สิ่งสำคัญของอาชีพbartender

เผยแพร่: 17 ก.ย. 2551 01:49   โดย: MGR Online

สิ่งสำคัญของอาชีพbartender

คุณเคยเป็นไหม ความคิดที่แวบเข้ามาในชั่วขณะหนึ่ง เรามีตัวตนจริงหรือ? ... ตะโกนจนเสียงแหบแห้ง ก็ไม่มีใครได้ยินหรือแม้เพียงปฏิกิริยาโต้ตอบในทางใดทางหนึ่งให้ใจชื้นว่าเราคือเผ่าพันธุ์เดียวกัน ...คุณเคยเป็นไหม ในยามที่ก้าวออกไปสู่สังคมอื่นๆ คุณดูแปลกแยก... และคุณเคยเป็นไหม ในยามที่เดินร่วมกับผู้คนในสังคม คุณรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า.... เหล่าเสียงกระซิบจากหลังบาร์ คล้ายจะเป็นอารมณ์ตัดพ้อลอยเข้ามาในยามค่ำคืนหนึ่ง ขณะกำลังดื่มด่ำกับค็อกเทลหอมหวานและเพลิดเพลินกับสีสันสวยงามราวกับรุ้งงามที่ฟ้าและฝนร่วมกันถักทอ....

ตัดใจทิ้งค็อกเทลชั่วครู่ลองเดินตามเสียงตัดพ้อไปจนถึงหลังบาร์ และที่นั่นทำให้เราได้พบกับชุมชนคนหลังบาร์ เรื่องราวและความใฝ่ฝันของพวกเขา Bartender & Bartendy ทูตแห่งความสุขของนักดื่มค็อกเทล

ร่างเงาคนหลังบาร์

"Bartender" อาชีพของคนกลางคืนที่หลายคนมองว่า ก็แค่เป็นคนชงเหล้า ตามผับบาร์ บ้างก็ไต่เต้ามาจากการเป็นเด็กเสิร์ฟ บ้างก็จบหลักสูตรบาร์เทนเดอร์มาโดยตรง แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่ากว่าจะเป็น "Bartender" มืออาชีพ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

"ถ้าเป็นผู้ชายจะเรียกว่า Bartender และถ้าเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า Bartendy แต่บางคนจะเรียกเราว่าคนชงเหล้า ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขา แต่เรารู้ว่าเราเป็นมากกว่าคนชงเหล้า" เป็นเสียงที่ชัดเจนและหนักแน่นขึ้นตามแรงอารมณ์ที่บ่มเพาะความกดดันจากประสบการณ์ที่พบเจอ "ในความเป็นจริงของชีวิต เราไม่เพียงแต่แค่บริการและเสิร์ฟความหอมหวานและสีสันสวยงามเท่านั้น แต่เราเป็นมากกว่านั้น เราเป็นเพื่อนคอยเตือนสตินักดื่มถึงความรับผิดชอบหลังการดื่ม เราเป็นนักจิตวิทยาในสถานบันเทิงที่รับฟังปัญหานักดื่มที่มักจะพรั่งพรูความในใจออกมายามผ่อนคลาย"

ภาษิต ลิ่มต่อ ประธานชมรม Samui Flair Monster Bartender Club เปิดเผยถึงวิถีชุมชนคนหลังบาร์ว่า "พวกเราเป็นคนทำงานกลางคืนครับ แม้จะเริ่มงานตั้งแต่ฟ้ายังไม่มืด แต่ก็ถือว่าเป็นคนกลางคืน ก็ผู้คนเขาพักผ่อนดื่มกินกันยามค่ำคืน เราก็เลยกลายเป็นคนกลางคืนไปด้วย ต้องปรับตัวเยอะครับ แต่เราเลือกที่จะเป็น และเลือกที่จะเดินแล้ว ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ชีวิตของพวกเราเริ่มต้นตั้งแต่ 4 โมงเย็นครับเดินตามนาฬิกาไปเรื่อยจนถึงเที่ยงคืน เช็คของ เก็บของกลับไปพักผ่อน แรกๆ ก็หลับเป็นตายจนถึงเที่ยงของอีกวัน ตื่นขึ้นมาทำกิจวัตรส่วนตัวประจำวัน หาอาหารใส่ท้อง ไปยืนหลังบาร์แล้วก็ทำหน้าที่เอนเตอร์เทนให้ผู้คนยามค่ำคืน"

