เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ภาษาอังกฤษ

รายงาน “การลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน” เป็นการรวบรวมกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องการลงทุนข้ามพรมแดนของนักลงทุนไทยในภูมิภาคแม่น้ำโขง เพื่อชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการลงทุนและความบกพร่องในธรรมาภิบาลการลงทุนของนักลงทุนไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ใน 9 กรณีศึกษา (จาก 12 กรณีศึกษา) ที่มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงช่องว่างหรือข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นตัวหนุนเสริมและเอื้อให้เกิดการลงทุนที่ละเลยต่อสิทธิของชุมชนในบริเวณพื้นที่โครงการ รวมไปถึงนำเสนอข้อเสนอแนะที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์จนส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนธรรมาภิบาลการลงทุนที่เป็นสากล ก้าวหน้า และคำนึงถึงสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนในลักษณะข้ามพรมแดน (ไร้พรมแดน) ที่เป็นรูปธรรมซึ่งได้รับการบรรจุเป็นกฎระเบียบ/ข้อบังคับที่ใช้กับการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น

เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ภาษาอังกฤษ

 

หากจะกล่าวถึงการลงทุนของไทยในต่างประเทศนั้น อาจย้อนกลับไปถึงในช่วงทศวรรษ 1980 หรือราว พ.ศ. 2528 – 2532 โดยในช่วงนั้นการขยายตัวออกไปลงทุนในต่างประเทศมีอัตราการเติบโตที่สูงเนื่องจากการใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ กอปรกับการเติบโตของลัทธิเสรีนิยมใหม่ นับแต่นั้นเป็นต้นมาการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาพบว่ามูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีมูลค่าสะสมตั้งแต่ 2548-2559 รวมกันราว 2.6 แสนล้านล้านบาท[1] โดยมีการลงทุนสะสมในกลุ่มประเทศอาเซียนมากที่สุด รองลงมาคือ ฮ่องกง, หมู่เกาะเคย์แมนส์, สาธารณรัฐมอริเชียส, สหรัฐอเมริกา, หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน และอื่นๆ ตามลำดับ หากพิจารณาเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์มากที่สุด รองลงมา คือ เมียนมา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ลาว, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และบรูไน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกลุ่มประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง เมียนมา เป็นประเทศที่นักลงทุนไทยเข้าไปมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคพลังงานไฟฟ้า ขุดเจาะก๊าซ-น้ำมัน ไอน้ำ ภาคบริการทางการเงิน ภาคอุตสาหกรรมการผลิต(เช่น น้ำตาล, สิ่งทอ) ธุรกรรมการกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ สินเชื่อการค้า ภาคการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน และผลิตภัณฑ์คอนกรีต โดยสาเหตุสำคัญในการเข้าไปลงทุนต่างประเทศ คือ 1) เพื่อแสวงหาตลาดใหม่หรือรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมในประเทศที่มีขนาดใหญ่ หรือมีแนวโน้มการเติบโตสูง 2) เพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก 3) เพื่อประสิทธิภาพการผลิตและหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และ4) เพื่อกระจายความเสี่ยงในธุรกิจ

 

การสนับสนุนจากภาครัฐ

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้กลุ่มทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านนั้นอาจเกิดจากปัจจัยภาคการผลิต เช่น ค่าแรงที่สูงขึ้น วัตถุดิบภายในไม่เพียงพอต่อการผลิตและมีต้นทุนสูง ไปจนถึงการขยายตัวของขบวนการเคลื่อนไหวที่เติบโตขึ้นอย่างการเรียกร้องสวัสดิการและค่าแรงของแรงงาน และการรวมตัวประท้วงการตักตวงทรัพยากรของรัฐและนายทุนของชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากปัจจัยดังกล่าว รัฐเองก็ทำหน้าที่สนับสนุนผ่านกลไกและนโยบายต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เช่น การสนับสนุนผ่านการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (EXIMBank) กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ในด้านกฎหมายและนโยบาย เช่น การทำความตกลงการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่าง ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม เป็นต้น นอกจากนี้ปัจจัยดึงดูดที่ทำให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ นั้นเกิดจากการใช้นโยบายสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของตนโดยเป็นการหวังพึ่งพิงการเข้ามาลงทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างชาติ อาทิเช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 20 ปี กฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ปี 2555 กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมา ยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตและขจัดความยากจนแห่งชาติ ยุทธศาสตร์แบตเตอรี่แห่งเอเชีย กฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติของลาว และยุทธศาสตร์ลดความยากจนแห่งชาติของกัมพูชา เป็นต้น

