พร บ ค้ามนุษย์ ฉบับ ปัจจุบัน

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่มีต่อศักยภาพในการปราบปรามการค้ามนุษย์ พบว่า ในภาพรวม รัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานที่แล้ว จึงเห็นสมควรยกระดับให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ 2 ความพยายามเหล่านี้ประกอบไปด้วยการเพิ่มจำนวนการสืบสวนสอบสวนกรณีค้ามนุษย์ การจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) เสร็จสมบูรณ์ โดยขยายระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง (reflection period) เป็น 45 วัน การจัดทำแนวทางปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับใช้แรงงานในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เสร็จสมบูรณ์ ตลอดจนการเริ่มกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ 17 รายที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ในปี 2564 และตัดสินให้ 2 รายได้รับโทษจำคุก นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แห่งใหม่ พัฒนาแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่แรงงานเพื่อส่งต่อผู้ที่สงสัยว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไปยังคณะสหวิชาชีพ ตลอดจนระบุผู้เสียหายได้มากกว่าช่วงการรายงานที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในหลายด้านสำคัญ การดำเนินคดีค้ามนุษย์และพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานที่แล้ว แม้ว่าจะมีการรายงานว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวมักจะถูกบังคับใช้แรงงานในหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่การสัมภาษณ์ที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายและไร้ประสิทธิผลในระหว่างการตรวจแรงงานส่งผลให้ไม่สามารถระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจำนวนมากได้ เจ้าหน้าที่มักจะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และทางการไทยไม่เคยรายงานว่า ได้ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอันเป็นผลมาจากการตรวจเรือประมงที่ท่าเรือ การให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้เสียหายโดยรัฐยังคงมีช่องว่างสำคัญ และผู้เสียหายบางส่วนซึ่งพักอยู่ในสถานพักพิงของรัฐขาดเสรีภาพในการเดินทาง การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงขัดขวางความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์

ข้อเสนอแนะสำคัญ

ไทยควรเพิ่มจำนวนการดำเนินคดีค้ามนุษย์และพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะในการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตลอดจนฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และตรวจสอบว่า มีการใช้แนวทางปฏิบัติใหม่ตามมาตรา 6/1 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมทั้งระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิผล ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า คณะสหวิชาชีพประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์การทำงานในคดีค้ามนุษย์อย่างเพียงพอเพื่อปรับปรุงประสิทธิผลในการระบุผู้เสียหาย ไทยควรสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีในเชิงรุกต่อเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ และดำเนินการพิพากษาและลงโทษอย่างเหมาะสมแก่ผู้ที่พบว่ามีความผิดจริง ไทยควรอนุญาตให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ สามารถเดินทางเข้าออกสถานพักพิง และเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้โดยเสรีมากขึ้น รวมทั้งทบทวนการจัดให้ผู้เสียหายอยู่ในสถานพักพิงเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เสียหายจะไม่ต้องคงอยู่ในสถานพักพิงนานเกินความจำเป็น ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามขั้นตอนการดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจขณะสัมภาษณ์ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงขณะตรวจแรงงานด้วย นอกจากนี้ ยังควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า มีการใช้กลไกการส่งต่อระดับชาติอย่างมีประสิทธิผล และขยายระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรองให้แก่ผู้เสียหายตามแผนปฏิบัติการใหม่ ไทยควรเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ให้แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในหัวข้อที่ยังขาดความเข้าใจอยู่ เช่น การบีบบังคับด้วยหนี้ การบังคับใช้ทำงานล่วงเวลามากเกินไป การยึดเอกสารต่าง ๆ และการไม่จ่ายค่าจ้าง ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า สถานพักพิงของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจอย่างเพียงพอและเฉพาะแต่ละบุคคล เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการดูแลทางจิตใจ ตลอดจนกำหนดนโยบายการให้บริการผู้เสียหายที่เหมือนกันในสถานพักพิงทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังควรตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า มีการสืบสวนสอบสวนการละเมิดแรงงานและตรวจสอบคำร้องเรียนของแรงงานต่างด้าวซึ่งมีข้อบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน เพื่อระบุอาชญากรรมการค้ามนุษย์ โดยรวมถึงการบังคับใช้ขั้นตอนสำหรับเจ้าหน้าที่แรงงานในการส่งต่อกรณีต้องสงสัยค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปยังคณะสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไทยควรเพิ่มทางเลือกตามกฎหมายแทนการจัดให้ผู้เสียหายชาวต่างชาติอยู่ในสถานพักพิง เช่น อนุญาตให้ผู้เสียหายออกจากระบบสถานพักพิงได้เมื่อพร้อมหาโอกาสการจ้างงานภายนอก ไทยไม่ควรกำหนดให้มีการระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและอนุญาตให้เข้าถึงบริการต่าง ๆ เฉพาะเมื่อผู้เสียหายเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนนักค้ามนุษย์ที่กระทำผิดต่อตนเท่านั้น ไทยควรบังคับให้มีการจ่ายค่าแรงอย่างสม่ำเสมอ มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว และให้ลูกจ้างเป็นผู้ถือครองเอกสารประจำตัวและเอกสารทางการเงิน รวมทั้งสัญญาของตนเอง นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้เสียหายและกลุ่มสนับสนุนผู้เสียหายรายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์ได้ โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกนายจ้างฟ้องเท็จเพื่อแก้แค้น รวมไปถึงการใช้กฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อยกฟ้องคดีที่มีการยื่นคำร้องโดยมีเจตนาไม่สุจริต หรือเพื่อข่มขู่จำเลย

การดำเนินคดี

แม้ว่ารัฐบาลได้เพิ่มความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย แต่กลับดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์น้อยกว่าเมื่อปี 2563 ทั้งนี้ มาตรา 6 ของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุว่า การค้ามนุษย์ทางเพศและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นความผิดอาญา อีกทั้งยังกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 4-12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-1,200,000 บาท (11,980-35,930 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ และกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6-20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000-2,000,000 บาท (17,960-59,880 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก บทลงโทษดังกล่าวเข้มงวดเพียงพอ และสำหรับกรณีการค้ามนุษย์ทางเพศ บทลงโทษนี้เทียบเท่าได้กับบทลงโทษสำหรับความผิดอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ เช่น การข่มขืน พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 แยกบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับ “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” ออกมาอยู่ภายใต้มาตรา 6/1 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท (1,500-11,980 เหรียญสหรัฐ) ต่อผู้เสียหาย 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ บทบัญญัตินี้กำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้านแรงงานน้อยกว่าโทษที่มีอยู่แล้วตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ

ในปี 2564 รัฐบาลรายงานว่า มีการสืบสวนกรณีต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ 188 คดี (เทียบกับ 133 คดีในปี 2563) ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 125 ราย (เทียบกับ 302 รายในปี 2563) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 82 ราย (เทียบกับ 233 รายในปี 2563) ศาลพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด 75 ราย โดยในจำนวนนี้ ประมาณร้อยละ 97 ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ในปีเดียวกัน ศาลออกคำสั่งริบทรัพย์มูลค่าประมาณ 161,066 บาท (4,820 เหรียญสหรัฐ) ในคดีค้ามนุษย์ที่ฟ้องร้องโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ได้สืบสวนสอบสวนกรณีการกระทำความผิดต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต 79 คดีในปี 2564 (เทียบกับ 94 คดีในปี 2563) ซึ่งรวมถึงกรณีการค้ามนุษย์ทางอินเทอร์เน็ต 11 คดี (เทียบกับ 22 คดีในปี 2563) TICAC ได้เริ่มสืบสวนสอบสวนกรณีการค้ามนุษย์ทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมอีก 19 คดีในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ได้เริ่มการสืบสวนสอบสวนกรณีต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 22 คดี (ในจำนวนดังกล่าว เกี่ยวข้องกับภาคการประมง 2 คดี) เทียบกับ 14 คดีในปี 2563 องค์กรนอกภาครัฐประเมินว่า จำนวนการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ด้านแรงงานที่ค่อนข้างต่ำมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องการบังคับใช้แรงงาน และการขาดความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการใช้มาตรา 6 และมาตรา 6/1 ในคดีการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยเฉพาะขณะที่ไม่มีแนวทางปฏิบัติในช่วงเวลาส่วนใหญ่ระหว่างช่วงการรายงาน ผู้สังเกตการณ์บางรายรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐมักจะไม่เห็นว่าการบีบบังคับด้วยหนี้ การบังคับใช้ทำงานล่วงเวลามากเกินไป หรือการไม่ให้เงินค่าจ้างเป็นข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตำรวจและพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ตรวจสอบรายงานจากแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับการถูกแสวงประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรายงานเหล่านี้มีข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ และมักจะระบุคดีค้ามนุษย์เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานโดยไม่ติดตามดำเนินคดีอาญากับนักค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่ยังสนับสนุนให้แรงงานที่อาจเป็นผู้เสียหายไกล่เกลี่ยกับนายจ้างหรือส่งเรื่องไปยังศาลแรงงาน แทนที่จะพิจารณาว่าพวกเขาเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และแนะนำให้มีการสืบสวนสอบสวนคดีของพวกเขาในทางอาญา องค์กรนอกภาครัฐแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านยืนยันว่า ในกรณีอาชญากรรมการค้ามนุษย์ซึ่งพลเมืองจากประเทศของตนถูกแสวงประโยชน์ในประเทศไทย ทางการไทยฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาที่เบาลงในจำนวนหลายกรณีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถรับบริการและค่าชดเชยได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการแสวงประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมและการรับใช้ตามบ้านของเด็ก

สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ได้พัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานที่ส่งเสริมให้พนักงานอัยการใช้แนวทางที่คำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหายขณะสัมภาษณ์ผู้เสียหายและเตรียมความพร้อมเพื่อให้การต่อศาล แม้ว่ามาตรฐานการปฏิบัติงานดังกล่าวจะกำหนดให้พนักงานอัยการต้องพบกับผู้เสียหายทุกรายก่อนการดำเนินคดีในศาล แต่ก่อนหน้านี้ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า อส. ไม่มีศักยภาพที่เพียงพอในการทำให้พนักงานอัยการสามารถพบปะและเตรียมตัวผู้เสียหายทุกรายได้ก่อนการพิจารณาคดีในศาล และองค์กรนอกภาครัฐแนะนำให้ผู้เสียหายรับการสนับสนุนดังกล่าวจากองค์กรนอกภาครัฐหรือทนายความเอกชน เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมักจะใช้ผลจากการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหายเป็นตัวตัดสินสุดท้ายว่ามีกรณีการค้ามนุษย์อยู่จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่าบางครั้ง การสัมภาษณ์ดังกล่าวไร้ประสิทธิผล สำนักงานคดีค้ามนุษย์ของ อส. ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อประเมินการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ทั้งนี้เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินคดี พนักงานอัยการทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐในการเตรียมตัวผู้เสียหายเพื่อให้การต่อศาล ศาลอนุญาตให้ทนายความขององค์กรนอกภาครัฐทำหน้าที่โจทก์ร่วมได้ในบางคดีเพื่อสนับสนุนผู้เสียหายในทางกฎหมาย และสถานพักพิงของรัฐช่วยให้ผู้เสียหายสามารถใช้ศาลจำลองเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลต่อหน้านักค้ามนุษย์ของตน อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายบางรายลังเลที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินคดีเพราะกลัวถูกกักตัวและต้องอยู่ในสถานพักพิงเป็นเวลานาน ขาดบริการที่เพียงพอ รวมทั้งกลัวถูกนักค้ามนุษย์แก้แค้น ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลบางคนขาดความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อผู้เสียหายระหว่างการดำเนินคดีในศาล เช่น แม้จะมีรายงานว่า โดยมากแล้วศาลปฏิบัติตามระเบียบในการคุ้มครองผู้เสียหายและพยาน แต่องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีกรณีที่ศาลไม่จัดให้ดำเนินการถามค้านแบบหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแม้จะมีการร้องขอล่วงหน้า ทั้งยังให้พยานยืนยันข้อมูลที่อ่อนไหวโดยใช้วาจาต่อหน้าผู้ต้องสงสัยระหว่างการดำเนินคดี ในเดือนมีนาคม 2565 ทางการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานในคดีค้ามนุษย์สำหรับศาลยุติธรรมเสร็จสมบูรณ์ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้แนวทางที่คำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหายระหว่างการดำเนินคดีในศาล

รัฐบาลดำเนินงานแผนกคดีค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะในศาลอาญากรุงเทพ อส. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) DSI ได้จัดการประชุมโดยมีผู้เข้าร่วมจาก อส. ตร. และองค์กรนอกภาครัฐ ตลอดจนผู้ประสานงานการบังคับใช้กฎหมายต่างชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่ทำงานด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ ทางการไทยยังคงแบ่งปันข้อมูลและหลักฐานกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายยังร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศในการสืบสวนสอบสวนการค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหายเป็นชาวไทยในต่างประเทศอีกด้วย รัฐบาลจับกุมและส่งกลับผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ชาวมาเลเซีย 3 คนที่เกี่ยวข้องกับการพบหลุมฝังศพชาวโรฮีนจาที่แนวชายแดนเมื่อปี 2558

เพื่อแก้ไขข้อกังวลใจเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งขาดประสบการณ์การทำงานปราบปรามการค้ามนุษย์มักจะได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีค้ามนุษย์นั้น ในเดือนธันวาคม 2564 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานปราบปราบการค้ามนุษย์จะต้องมีประสบการณ์ด้านดังกล่าวอย่างน้อย 1 ปี รัฐบาลจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการและการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่แรงงานหลายครั้งในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การระบุผู้เสียหาย การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เทคนิคการสืบสวนสอบสวนทางออนไลน์ และการถามปากคำ อส. ร่วมมือกับรัฐบาลต่างชาติจัดการฝึกอบรมให้แก่พนักงานอัยการในเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงมาตรา 6/1 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการค้ามนุษย์เด็ก นอกจากนี้ อส. ยังฝึกอบรมพนักงานอัยการเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายและการเตรียมความพร้อมผู้เสียหายเพื่อการดำเนินคดีต่อนักค้ามนุษย์ ศาลยุติธรรมร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศจัดการฝึกอบรมสำหรับผู้พิพากษาที่ดูแลคดีค้ามนุษย์ รัฐบาลจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ให้ประสบผลสำเร็จ และมอบหมายให้ผู้ที่ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวเป็นผู้กำกับดูแลเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในคดีค้ามนุษย์ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ อส. จัดให้มีทีมพนักงานอัยการที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านคดีค้ามนุษย์ในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้คำแนะนำแก่พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่มีประสบการณ์น้อยกว่า ทางการยังรายงานว่า ได้ส่งทีมเหล่านี้ไปให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีการจับกุมด้วย พม. ได้รับการสนับสนุนให้จัดอบรมเจ้าหน้าที่รัฐ 120 คนจากหลายหน่วยงานเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทางการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่และคณะสหวิชาชีพระดับจังหวัดในเรื่องการดำเนินคดีค้ามนุษย์และการระบุผู้เสียหาย ผู้สังเกตการณ์บางคนรายงานว่า ในการฝึกอบรมของรัฐบาล มีแต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วม แทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการซึ่งมีโอกาสติดต่อกับผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายมากกว่า

รองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งดำรงตำแหน่งประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ DSI จัดตั้งศูนย์ติดตามและสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่สมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ ซึ่งติดตามและสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิด นอกจากนี้ DSI ยังริเริ่มการจัดทำระบบฐานข้อมูลติดตามการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้ DSI ติดตามความคืบหน้าของคดีได้ รัฐบาลรายงานว่า ได้เริ่มการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ 17 รายที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมค้ามนุษย์ในปี 2564 (เทียบกับ 9 รายในปี 2563) และเมื่อสิ้นช่วงการรายงาน เจ้าหน้าที่ 7 รายยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน, 8 รายอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ, 1 รายถูกยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลชั้นต้นพิจารณา และอีก 1 รายที่ศาลตัดสินให้พ้นผิด ในบรรดาคดีที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ในปี 2564 รัฐบาลเริ่มการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิด 6 ราย และตัดสินลงโทษจำคุกอีก 2 ราย ในจำนวนเจ้าหน้าที่ 79 รายที่ถูกสืบสวนสอบสวนกรณีสมรู้ร่วมคิดนับตั้งแต่ปี 2556 ในช่วงการรายงานนี้ รัฐบาลได้ยื่นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว 12 ราย ตัดสินลงโทษจำคุก 38 ราย และตัดสินให้พ้นผิด 8 ราย โดยยังมีเจ้าหน้าที่อีก 7 รายอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน, 9 รายอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ และ 5 รายหนีการจับกุม

การคุ้มครอง

รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการระบุและคุ้มครองผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ระบุผู้เสียหาย 414 รายในปี 2564 เทียบกับประมาณ 231 รายในปี 2563 และ 868 รายในปี 2562 ในจำนวนผู้เสียหายค้ามนุษย์ 414 รายที่ทางการไทยระบุนั้น เป็นผู้เสียหายชาย 151 ราย และหญิง 263 ราย, เป็นผู้เสียหายเด็ก 72 ราย, เป็นชาวไทย 312 ราย ชาวพม่า 94 ราย ชาวลาว 2 ราย และชาติอื่น ๆ 6 ราย และเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ 181 ราย และค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 233 ราย ในจำนวนผู้เสียหายค้ามนุษย์ 414 รายที่ทางการไทยระบุในปี 2564 นั้น รัฐบาลรายงานว่า ได้ให้บริการกับผู้เสียหาย 354 ราย (เทียบกับ 148 รายในปี 2563) ซึ่งรวมถึงการจัดให้อยู่ในสถานพักพิง การสนับสนุนเพื่อให้ผู้เสียหายสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ การช่วยเหลือด้านกฎหมาย การช่วยเหลือด้านการเงิน และการสนับสนุนอื่น ๆ ผู้เสียหาย 128 รายได้รับความช่วยเหลือในสถานพักพิงของรัฐ ขณะที่ 20 รายอาศัยอยู่ในสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐ

ในจำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 233 รายที่ทางการไทยระบุในปี 2564 นั้น 109 รายเป็นผู้เสียหายชาวไทยที่ทางการไทยร่วมกับทางการกัมพูชาระบุว่า ถูกบังคับทำงานให้กับเว็บไซต์พนันออนไลน์ และเมื่อสิ้นสุดช่วงการรายงาน รัฐบาลระบุผู้เสียหายชาวไทยที่ถูกแสวงประโยชน์ในกัมพูชารวม 227 ราย ทางการระบุแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและถูกแสวงประโยชน์ในประเทศไทยในปี 2564 จำนวน 90 ราย โดยมี 2 รายอยู่ในภาคการประมง แม้ว่าจะมีรายงานว่า นักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากเด็กในแรงงานบังคับในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม แต่รัฐบาลระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเด็กในปี 2564 เพียง 2 รายเท่านั้น สาเหตุที่ทางการไม่ได้ระบุผู้เสียหายนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในเดือนมีนาคม 2565 รัฐบาลเห็นชอบให้ใช้มาตรฐานการปฏิบัติงานในการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตลอดจนนำพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 (มาตรา 6/1) มาใช้ พนักงานตรวจแรงงานและเจ้าหน้าที่กองทัพเรือคัดกรองแรงงานต่างด้าวเพื่อระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในระหว่างการตรวจแรงงาน รวมถึงการตรวจเรือประมง อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์ที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายและไม่มีประสิทธิผลในระหว่างการตรวจแรงงานส่งผลให้ไม่อาจระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวนมากได้ ซึ่งรวมถึงแรงงานประมงต่างด้าว นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ยังรายงานว่า พนักงานตรวจแรงงานไม่เข้าใจว่าตนมีบทบาทในการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในความพยายามที่จะปรับปรุงประสิทธิผลของการตรวจแรงงาน กระทรวงแรงงานได้พัฒนาแนวทางปฏิบัติขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อเสริมสร้างความสามารถของพนักงานตรวจแรงงานในการระบุกรณีต้องสงสัยค้ามนุษย์ และให้อำนาจกับพนักงานตรวจแรงงานในการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหาย แนวทางปฏิบัติใหม่นี้กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานรายงานกรณีต้องสงสัยค้ามนุษย์แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและคณะสหวิชาชีพเพื่อสัมภาษณ์ระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ องค์กรนอกภาครัฐหยิบยกประเด็นข้อกังวลกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่คัดกรองการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ที่หลบหนีจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในพม่า รวมทั้งมักจะกักกันและส่งตัวชาวต่างด้าวกลับประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง

คณะสหวิชาชีพซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐ ใช้มาตรฐานแนวทางการคัดกรองเพื่อระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและส่งตัวเข้ารับบริการต่าง ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดที่เกี่ยวเนื่องมาจากโรคระบาดใหญ่ คณะสหวิชาชีพบางคณะได้สัมภาษณ์ระบุผู้เสียหายทางออนไลน์ เจ้าหน้าที่รัฐมิได้ใช้ขั้นตอนการระบุอย่างมีประสิทธิผลโดยสอดคล้องกันทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่บางคนจากขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนดำเนินการสัมภาษณ์ผู้เสียหายด้วยวิธีที่บั่นทอนความสามารถในการให้การเกี่ยวกับการถูกแสวงประโยชน์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่อนุญาตให้นายจ้างของผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายเข้าฟังการสัมภาษณ์ผู้เสียหายได้ อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายใช้แนวทางที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลักมากขึ้นเมื่อสัมภาษณ์ผู้เสียหาย รัฐบาลอาศัยคณะสหวิชาชีพในการยืนยันว่าบุคคลหนึ่งเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ ในบางครั้ง คณะดังกล่าวประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ พม. ระดับจังหวัด และเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานในท้องถิ่นซึ่งอาจขาดประสบการณ์ที่เพียงพอในการทำคดีการค้ามนุษย์ ทางการจึงจัดทีมเจ้าหน้าที่ไปสนับสนุนคณะสหวิชาชีพที่ขาดประสบการณ์ในขั้นตอนการระบุตัวผู้เสียหายเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการระบุผู้เสียหายของเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด

มาตรา 29 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาอยู่ในความคุ้มครองของรัฐได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หรือมากถึง 8 วันตามคำอนุญาตของศาล ในระหว่างนั้น คณะสหวิชาชีพจะสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหาย โดยต้องระบุอย่างเป็นทางการว่า บุคคลนั้นเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงจะได้รับสิทธิตามกฎหมายเพื่อรับบริการต่าง ๆ รวมถึงการเข้าอาศัยในสถานพักพิงของรัฐ การกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้เสียหายบางรายที่ขาดความพร้อมทางร่างกายหรือจิตใจสำหรับกระบวนการะบุผู้เสียหายของคณะสหวิชาชีพเพื่อรับบริการต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากผู้เสียหายไม่ได้มีช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรองที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้มั่นคงได้ เจ้าหน้าที่จึงมีเวลาไม่พอที่จะสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อใจกับผู้เสียหาย ตลอดจนไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอสำหรับใช้ระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและสนับสนุนให้ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวน ในบางคดีระหว่างช่วงการรายงานนี้ เจ้าหน้าที่รัฐให้เวลาเพิ่มเติมกับผู้เสียหายเพื่อฟื้นฟูก่อนเริ่มขั้นตอนการระบุผู้เสียหาย ในเดือนมีนาคม 2565 รัฐบาลอนุมัติกลไกการส่งต่อระดับชาติ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติสำหรับขั้นตอนการคัดกรอง การระบุตัว และการคุ้มครองผู้เสียหาย ตลอดจนการขยายระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรองเป็น 45 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้บริการแก่ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายก่อนการระบุตัวอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกระดับชาติจากภาคประชาสังคมก่อนลงความเห็นอนุมัติ

เมื่อเดือนธันวาคม 2564 DSI จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหาย เตรียมความพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ระบุตัว และทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการและฝึกอบรมสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลยังคงส่งต่อผู้เสียหายที่คณะสหวิชาชีพระบุสถานะแล้วไปยังสถานพักพิงของรัฐ เพื่อรับการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การดูแลทางการแพทย์ ค่าสินไหมทดแทน ความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองพยาน การศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ตลอดจนโอกาสการจ้างงาน แม้ว่า พม. จะรายงานว่า ได้จัดบริการให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่ยินยอมเข้าร่วมในขั้นตอนการดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะให้บริการต่าง ๆ เฉพาะเมื่อผู้เสียหายเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนโดยผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น พม. บริหารจัดการสถานพักพิงระยะสั้น 76 แห่ง และสถานพักพิงระยะยาว 9 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายชายและครอบครัว 4 แห่ง สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายหญิง 4 แห่ง และสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กชาย 1 แห่ง เฉพาะผู้เสียหายต่างชาติที่มีวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานที่ยังไม่หมดอายุ ณ เวลาที่ระบุสถานะเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐได้ในระหว่างการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ ในระหว่างปี ผู้เสียหาย 13 รายที่ทำงานรับใช้ตามบ้านอยู่อาศัยกับนายจ้างของตน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติทั่วไปสำหรับคนที่ทำงานรับใช้ตามบ้านในประเทศไทย ในบางครั้ง ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลต่างชาติผิดกฎหมายต้องคงอยู่ในสถานพักพิงของรัฐระหว่างที่รัฐบาลดำเนินการออกใบอนุญาตให้พำนักและทำงานในไทยได้เป็นการชั่วคราว สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของ พม. ไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายบางราย ซึ่งรวมไปถึงผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ ออกนอกสถานพักพิงโดยไม่ได้รับอนุญาต และจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปเท่านั้น เฉพาะผู้เสียหายที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกสถานพักพิงเท่านั้นจึงจะสามารถออกนอกสถานพักพิงเป็นประจำเพื่อไปทำงานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เสียหายมักจะต้องพำนักในสถานพักพิงจนกว่าการดำเนินคดีหรือการให้การล่วงหน้าเกี่ยวกับนักค้ามนุษย์จะสิ้นสุดลง แม้ว่าพวกเขาพร้อมที่จะออกจากระบบสถานพักพิงแล้วทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่สถานพักพิงยังจำกัดการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวของผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแรกเข้ามาในสถานพักพิง อีกทั้งยังกำหนดให้ผู้เสียหายต้องขออนุญาตก่อนโทรศัพท์พูดคุยเรื่องส่วนบุคคล และมักจะคอยฟังบทสนทนาของผู้เสียหายด้วย พม. ใช้นโยบายในการรับรองสิทธิของผู้เสียหายในการสื่อสารไม่เท่าเทียมกันในสถานพักพิงทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรายงานว่า ผู้เสียหายที่เสร็จสิ้นขั้นตอนการเป็นพยานในการดำเนินคดีต่อนักค้ามนุษย์ของตนแล้ว ได้รับอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์สื่อสารได้โดยไม่มีการควบคุมดูแล เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้เสียหายและป้องกันไม่ให้พวกเขาตกเป็นผู้เสียหายอีก อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้ผู้เสียหายอยู่ในสถานพักพิงนานเกินจำเป็น ประกอบกับการจำกัดการเดินทางและการสื่อสารของผู้เสียหายระหว่างพำนักอยู่ในสถานพักพิง อาจทำให้ผู้เสียหายบางรายได้รับความกระทบกระเทือนซ้ำและยังเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้ของพวกเขาด้วย ในภูมิภาคหนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐพัฒนาสถานพักพิงแบบที่ผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าออกได้อย่างอิสระและเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้ในระยะสั้น ๆ

ทางการอนุญาตให้ผู้เสียหายบางรายที่พำนักอยู่ในสถานพักพิงทำงานนอกสถานพักพิงได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เสียหายต่างชาติบางราย โดยเฉพาะชาวโรฮีนจา รัฐบาลไม่ได้มอบโอกาสการจ้างงานที่เหมาะสม และเจ้าหน้าที่สถานพักพิงบางรายกังวลว่า ชาวโรฮีนจาจะ “หนี” ออกจากสถานพักพิง จึงเป็นเหตุผลให้จำกัดเสรีภาพในการเดินทางของพวกเขา การอาศัยในสถานพักพิงในลักษณะดังกล่าวยังคงเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายต่างชาติในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยผู้เสียหายบางรายต้องการให้รัฐส่งตนกลับประเทศภูมิลำเนามากกว่า รัฐบาลอนุญาตให้ผู้เสียหายบางรายอาศัยอยู่ในสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐ 3 แห่งที่ขึ้นทะเบียนไว้กับรัฐ และสามารถรับบริการต่าง ๆ จากสถานพักพิงเหล่านี้ได้ ผู้เสียหายต้องการพักอยู่ในสถานพักพิงเหล่านี้มากกว่าสถานพักพิงของรัฐ ส่วนหนึ่งเพราะมีเสรีภาพในการเดินทางมากกว่า ผู้เสียหายที่ได้รับบริการเหล่านี้จะยังคงมีสิทธิรับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพักพิงเหล่านี้ นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ยังกล่าวว่า สถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เคร่งครัด เพื่อให้ได้รับอนุญาตช่วยเหลือผู้เสียหายที่ผ่านการระบุสถานะอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายสำหรับองค์กรนอกภาครัฐแห่งอื่นที่ต้องการขึ้นทะเบียน รัฐบาลกำหนดให้ผู้เสียหายต้องกักตัว 7-14 วันเพื่อป้องกันโควิดก่อนเข้าอาศัยที่สถานพักพิงของรัฐ

