วัดมี 2 ประเภท ได้แก่อะไรบ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์

วัดมี 2 ประเภท ได้แก่อะไรบ้าง

วัดหลวง วัดราษฎร์ วัดร้าง : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

              

เมื่อวันที่ ๓๒ ธันวาคม ๒๕๔๗ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รายงานผลการสำรวจจำนวนวัดไทยพบว่า มีวัดไทยทั้งหมด ๔๐,๗๑๗ ซึ่งยังใช้อยู่ ๓๓,๙๐๒ แห่ง แบ่งเป็นวัดมหานิกาย ๓๑,๘๙๐ แห่ง วัดธรรมยุตินิกาย ๑,๙๘๗ แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นวัดร้าง

                จากการสำรวจเมื่อปี ๒๕๓๕ ได้สถิติจังหวัดที่มีวัดมากที่สุด ๑๐  อันดับ ดังนี้ ๑.นครราชสีมา ๑,๔๔๓ วัด ๒.อุบลราชธานี ๑,๓๓๙ วัด ๓.อุดรธานี ๑,๑๗๙ วัด ๔.ร้อยเอ็ด ๑,๑๕๔ วัด ๕.เชียงใหม่ ๑,๐๙๔ วัด ๖.ขอนแก่น ๑,๐๖๖ วัด ๗.เชียงราย ๘๕๘ วัด ๘.มหาสารคาม ๘๐๔ วัด ๙.หนองคาย ๗๘๘ วัด และ ๑๐.ศรีสะเกษ ๗๘๒ วัด

                 วัด หรือ อาวาส คือ คำเรียกสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนา ของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา คือวัดที่มีอุโบสถเป็นที่ทำสังฆกรรม คำว่า วิสุงคามสีมา ในที่นี้หมายถึงเขตที่ พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างโบสถ์ ส่วนสำนักสงฆ์ คือ วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา จึงไม่มีอุโบสถ

                นอกจากนี้แล้วยังแบ่งตามลักษณะความสำคัญได้อีก ๓ ประเภท คือ ๑.พระอารามหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ และขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

                 ๒.วัดราษฎร์ ได้แก่วัดที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ เช่น วัดประสาทบุญญาวาส  และ ๓. วัดร้าง คือ วัดที่ทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์พำนักอาศัยจำพรรษา ทางราชการจะขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งหากบูรณะได้อาจยกเป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป เช่น วัดไชยวัฒนาราม (พระนครศรีอยุธยา)

                อย่างไรก็ตาม พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "วัดหลวง" คือ วัดในพระพุทธศาสนาที่ได้รับยกย่องสถาปนาให้เป็นวัดพิเศษจากวัดราษฎร์ทั่วไป เรียกเต็มว่า "พระอารามหลวง"

                ทั้งนี้วัดที่จะได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงนั้น ต้องมีลักษณะอย่างน้อย ๓ ประการ คือ ๑.เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนา หรือพระราชวงศ์ชั้งสูงสร้าง ๒.เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสนับสนุนให้พระราชวงศ์ หรือ ข้าราชบริพารสร้าง และ ๓.เป็นวัดราษฎร์ที่ได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยได้ลักษณะตามกฎเกณฑ์การยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง

วัดโดยทั่วไปนิยมแบ่งเขตพื้นที่ภายในออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ
๑. เขตพุทธาวาส
๒. เขตสังฆาวาส
๓. เขตธรณีสงฆ์

๑. เขตพุทธาวาส
เป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งสถานที่ประทับขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำว่าพุทธาวาส มีความหมายเป็น สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า (พุทธาวาส = พุทธะ+อาวาส) เขตพุทธาวาสมักประกอบด้วยสถาปัตยกรรมหลักสำคัญๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์และพิธีกรรมต่างๆ คือ

