แผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม ล่าสุด



โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยที่ผ่านมามีโครงการลงทุนทั้งในส่วนของภาครัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านคมนาคม เป็นแผนปฏิบัติการ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 -2565) เป็นกรอบทิศทางการดำเนินงาน และกำหนดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติ

ซึ่งแผนระยะที่ 1 จะสิ้นสุดในปี 2565 กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม ประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนงาน/โครงการต่างๆ เพื่อใช้กำกับดูแล และติดตามการดำเนินงานในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลและความโปร่งใสให้สอดรับกับการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม กรอบแนวทางในการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ แผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี รวมทั้งสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทใหม่ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศไทยในช่วง 5 ปีต่อจากนี้

ทั้งนี้ ได้มีการระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาใช้ประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม พ.ศ. 2566-2570 โดยจะสรุปในเดือน พ.ย. 2565

“อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) รัฐบาลและกระทรวงฯ ได้ผลักดันการพัฒนาระบบการคมนาคมและขนส่งทุกรูปแบบทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งในส่วนของการวางนโยบาย แผนงาน การพัฒนาและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการ การปฏิบัติการและอำนวยความสะดวก รวมทั้งการควบคุมและการกำกับดูแล เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เอเชีย และภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้

แต่ด้วยบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สภาพภูมิอากาศ ภาวะสงคราม สงครามการค้า ราคาน้ำมันที่ผันผวน การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร การขยายตัวของเมือง รวมทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยี ดิจิทัล และนวัตกรรม ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการคมนาคมขนส่งของประเทศ ภารกิจ หน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงฯ เป็นอย่างมาก

การจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 จึงควรยึดกรอบยุทธศาสตร์การคมนาคมขนส่งของไทยในระดับ 20 ปี รวมถึงความสอดคล้องและสนับสนุน ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการวิเคราะห์ภาพรวมทิศทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในช่วงปี 2566-2570 และระยะต่อเนื่อง ให้มีความสอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อปิดจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดแข็งของการดำเนินงานที่ผ่านมา


@ ภารกิจคมนาคม 4 มิติ "สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล"

จากภารกิจของกระทรวงคมนาคม ทางถนน ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ คือ “สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล” ซึ่งแผนปฏิบัติการ ระยะที่ 1 มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาพื้นฐานเร่งด่วน และวางรากฐานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยให้บรรลุเป้าหมายการขนส่งที่ยั่งยืน โดยจัดการให้บริการที่ทั่วถึง, ใส่ใจสิ่งแวดล้อม, มีประสิทธิภาพ มุ่งใช้เทคโนโลยีและมีความโปร่งใส

โดยเป้าหมายตัวชี้วัด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้แก่ 1. ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ น้อยกว่า 11% 2. การขนส่งสินค้าทางราง ต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด 7% 3. สัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขต กทม.และปริมณฑลต่อการเดินทางทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 10% และเมืองหลักในภูมิภาคไม่น้อยกว่า 40% 4. อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ ที่ 12 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน

หลักยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) จะดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 โดยยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งในเมืองหลัก 6 แห่งในภูมิภาค การพัฒนาระบบรางระหว่างเมืองเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ให้แล้วเสร็จตามแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟและรถไฟฟ้า (TOD) รวมไปถึงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ส่งเสริมระบบโลจิสติกส์และการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาโครงข่ายระบบราง ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การจัดหารถโดยสารประจำทางที่ใช้พลังงานไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง และการเข้าถึงระบบขนส่งของคนทุกกลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะให้มีการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่คนทุกกลุ่ม


@ “ระบบราง-มอเตอร์เวย์ ต้องพัฒนาต่อเนื่อง”

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละโครงการมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก และหลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง แผนระยะกลางและแผนระยะยาว ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางบก ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท

ไฮไลต์ยังคงเป็นการลงทุนระบบราง ตามแผนแม่บทการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กม. โดยเปิดให้บริการแล้ว 11 สาย ระยะทาง 212 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 สาย ได้แก่ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีแผนจะเปิดให้บริการในต้นปี 2566, สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีแผนจะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2568 และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน อยู่ในขั้นตอนประมูล เตรียมเสนอขออนุมัติดำเนินการอีก 5 สาย ได้แก่ สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์, สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

@ ลงทุนทางคู่ เป้าหมายปฏิรูประบบรถไฟไทย

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ถือเป็นการปฏิรูประบบรถไฟทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ อยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้างระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จ 5 เส้นทาง ประกอบด้วย ลพบุรี-ปากน้ำโพ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ นครปฐม-หัวหิน หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้มีทางคู่เพิ่มขึ้นเป็น 1,111 กม.

และเริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทางรวม 678 กม. วงเงินรวม 128,378 ล้านบาท

และผลักดันโครงการทางคู่ ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กม. วงเงินรวมกว่า 266,975 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนศึกษา และทยอยเสนอขออนุมัติดำเนินการ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จทั้งหมดตามแผนจะทำให้ประเทศไทยมีเส้นทางรถไฟทางคู่มากกว่า 3,200 กม. ทั่วประเทศ เติมเต็มโครงข่ายรถไฟทางคู่ ส่งเสริมให้เกิดการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางจากจำนวน 10 ล้านตัน/ปี เป็น 20 ล้านตัน/ปี และกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวหันมาใช้รถไฟในการเดินทางเพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านคน/ปี เป็น 80 ล้านคน/ปี


@ รถไฟความเร็วสูง เชื่อมท่องเที่ยว-การค้า "ไทย อาเซียน และจีน"

มาที่รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน กำลังก่อสร้าง ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) 253 กม. งบลงทุน 179,412 ล้านบาท เปิดบริการในปี 2570-2571 ช่วงที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 356 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และระยะที่ 3 จากหนองคาย-เวียงจันทน์ ระยะทาง 16 กม. ซึ่งจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ อยู่ระหว่างเจรจาเตรียมออกแบบสะพาน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. ยังอยู่ในแผนดำเนินการเร่งรัดแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ และการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะช่วยส่งเสริมในด้านการค้า การขนส่ง และช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว กระจายรายได้ไปสู่ชุมชนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีไฮสปีดเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุน และแผนระยะกลาง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หัวหิน 211 กม., พิษณุโลก-เชียงใหม่ 288 กม. สถานะ อยู่ระหว่างหาข้อสรุปรูปแบบการลงทุน และแผนระยะยาว 2 เส้นทาง ได้แก่ หัวหิน-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 424 กม. และสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 335 กม. อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนความเหมาะสม

ทางถนน จะมีการลงทุนมอเตอร์เวย์ M5 ต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ระยะทาง 22 กม. มูลค่า 28,700 ล้านบาท, M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 36 กม. มูลค่า 56,035 ล้านบาท โดยใช้รูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน และ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงิน 4,508 ล้านบาท เส้นทางนี้รัฐลงทุนเอง

ทางน้ำ เร่งรัดการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F เพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี รองรับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น มีเป้าหมายเปิดให้บริการปี 2568, พัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น Smart Port, พัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เป็นศูนย์การขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ จากรถบรรทุกสู่รถไฟ มีพื้นที่ศักยภาพ 4 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา โดยรูปแบบรัฐร่วมทุนเอกชน

ทางอากาศ เร่งรัดการก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ รับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี, พัฒนาสนามบินดอนเมือง เฟส 3 รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน/ปี วงเงินลงทุน 32,292 ล้านบาท, พัฒนาสนามบินภูเก็ต เฟส 2 รองรับผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปีจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี


@ ดันแผน MR MAP/แลนด์บริดจ์ “ชุมพร-ระนอง” คิกออฟปี 66 เสริมแกร่ง ศก.ปท.ไทยดันฮับภูมิภาค

“ปัญญา ชูพานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การทำแผนพัฒนาโครงการคมนาคมในระยะที่ 2 ช่วงปี 2566-2570 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในส่วน สนข.นั้นจะนำโครงการที่มีตามแผนระยะที่ 1 และโครงการใหม่มาประมวล โดยมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลความต้องการในกลุ่มจังหวัดทั้ง 5 ภาค เพื่อนำมาวิเคราะห์ และจัดทำแผนโครงการ โดยปรับไทม์ไลน์ จัดเฟส แผนการดำเนินงาน และการลงทุน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไป

“แผนปฏิบัติการระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) จะยังมุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายทางบก ราง น้ำ อากาศ ที่เป็นโครงการต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR MAP) และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง) ที่คาดว่าจะดำเนินการในช่วง 5 ปีต่อจากนี้”

ส่วนโครงการไฮสปีด “สายเหนือและสายใต้” จะมีการทบทวนและปรับไทม์ไลน์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งล่าสุด ฝ่ายมาเลเซียแจ้งความประสงค์ที่ต้องการจะเชื่อมต่อ "ไฮสปีด" กับประเทศไทย ที่ "ปาดังเบซาร์" ต่อมายัง "หาดใหญ่" เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งไปยัง สปป.ลาว และจีน ส่วนรถไฟทางคู่ มาเลเซีย ต้องการเชื่อมต่อรถไฟกับไทยที่ "สุไหงโก-ลก" ซึ่งรฟท.มีความพร้อมในการเชื่อมต่อ เนื่องจากมีเส้นทางรถไฟเดิมอยู่ แต่ไม่ได้ใช้งานมานาน ส่วนหัวจักร ขบวนรถ ทาง รฟท.มีความพร้อม ซึ่งทางมาเลเซียมองว่าจะเป็นอีกเส้นทางขนส่งสินค้ารถไฟ เชื่อมมาเลย์ ไทย ลาว จีน

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือจากการส่งออก และการท่องเที่ยว ฯลฯ และยังดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาอีกด้วย รวมไปถึงเกิดการสร้างงาน จ้างแรงงาน มีการกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ และเมื่อโครงการสำเร็จตามเป้าหมายจะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกมิติ

แต่ต้องยอมรับว่าบางโครงการมีมูลค่าการลงทุนสูงหลายแสนล้านบาท เช่น MR -Map และแลนด์บริดจ์ การที่นักลงทุนข้ามชาติจะตัดสินใจคงไม่ง่ายและอาจต้องใช้เวลา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทุกประเทศต้องการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ดังนั้น การจัดการเรื่องกฎระเบียบ กติกา และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่ช่วยอำนวยความสะดวก เป็นอีกปัจจัยที่จะกระตุ้น และจูงใจนักลงทุนและทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมของอาเซียนได้ตามเป้าหมาย!!!




  • แผนลงทุน
  • MR MAP
  • แลนด์บริดจ์
  • คมนาคม