 

การตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

การเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคแม่น้ำโขงหลายโครงการได้สร้างผลกระทบต่าง ๆ ต่อชุมชนส่งผลให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ รวมตัวกันยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้มีโครงการที่ได้รับการร้องเรียนแล้วจำนวน 9 โครงการ โดยโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และโครงการสัมปทานที่ดินเพื่อการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาล จังหวัดโอดอร์เมียนเจย เป็นโครงการที่ได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559[2] และ 2 พฤษภาคม 2560[3] ที่มีการระบุให้มีการจัดตั้งกลไกหรือกำหนดภารกิจการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยให้เคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนโดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (การปฏิบัติตามกรอบการคุ้มครอง เคารพ เยียวยา) มาเป็นกรอบในการดำเนินการของการลงทุนในต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด อนึ่ง โครงการที่ได้รับการร้องเรียนและมีการตรวจสอบไปแล้วทั้ง 9 โครงการ นั้นมีโครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศเมียนมา 4 โครงการ ในลาว 3 โครงการ และในกัมพูชา 2 โครงการด้วยกัน โดยมีรายละเอียดรายโครงการดังนี้

โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี: เป็นเขื่อนแบบ run-off-river กั้นแม่น้ำสาละวินบริเวณเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปบริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำสาละวิน ประมาณ 47 กิโลเมตร  มีระดับเก็บกักปกติที่ 48 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำเหนือเขื่อนได้ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเขื่อนมีความสูง 115 เมตร และกว้าง 1,127.20 เมตร มีกำลังการผลิตติดตั้ง ขนาด 1,360 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปีได้ 7,325 ล้านหน่วย โดยจะขายไฟฟ้าให้ไทยซึ่งรับซื้อโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นจำนวน 1,190 เมกะวัตต์ ที่เหลือใช้ในประเทศเมียนมา โดยลำเลียงกระแสไฟฟ้าผ่านสายส่งกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนฮัตจีมายังชายแดนไทยทางด้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร และจากจุดดังกล่าวเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ณ สถานีไฟฟ้าแรงสูงพิษณุโลก 3 ในระยะทาง 300 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท มีการคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี 3 เดือน[4] โดยมีบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชันแนล จำกัด จากไทยและบริษัท Sino-hydro Corporation Limited เป็นผู้ดำเนินโครงการร่วมกับการไฟฟ้าพลังน้ำเมียนมาและบริษัท International Group of Entrepreneur Co, Ltd.ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 36.5%, 50.5%, 10% และ 3% ตามลำดับ[5]   

โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย: ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายไปทางตันตกเฉียงเหนือราว 25 กิโลเมตร ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยโครงการมีพื้นที่ 196 ตร. กม. ราว 10 เท่า ของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 3 แสนล้านบาท ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมทุกประเภท เช่น ปิโตรเคมี โรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึก เส้นทางเชื่อมโยงมายังประเทศไทย (ได้แก่ ถนน รถไฟ ท่อส่งน้ำมัน สายไฟฟ้าแรงสูง) และอ่างเก็บน้ำ[6] โดยคาดการณ์ว่าจะมีการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากทั่วโลก โดยมีผู้พัฒนาโครงการในช่วงปี 2553 – 2556 คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันบริษัทฯ ถูกเปลี่ยนสถานะจากการเป็นผู้พัฒนาทั้งโครงการ กลายมาเป็นผู้พัฒนาในระยะแรก ส่วนระยะสมบูรณ์และตลอดโครงการทางรัฐบาลไทย – เมียนมา – ญี่ปุ่น มีหน้าที่พัฒนาร่วมกัน ดังนั้นโครงการจึงถูกยกสถานะเป็นการพัฒนาระหว่างรัฐกับรัฐ

โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา: เหมืองแร่ดีบุกขนาดใหญ่และมีอายุเก่าแก่ที่สุด ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำตะนาวศรีตอนบน ตำบลเฮงดา เมืองมยิตตา (Myitta) จังหวัดทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางภาคใต้ของประเทศเมียนมา มีพื้นที่สัมปทานราว 5,000 ไร่ หรือ 2,097 เอเคอร์[7] ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้านเมียวพิว ห่างเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น เหมืองแห่งนี้เปิดดำเนินการมากว่า 70 ปี นับแต่ยุคอาณานิคม แต่ในปี 2542 บริษัท เมียนมา พงษ์พิพัทธ์ ได้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินโครงการได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา โดยร่วมกับกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับที่ 2 (Number 2 Enterprise) ซึ่งมีการแบ่งผลประโยชน์กันในสัดส่วน 35% สำหรับ Number 2 Enterprise และ 65% สำหรับบริษัท เมียนมา พงษ์พิพัทธ์[8]

โครงการเหมืองถ่านหินบานชอง: เหมืองบานชอง เป็นเหมืองถ่านหินที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณแม่น้ำบาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำตะนาวศรี ประเทศเมียนมา โดยตั้งอยู่ในเขตบานชอง บริเวณหมู่บ้านกะตอว์นี เริ่มดำเนินการในปี 2555 หลังจากที่มีการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งในพื้นที่นี้ คือ กลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง ในนามสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) บริษัทที่ได้รับสัมปทานในขั้นต้น คือ บริษัท May Flower Enterprise Co, ltd. โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาให้เข้าดำเนินการประกอบกิจการเหมืองถ่านหิน[9] ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 บริษัท อีสต์ สตาร์ ได้รับสัมปทานและได้รับอนุญาตจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ภายใต้อายุสัมปทาน 25 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2579 ต่อมาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ลงนามกับบริษัท อีสต์ สตาร์ เพื่อร่วมดำเนินกิจการเหมืองถ่านหินบานชองด้วย ซึ่งบริษัท อีสต์ สตาร์ นั้นเป็นผู้ได้รับพื้นที่สัมปทาน 504.8 เอเคอร์ หรือประมาณ 1262 ไร่ โดยในส่วนของการขุดทำเหมืองและจำหน่ายถ่านหินนั้นมีผู้ดำเนินการ คือ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ และยังได้ระบุอีกว่าบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับประกอบการเหมืองถ่านหินนี้ด้วย โดยมีการแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์กันดังนี้ คือ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จะได้ส่วนแบ่ง 70% ในขณะที่บริษัท อีสต์ สตาร์ จะได้ส่วนแบ่งที่ 30%[10]

โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี: ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 1,931 นับจากปากแม่น้ำโขง ในพื้นที่แขวงไซยะบุรี โดยผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (Xayaburi Power Company Limited: XPCL) มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 7,370 ล้านหน่วย[11]  โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย-ลาว จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 31 ปี มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.15 แสนล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี โดยเริ่มก่อสร้างแล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 และจะเริ่มดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2562

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาลิกไนต์: ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ โครงการเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา ของแขวงไซยะบุรี ห่างจากจังหวัดน่านประมาณ 30 กิโลเมตร โดยโรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใช้ความร้อน ผลิตไฟฟ้าโดยการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำ สูบน้ำจากเขื่อนน้ำแก่นมาใช้ในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้า[12]  และส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงลิกไนต์ที่ได้จากการเผาถ่านหินความร้อนต่ำ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,878 เมกะวัตต์ โดยบริษัทหงสาพาวเวอร์ (HPC) ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 1,743 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 และส่วนระบบโครงข่ายไฟฟ้า[13]  เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ผ่านท้องที่ 3 จังหวัด คือ น่าน แพร่ และลำปาง

โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบ่ง :โครงการประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจรแบบยกขึ้นลงทำให้เรือขนาด 500 ตัน และทางปลาผ่าน ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละฤดูกาล โดยโครงการนี้เป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566 โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป (EGCO)  ถือหุ้น 30%[14]