๑. พระเจดีย์ พระมณฑป พระปรางค์ : อาคารที่สร้างเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางหลักของวัด
๒. พระอุโบสถ : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการทำสังฆกรรม
๓. พระวิหาร : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส
๔. เจดีย์ (มณฑป, ปรางค์)ราย เจดีย์ (มณฑป, ปรางค์)ทิศ : อาคารที่ใช้บรรจุอัฐิ หรือประกอบเพื่อให้ผังรวมสมบูรณ์
๕. หอระฆัง : อาคารที่ใช้เป็นเครื่องตีบอกเวลาสำหรับพระภิกษุสงฆ์
๖. ศาลาต่างๆ เช่นศาลาราย : อาคารที่ใช้เป็นที่นั่งพักของผู้มาเยือน
ศาลาทิศ : อาคารที่ใช้ล้อมอาคารสำคัญสำหรับให้คฤหัสถ์นั่งพัก หรือประกอบเพื่อให้ผังรวมสมบูรณ์
๗. พระระเบียง : อาคารที่ล้อมอาคารหลักสำคัญหรือล้อมแสดงขอบเขตแห่งพุทธาวาส
๘. พลับพลาเปลื้องเครื่อง : อาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่พระมหากษัตริย์เปลี่ยนชุดฉลองพระองค์ในวาระที่ทรง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล
พระเจดีย์ พระปรางค์ และพระมณฑป ถือเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดในฐานะหลักประธานของวัด จึงมักถูกวางตำแหน่งลงในผังตรงส่วนที่สำคัญที่สุดของเขตพุทธาวาส เช่น บริเวณกึ่งกลางหรือศูนย์กลางหรือแกนกลางของผัง อาคารสำคัญรองลงมากลุ่มแรกคือ พระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งอาคารทั้ง ๒ ประเภทนี้มักใช้ประกอบคู่กันกับพระเจดีย์เสมอ หรืออาจใช้ประกอบร่วมกันทั้ง ๓ ประเภท คือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร ทั้งนี้เนื่องเพราะอาคารทั้ง ๒ ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พระอุโบสถหรือพระวิหารจึงมักวางทางด้านหน้าของพระเจดีย์เสมอในลักษณะของแนว แกนดิ่ง เพื่อว่าเวลาประกอบพิธีกรรม ทุกผู้ทุกนาม ณ ที่นั้นจะได้หันหน้าไปยังพระองค์ และถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีการใช้ประกอบร่วมกันทั้ง ๓ อย่างก็ตาม อาทิเช่น พระวิหารวางด้านหน้าสุด มีพระเจดีย์อยู่กลาง และพระอุโบสถอยู่ด้านหลัง ตัวพระอุโบสถด้านหลังนั้น ก็มักจะหันส่วนหน้าของอาคารไปทางด้านหลังด้วย เพื่อว่าเวลาที่เข้าไปทำสังฆกรรม จะยังคงสามารถหันหน้าเข้าสู่องค์พระเจดีย์ได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามตำแหน่งของอาคารก็ไม่มีข้อกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวเสมอไป (ยกเว้นพระเจดีย์ ที่ยังคงตั้งอยู่ในตำแหน่งหลัก) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวความคิดและคตินิยมของแต่ละสมัยเป็นปัจจัยสำคัญ

สำหรับอาคารประเภทอื่นๆ เช่น พระระเบียง ศาลาราย จะปรากฏร่วมในผังในลักษณะอาคารรองกลุ่มที่ ๒ ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบที่สร้างให้ผังมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของประโยชน์ใช้สอย หรือในเชิงความหมายของสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อก็ตาม โดยมักปรากฏในลักษณะที่โอบล้อมกลุ่มอาคารหลักประธานสำคัญเหล่านั้น