ชีวิตของพวกเขาหมุนวนด้วยเรื่องซ้ำๆ ทำนองนี้ จนวันหนึ่งเมื่อชีวิตอยู่ตัว ก็เริ่มมีกิจกรรมนอกวงโคจรเดิมๆ พวกเขาเริ่มสังสรรค์หลังเลิกงาน จากกลุ่มเล็กๆ 2-3 คน จนมากขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่เกือบ 30 คน และก็เริ่มมีแนวคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาและผลักชีวิตให้ออกนอกกรอบที่เป็นอยู่ โดยที่สิงสถิตคือบ้านของภาษิตเอง

จากที่ตื่นในตอนเที่ยงวัน พวกเขาก็ปรับชีวิต ตื่นเช้าขึ้นและเริ่มฝึกการโยนขวด เพื่อไว้โชว์ลูกค้า ซึ่งนั่นหมายถึงทิปพิเศษ ต่อมาการโยนขวดกลายเป็นความสนุกสนาน ความมุ่งมั่น เพราะเริ่มมีเวทีประกวด และเวทีประกวดนี่เองที่จุดไฟแห่งความฝันของพวกเขาขึ้นมา เหล่าบาร์เท็นเดอร์หลายคนเริ่มหาเวทีประกวด และเริ่มการฝึกทักษะอื่นๆ ในสายอาชีพ รวมถึงการพูดคุยในแนวทางการพัฒนาและยกระดับอาชีพนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ภาษิตเล่าว่า น้องใหม่ที่เข้ามาในกลุ่มมักจะเจอปัญหาเดียวกันคือ เวลาชีวิตเดินสวนทางกับคนส่วนใหญ่ในสังคม ทำให้ไม่มีเพื่อนในกลุ่มสังคมคนกลางวัน ที่เคยมีก็ห่างไกลกันไป และมักจะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ ที่ ร้ายกาจกว่านั้นก็คือ ถูกทำร้ายด้วยวาจาเสมอๆ อาทิ "เป็นผู้ชายกลางคืนเหรอ..แล้วทำอะไรบ้างล่ะ?"

"เพื่อนบางคนที่หวังดีก็จะบอกให้เลิกจากงานนี้ แต่ชีวิตและความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า จะค่อยๆ คลายไป เมื่อเรามาอยู่สังคมเดียวกันในชุมชนคนหลังบาร์นี้ พวกเราได้แต่ฝันว่า คงมีสักวันที่จะได้ยืนในสังคมอย่างภาคภูมิใจสูงสุดในอาชีพ โดยที่ไม่ต้องแอบอิงแต่กับชุมชนคนหลังบาร์เหมือนที่เป็นอยู่เฉกเช่นทุกวันนี้"

"สังคมควรให้โอกาสคนในอาชีพนี้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนผสมเครื่องดื่มอยู่หลังบาร์เท่านั้น แต่หน้าที่ Bartender มืออาชีพต้องเป็นเพื่อนกับลูกค้าซึ่งมีความหมายมากนะครับ เราเป็นทั้งที่ระบายทุกข์ของเพื่อน คอยดูแลสุขภาพเพื่อน ขับรถไปส่งเมื่อเพื่อนเมา เพื่อให้เขาได้มีโอกาสกลับมาหาเราได้อีก มีวิธีคุยกับลูกค้าบอกให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าขับรถไปในสภาพแบบนี้ คนที่บ้านจะเดือดร้อน คนบนถนนด้วยกันก็เดือดร้อนแล้วก็ไม่ได้กลับมานั่งที่นี่อีก เขาเชื่อใจเราเมื่อเราทำตัวเป็นเพื่อนเขาครับ

สำหรับเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามดื่ม ผมว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุครับ ปิดกั้นกันไม่ได้หรอก คนจะดื่มยังไงก็ดื่ม ไม่ว่าจะห้ามโฆษณา ห้ามขาย ก็ต้องดิ้นรนหาทางจนได้ เพราะช่องทางอื่นยังมีอีกเยอะแยะ การที่คนในครอบครัวดื่มน่ะจูงใจมากกว่าโฆษณาอีกครับ ผมมองว่าสถาบันครอบครัวที่แข็งแรงจะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดีกว่า และอีกด้านหนึ่งผมคิดว่าความรักจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ พ่อรักลูก สามีรักภรรยา ความรักจะทำให้คนดื่มอย่างมีความรับผิดชอบครับ"

โชคดีที่ทุกวันนี้ มีเวทีที่เปิดโอกาสให้เหล่าคนหลังบาร์อย่าง Bartender & Bartendy อย่างพวกเขาได้แสดงความสามารถมากขึ้น นั่นคือเวทีการแข่งขันบาร์เทนเดอร์ชิงแชมป์ระดับประเทศ

เปิ้ล - พรนิชา บัวดวง Batendy หนึ่งในผู้ประกวดบนเวทีนี้ปี 2007 ได้เปิดอีกมุมมองหนึ่งว่า แม้ไม่ได้รับรางวัลใดจากเวทีประกวดครั้งนั้น ก็ไม่เสียใจ ที่เข้ามาประกวดเพราะต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ และสิ่งที่ได้คือ เพื่อน และสิ่งสำคัญที่ได้มากกว่านั้นคือ การเรียนรู้ประเภทของเครื่องดื่มจากการอบรมของดิอาจิโอฯ เกี่ยวกับการดื่มมาตรฐาน และ การดูแลนักดื่มให้สามารถรับผิดชอบตัวเองและสังคมรอบข้าง

"อาชีพนี้เป็นความฝันของหนูค่ะ เรียนจบการโรงแรม แล้วก็สมัครเป็น Batendy เลยค่ะ หนูทำงานในโรงแรมที่จังหวัดเพชรบุรี โอกาสต่างๆ จึงไปไม่ค่อยถึง พอรู้ว่ามีเวทีประกวด ก็มาเลยค่ะ ตื่นเต้นมาก การมาประกวดครั้งนี้ทำให้ได้เปิดหูเปิดตาเด็กบ้านนอกอย่างหนูมากเลยค่ะ หนูได้เอาความรู้ที่ดิอาจิโอฯ อบรมไปใช้แน่ๆ เพราะเป็นประวัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และวิธีการดื่มที่พอเพียง หรือที่เรียกว่าดื่มมาตรฐาน ที่โรงแรมที่หนูทำงาน คนไทยเยอะค่ะ ส่วนใหญ่จะดื่มเกินขนาด เกินมาตรฐาน แต่เราจะมีวิธีบอกกับเขาค่ะ บอกอย่างนุ่มนวล ส่วนใหญ่เขาก็จะฟังนะคะ เราห้ามเขาดื่มไม่ได้ค่ะ ผิดกฎโรงแรม"

ทางด้าน

แหม่ม-ธัญชนก บานไธสง Batendy ที่ขึ้นสู่เวทีประกวดปี 2008 ในรอบภาคกลาง พร้อมกับ ค็อกเทลชื่อ Big Berry มาพร้อมกองเชียร์ เผยถึงความรู้สึกว่า "ตอนนี้ทำงานประจำโรงแรมค่ะ เริ่มต้นจากเป็นประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร แล้วก็ทำงานที่บาร์ ที่นี่โชคดีได้รุ่นพี่ Bartender ที่เป็นแชมป์ช่วยสอนก็เลยเรียนรู้ได้รวดเร็วค่ะ เคยเปลี่ยนไปทำงานด้าน HR แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ ก็เลยวนกลับมาในวงการอีกครั้ง เริ่มที่โรงแรมนี่แหละค่ะ จริงๆ แล้ว ชอบงานด้านการตลาดมากกว่า