โครงการสัมปทานที่ดินเพื่อการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลเกาะกง: ประกอบด้วยสองส่วนคือ ธุรกิจเพาะปลูกอ้อย ดำเนินการโดยบริษัทเกาะกงการเกษตร (KPT) ที่ได้สัมปทานที่ดินมาจำนวน 9,174.5 เฮกแตร์ และธุรกิจเพาะปลูกอ้อยและตั้งโรงงานน้ำตาล ขนาด 6,000 ตันอ้อยต่อวัน ดำเนินการโดยบริษัทน้ำตาลเกาะกง (KSI) ที่ได้สัมปทานมาจำนวน 9,567.2 เฮกแตร์   ซึ่งบริษัทน้ำตาลขอนแก่นฯ ถือหุ้นร้อยละ 80 ของทั้ง 2 บริษัท[15]

โครงการสัมปทานที่ดินเพื่อการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลโอดอร์เมียนเจย: สำหรับสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในกัมพูชา กำลังผลิต 10,000 ตันต่อวัน พื้นที่สัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจดั้งเดิมตามที่ยื่นขออนุมัติของทั้ง 3 บริษัทนั้น เมื่อรวมกันแล้วมีเนื้อที่มากถึง 19,736 เฮกแตร์ หรือราว 123,350 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาล โดยสัมปทานมีระยะเวลา 70 ปี ในพื้นที่ 2 อำเภอ ของจังหวัดโอดอร์เมียนเจย ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ได้แก่ อำเภอสำโรง (Samrong) และอำเภอจงกัลป์ (Chongkal)

 

ภาพรวมผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน สามารถประมวลได้เป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้

  • ผลกระทบฯ ที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการ ที่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ เช่น กรณีเขื่อนไซยะบุรีที่รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบุจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมก็ยังสูงถึง 25,676 คน แต่เป็นข้อมูลเฉพาะชุมชนในพื้นที่หัวงาน และในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเท่านั้น
  • ผลกระทบฯ ที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการ แต่ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาลิกไนต์ ที่มีชาวบ้านกว่า 2,000 คนต้องอพยพย้ายที่ไปหมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ของ บริษัท Hongsa Power Company Limited เพื่อรองรับผู้อพยพจากห่างจากตัวเมืองหงสา 8 กิโลเมตร ห่างจากโรงไฟฟ้า 12 กิโลเมตร[16] , โครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจเพื่อปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล จังหวัดเกาะกง ที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า มีชาวบ้านกว่า 456 ครอบครัวจาก 3 หมู่บ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินได้กว่า 5,000 เฮกแตร์, โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่พบข้อมูลกาคาดการณ์ในรายงานของสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) ว่าจะมีประชากรกว่า 43,000 คน ใน 36 หมู่บ้าน จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ไปจนถึง โครงการเหมืองแร่บานชอง ที่พบในรายงานการศึกษาโดยกลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงตากาปอว์ (Takapaw Youth Group) และสมาคมพัฒนาทวาย ซึ่งระบุว่าหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรวมทั้งสิ้น 22 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 16,000 คน
  • ผลกระทบฯ ต่อเนื่องทั้งที่ระบุไว้และไม่ได้ระบุไว้ในเอกสารโครงการ และทั้งที่เปิดเผยและไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการ อาทิ ผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนในพื้นที่ท้ายน้ำ ในกรณีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น จากการระบายตะกอนของเขื่อนไซยะบุรี ที่ยังไม่มีการประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อระดับออกซิเจนในแม่น้ำโขงด้านท้ายเขื่อน และส่งผลกระทบต่อปลาในแม่น้ำโขงหรือไม่อย่างไร, ผลกระทบจากการสูญเสียการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ป่าไม้และแหล่งน้ำ ในพื้นที่โครงการที่มีลักษณะของการให้สัมปทาน ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของชุมชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่โครงการและรอบนอกพื้นที่โครงการ โดยเฉพาะกรณีที่โครงการไม่สามารถจัดการควบคุมสารปนเปื้อนมลพิษได้ และเมื่อได้ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว จะสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพของชุมชนมาก เช่น กรณีเหมืองเฮงดา เป็นต้น

ผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่

  • กระบวนการตัดสินใจอนุมัติให้สัมปทานโครงการในทุกกรณีศึกษารวมถึงกระบวนการศึกษารายงานการศึกษาความเป็นไปได้ และ/หรือ รายงานผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ยังไม่ปรากฏว่ามีกรณีศึกษาใด ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจอนุมัติโครงการ รัฐบาลของทุกประเทศ และรายงานส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น ทั้งนี้รวมถึงการไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการตั้งแต่ต้น เช่น การมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในโรงงานปูนซิเมนต์
  • ไม่มีกลไกตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย การอนุมัติให้สัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจจะต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อน ตามกฎหมายว่าด้วยการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจของกัมพูชา
  • การใช้ความรุนแรงต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ในลักษณะการบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน หรือการเผาบ้านเรือนขับไล่ออกจากพื้นที่สัมปทาน รวมถึงการกลั่นแกล้งจับกุมดำเนินคดี รวมถึงการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากการสูญเสียที่ดิน ทั้งที่เป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ทำให้รายได้และการประกอบอาชีพหายไปจากการสูญเสียที่ดินทำกิน และยังปรากฏข้อมูลว่า มีการจ้างงานหญิงตั้งครรภ์และเด็กอย่างเปิดเผย อีกทั้งขาดมาตรฐานคุ้มครองสุขภาพแรงงานอีกด้วย

 

ช่องว่างทางกฎหมายและความบกพร่องของความรับผิดชอบในการลงทุน

  • การอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย โดยที่ตั้งโครงการตั้งอยู่ในต่างประเทศ แต่มีผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยที่ชัดเจน แต่หน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ๆ ได้ตีความในที่จะไม่บังคับใช้กฎหมายไทย เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมในเขตประเทศไทย อีกทั้งรัฐไม่มีกลไกตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานในกำกับ ดังเช่น กรณีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับ บจก. ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่ง กฟผ. มีสถานะเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในสัญญา
  • ช่องว่างของความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ที่ให้เงินกู้แก่โครงการต่าง ๆ โดยธนาคารที่ปล่อยกู้ อ้างว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยขาดกระบวนการการประเมินความเสี่ยงตามหลัก Equator Principles (ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่งที่ปล่อยกู้ในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ยังไม่ได้ลงนามรับหลักการดังกล่าวนี้)[17]
  • ช่องว่างของกลไกระดับภูมิภาค ในกรณีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง การที่หัวหน้าคณะทำงาน ภายใต้กระบวนการ PNPCA ซึ่งมีตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำมีอำนาจในการตัดสินใจต่อการก่อสร้างโครงการ ทั้งที่อำนาจความรับผิดชอบเหล่านี้ควรเป็นของฝ่ายบริหารระดับรัฐมนตรี
  • หน่วยงานที่มีกฎหมายเป็นของตนเองมักจะละเลยการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่โครงการ เช่น การหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์และวิธีการที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย[18] ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ทบวงการเมืองใช้ที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์ในราชการของ กฟผ. อีกทั้งภาครัฐของไทย ไม่มีหน่วยงานใดและไม่มีกฎระเบียบใด ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ ดูแลการลงทุนของไทยในต่างประเทศโดยตรง ทำได้เพียงกำกับดูแลเอกชนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในไทยเท่านั้น
  • อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่หากมิได้มีกระบวนการติดตามอย่างต่อเนื่องในภายหลัง การดำเนินการอันเป็นการเยียวยาช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดก็ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นจริง หรือเกิดขึ้นแต่ขาดประสิทธิภาพ
  • การประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ปี 2554 มุ่งเน้นไปที่การให้ประโยชน์แก่นักลงทุน โดยไม่ได้พูดถึงผู้มีสิทธิในที่ดิน เป็นการมองข้ามความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นและความยินยอมของชุมชน เป็นเหตุให้เกิดการเวนคืนที่ดินและเปิดทางให้มีการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนได้ง่าย
  • ช่องว่างของ พรบ.ตลท. ตลท. ไม่มีกลไกเชิงการหาข้อมูลในลักษณะการสืบสวน โดยไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียน เพราะในหลายกรณีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และการที่ยึดเพียงข่าวสารที่แจ้งโดยบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น โดยไม่มีกลไกอื่นตรวจสอบเพิ่มเติมให้บริษัทจดทะเบียนต้องรายงานข่าวสารสนเทศ เช่น ชาวบ้าน 6,000 คน การประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งนับเป็นการประท้วงโครงการที่ใหญ่ที่สุดในพม่าแต่ ตลท. ไม่มีกลไกตรวจสอบการดำเนินการบริษัทใดๆ