ลักษณะการวางตำแหน่งอาคารในผังเขตพุทธาวาส
พื้นฐานพุทธสถาปัตยกรรมของไทยมีแบบแผนและแนวความคิดรวมทั้งคติความเชื่อ ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียและลังกา เนื่องจากศาสนาพุทธในไทยได้รับการเผยแพร่มาจากทั้งอินเดียโดยตรง และผ่านทางลังกา แม้ว่าจะมีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงตั้งอยู่บนกรอบของเค้าโครงที่เป็น แม่บทเดิม นั่นคือการสร้างพระเจดีย์ให้เป็นประธานของพระอาราม โดยมีพระวิหารซึ่งเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมอยู่เบื้องหน้า ซึ่งได้พัฒนาการมาจากการสร้างพระเจดีย์อยู่ตอนท้ายของ “เจติยสถาน” ภายในถ้ำวิหารของพุทธสถานในอินเดีย ก่อนที่จะมีการสร้างอาคารที่เป็นพระวิหารในที่แจ้งขึ้น โดยพระเจดีย์นั้นหลุดออกไปอยู่นอกอาคาร พร้อมๆกับสร้างรูปพระพุทธรูปไว้ ณ ตำแหน่งที่เคยตั้งพระเจดีย์ภายในห้องพิธีนั้น เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะองค์ประธานของการประชุมกิจของสงฆ์ที่จะมีขึ้น

พระเจดีย์ภายในถ้ำวิหารของเจติยสถานในอินเดีย
พุทธสถานในประเทศไทยก็อาศัยกฎเกณฑ์ของการวางแผนผังเช่นนี้มาใช้ในวิถี ปฏิบัตินับแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ตรงกับสมัยทวาราวดีเป็นต้นแบบสืบมาจนถึงปัจจุบัน บนความเปลี่ยนแปลงและคลี่คลาย แบบอย่างของแผนผังที่มีอาคารหลัก คือพระเจดีย์(พระปรางค์, พระมณฑป) พระวิหาร และพระอุโบสถ ในลักษณะต่างๆกัน ๕ แบบ ดังนี้

๑. ผังแบบแนวแกนเดี่ยว หมายถึงการออกแบบผังพุทธาวาสที่มีพระเจดีย์ (พระปรางค์ พระมณฑป)และพระวิหาร หรือพระเจดีย์(พระปรางค์, พระมณฑป) และพระอุโบสถ หรือทั้งพระเจดีย์(พระปรางค์, พระมณฑป) พระอุโบสถและพระวิหารวางเรียงอยู่บนแนวแกนหลักประธานเพียงแนวเดียว เช่น วัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพฯ (พระวิหารและพระเจดีย์), วัดกุฎีดาว จ.อยุธยา (พระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร)
๒. ผังแบบแนวแกนคู่ หมายถึง การออกแบบแผนผังพุทธาวาส โดยการสร้างแนวแกนประธาน ๒ แนวขนานคู่กัน ทั้งนี้เพื่อหมายให้แนวแกนทั้ง ๒ มีความสำคัญเท่าๆกัน แล้วกำหนดวางอาคารหลักสำคัญลงบนแนวแกนทั้ง ๒ นั้น เช่น ผังวัดสุวรรณาราม ธนบุรี
๓. ผังแบบแนวขนาน ๓ แกน หมายถึง การออกแบบแผนผังพุทธาวาส โดยการสร้างแกนประธานขึ้น ๓ แนวขนานกัน หรือการสร้างแนวแกนหลักประธานขึ้นแกนหนึ่งแล้วสร้างแนวแกนย่อยหรือแกนรอง ประกบขนานอีก ๒ ข้างแนวแกนนั้น ก่อนวางอาคารหลักสำคัญแต่ละแนวแกน เช่น ผังวัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ ,ผังวัดเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี
๔. ผังแบบแนวแกนฉาก หมายถึง การออกแบบแผนผังพุทธาวาส โดยการสร้างแนวแกนประธานขึ้นแกนหนึ่งแล้วสร้างแนวแกนย่อยวางขวางในทิศทางที่ ตั้งฉากกับแกนประธาน มีพระวิหารอยู่หน้าพระเจดีย์ประธาน พระอุโบสถวางขวางในทิศทางตั้งฉากในตอนท้ายของพระเจดีย์ เช่น ผังวัดนางพญา จ.สุโขทัย, ผังวัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพฯ
๕. ผังแบบกากบาท หมายถึง การออกแบบแผนผังพุทธาวาส โดยการสร้างแนวแกนประธานขึ้นแกนหนึ่งแล้วสร้างแนวแกนย่อยอีกแนว วางขวางในทิศทางที่ตั้งฉากตัดกับแกนประธาน ผังลักษณะนี้มักเป็นวัดที่มีพระวิหารหลวง พระวิหารทิศและพระระเบียงชักเป็นวงล้อมพระเจดีย์หรือพระปรางค์ประธาน เช่น ผังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
๒. เขตสังฆาวาส
หมายถึงขอบเขตบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัด ที่กำหนดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีการใดทางศาสนา โดยตรง คำว่า สังฆาวาส มาจาก สงฆ์ + อาวาส แปลว่า ที่อยู่แห่งหมู่สงฆ์ พื้นที่บริเวณนี้จึงมักมีขอบเขตที่มิดชิดและประกอบไปด้วยอาคารสถาน ที่สัมพันธ์เฉพาะกับกิจกรรมและวัตรปฏิบัติที่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของ เพศสมณะเท่านั้น อันได้แก่