"เมืองไทยยังมีการปิดกั้นสังคมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้อาชีพนี้ถูกปิดกั้นไปด้วย คนไทยดื่มไม่เป็น ดื่มเพื่อให้เมา ดื่มเพื่อแก้ปัญหา แต่จริงๆ แล้ว การดื่มเหล้าสมัยโบราณเพื่อให้เป็นยา ฝรั่งเขาดื่มเป็น ดังนั้นสังคมจะต่างกัน ลูกค้าที่โรงแรมเป็นฝรั่ง ไม่เกิดปัญหา เพราะเขาจะดื่มเป็น ก็มีแนะนำลูกค้าบ้าง เช่น ดื่มค็อกเทลอย่างไรจะดีกับสุขภาพ หรือแนะนำให้ดื่มค็อกเทลประเภทที่มีน้ำผลไม้เป็นส่วนผสมมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้สดชื่นขึ้นค่ะ"

ปรากฏร่าง ใช่ความฝัน

ชีวิตที่ดิ้นรนและหมุนวนในเมรัยสีสวยๆ หอมหวาน แม้เคยคิดจะไปในเส้นทางอื่น แต่ความฝันที่ต้องไปให้ถึงเพียงเพื่อต้องการที่ยืนในสังคม อาชีพบาร์เทนเดอร์ในสังคมไทยอาจเหมือนไร้ตัวตน แต่จริงแล้วมีอยู่ เป็นอาชีพที่แม้มีชีวิตแตกต่างเป็นของตัวเอง แต่ก็มีความใฝ่ฝันเช่นเดียวกันชีวิตอื่นในสังคมเช่นกัน แม้อาจเป็นเพียงคนกลางคืน ซึ่งไม่ต่างจากผีเสื้อกลางคืนเท่าใดนัก แต่พวกเขาก็เป็นอีกหนึ่งแรงดูดของโลกยามราตรี

สมควร พันธุ์อภิสิทธิ์ Project Manager Web Master www.bartenderthai.com ผู้เปิดโลก Bartender ให้สังคมได้รู้จักทั้งบนเวทีการแข่งขันและในโลกออนไลน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาชิกเว็บไซต์ที่เป็นกลุ่ม Bartender ประมาณ 130 คน จากหลากหลายที่มา ทั้งจากโรงแรม ผับ บาร์ ร้านอาหาร

"สำหรับผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่นี่ ในส่วนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกประจำตอนนี้ก็ประมาณ 4 พันครับ เรื่องราวที่เราพยายามตอกย้ำทั้งในเว็บไซต์และในการ Training ทุกครั้ง คือ การเป็น Bartender มืออาชีพ ที่ไม่ได้เป็นแค่คนชงเหล้าเก่ง หรือดื่มเหล้าเก่งเท่านั้น มันมีองค์ประกอบที่มากกว่านั้น โดยเฉพาะ Bartender ในเมืองไทย ที่หากจะนับจำนวนบุคลากรในวงการ Bartender&B artendy เฉพาะโรงแรมแต่ละที่ต้องมีอย่างน้อยๆ 5 คน ทั่วประเทศก็นับแสนคนได้ครับ"

สมควรยอมรับว่า วงการบาร์เท็นเดอร์ของไทยยังต้องมีการพัฒนาและปรับตัวอีกหลายด้าน ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันคือ การให้ความรู้เกี่ยวกับประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องรู้ประวัติและคุณสมบัติของเครื่องดื่มแต่ละประเภท เรียนรู้เรื่องแก้วใส่ค็อกเทล การฝึกทักษะในการดูแลลูกค้า หรือที่เรียกว่าต้องเอ็นเตอร์เทนด้วยลีลาการชงเหล้า การแสดงต่างๆ การโยนขวด ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความเพลิดเพลินและเกิดความประทับใจ นอกเหนือไปจากรสชาติของค็อกเทล ซึ่งหากมีทั้งสองส่วนถูกใจลูกค้า ก็จะสามารถดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาอีกครั้ง หรือมีการบอกต่อๆ กันไป "เรื่องภาษาก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ยังมีการต้องพัฒนากันอยู่ครับ"