 

ข้อเสนอแนะ

  • การจัดทำ National Action Plans (NAPs) ต้องไปเป็นตามหลักการ United Nations Guiding Principles (UNGPs) ) และนำหลัก Equator Principles (มาตรฐานสากลในการพิจารณาสินเชื่อ) มาใช้ในการดูแลการลงทุน โดย ธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีหน้าที่รับผิดชอบในกระบวนการนี้
  • การนำมาตรการการเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ/กึ่งบังคับ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) มาใช้อย่างจริงจัง
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผลักดันให้ใช้ UNGPs อย่างแพร่หลาย และตรวจสอบผลการดำเนินการ และควรนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยควรจัดทำช่องทางการทำงานอย่างเป็นทางการกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกลไกกำกับการดำเนินการของธุรกิจ
  • รัฐบาลต้องจัดตั้งกลไก หรือคณะกรรมการเป็นกลไกพิเศษในการกำกับดูแล โดยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการผลักดัน

 

……….

[1] ธนาคารแห่งประเทศไทย, เงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ http://www2.bot.or.th/statistics/Download/EC_XT_052_TH_ALL.XLS (ข้อมูลปรับปรุงเมื่อ 31 กรกฎาคม 2560)

[2] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สรุปผลการพิจารณาดำเนินการตามรายงานผลการพิจารณาคำร้องที่มีข้อเสนอแนะนโยบาย เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาโครงการดังกล่าว ที่มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวทวาย, 17 พฤษภาคม 2559

[3] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สรุปผลการพิจารณาดำเนินการตามรายงานผลการพิจารณาคำร้องที่มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีการดำเนินงานของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อำเภอสำโรง และจงกัลป์ ในจังหวัดโอดอร์เมียนเจย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา, 4 พฤษภาคม 2560

[4] โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง, สรุปเขื่อนฮัตจี, เมษายน 2553.

[5] กฟผ. อินเตอร์เนชัลแนล จำกัด, โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี, เข้าถึงได้จาก http://www.egati.co.th/th/th-invesment/hutgi.html

[6] มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ.โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: มองให้ไกลกว่าผลประโยชน์, กรุงเทพฯ : มูลฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, 2555 และ สมาคมพัฒนาทวาย. เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง. ม.ป.พ., สมาคมพัฒนาทวาย, 2557.

[7] Karen news, Thai and Burma joint Mining Operation Dirties Village Water, เข้าถึงได้จาก http://karennews.org/2011/09/thai-and-burma-joint-mining-operation-dirties-village-water.html/

[8] Inclusive Development International, Investment Chain Report, 2017

[9] Inclusive Development International, ชุมชนกะเหรี่ยงในพม่ายื่นคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย, มิถุนายน 2560

[10] เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน), รายงานประจำปี 2555, เข้าถึงได้จาก http://earth.listedcompany.com/misc/AR/20130405-EARTH-AR2012-TH.pdf

[11] สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, เอกสารลักษณะโครงการ, เข้าถึงได้จาก http://www.eppo.go.th/images/Power/pdf/xayaburi-pp.pdf

[12] Banpu Public Company Limited, ลักษณะการประกอบธุรกิจ, เข้าถึงได้จาก

https://www.banpu.co.th/backoffice/upload/inv_news_176_8ad2a82c81963e1bf8cc1e1dd757c81c.pdf

[13] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานที่ 1100/2558 เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ในพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเหมืองและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์ประเทศ สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

[14] ข่าวความเคลื่อนไหว จากเว็บไซต์บริษัท  http://www.egco.com/th/news-update/2017/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%81-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%8A%E0%B8%9B-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%AA-1-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-2560-%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2-2900-%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97

[15] น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน), ข้อมูลบริษัท, เข้าถึงได้จาก http://www.kohkongsugar.com/en/about-us

[16] Vientiane Times, 13 ตุลาคม 2555. Xayaboury villagers relocate to make way for 1,878MW power plant. https://wle-mekong.cgiar.org/xayaboury-villagers-relocate-to-make-way-for-1878mw-power-plant/

[17] สินเชื่อ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน โดย สฤณี อาชวานันทกุล, 18 เมษายน 2556   http://thaipublica.org/2013/04/xayaburi-and-equator-2/