บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด

บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด

ประมาณ 95 เปอร์เซ็น แผ่นดินไหวจะเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (Tectonic plates) ส่วนแผ่นดินไหวที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดและการกระทำของมนุษย์ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อย

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า “โลกเรานี้มีแผ่นเปลือกอยู่ประมาณ 20 แผ่น มี่ทั้งแผ่นใหญ่ แผ่นเล็ก โดยเปลือกแต่ละชิ้นจะแบ่งเป็นชิ้นย่อยๆ หลายชิ้น เรียกว่า “แผ่นเปลือกโลก (Tectonic plates)” ซึ่งแต่ละแผ่นเปลือกมันก็เคลื่อนไปคนละทิศคนละทาง แบบช้าๆ  บางแผ่นเคลื่อนประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี  บางแผ่นประมาณ 10 เซนติเมตรต่อปี ทำให้ตรงรอยต่อมันมีแรงชนกัน ทำให้เกิดความเค้นความเครียดในเนื้อหินของแผ่นเปลือกที่ค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงระดับที่เนื้อหินทนแรงไม่ไหว จึงเกิดการไถลตัว หรือว่าการระเบิดตัว เพื่อปลดปล่อยพลังงานออกมา ทำให้เกิดความร้อน เสียง โดยพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะมีลักษณะเป็นลูกคลื่น เมื่อเคลื่อนที่มาถึงผิวดิน ก็จะกลายเป็นการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว”

บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด
แผ่นเปลือกโลก (Tectonic plates)

การเกิดแผ่นดินไหว มีตั้งแต่ระดับตื้นใต้แผ่นเปลือกโลกไม่กี่กิโลเมตร ไปถึงระดับลึกๆ เป็นหลายร้อยกิโลเมตรก็มี ขึ้นอยู่กับลักษณะรอยแตกรอยต่อของแผ่นเปลือกในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นประเทศที่มีรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกเยอะ ก็จะเกิดแผ่นดินไหวบ่อย เช่น ประเทศญี่ปุ่น  หรือ สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก เป็นต้น ส่วนบริเวณใกล้ประเทศไทยมีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ เรียกว่า “รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault)” ที่พาดผ่านประเทศเมียร์มาร์   ซึ่งเราสามารถจำแนกรูปแบบการเกิดแผ่นดินไหวจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกได้ 3 รูปแบบ คือ

บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด

  • แผ่นธรณีเคลื่อนที่ออกจากกัน (Divergent boundaries) การเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีในลักษณะนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวไม่รุนแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ในระดับตื้น (ลึกจากพื้นผิวน้อยกว่า 70 กิโลเมตร) เช่นบริเวณกลางมหาสมุทรแอตแลนติก โดยรอยต่อซึ่งเกิดจากแผ่นธรณีเคลื่อนที่ออกจากกันมี 2 ลักษณะ คือ แผ่นธรณีทวีปเคลื่อนที่ออกจากกัน และแผ่นธรณีมหาสมุทรเคลื่อนที่ออกจากกัน
  • แผ่นธรณีเคลื่อนที่เข้าหากัน (Convergent boundaries) เกิดขึ้นในบริเวณที่แผ่นธรณีปะทะกันซึ่งเรียกว่า “เขตมุดตัว” (Subduction zone) การปะทะกันเช่นนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่ระดับลึก (300 – 700 กิโลเมตร)  และหากเกิดขึ้นในมหาสมุทรก็จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิ เช่น สันเขาใต้สมุทรใกล้เกาะสุมาตรา และ เกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น โดยรอยต่อของแผ่นธรณีเคลื่อนที่เข้าหากันมี 3 รูปแบบคือ แผ่นธรณีมหาสมุทรชนกัน แผ่นธรณีมหาสมุทรชนกับแผ่นธรณีทวีป และแผ่นธรณีทวีปชนกัน
  • แผ่นธรณีเคลื่อนที่ผ่านกันหรือสวนกัน (Transform fault) แม้ว่าแผ่นธรณีจะเคลื่อนที่ผ่านกันด้วยความเร็วเพียงปีละประมาณ 3 – 6 เซนติเมตร แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเวลานาน จะสามารถปลดปล่อยพลังงานมหาศาลได้ ดังเช่น รอยเลื่อนซานแอนเดรียส์ที่เคยทำลายเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา จนประสบความเสียหายหนักเมื่อปี พ.ศ.2449 แต่โดยทั่วไปแล้วปรากฏการณ์จะนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในระดับตื้น มีความรุนแรงปานกลาง ถ้าเกิดขึ้นบนแผ่นดินจะทำให้ถนนขาด สายน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหล หรือทำให้เกิดหน้าผาและน้ำตก
บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด
รอยเลื่อนซานแอนเดรียส์

บทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของไทยที่ผ่านมา ทำให้การศึกษาแต่ละรอยเลื่อนว่ามีพลังในระดับใดมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์แรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนที่มีพลังที่อาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวได้วันใดวันหนึ่งในอนาคต ทั้งนี้ การเฝ้าระวังไม่ใช่จำกัดเพียงรอยเลื่อนในประเทศที่มีพลังเท่านั้น แต่จะต้องศึกษาและเฝ้าระวังรอยเลื่อนรอยต่อที่มีพลังในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย

เรียบเรียงและอ้างอิงข้อมูลจาก

บทสัมภาษณ์

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย

สนับสนุนการวิจัยโดย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)