อาการเบื่อทุกอย่าง แก้ยังไง

ทุกคนคงเคยมีอาการแบบนี้ หรือไม่ตอนนี้ก็เป็นอยู่ “ไม่อยากทำอะไรเลย….” ขาดแรงจูงใจที่จะทำอะไร อาจรู้สึกเหนื่อย หงุดหงิด หรือไม่สามารถกระตุ้นตัวเองให้ทำในสิ่งที่ชอบได้ตามปกติ

ความจริงแล้ว ความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเรากำลังตกอยู่ภายใต้ความเครียด หรือพยายามจัดการอะไรบางอย่างกับสิ่งผิดปกติในชีวิต แล้วทำไม่สำเร็จสักที ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเพียงชั่วคราวและมักจะไม่มีอะไรร้ายแรง บางครั้งอาจเป็นสัญญาณว่าเราต้องถอยออกมา หยุดพัก และปล่อยให้จิตใจและร่างกายของเราได้พักผ่อน

แต่…ถ้าความรู้สึกแบบนี้ “ไม่อยากทำอะไรเลย” ค้างคาอยู่เป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดจากภาวะซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางอารมณ์บางประเภท และกินเวลานานกว่าสองสัปดาห์ แบบนี้รีบไปหาหมอดีกว่า

อย่างไรก็ตาม หากความรู้สึก “ไม่อยากทำอะไรเลย…” เป็นอารมณ์ชั่วคราว มีบางสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้รู้สึกดีขึ้นและได้แรงบันดาลใจกลับมา

หยุดพัก

ความรู้สึก “ไม่อยากทำอะไรเลย…”  อาจเป็นสัญญาณว่าเราเครียดหรือหมดไฟ บางครั้งการได้พักและใช้เวลาดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้

พิจารณาให้ตัวเองมี “ช่วงเวลาบำบัดจิตใจ” ที่เราปล่อยวางความคาดหวังในสิ่งที่เราคิดว่าเราควรจะทำสำเร็จ ให้จดจ่อกับการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยให้เรารู้สึกได้รับการฟื้นฟูและสบายใจแทน

ปล่อยให้ตัวเองงีบหลับหรือนั่งเล่น จิบกาแฟ อ่านหนังสือ (ไม่แนะนำดูเน็ตฟลิกซ์ เพราะเดี๋ยวยาววว) รวมทั้งลองอาบน้ำ ยืดเส้นยืดสาย หรือดื่มน้ำสักแก้ว

กุญแจสำคัญคือใช้ช่วงเวลานี้ผ่อนคลายและปล่อยให้จิตใจและร่างกายได้พักผ่อน บางครั้งการดูแลตนเองแบบง่าย ๆ นี้ อาจช่วยให้เรามีกรอบความคิดที่ดีขึ้นได้

ดูแลตัวเองด้วยนะ

มองตัวเองอย่างเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจตนเองไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการใจดีกับตัวเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์และการไตร่ตรองอารมณ์ของตัวเอง ทั้งด้านดีและด้านร้าย

การแสดงความเห็นอกเห็นใจและการพิจารณาตัวเองอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตที่สำคัญ เมื่อผู้คนแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อตนเอง มันสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบของความเครียด ลดความรู้สึกซึมเศร้าและวิตกกังวล และลดความทุกข์ทางจิตใจโดยรวมได้

ดังนั้น หากเรามีวันหนึ่งที่เราไม่อยากทำอะไรเลยจริง ๆ ให้ปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความมีน้ำใจเล็กน้อย ยอมรับตัวเอง และให้พื้นที่ ให้เวลา ในสิ่งที่เราต้องการ

ไปเดินเล่น

การเดินเล่น เป็นการผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายและการใช้เวลานอกบ้านเข้าด้วยกัน การออกกำลังกายได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพทั้งในการรักษาและป้องกันอาการซึมเศร้า

การใช้เวลานอกบ้านมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตมากมาย การศึกษาหนึ่งในปี 2019 พบว่าการสัมผัสกับธรรมชาติเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อารมณ์ที่ดีขึ้น ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงบวกที่มากขึ้น และความสุขที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น หากเรากำลังต่อสู้กับอารมณ์ที่ตกต่ำและไม่มีแรงจูงใจ การเดินเล่นกลางแจ้งอาจช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่นรอบๆ ตึกหรือสวนแถวบ้าน

คุยกับใครสักคน

เมื่อเราอยู่ในอารมณ์หงุดหงิด การติดต่อกับบุคคลอื่นอาจเป็นวิธีที่ดีในการหลุดพ้นจากกรอบความคิดที่ไม่ได้รับแรงบันดาลใจ ลองนึกดูว่าใครจะเป็นผู้ช่วยเหลือที่ดีในช่วงเวลานี้

เราอาจจะคุยกับใครได้บ้างที่อาจเข้าใจความรู้สึกของเรา เราอาจกำลังมองหาใครสักคนที่สามารถรับฟังได้หรือต้องการใครสักคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราขยับไปข้างหน้าได้