สถานพักพิงของ พม. แต่ละแห่งใช้นโยบายและให้การดูแลผู้เสียหายที่แตกต่างกัน สถานพักพิงของรัฐบาลมักจะมีจำนวนนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจไม่เพียงพอ จึงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้เสียหายในการรับการดูแลด้านจิตสังคม สถานพักพิงไม่ได้ให้การดูแลเฉพาะบุคคลหรือให้การปรึกษาอย่างเป็นส่วนตัวกับผู้เสียหายในทุกครั้ง แต่ให้ผู้เสียหายเข้ารับการปรึกษาแบบกลุ่มกับนักสังคมสงเคราะห์แทน อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 สถานพักพิงเริ่มใช้แผนพัฒนาเฉพาะบุคคลที่ให้ผู้เสียหายได้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการออกแบบความช่วยเหลือที่ตนได้รับ พม. รายงานว่า สถานพักพิงทุกแห่งสามารถรองรับผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ได้เป็นการชั่วคราว โดยมี 1 แห่งให้ที่พักอาศัยกับประชากรกลุ่มนี้ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สถานพักพิงดังกล่าวไม่มีห้องนอนและห้องน้ำแยกสำหรับผู้เสียหายกลุ่ม LGBTQI+ นอกจากนี้ ขั้นตอนการระบุผู้เสียหายยังมีลักษณะที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้เสียหายกลุ่ม LGBTQI+ เปิดเผยเพศสภาพของตน และเจ้าหน้าที่มักจะไม่ถามผู้เสียหายเกี่ยวกับสถานพักพิงที่ต้องการ พม. จัดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สถานพักพิงเกี่ยวกับบริการสำหรับผู้เสียหายกลุ่ม LGBTQI+ แต่ไม่ได้เตรียมสถานพักพิงให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียหายที่พิการได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังมักจะขาดแคลนล่าม โดยเฉพาะสำหรับผู้เสียหายที่เป็นชาวโรฮีนจา ทำให้สถานพักพิงไม่สามารถให้บริการผู้เสียหายได้อย่างเหมาะสม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ล่ามที่มีส่วนในการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหาย และในการดำเนินคดีในศาล ไม่ได้รับการฝึกอบรมในการช่วยเหลือในคดีค้ามนุษย์เสมอไป หรือมักจะสื่อสารกับผู้เสียหายอย่างไม่เหมาะสม บางครั้งโดยการโน้มน้าวให้ผู้เสียหายไม่รายงานเกี่ยวกับการถูกแสวงประโยชน์หรือแนะนำให้พวกเขาสารภาพว่าได้กระทำการผิดกฎหมายตามที่นักค้ามนุษย์บีบบังคับให้กระทำ พม. ร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สถานพักพิงเกี่ยวกับประเด็นการให้ความคุ้มครอง ตลอดจนฝึกอบรมเจ้าหน้าที่คณะสหวิชาชีพเกี่ยวกับการดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจในขั้นตอนการระบุผู้เสียหาย และพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลด้านจิตใจแก่ผู้เสียหาย

ทางการช่วยเหลือชาวไทยที่ถูกแสวงประโยชน์ในต่างประเทศ 245 คนให้เดินทางกลับประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ 13 คน และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 232 คน รัฐบาลรายงานว่า ผู้เสียหายทั้ง 245 คนเลือกที่จะไม่ใช้บริการสถานพักพิงและกลับไปยังจังหวัดบ้านเกิดของตน พม. ยังติดตามการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมของผู้เสียหายเพื่อป้องกันการตกเป็นผู้เสียหายอีก ในปี 2564 รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ 4.13 ล้านบาท (123,650 เหรียญสหรัฐ) แก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ผ่านกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (เทียบกับ 7.63 ล้านบาท (228,440 เหรียญสหรัฐ) เมื่อปี 2563) โดยรวมถึง 1.12 ล้านบาท (33,530 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นเงินที่จัดสรรให้ผู้เสียหายที่พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ค่าจ้างสำหรับการทำงานภายในสถานพักพิง การศึกษา การดูแลรักษาทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ขั้นตอนการเข้าถึงกองทุนนี้มีความซับซ้อน ทำให้มีแนวโน้มที่จะขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายบางคนได้รับการสนับสนุนทางการเงินตามที่จำเป็น กฎหมายไทยกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นเรียกร้องค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายที่แสดงความประสงค์จะเรียกร้องค่าชดเชย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ให้อำนาจผู้พิพากษาในการให้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอให้มีการชดเชยด้วย รัฐบาลยื่นเรียกร้องค่าชดเชยแทนผู้เสียหาย 25 ราย ในปี 2564 และรายงานว่า ศาลสั่งให้ชำระค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายเป็นจำนวน 10.7 ล้านบาท (320,360 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 26 ล้านบาท (778,440 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2563 พม. ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายในการยื่นเรียกร้องค่าชดเชย และตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามคำสั่ง อย่างไรก็ตาม มีคดีเพียง 2 คดีเท่านั้นที่ปฏิบัติตามคำสั่งชดเชยสำเร็จ กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานซึ่งเป็นบุคคลต่างชาติพำนักและทำงานในไทยได้นานถึง 2 ปีนับจากการสิ้นสุดการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่า รัฐบาลได้ให้อนุญาตกับผู้เสียหายคนใดระหว่างช่วงการรายงานนี้

พม. ยังคงใช้แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานได้รายงานการถูกแสวงประโยชน์และขอรับบริการการคุ้มครองต่าง ๆ รวมไปถึงบริการล่าม ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งหมด 7 ภาษา มีการรายงานกรณีที่อาจเป็นการค้ามนุษย์ 46 กรณีผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวในปี 2564 เมื่อเทียบกับ 32 กรณีในปี 2563 พม. และกระทรวงแรงงานได้จัดบริการโทรศัพท์สายด่วน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ 19 ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วคอยรับสาย ในปี 2564 สายด่วนของ พม. ได้รับโทรศัพท์ 64 สายที่เกี่ยวข้องกับกรณีซึ่งอาจเป็นการค้ามนุษย์ และส่งต่อกรณีเหล่านี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนสอบสวน ในจำนวนสายที่ได้รับเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน 12 สาย และการค้าบริการทางเพศ 31 สาย (เทียบกับ 70 สายในปี 2563)

