป็นลำดับต้นๆ ของโลก เมื่อมองในแง่บวกแล้ว แม้โควิดจะเป็นวิกฤตโลก แต่ก็เป็นโอกาสของไทยในหลายๆ ด้าน เช่น (1) ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพระบบสาธารณสุขไทย ทั้งการรักษา การให้บริการ การรับมือ       โรคอุบัติใหม่และภาวะฉุกเฉิน (2) ยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ตั้งแต่บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ทีมหมอครอบครัว อสม. รวมถึงขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงได้เองหลายชนิดในประเทศ และ (3) ส่งเสริมบทบาทการเป็น “ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุข” (Medical and Wellness Hub) ของโลก โดยไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของ “ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่” (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) ซึ่งจะเปิดทำการในเดือนสิงหาคมนี้ ยิ่งกว่านั้น ยังส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างเต็มที่ หลังวิกฤตโควิดอีกด้วย

         อย่างที่ทุกท่านทราบดี เมื่อเร็วๆ นี้ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 โดยโลกแบ่งเป็นสองขั้ว ทรัพยากรที่เคยสมดุลต้องขาดแคลน มีผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น สร้างความหวาดกลัวว่าสงครามจะยืดเยื้อ สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้ คือ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤติพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียง รัฐบาลจึงได้เข้ามาดูแลประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น ล่าสุดรัฐบาลก็ได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เพิ่มอายุผู้ประกันตนให้ถึง 65 ปี แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกันตน โดยสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนครบกำหนดอายุ 55 ปีบริบูรณ์ มี 3 แนวทาง หรือ

“3 ขอ”

(1) ขอเลือก คือ จะรับเงินเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญ ก็ได้ตามสมัครใจ (2) ขอคืน คือ ขอใช้เงินบางส่วนก่อนกำหนด เพราะมีเหตุจำเป็น (3) ขอกู้ คือ ใช้เงินสะสมเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ และเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมอีก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

      รัฐบาลตระหนักว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีความไม่แน่นอน และอาจยืดเยื้อ โดยรัฐบาลจะติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง และพร้อมที่จะปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับประเทศชาติ และประชาชน ในระยะต่อไป
       เรื่องสำคัญอีกเรื่อง ผมได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้ ได้ปลดล็อคเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. โดยจะช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของนักเรียนได้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ จะได้รับการผ่อนปรนลดภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้รายละเอียดจะอยู่ในหนังสือ “แก้หนี้ครบ จบในเล่มเดียว” ที่นำมาแจกประชาชน-ผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ด้วย
       นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้ง 8 ประเด็นข้างต้นแล้ว ความยากจนของแต่ละคน แต่ละบ้าน มีที่มาจากปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำอยู่ในตอนนี้ คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ซึ่งจะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจน ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัว มีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือน ให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ  เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงก็จะมีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป ตามแต่ละครอบครัว ทั้ง “5 มิติ พร้อมๆ กัน” โดยมิติสุขภาพ (ตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง) มิติความเป็นอยู่ (ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย) มิติการศึกษา (เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้รับความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง “ทุกช่วงวัย”) มิติด้านรายได้ (การจัดสรรที่ดินทำกิน ฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะแรงงาน มีรายได้เสริม แก้หนี้นอกระบบ วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่) มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ (กลุ่มเปราะบาง-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้ป่วยติดเตียง ต้องได้รับสิทธิ์ไม่ตกหล่น) เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาความยากจน อย่างเป็นระบบ แบบพุ่งเป้ารายครอบครัว โดยการแก้ปัญหาความยากจนนั้น เมื่อเราสร้างกลไกการทำงาน กลไกความร่วมมือในทุกระดับได้แล้ว ทุกอย่างก็จะทยอยดีขึ้น ไม่ใช่ว่าคนจนจะหมดไปในปีนี้ หรือในทันทีได้ มันต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือด้วยกัน

            ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะเจอกับเรื่องวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะจากโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยกทางความคิดมากมายแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลของผมก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โครงการ EEC การศึกษา เป็นต้น
           ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ประเทศไทยเองต้องมี  การลงทุน และเตรียมความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่
          เรื่องที่ 1 เทคโนโลยีดิจิทัล  
          ในช่วงวิกฤตโควิด–19 ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น อย่างก้าวกระโดด ทั้งการทำธุรกรรมและการให้บริการรูปแบบต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจน การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) การค้า e-Commerce และการใช้ Digital Banking ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการที่รัฐบาลได้มีการวางรากฐาน “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น และจากแนวคิด National e-Payment ส่งเสริมให้เกิด “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) รัฐบาลได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่างๆ จนประสบผลสำเร็จ ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในขณะนี้ ได้แก่ (1) โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคาร ผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านราย และกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ สำหรับ ซื้อขายสินค้าจากร้านธงฟ้า (กว่า 20,000 แห่ง) หรือร้านค้าที่ร่วมโครงการ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ (2) โครงการ “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment ที่เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์แบบ Any ID ที่เชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถต่อยอดไปสู่ระบบภาษีและการบริจาค e-Donation สำหรับขอลดหย่อนภาษีได้ (3) Government Wallet (G-Wallet) ถุงเงิน application สำหรับ SME ขนาดเล็ก คือการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้เข้าร่วมโครงการผ่าน แอป “เป๋าตัง” กว่า 50 ล้านคน และร้านค้า–SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่าน แอป “ถุงเงิน” ในโครงการคนละครึ่ง – เราเที่ยวด้วยกัน – ชิม    ช้อปใช้ เป็นต้น (4) การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับการคืนภาษี VAT ให้กับนักท่องเที่ยว และการออกพันธบัตรรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับระบบภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งภาษี   
       ยิ่งกว่านั้น ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการลงทะเบียนด้วยระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการ Prompt pay และ QR Payment รวมทั้งโครงการ G-Wallet และแอปถุงเงิน สามารถนำมาต่อยอดได้ ในอีกหลายๆ เรื่อง เช่น  Digital Health Platform ที่เชื่อมโยงสิทธิ์      ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช.ผ่านแอปเป๋าตัง ใช้ในการจ่ายยา – แจก ATK ณ ร้านขายยา หรือหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ
       นอกจากนี้ การวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการให้บริการคลาวด์ (Cloud services) เป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนของโลกดิจิทัล ในอนาคตด้วย โดยประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค ให้แก่บริษัทดิจิทัลต่างๆ ได้มีการหารือกับนักลงทุนระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับทราบข่าวดีเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยจากนักลงทุนระดับโลก
       สำหรับโครงข่าย 5G ที่รัฐบาลได้วางไว้ จะสามารถรองรับการพัฒนาต่อยอดในระบบอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังผลักดันให้เกิดธุรกิจแห่งอนาคตใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ SME และ Startup เกิดขึ้นตามมาอีกหลากหลายสาขา เช่น (1) ด้านสาธารณสุข ได้แก่ โครงการศิริราช Smart Hospital หรือ โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G - ระบบ Cloud และ AI Solutions เพื่อพัฒนาบริการสาธารณสุขในรูปแบบใหม่ ตั้งแต่กระบวนการพยากรณ์ความเสี่ยง การป้องกันโรคและการรักษา ทั้งการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไปจนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาล  ตลอดจนเพิ่มคุณภาพในการรักษา เพิ่มความปลอดภัย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำ ลดระยะเวลารอคอย และลดต้นทุนการรักษาพยาบาล (2) ด้านคมนาคม ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อที่เป็นต้นแบบการพัฒนาให้เป็น สถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ด้วยการใช้เทคโนโลยี 5G ในการเชื่อมต่อการเดินทางและการโดยสารทางบกในทุกรูปแบบ ยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอื่นๆ ในการช่วยเหลือนักเดินทางรวมทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมทั้งระบบการรักษาความปลอดภัยเป็นพื้นที่ การให้บริการข้อมูลการเดินทาง นำทางในสถานี ตลอดจนแนะนำสถานที่และเส้นทางการท่องเที่ยวต่างๆ โดยการสื่อสารกับหุ่นยนต์ช่วยเหลือในการเดินทาง
       ทั้งหมดนี้ จะได้นำพาสังคมไทยก้าวสู่การพัฒนาเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต

            เรื่องที่ 2 อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลก ในการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26  นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้า และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วม        ในเวทีการค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกใช้เป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ที่มีความสำคัญมากกว่าข้อตกลงทางการค้า (FTA) ในอนาคต ขณะนี้เราก็ได้เห็นแล้ว จากการที่สหภาพยุโรปประกาศเก็บภาษีคาร์บอนบางรายการ สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าใหญ่ของไทยก็จะมีการเก็บภาษีคาร์บอนในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงในการผลิต ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรม คิดค้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการ ที่สร้างผลกระทบให้โลกน้อยที่สุด ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางการค้า การส่งออก และภาคธุรกิจไทย
       ภาคพลังงาน การผลิตไฟฟ้า รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างพลังงานลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้าต่างๆ เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงขยายแนวคิดการใช้ พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
       รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ของการผลิตในปี 2573 ทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส และรถบรรทุก โดยมีแผนระยะสั้นและระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม ตลอดจนออกมาตรการสนับสนุน สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อีกด้วย
       การปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์พืชที่เหมาะกับ การดูดซับก๊าซเรือนกระจกสูงต่อพื้นที่หลายชนิด นอกจากนี้ รัฐบาลได้พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยกำหนดแนวทางและกลไก การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคเอกชน ชุมชน และท้องถิ่นก็จะมีรายได้จากการปลูกป่า/ต้นไม้ ที่เข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
       เรื่องที่ 3 นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่มุ่งเน้นการใช้ความหลากหลายของทรัพยากรที่ไทยมีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ควบคู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่ในภาคการเกษตรและอาหาร การพัฒนาต่อยอดธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูงและการแปรรูปด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบทางการเกษตร ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
       สำหรับภาคเกษตรกรรมถือเป็นเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็ง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยเป็น “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ Smart Farmer ช่วยเพิ่มผลผลิตเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดเสี่ยงจากลมฟ้าอากาศและปัจจัยการผลิตที่เป็นปัญหาซ้ำซาก เป็นทั้งทางรอด และทางรุ่งของชาวนา - ชาวสวน - ชาวไร่ โดยรัฐจะระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการดังนี้ (1) ส่งเสริมให้มีข้อมูล Big Data ภาคการเกษตร และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (2) บริหารพื้นที่เกษตรกรรมเชิงรุกด้วย Agri-map     (3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศ (4) สร้างแพลตฟอร์มสนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ เช่น ระบบการเช่า-การจัดหาผู้ว่าจ้างเครื่องจักรกลและโดรนทางการเกษตร (5) ขยายการตลาด ไปสู่ตลาดออนไลน์ โดยต่อยอดจากโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านทั่วประเทศ (6) พัฒนาเกษตรรุ่นใหม่ด้วยนวัตกรรม และการสร้าง Startup สนับสนุนภาคการเกษตร เป็นต้น
       ซึ่งวันนี้ ผมมีตัวอย่าง “เกษตรต้นแบบ” ชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ EEC สามารถทำสวนทุเรียน ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาควบคุมการปลูก ทั้งการให้น้ำ ให้ปุ๋ย เฝ้าดูการเจริญเติบโตขของทุเรียน แม้แต่ช่วยเลือกเวลาที่เหมาะสมในการรับแสงแดด ทำให้ชาวสวนทุเรียนสามารถลดต้นทุนการเพาะปลูกได้ครึ่งหนึ่งจากต้นทุนเดิม  
       การสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ ด้วยศักยภาพของภาคเอกชนไทย นับว่าเป็นผู้นำของภูมิภาคในด้านนี้ โดยได้มีการร่วมลงทุนกับผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้ และมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น การที่ประเทศไทยเป็น       ผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับต้นๆ ของโลก และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซลและเอทานอลที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้นำการแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกในอาเซียน โดยมีผู้ประกอบการหลายพันราย และเป็นผู้นำการผลิตเม็ดพลาสติก ในอาเซียนอยู่แล้ว เราจำเป็นที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมนี้มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ดี และราคาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรแข่งขันได้ เพื่อเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitiveness) ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งของอุสาหกรรมนี้ต่อไป เศรษฐกิจ BCG ยังเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อการรักษา หรือชาร์ต     แบตร่างกาย (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย และมรดกทางวัฒนธรรม” (Soft Power) “5F” คือ (1) Food-อาหาร (2) Film-ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (3) Fashion-การออกแบบแฟชั่นไทย (4) Fighting-ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (5) Festival-เทศกาลประเพณีไทย มาสร้าง “มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” จากระดับท้องถิ่นสู่เวทีระดับโลก
       ในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ รัฐบาลได้ปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ ทั้งที่อยู่ในรูปภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้เกิดการลงทุนดังกล่าว นอกจากนี้ เรื่องกำลังคนก็เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลได้วางหลักสูตรการศึกษาและพัฒนาแรงงาน การเตรียมคน สร้างคนรุ่นใหม่ โดยจะเน้นในเรื่องของสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกมาเปิดสาขาสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หลายแห่งแล้ว ดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่การพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของคนภายในประเทศ ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ ต้องใช้เวลา ดังนั้น เรื่องที่ 4 ที่ต้องดำเนินการคือ รัฐบาลได้กำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย เพื่อให้มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย และส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการในประเทศ โดยชาวต่างชาติที่มีศักยภาพนี้ คือ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง หรือเป็นผู้มีทักษะสูง เช่น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง และกลุ่มผู้เกษียณอายุ จากต่างประเทศ ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว เช่น การออกวีซ่าของผู้พำนักระยะยาว การประกาศใบอนุญาตทำงาน และการศึกษาโครงสร้างเพื่อจัดตั้ง OSS : One Stop Service ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีศักยภาพสูงให้เข้ามาในประเทศไทย  
          ยิ่งไปกว่านั้น ในทุกโอกาสที่ได้พบปะผู้นำประเทศแบบทวิภาคี หรือการประชุมสำคัญๆ แบบพหุภาคี ผมได้นำเสนอนโยบายเชิงรุก และแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ในประเด็นหลักที่เป็น “วาระของโลก”  ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน SEP for SDG – เศรษฐกิจ BCG – การลดโลกร้อน – การฟื้นฟูยุค Next Normal เป็นต้น ตามที่กล่าวมาแล้ว โดยการแลกเปลี่ยน-เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ระหว่างกัน แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง / ซึ่งไทยพร้อมที่จะเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนและเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกันที่เข้มแข็งกับ   ทุกพันธมิตร และพร้อมขยายผลการพัฒนาไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตามนโยบาย “Thailand+1” หรือ +2 +3 ตามความพร้อมของแต่ละประเทศคู่เจรจา เพราะ “เราเป็นครอบครัวเดียวกัน”  ซึ่งในปี 2565 นี้ ก็มีความคืบหน้าครั้งสำคัญๆ เช่น  (1) การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในวันประวัติศาสตร์ เมื่อ 25 ม.ค.65 หลังจากห่างหายมากว่า 30 ปี โดยเริ่มเกิดความร่วมมือในการเปิดประเทศ        เพื่อท่องเที่ยว ไปมาหาสู่กันในทุกระดับอีกครั้ง – การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร และแรงงาน – การลงทุนและร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น (2) ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดยนายกญี่ปุ่นมาเยือนไทย ช่วงวันที่ 1-2 พ.ค.65 เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือใหม่ๆ เช่น การผลักดันให้ไทยเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ในภูมิภาคและเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก - การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล และ 5G – การพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายและเพิ่มการลงทุนใน EEC เป็นต้น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากที่สุด ในปี 2564 ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท      ในปี 2565 มีการลงทุนใน EEC ราว 630 ล้านบาท / และล่าสุด (3) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ เมื่อ 12-13 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเวทีการหารือความร่วมมือ ทั้งแบบหุภาคีและทวิภาคี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในเรื่อง การส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข ทั้งการวิจัยและผลิตยา-วัคซีน ซึ่งไทยมี “ศูนย์จีโนมิกส์” ใน EEC พร้อมต่อยอดความร่วมมือ – การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์-SME-Startup ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งไทยมี Thailand Digital Valley ใน EECi – รวมทั้งการต่อต้านการประมง IUU – Soft Power – BCG และประเด็นอื่นๆ ที่เป็น    ทิศทางการพัฒนาของโลก อีกด้วย โดยสหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอันดับ 2 และเป็นแหล่งเงินทุนอันดับ 1 ของอาเซียน

  ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
       ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน รัฐบาลเข้าใจในความขุ่นเคือง ไม่พอใจของประชาชน กับวิกฤติที่ยืดเยื้อติดต่อกันกว่า 2 ปี และมีวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นอีก รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยเร็ว แต่วิกฤติเหล่านี้เป็นวิกฤติโลก เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ก่อ หรือจะทำให้จบด้วยตัวเราเองได้ สิ่งที่รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ คือ ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤติที่ยืดเยื้อได้ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับ คนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน ดังที่ผมได้กล่าวมาให้ท่านรับทราบ
       ในการเสวนาครั้งนี้ จะมีคำตอบในสิ่งเหล่านี้ จากรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤติ  ไม่ว่ารัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจ ก็ขอให้เข้าใจ เห็นความจริงใจ “ทุกคน” มุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือ ร่วมใจกัน ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้ง หรือบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง...เพราะนี้ คือ “ประเทศไทยของเรา” แผ่นดินนี้ ยังมีสิ่งที่งดงาม และอนาคตที่ดีๆ รอพวกเรา และลูกหลานอยู่ครับ  
ขอบคุณครับ
สวัสดีครับ