๑. กุฏิ : อาคารที่ใช้สำหรับอาศัยหลับนอน
๒. กัปปิยกุฎี : โรงเก็บอาหาร
๓. หอฉัน : อาคารที่ใช้เป็นที่ฉันภัตตาหาร
๔. วัจจกุฎี : อาคารสำหรับใช้ขับถ่าย
๕. ศาลาการเปรียญ : อาคารที่ใช้เป็นที่เรียนหนังสือของพระสงฆ์
๖. หอไตร : อาคารที่ใช้เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา
๗. ชันตาฆร : โรงรักษาไฟและต้มน้ำ
๘. ธรรมศาลา : โรงเทศนาธรรม
๙. ห้องสรงน้ำ : ห้องชำระกาย
๑๐. ศาลาท่าน้ำ : อาคารที่ใช้เป็นท่าและทางเข้าสู่วัดทางน้ำ
ลักษณะการวางตำแหน่งอาคารในผังเขตสังฆาวาส
กุฏิถือเป็นอาคารหลักสำคัญ โดยมีอาคารประเภทอื่นประกอบเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกัน ส่วนใหญ่ไม่มีกฎเกณฑ์การวางผังมากนัก นอกจากบางประเภทของวัด ชั้นของวัด ที่ตั้ง รวมทั้งขนาดยังมีผลต่อการจัดวางผังของเขตนี้ กล่าวคือหากเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในแถบถิ่นชนบท นิยมวางตัวกุฏิกระจายตัวเป็นหลังๆ อาคารที่เป็นองค์ประกอบรองหลังอื่นๆ ก็จะจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้สอยของพระภิกษุ ส่วนใหญ่จะจัดกุฏิให้อยู่เป็นกลุ่ม โดยอาจแยกเป็นหลังๆหรือต่อเชื่อมด้วยชานเป็นหมู่หรือคณะฯ มีหอฉันอยู่ตรงกลางชาน ถัดเลยออกมาก็จะเป็นเรือนเว็จกุฎี ซึ่งปัจจุบันอาจรวมเข้ากับห้องสรงน้ำและมักสร้างต่อเรียงเป็นแถวๆ

สำหรับกัปปิยกุฎีหรือโรงเก็บอาหารก็มักรวมเข้ากับเรือนชันตาฆรเป็นอาคาร หลังเดียวกัน โดยอาจมีเพียงจุดเดียวรวมกันสำหรับวัดขนาดเล็ก หรือแยกเฉพาะตามหมู่หรือคณะสำหรับวัดขนาดใหญ่

ส่วนหอไตรก็จะแยกออกไปตั้งเดี่ยวอยู่กลางสระน้ำใหญ่ เช่นเดียวกับศาลาการเปรียญที่มักตั้งอยู่ในตำแหน่งที่พระสงฆ์ทั้งปวงสามารถ เข้ามาใช้สอยได้อย่างสะดวกทั่วถึง ขณะเดียว กันก็สามารถเอื้อต่อประชาชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย มักวางอยู่ด้านหน้าเขตสังฆาวาส หรือบริเวณส่วนที่ต่อกับเขตพุทธาวาส หรืออาจอยู่ทางด้านข้างของเขตธรณีสงฆ์ ที่ประชาชนสามารถเข้ามาได้ง่าย ส่วนธรรมศาลา จะมีขึ้นหากวัดนั้นไม่มีศาลาการเปรียญ