หากเราไม่มีอารมณ์ที่จะไปเที่ยวกับเพื่อนหรือถ้าเพื่อนไม่อยู่ บางครั้งการออกไปข้างนอกและอยู่ต่อหน้าคนอื่นก็อาจช่วยได้

การเพลิดเพลินกับกาแฟสักถ้วยในร้านกาแฟที่พลุกพล่าน การยิ้มให้กับผู้คนในร้านขายของ หรือกล่าวทักทายเพื่อนบ้านล้วนเป็นประสบการณ์ทางสังคมที่เรียบง่ายที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนอารมณ์ได้

เริ่มจากเรื่องเล็กๆ

เมื่อพูดถึงการหาพลังในการทำบางสิ่ง การเริ่มต้นมักจะเป็นส่วนที่ยากที่สุด ดังนั้น หากเรากำลังหาแรงกระตุ้น การเริ่มด้วยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถช่วยได้ แทนที่จะเริ่มต้นด้วยเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องยาก ๆ ก่อน ให้เลือกสิ่งเล็ก ๆ สักอย่างที่เราทำได้ แต่ที่สำคัญ ลงมือทำเลย

เริ่มต้นงานง่าย ๆ อย่าง ถ้าเป็นที่บ้าน ก็เริ่มต้นจาก ล้างจาน / จัดที่นอน / พับผ้า / ถ้าเป็นที่ทำงาน อาจเริ่มต้นจาก ตอบอีเมลหนึ่งฉบับ / จัดโต๊ะทำงาน เป็นต้น

งานบ้านอาจน่าเบื่อ แต่ถ้าไม่สะสาง มันก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยเรื่องง่าย ๆ แบบนี้ ก็คือการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ในระยะยาว  เมื่อเราเริ่มทำงานบ้านหรืองานที่ออฟฟิศ ที่ง่าย ๆ เสร็จ เราอาจตระหนักได้ว่า นี่คือการแก้ปัญหาที่น่าชื่นชม แล้วเริ่มต้นงานอื่น ๆ ต่อไปได้

เขียนบันทึกประจำวัน

ถ้ายังหาทางออกจากอารมณ์ หมดไฟ หรือ ไม่อยากทำอะไรเลย…ไม่ได้สักที การนั่งลงนิ่ง ๆ แล้วเขียนเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์เหล่านั้นอาจช่วยได้ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าการเขียนบันทึกประจำวันเป็นเครื่องมือด้านสุขภาพจิตที่มีประโยชน์

การใช้เวลาเขียนบันทึกประจำวันอาจเป็นโอกาสที่ดีในการไตร่ตรองถึงสิ่งที่คุณรู้สึกและค้นหาสาเหตุบางประการที่อาจทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น

 

หรือไม่ก็กลับไปสู่เรื่องง่ายที่สุด บางครั้งอารมณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากความหิว ความเหนื่อยล้า กระหายน้ำ หรือแม้แต่รู้สึกอึดอัดกับของรกๆ ในบ้าน

 

ยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายที่เริ่มทำได้เพื่อบรรเทาอาการ “ไม่อยากทำอะไรเลย… แต่สิ่งสำคัญคือ “จิตใจ” ของเราเองที่ต้องเข้มแข็งและมุ่งมั่นที่จะหาทางออก/verywellmind

          หากคุณลองมองรอบตัวดูดี ๆ จะรู้ว่าทุกสิ่งรอบตัวไม่มีอะไรน่าเบื่อเลยสักนิด เพียงแค่คุณปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด ก็จะเห็นว่าบนโลกนี้มีอะไรอีกมากมายหลายอย่างที่รอให้คุณออกไปทำ ออกไปค้นพบ...ขึ้นอยู่ที่ตัวคุณเท่านั้นเอง 

ทำไมถึงรู้สึกเบื่อทุกอย่าง

รู้สึกเบื่อชีวิตเพราะชีวิตมีแต่รูปแบบเดิมๆ ชีวิตเป็นแบบโมโนโทน (Monotonous) คุณจะต้องทำอะไรเหมือนเดิมทุกๆ วัน ทุกๆ เดือน เป็นเวลานาน สามารถทำให้คุณรู้สึกเบื่อชีวิตได้ เพราะคนเราต้องการความหลากหลายในชีวิตบ้าง ต้องการอะไรที่มันมีความไร้ระเบียบในชีวิต หรืออะไรที่คาดการณ์ไม่ได้ในชีวิตบ้าง

อาการเบื่อเป็นยังไง

ความเบื่อ คือ สภาวะทางอารมณ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อคนคนหนึ่งรู้สึกว่าไม่มีอะไรให้ทำ ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ไม่พึงพอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่ หรืออยากเปลี่ยนแปลงสภาวะบางอย่างแต่เปลี่ยนไม่ได้