แม้ว่ากฎหมายจะคุ้มครองผู้เสียหายไม่ให้ต้องถูกดำเนินคดีจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากถูกนักค้ามนุษย์บังคับ แต่การระบุผู้เสียหายของรัฐบาลมีข้อบกพร่อง จึงเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เสียหายต้องถูกลงโทษจากข้อหาต่าง ๆ เช่น การค้าประเวณีและการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ประเด็นดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายบางคน ซึ่งอาจจะกลัวถูกจับกุมและส่งตัวกลับเนื่องจากรายงานกับเจ้าหน้าที่ว่าตนถูกแสวงประโยชน์ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า นายจ้างบางรายแก้แค้นแรงงานต่างด้าว รวมทั้งผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และนักเคลื่อนไหวที่พยายามแก้ไขสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น โดยรวมไปถึงการไล่แรงงานออกจากงาน นอกจากนี้ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทของไทยยังคงเปิดช่องให้บริษัทฟ้องร้องคดีอาญาผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายและกลุ่มผู้สนับสนุน บางครั้งโดยการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ส่งผลให้กลุ่มผู้สนับสนุนต้องเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมายเป็นเวลาหลายปี ผู้สังเกตการณ์ยังคงรายงานว่า คดีประเภทนี้ขัดขวางกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้เสียหายไม่ให้รายงานเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ ในคดีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยที่ถูกแสวงประโยชน์จากการค้ามนุษย์ทางเพศในต่างประเทศ รัฐบาลประกันตัวและจัดหาทนายให้กับผู้เสียหายหลังจากที่ผู้ต้องหาค้ามนุษย์ยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่อผู้เสียหาย แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งส่งผลให้ศาลสามารถสั่งยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทได้ทันทีหากพิจารณาแล้วว่า เป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนาเพื่อข่มขู่จำเลย เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่เสริมสร้างสิทธิของจำเลยในคดีที่นายจ้างเป็นโจทก์ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้รายงานว่าได้ใช้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเหล่านี้เพื่อยกฟ้องกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิหรือผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาททางอาญา

การป้องกัน

รัฐบาลยังคงดำเนินการเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ โดยรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับชาติ และเป็นประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีการประชุมกันหลายครั้งในระหว่างปี ทางการยังคงติดตามความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วยการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานประจำปีต่าง ๆ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจัดสรรงบด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประมาณ 4,460 ล้านบาท (133.53 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2564 เมื่อเทียบกับงบจำนวนประมาณ 4,020 ล้านบาท (120.36 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2563 หน่วยงานรัฐบาลจัดกิจกรรมรณรงค์จำนวนมากเพื่อสร้างความตระหนักรู้และป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงการฝึกอบรมที่มุ่งป้องกันการค้ามนุษย์เด็กและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางออนไลน์ ตลอดจนการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้กับประชาชนทั่วไป ภาคประชาสังคมแสดงข้อกังวลใจว่า การดำเนินงานป้องกันการค้ามนุษย์ขององค์กรนอกภาครัฐจะได้รับผลกระทบ หากบทบัญญัติในร่างกฎหมายที่มุ่งเพิ่มข้อบังคับควบคุมองค์กรนอกภาครัฐในประเทศไทยมีผลบังคับใช้

กฎหมายไทยอนุญาตให้สำนักงานจัดหางานคิดค่าธรรมเนียมคนไทยสำหรับการหางานในต่างประเทศได้จำนวนหนึ่ง แรงงานบางคนยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากเกินควรให้กับสำนักงานจัดหางานที่ไม่มีคุณธรรม ทำให้เสี่ยงต่อการถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหางาน 243 แห่งที่ช่วยให้คนไทยได้งานในต่างประเทศ แต่ไม่พบการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรมแรงงานดำเนินคดีกับบุคคล 123 รายที่ดำเนินการจัดหางานโดยไม่มีใบอนุญาตและฉ้อโกงแรงงาน กระทรวงแรงงานและ ตร. ร่วมกันตรวจสอบประกาศว่าจ้างคนไทยให้ไปทำงานในต่างประเทศ โดยเป็นประกาศทางออนไลน์ที่ไม่ได้รับอนุญาตและเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การหลอกจ้างงาน การลักลอบขนคนเข้าเมือง และการขายบริการทางเพศ

รัฐบาลยังคงมีบันทึกความเข้าใจแบบทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย โดยระบบดังกล่าวถูกระงับเมื่อเดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากโรคระบาดใหญ่และกลับมาดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ลักษณะที่ซับซ้อนของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกับทางการมักทำให้แรงงานพึ่งพานายหน้าและนายจ้างซึ่งมักจะคิดค่าดำเนินการขอเอกสารเกินจากที่ทางการคิด แรงงานจึงเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ ทางการใช้โครงการต่าง ๆ เพื่อให้แรงงานสามารถอยู่ในประเทศต่อได้หลังการขึ้นทะเบียนแรกเริ่มหมดอายุและเพื่อออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งอยู่ในประเทศอยู่แล้ว พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 กำหนดให้นายจ้างมอบสำเนาสัญญาจ้างให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางประการ เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดหางาน และค่าเดินทาง และห้ามมิให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างมากกว่าร้อยละ 10 สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และห้ามมิให้ยึดหนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวอื่น ๆ ของลูกจ้าง หากนายจ้างฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท (300-2,990 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามนายจ้างและผู้จัดหางานคิดค่าใช้จ่ายบางประการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหางานกับแรงงานต่างด้าว เช่น ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำงาน องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ไม่ได้มีการนิยามและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าธรรมเนียมการจัดหางานนี้อย่างดีพอ และสำนักงานจัดหางาน รวมถึงนายหน้า ยังคงเรียกร้องค่าธรรมเนียมการจัดหางานและค่าเดินทางจากแรงงาน กฎหมายฉบับนี้ยังอนุญาตให้นายจ้างเก็บเอกสารของแรงงานไว้ได้หากแรงงานยินยอมและสามารถเข้าถึงเอกสารของพวกเขาที่อยู่กับนายจ้างได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เนื่องจากยังไม่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดนี้อย่างเพียงพอ ในบางกรณีกฎหมายนี้อาจเอื้อให้นายจ้างที่ขาดศีลธรรมยึดเอกสารของแรงงานไว้ โดยเฉพาะเมื่อแรงงานไม่คุ้นเคยกับสิทธิของตนภายใต้กฎหมายไทย ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสืบสวนการยึดเอกสารหรือการหักค่าแรงที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าข้อบังคับของทางการจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกแสวงประโยชน์เปลี่ยนนายจ้างได้ แต่นโยบายบางข้อกลับทำให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานต่างด้าวในทางปฏิบัติ มีรายงานจากองค์กรภาคประชาสังคมว่า กฎหมายแรงงานขัดขวางไม่ให้แรงงานต่างด้าวรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดการแสวงประโยชน์มากขึ้น รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหาแรงงานต่างด้าว 227 แห่ง แต่ไม่พบการละเมิดใด ๆ

การไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการนับจำนวนชั่วโมงทำงานและชั่วโมงพักผ่อนของแรงงานบนเรือประมง เพิ่มความเสี่ยงการค้ามนุษย์ในแรงงานกลุ่มนี้ กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างปีการรายงานนี้ กำหนดให้นายจ้างจัดทำสัญญาเป็นภาษาที่แรงงานประมงต่างด้าวเข้าใจได้ จัดทำเอกสารการจ่ายเงินให้แก่แรงงาน และจัดให้มีอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอสำหรับแรงงานบนเรือประมง นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร และจ่ายเงินส่วนแบ่งให้แก่แรงงานด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลใจว่า แรงงานบางส่วนยังคงได้รับค่าจ้างเป็นเงินสดหรือไม่สามารถเข้าถึงค่าแรงของตนได้ เนื่องจากท่าเรือบางแห่งไม่มีตู้เอทีเอ็มอยู่ใกล้ ๆ แรงงานไม่ได้รับการแนะนำอย่างเพียงพอในการใช้ตู้เอทีเอ็ม หรือบัตรเอทีเอ็มและรหัสบัตรของแรงงานอาจถูกเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือนายหน้ายึดไว้ ในเดือนสิงหาคม 2564 ทางการภูเก็ตออกคำสั่งให้กักตัวแรงงานประมงบนเรือของตน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ รวมถึงต้องทำงานเป็นเวลานานขึ้นและไม่สามารถออกจากสภาพที่ถูกแสวงประโยชน์ได้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลรายงานว่ามีศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการทำงาน 5 แห่ง ซึ่งช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านกระบวนการตามบันทึกความเข้าใจ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน วัฒนธรรมไทย สัญญาจ้าง ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และกลไกการร้องเรียน อย่างไรก็ตาม ขอบเขตการดำเนินงานของศูนย์เหล่านี้ขาดความชัดเจนในช่วงการรายงานนี้ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐเพื่อให้บริการต่าง ๆ ในศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 แห่งอีกด้วย โดยรวมถึงรับเรื่องร้องเรียนกรณีการละเมิดแรงงาน ช่วยเหลือแรงงานในการเปลี่ยนนายจ้าง และปรับปรุงแก้ไขเอกสารขึ้นทะเบียนของแรงงานให้เป็นปัจจุบัน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยมีหน้าที่ตรวจสอบนายจ้างและสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงในการค้ามนุษย์สูง คณะทำงานนี้ได้ตรวจสอบรายงานจากองค์กรนอกภาครัฐ รวมถึงรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์บนเรือประมง และตรวจสอบสถานประกอบการ 7 แห่ง ส่งผลให้มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ 1 คดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล และพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน 4,278 ครั้ง ศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบนายจ้างและสถานประกอบกิจการ 56,186 รายเพื่อระบุการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และพบว่า 1,154 รายฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน กระทรวงแรงงานส่งต่อคดี 973 คดีเพื่อสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม และปรับนายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นจำนวนเงินรวม 1.39 ล้านบาท (41,620 เหรียญสหรัฐ) ทางการมีศูนย์ตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือเพื่อยืนยันว่าเรือประมงดำเนินงานโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีรายงานว่า เรือประมง 17 ลำฝ่าฝืนกฎหมาย รวมถึงการไม่ใช้ระบบการโอนเงินผ่านธนาคารเพื่อจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงาน การไม่มอบสำเนาสัญญาจ้างให้แก่ลูกจ้าง และการละเมิดด้านแรงงานอื่น ๆ ศูนย์ตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือไม่ได้ใช้ขั้นตอนการส่งต่อกรณีแรงงานประมงสูญหายระหว่างออกทะเลโดยมีมาตรฐานเดียวกันในทุกกรณี รวมถึงการระบุข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์บนเรือประมงก่อนที่พวกเขาจะสูญหาย และจำนวนของลูกเรือที่สูญหายระหว่างออกทะเลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา นอกจากนี้ ทางการยังตรวจสอบเรือประมงนอกชายฝั่ง 671 ลำ แต่ไม่พบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายใด ๆ การตรวจสอบเรือประมงนอกชายฝั่งยังไม่ได้มีการตรวจหาการละเมิดแรงงานอย่างเพียงพอ หรือไม่ได้มีการจัดหาล่ามเพื่อสัมภาษณ์ลูกเรือต่างด้าวอย่างสม่ำเสมอ ทางการไม่เคยรายงานว่าได้ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอันเป็นผลมาจากการตรวจสอบเรือประมง แม้ว่าจะมีการเผยแพร่คู่มือมาตรฐานระเบียบปฏิบัติด้านการตรวจสอบในปี 2562 แต่การตรวจแรงงานที่ท่าเรือยังคงขาดความสม่ำเสมอและไม่มีประสิทธิผลในการระบุกรณีต้องสงสัยการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง บ่อยครั้งเนื่องมาจากขาดการสัมภาษณ์ที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลัก ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า เจ้าของเรือประมงบางรายและสถานประกอบกิจการบางแห่งได้รับการเตือนล่วงหน้าว่าจะมีการตรวจแรงงาน อีกทั้งยังระบุอีกว่า ไม่มีล่ามให้ความช่วยเหลือแรงงานขณะตรวจแรงงาน และมีนายจ้าง รวมทั้งไต้ก๋ง อยู่ด้วยขณะตรวจสอบแรงงาน ซึ่งมีแนวโน้มทำให้แรงงานไม่รายงานทางการหากตนถูกแสวงประโยชน์ การไม่สามารถเข้าถึงสถานประกอบกิจการในพื้นที่ห่างไกลได้ทำให้ทางการไม่สามารถตรวจสอบการใช้แรงงานเด็กได้อย่างเพียงพอในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ในเดือนธันวาคม 2564 มีการกล่าวหาว่า ผู้ต้องขังที่ผลิตอวนจับปลาภายใต้โครงการจ้างงานในเรือนจำถูกแสวงประโยชน์ โดยรวมถึงมีข้อบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน จากกรณีดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ได้ออกคำสั่งให้เรือนจำ 143 แห่งหยุดการผลิตอวนจับปลา และตั้งเป้าที่จะจัดให้มีที่ปรึกษาในเรือนจำแต่ละแห่งเพื่อตรวจสอบสภาพการทำงานในเรือนจำว่าเป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศโดยวิธี เช่น การเผยแพร่สื่อวีดิทัศน์ 4 ภาษาที่มีเนื้อหาต่อต้านการท่องเที่ยวเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในท่าอากาศยานและบนเครื่องบินของไทย นอกจากนี้ ทางการยังได้ประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศเพื่อปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศเข้าประเทศ