แต่สำหรับวัดขนาดใหญ่ ผังเขตสังฆวาสค่อนข้างจะมีระเบียบแบบแผนชัดเจน โดยเฉพาะวัดหลวงจะมีการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งและระบบของโครงสร้างผังอย่าง ตั้งใจ ด้วยการแบ่งเป็น “คณะ” โดยแบ่งขนาดตามจำนวนพระสงฆ์และองค์ประกอบย่อย เช่น หอฉัน หอไตร เว็จกุฎี กัปปิยกุฎี ฯลฯ ของแต่ละคณะ ซึ่งวิธีการจัดแบ่งก็อาศัยการแบ่งซอยออกเป็นลักษณะอย่างช่องพิกัด (Grid) อาทิเช่น เขตสังฆาวาส,วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ,วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ

๓. เขตธรณีสงฆ์
หมายถึงเขตพื้นที่ในพระอารามที่วัดกำหนดพื้นที่บางส่วนที่เหลือจากการจัด แบ่งเขตสำคัญ คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส ให้เป็นเขตพื้นที่สำหรับเอื้อประโยชน์ใช้สอยในเชิงสาธารณะประโยชน์ในลักษณะ ต่างๆของวัด เช่น ใช้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างความร่มรื่นให้วัด หรือใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารอื่นๆ เช่น สร้างเมรุสำหรับฌาปนกิจศพชุมชน ตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่สังคม แบ่งเป็นพื้นที่ให้คฤหัสถ์เช่าเพื่อใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน อาทิการสร้างตึกแถว หรือทำเป็นตลาด เป็นต้น

การแบ่งพื้นที่วัดออกเป็น ๓ ส่วนนี้ ในเชิงการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจึงให้หมายถึงส่วนหนึ่งคือเขตพุทธาวาสถูกใช้ เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ (Semi-Public Zone) อีกส่วนหนึ่งคือเขตสังฆวาสที่ใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัว (Private Zone) เฉพาะของพระสงฆ์ ส่วนเขตธรณีสงฆ์ก็เป็นเสมือนเขตพื้นที่สาธารณะ (Public Zone) สำหรับคนทั่วไป

ความสัมพันธ์ระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส
ความสัมพันธ์เฉพาะแต่ระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสนั้น ในดินแดนของไทยนับแต่สมัยสุโขทัยลงมาจะมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องซึ่ง กันและกันในลักษณะของผัง ซึ่งมีอยู่แบบ แต่ที่สำคัญก็คือเขตพุทธาวาส จะถูกกำหนดเอาไว้ว่าต้องอยู่ทางด้านหน้าเสมอ และไม่เคยมีปรากฏว่าจะมีวัดใดที่วางเขตสังฆาวาสเอาไว้ขวางทางเข้าด้านหน้า เขตพุทธาวาส
การแบ่งเขตพื้นที่แบบต่างๆระหว่างเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส

แบบประกบหน้าหลัง แบบชิดข้าง แบคู่ประกบ แบบล้อม ๓ ด้าน แบบโอบหักศอก

สำหรับ “เขตธรณีสงฆ์” นั้น มักจะอยู่บริเวณส่วนที่เป็นด้านข้างใดด้านหนึ่งหรือบริเวณส่วนด้านหลังของ พื้นที่วัดเสมอ เช่น วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ มีเขตธรณีสงฆ์ผืนใหญ่อยู่บริเวณส่วนหลังของวัด เป็นต้น

ดังนั้นโดยนัยนี้แสดงให้เห็นว่า เขตพุทธาวาสเป็นเขตแดนที่สำคัญที่สุดกว่าพื้นที่ส่วนอื่นใดทั้งหมดภายในวัด