การดูแลลูกค้านอกเหนือไปจากกรอบของหน้าที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นพี่ Bartender ก็คือ จริยธรรมในการทำงาน ไม่ใช่หน้าที่ ไม่ทำก็ไม่ผิด แต่สิ่งที่พวกเขายึดมั่นอยู่ในหัวใจตลอดเวลาขณะทำงาน คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าไม่เกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยวิธีการของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป "เราจะทำเท่าที่เราทำได้ เช่น หากลูกค้าพักในโรงแรม เราก็จะปล่อยให้เขาดื่มกินเต็มที่ แต่หากเป็นลูกค้าที่พักที่อื่นและขับรถมา เราก็จะดูว่า มีคนขับรถมาด้วยไหม หากไม่มีเราก็จะมีวิธีการทำให้ลูกค้าสร่างเมา มีสติขึ้นก่อนขับรถกลับ เช่น ให้ดื่มน้ำเยอะๆ ใช้ผ้าประคบน้ำอุ่นเช็ดหน้าและต้นคอ ซึ่งจะช่วยทำให้ดีขึ้น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกให้เขาหยุดดื่มครับ นอกจากช่วยในด้านอื่นๆ ที่พอจะบรรเทาลงไปได้บ้างครับ"

"กว่า 7 ปีแล้วครับ ที่อยู่ในวงการนี้ ผมจำได้แม่นยำวันที่ทำให้ชีวิตผมก้าวสู่อาชีพ Bartender อย่างจริงจัง วันนั้นลูกค้าถามผมว่า เบียร์ยี่ห้อที่เขากำลังดื่ม มีกี่ดีกรี แล้วผมตอบไม่ได้ ผมอายครับ ผมเลย ตั้งมั่นว่า ผมจะต้องเรียนรู้และศึกษาการเป็น Bartender ให้มากกว่านี้ วันนี้ผมทำได้แล้ว ภูมิใจครับ ไม่ใช่จากรางวัลบนเวทีประกวดที่ผมได้รับตำแหน่งรองแชมป์ Bartender ประเทศไทย เมื่อปี 2005 นะครับ แต่ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Bartender ไทยให้สังคมรู้จักในแง่มุมของบทบาทและความสำคัญที่มีต่อนักดื่มมากขึ้น ผมคิดจะเปิดโรงเรียนสอนเกี่ยวกับอาชีพบาร์เทนเดอร์ สอนให้ฟรีครับ เพื่อช่วยสานฝัน Bartender ไทยให้ก้าวสู่สังคมอย่างมีตัวตนที่พูดอะไรก็มีคนได้ยิน ทำอะไรก็มีคนจับตามอง ตอนนี้คือหาผู้สนับสนุนอยู่ครับ เพราะด้วยตัวผมเอง มีแต่ความตั้งใจครับ แต่กำลังและเงินทุนคงจะยังไม่ถึง แต่ผมก็ยังมีความฝันอยู่นะครับ ฝันที่จะปรากฏร่างอย่างสง่าผ่าเผยในสังคม ซึ่งเป็นฝันเดียวกับคนหลังบาร์ทุกคนครับ"

รอยต่อของรางวัล

เวทีประกวด..... ที่ต้องการเพียงแชมป์ คือสนามที่ทุกคนใฝ่ฝันจะได้สัมผัส เพราะมิเพียงแค่รางวัล แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจ เพราะนี่คือการทำฝันให้เป็นจริง ไม่ใช่แค่เงาร่างที่อยู่หลังบาร์เท่านั้น เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การประกวดในเวทีต่างๆ ดูจะเป็นทางออกเดียวในเวลานี้ ที่เห็นเป็นรูปธรรมและก้าวไปได้เร็วที่สุดในการที่จะช่วยยกระดับอาชีพบาร์เทนเดอร์ และสานฝันของคนหลังบาร์ให้เป็นจริงได้