ประวัติข้อมูลการค้ามนุษย์

ดังที่มีการรายงานตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากผู้เสียหายชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทย และจากผู้เสียหายชาวไทยในต่างประเทศ นักค้ามนุษย์ด้านแรงงานและทางเพศแสวงประโยชน์จากผู้หญิง ผู้ชาย บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเด็กจากประเทศไทย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ศรีลังกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน และประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ นอกจากนี้ ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา และบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย ยังประสบกับการถูกกระทำมิชอบหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นการค้ามนุษย์ เด็กจากประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชาเป็นผู้เสียหายจากค้ามนุษย์ทางเพศในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านพักส่วนบุคคล นักค้ามนุษย์ชักจูงเด็กหญิงและเด็กชายชาวไทยให้แสดงกิจกรรมทางเพศผ่านทางสื่อวีดิทัศน์และภาพถ่ายบนอินเทอร์เน็ต บางครั้งโดยการขู่ว่าจะเผยแพร่ภาพลามกของเด็ก รัฐบาลและองค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเด็ก เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ นักค้ามนุษย์ใช้อินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันสำหรับการสนทนาหรือหาคู่ ตลอดจนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ในการล่อลวงเด็กเพื่อค้าประเวณี เด็กในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ เด็กที่ครอบครัวตกงานเพราะผลกระทบจากโรคระบาด ซึ่งรวมไปถึงครอบครัวชาวต่างด้าว เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็กชาวไทยประมาณ 177,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย ใช้แรงงานอยู่ในหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคการเกษตร บริการร้านรับซ่อมยานยนต์และบริการอื่น ๆ การก่อสร้าง การผลิต และในงานด้านบริการ เด็กเหล่านี้เสี่ยงที่จะตกอยู่ในสภาพการทำงานที่บ่งชี้ว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน มากกว่าครึ่งของแรงงานเด็กไม่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียน และหลายคนต้องเผชิญสภาพการทำงานที่เป็นอันตราย ชั่วโมงการทำงานที่ยาวและไม่ปกติ ตลอดจนเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ นายหน้าหรือบิดามารดาบางรายบังคับเด็กชาวไทย กัมพูชา และพม่าให้ขายดอกไม้หรือสินค้าอื่นตามถนน ตลอดจนให้เด็กขอทานหรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตเมือง และยังพบผู้สูงอายุและผู้พิการจากกัมพูชาที่ถูกบังคับให้ขอทานในไทยด้วย

นักค้ามนุษย์บังคับผู้เสียหายชาวไทยให้ใช้แรงงานและค้าประเวณีในประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ผู้หญิงและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศชาวไทยถูกแสวงประโยชน์จากการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับค้าประเวณีในสวิตเซอร์แลนด์ บุคคลสัญชาติไทยที่เดินทางไปหาครอบครัวที่นอร์เวย์เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ทางเพศและด้านแรงงาน นักค้ามนุษย์บังคับให้ชายและหญิงชาวไทยใช้แรงงานในภาคการเกษตรที่อิสราเอล โดยแรงงานมีชั่วโมงการทำงานที่ยาว ไม่มีช่วงพักหรือวันหยุด ถูกยึดหนังสือเดินทาง และเปลี่ยนนายจ้างได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงาน มีคนไทยมากกว่า 100,000 คนทำงานในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีนักค้ามนุษย์บังคับชายและหญิงชาวไทยให้ใช้แรงงานหรือค้าประเวณี ด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมไปถึงการบังคับให้ผู้เสียหายที่ติดหนี้เจ้าของสถานบันเทิงหรือผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบนั้นค้าประเวณี นักค้ามนุษย์บังคับแรงงานไทยให้ใช้แรงงานมากขึ้นในกัมพูชาและลาว ซึ่งรวมถึงในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อทำงานให้กับเว็บไซต์พนันและหลอกลวงทางออนไลน์

นักค้ามนุษย์และผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองที่ดำเนินการในพม่าและไทยเรียกค่าจ้างประมาณ 10,000-70,000 บาท (300-2,100 เหรียญสหรัฐ) กับแรงงานชาวพม่าเพื่อให้ลักลอบพาเข้าไทย ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เครือข่ายลักลอบขนคนเข้าเมืองเหล่านี้มีตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นซึ่งมีส่วนรู้เห็นคอยหนุน นักลักลอบขนคนเข้าเมือง นายหน้า นายจ้าง และบุคคลอื่นแสวงประโยชน์จากแรงงานชาวไทยและชาวต่างด้าวด้วยการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในภาคการประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสัตว์ปีก อุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และการขอทานตามถนน แรงงานจำนวนมากจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงให้กับนายหน้า สำนักงานจัดหางาน และบุคคลอื่นก่อนและหลังเดินทางถึงประเทศไทย บ่อยครั้งนักค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานผู้เสียหายเพราะติดหนี้อยู่ ตลอดจนใช้กระบวนการการจ้างงานที่หลอกหลวงแรงงาน ยึดเอกสารประจำตัวและบัตรเอทีเอ็ม หักค่าจ้างโดยผิดกฎหมาย ใช้ความรุนแรงต่อร่างกาย และใช้วิธีการอื่น ๆ นายจ้างยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานเพื่อบังคับให้พวกเขาไม่เปลี่ยนงาน ซึ่งพบได้บ่อยในสวนทำเกษตร นอกเหนือจากการจ่ายค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำและไม่ให้แรงงานมีวันหยุด คนงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเลและภาคการประมงต้องเผชิญกับการบังคับให้ทำงานล่วงเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการอาหารทะเลที่สามารถเก็บรักษาโดยไม่ต้องแช่เย็นได้มากขึ้นระหว่างการเกิดโรคระบาดใหญ่ และยังต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยด้วย

เจ้าของเรือประมง นายหน้า และลูกเรืออาวุโสบังคับใช้แรงงานชายและเด็กชายชาวไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย บนเรือจับปลาที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ บางคนได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือได้รับไม่สม่ำเสมอ เป็นหนี้นายหน้าและนายจ้าง ทำงานมากถึง 18-20 ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ และไม่มีอาหาร น้ำ หรือเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ ไต้ก๋งบางรายข่มขู่ เฆี่ยนตี และวางยาชาวประมงเพื่อให้ทำงานได้นานขึ้น รวมทั้งขายยาให้ชาวประมงเพื่อทำให้พวกเขาเป็นหนี้มากขึ้น เจ้าของเรือประมงยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บางรายในภาคการประมงประสบปัญหาในการเดินทางกลับบ้านเกิดเนื่องจากสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกล ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารประจำตัวที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีวิธีเดินทางกลับบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย นายจ้างในภาคการประมงและการแปรรูปอาหารทะเลมักจะดำเนินการหักค่าจ้างด้วยวิธีการที่สร้างความสับสน โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมเอกสาร เงินล่วงหน้า และค่าดำเนินการอื่น ๆ ทำให้เป็นเรื่องยากที่แรงงานจะทราบถึงจำนวนค่าจ้างที่ถูกต้องของตน การศึกษาวิจัยหลายฉบับที่ตีพิมพ์ในปี 2562 และ 2563 พบว่า ร้อยละ 14 ถึง 18 ของแรงงานประมงต่างด้าวถูกแสวงประโยชน์โดยการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมงไทย ซึ่งบ่งชี้ว่านักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากแรงงานนับหลายพันคนบนเรือประมง

การทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการรับสินบนหรือกู้ยืมเงินจากเจ้าของกิจการและสถานค้าประเวณีที่แสวงประโยชน์จากผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ทุจริตอำนวยให้มีการค้ามนุษย์โดยรับสินบนจากนายหน้าและผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนไทย มีรายงานว่า ตลอดช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น และเรียกร้องให้พวกเขาจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางรายปกป้องสถานค้าประเวณี สถานบริการทางเพศอื่น ๆ เจ้าของโรงงาน และเจ้าของเรือประมงจากการบุกตรวจค้น การตรวจสอบ และการดำเนินคดี อีกทั้งยังสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นบางรายปิดบังข้อมูลจากพนักงานอัยการเพื่อปกป้องนักค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายได้รับประโยชน์จากสินบนและจากการมีส่วนพัวพันโดยตรงในการขู่กรรโชกและแสวงประโยชน์จากผู้อพยพ