การแข่งขัน Bartender ชิงแชมป์ประเทศไทย ที่จัดขึ้น โดย สมาคมโรงแรมไทย ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ดูจะเป็นเวทีที่ถูกใฝ่ฝันถึงมากที่สุด และปีนี้เวทีการแข่งขันดังกล่าวได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และมีความพิเศษยิ่งกว่าทุกปี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวกลับมาคึกคัก

ประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ในสภาวะที่การเมืองส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขณะนี้ ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันช่วยฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทยให้มากที่สุด ดังนั้น การแข่งขัน Bartender ชิงแชมป์ประเทศไทยปีนี้ จึงมีความพิเศษยิ่งขึ้น คือการแข่งขัน Signature Drink ที่ใช้ "สเมอร์นอฟ" ซึ่งเป็นวอดก้าอันดับหนึ่งของโลกเป็นส่วนผสมหลัก และเตรียมที่จะกำหนดให้รางวัลชนะเลิศ Signature Drink เป็นเอกลักษณ์ของค็อกเทลไทย

ทั้งนี้ ทางสมาคมผู้จัดงานจะทำการเผยแพร่เอกลักษณ์ดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านทางเครือข่ายทั่วประเทศ และผ่านBartender ที่ประจำโรงแรม สถานบริการ ผับ บาร์ ร้านอาหาร ซึ่งมีจำนวนกว่าแสนคนทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเพิ่มการแข่งขันประเภทบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะบุคลากรของโรงแรมเท่านั้น รูปแบบการแข่งขันจะมีทั้งประเภท คลาสสิค (เน้นสูตรเครื่องดื่ม) และประเภทแฟลร์ (ประกอบลีลาท่าทาง)

"ค็อกเทล เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก ยิ่งหากสามารถทำให้เป็นที่รู้จัก พร้อมทั้งผสมผสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ประกอบกับลีลาที่สนุกสนาน จะสามารถใช้เป็นจุดขายที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งค็อกเทลยอดนิยมก็ต้องเสิร์ฟโดย Bartender มืออาชีพที่ได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ"

ด้าน

วิมลวรรณ อุดมพร รองประธานกรรมการบริหาร ด้านรัฐกิจและนิเทศสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอฯ กล่าวว่า ปีนี้เป็นการเปิดมิติใหม่เอกลักษณ์ของความเป็นไทย ในการแข่งขัน Signature Drink ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีของการท่องเที่ยวไทยอีกมุมมองหนึ่ง การแข่งขัน Bartender ปีนี้จึงได้ปรับประยุกต์เพื่อขานรับนโยบายของ ททท. ที่จะกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยว โดยสิ่งที่ทำได้เร่งด่วนที่สุดคือ การสร้างเอกลักษณ์ไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นกระบอกเสียงอีกทางหนึ่งที่จะช่วยกล่าวขานถึงเมืองไทยในแง่มุมของความประทับใจ "โดยเฉพาะธรรมชาติของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เยือนเมืองไทย มักจะมาพักผ่อนหย่อนใจในสถานบริการ สถานที่บันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว และ Signature Drink เอกลักษณ์ของไทยนี้จะได้รับการเสริฟโดย Bartender นับแสนคนทั่วประเทศ ที่ประจำอยู่ตามสถานที่ยอดนิยมเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้ได้รับการกล่าวขานถึงอย่างรวดเร็วในกลุ่มนักท่องเที่ยว"

การแข่งขันบาร์เทนเดอร์รอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 กันยายน ศกนี้ ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยผู้เข้าแข่งขันคือผู้ชนะอันดับ 1 - 3 ประจำภาคต่างๆ จากการแข่งขันระดับภูมิภาคทั่วประเทศ นอกจากจะได้รับเงินรางวัลแล้ว ผู้ชนะเลิศประเภทโรงแรมจะไปแข่งขันชิงแชมป์ที่ประเทศออสเตรเลีย และผู้ชนะเลิศประเภทบุคคลจะไปแข่งขันที่ประเทศอังกฤษในการแข่งขันชิงแชมป์บาร์เทนเดอร์โลกต่อไป

Bartender & Bartendy ปรากฏร่างในสังคมไทยชัดเจนขึ้นทุกขณะ มิได้รู้สึกแปลกแยกดังในอดีต และยังพอมองเห็นอนาคตที่จะก้าวขึ้นทัดเทียมกับต่างประเทศ ด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ที่เห็นความสำคัญ และตระหนักถึงบทบาทของ Bartender ที่มีต่อนักดื่มพลเมืองส่วนใหญ่ของสังคม จึงเป็นพลวัตรที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป หาใช่แค่เพียงแค่ชุมชนกลุ่มคนหลังบาร์หลากหลายกลุ่ม ที่รวมตัวกันมานานนับสิบปี เฝ้ารอวันที่จะก้าวเดินในสังคมได้อย่างภาคภูมิ













อะไรคือส่งสำคัญของอาชีพBartender

ความสำคัญของอาชีพนี้คือความจำ แต่มันมีมากกว่าการที่เราจำแค่ชื่อเหล้า หรือส่วนผสม เพราะมันมีเหล้าหลาย ๆ ประเภทที่มีคาเรคเตอร์เป็นของตัวเอง ดังนั้นแล้วบาร์เทนเดอร์ก็เป็นเหมือนเซลล์อย่างหนึ่ง ที่จะต้องขายให้ตอบโจทย์กับลูกค้า อย่างวันนี้เดินเข้ามาอยากจะดื่มเหล้าที่มีกลิ่นสโมคกี้ มีความหวานประมาณหนึ่ง ถ้าเราไม่รู้ในเรื่อง ...

บาร์เทนเดอร์มีอะไรบ้าง

Bartender จิตรกรแต่งแต้มสีสันบนเครื่องดื่ม.
Cocktail Shaker (ค็อกเทล เช็คเกอร์) กระบอกสำหรับเขย่าเหล้าผสม.
Bar Spoon (ช้อนบาร์) ช้อนเล็ก เรียวด้ามยาวสำหรับใช้คนเครื่องดื่มผสม.
Jigger (ที่ตวงเหล้า).
Mixing Glass (แก้วผสม) เป็นแก้วทรงกระบอกสำหรับการคนให้เข้ากัน ใช้เฉพาะค็อกเทลบางตัวเท่านั้น.

บาร์เทนเดอร์ ต้องทำอะไรบ้าง

ตรวจสอบอายุของลูกค้า เพื่อตรวจสอบว่าสามารถสั่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หรือไม่.
รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า เพื่อเตรียมเครื่องดื่ม.
ผสมเครื่องดื่มที่ลูกค้าสั่ง ตามสูตรของทางร้าน.
พัฒนาสูตรเครื่องดื่มชนิดใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า.
ดูแลความเรียบร้อยภายในร้าน รวมทั้งเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ.

บาร์เทนเดอร์ หญิง เรียกว่าอะไร

Bartender หญิงหรือเรียกว่า Barmaid ที่มีอายุมากที่สุดในโลก อยู่ที่ประเทศอังกฤษ (บ้านเราเรียก Bartender หญิงว่า Bartendy ) เธอชื่อว่า Dolly Saville ทำงานเป็น Barmaid มา กว่า74ปี โดยเธอเริ่มทำงาน ตอนอายุ 26 ปี (1940)อายุครบ 100ปี เมื่อ ปี 2014 นี่เอง แม้ลูกหลานอยากให้เธอหยุดทำแต่เธอบอก