แนวคิด การบริหารงานภาคเอกชน

การจัดการความรู้กับการบริหารราชการแนวใหม่

โดย  อาจารย์อรวรรณ น้อยวัฒน์

          การปฏิบัติราชการสมัยเก่าให้มีความก้าวหน้านักวิชาการจะเน้นในเรื่องการทำผลงานเป็นหลัก ซึ่งความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นแบบความรู้ชัดแจ้ง (explicit  knowledge) คือ ความรู้ในรูปของหนังสือ ตำรา วารสาร เป็นต้น  แต่ในปัจจุบันมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การที่หน่วยงานราชการจะสร้างผลสัมฤทธิ์หรือผลกระทบแก่สังคมหรือแก่ประชาชนได้ หน่วยราชการจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานจากการมุ่งเน้นที่หน่วยงานของตนเป็นหลักไปเป็นเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  ภาคการศึกษา  และภาคประชาสังคม ซึ่งพลังหลักในการทำงานจะเปลี่ยนจากข้าราชการเป็นคน (individual) ไปเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน (relationship)  เครื่องมือหรือแรงขับเคลื่อนหลักในการปฏิบัติราชการ จะต้องยกระดับจากข้อมูล (data) และสารสนเทศ (information) ไปเป็นความรู้ (knowledge)  ทั้งในรูปของความรู้ชัดแจ้ง (explicit knowledge)  และที่อยู่ในรูปของความรู้ที่ฝังลึก (tacit knowledge) ดังนั้น การจัดการความรู้จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแนวใหม่ในปัจจุบันเพื่อให้หน่วยงานเกิดการพัฒนาความรู้ความคู่กับการดำเนินงาน  มีรายละเอียดดังนี้

แนวคิดการจัดการความรู้กับการบริหารราชการแนวใหม่

          การบริหารราชการแนวใหม่หรือการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management)  เป็นแนวคิดพื้นฐานของการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ขององค์กรภาครัฐ โดยมีแนวทางในการบริหารจัดการ 7 ประการ คือ
1) การให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน
2) การคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก  
3) รัฐพึงทำบทบาทเฉพาะที่รัฐทำได้ดีเท่านั้น
4) การลดการควบคุมจากส่วนกลาง เพิ่มความอิสระแก่หน่วยงาน
5) ระบบการบริหารงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
6) การมีระบบสนับสนุนทางด้านบุคลากรและเทคโนโลยี
7) เน้นการแข่งขันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน
ส่วนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือสร้าง “พลังทวีคูณ” (synergy) ในการปฏิบัติราชการ คือ พลังของข้าราชการระดับสูง ข้าราชการระดับกลาง และข้าราชการระดับล่าง ให้สามารถสร้างผลงานในระดับสร้างสรรค์และมีผลสัมฤทธิ์สูง  ซึ่งในการบริหารราชการแนวใหม่นี้ ส่วนราชการจะต้องพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญให้เพียงพอแก่การปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสถานการณ์ของต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ซึ่งในการบริหารราชการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 จะต้องมีการวางแผนการปฏิบัติราชการทุกระยะ มีการปรับแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มีการกำหนดผลสัมฤทธิ์ของงานที่เป็นความจริง ดังนั้น แนวความคิดของผู้ปฏิบัติงานภาครัฐจะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติเดิมเสียใหม่ จากการที่ยึดแนวคิดว่า “ต้องปฏิบัติงานตามระเบียบแบบแผนที่วางไว้ตั้งแต่อดีตจนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน” ให้ “เน้นการสร้างความคิดใหม่ๆ ตามวิชาการสมัยใหม่ และนำมาปรับใช้กับการปฏิบัติราชการตลอดเวลา ประกอบกับส่วนราชการต้องมีการพัฒนาความรู้เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
1) หน่วยงานต้องสร้างระบบให้สามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง
2) หน่วยงานต้องสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
3)หน่วยงานต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการ เพื่อให้ข้าราชการทุกคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิชาการสมัยใหม่ตลอดเวลา มีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีคุณธรรม
4) หน่วยงานต้องมีการสร้างความมีส่วนร่วมในหมู่ข้าราชการให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อการนำมาพัฒนาใช้ในการปฏิบัติราชการร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ"

รูปแบบการจัดการความรู้อย่างง่ายในหน่วยงานราชการ

          หลักการสำคัญที่สุดในการดำเนินการจัดการความรู้ คือ ต้องดำเนินการอย่างง่ายที่สุด ไม่เน้นการใช้เครื่องมือหรูหราหรือยุ่งยาก เริ่มจากกิจกรรมดี ๆ เช่น best practice   กิจกรรมกลุ่มสร้างสรรค์ในงานประจำที่มีอยู่แล้วภายในหน่วยงานหรือองค์กร นำมาจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิช่วยกระตุ้นและมีการตั้งคำถาม เพื่อให้กลุ่มงานมีการนำเสนอกิจกรรมของตนอย่างมีชีวิตชีวา และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทรงพลัง เช่น

1) มีใครหรือเหตุการณ์ใดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานจนเกิด best practice อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในช่วงเวลาของการพัฒนาดังกล่าว ใครบ้างเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมอย่างไร เกิดกระบวนการอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จ ความยากลำบากที่ต้องเผชิญคืออะไรบ้าง ได้เอาชนะอุปสรรคนั้นอย่างไร

2) มีการใช้ความรู้อะไรบ้างในการดำเนินกิจกรรม/ ดำเนินงาน และได้ความรู้เหล่านั้นมาจากไหน
3) มีแผนจะทำให้ดียิ่งขึ้นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

4) คิดว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่น่าจะเรียนรู้จากกิจกรรมของกลุ่มของท่านได้

5) มีความรู้อะไรบ้างที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงานในหน่วยงานอื่นภายในองค์กร

          กล่าวโดยสรุป การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่ผู้บริหารองค์การนำมาใช้การบริหารหน่วยงานให้เป็นไปตามรูปแบบการบริหารราชการแนวใหม่  เพื่อให้หน่วยงานเกิดการพัฒนาความรู้ควบคู่กับการดำเนินงาน  ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน  และภาคประชาชน

..............................

เอกสารอ้างอิง

ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบราชการไทย. ความหมายของนวัตกรรมการบริหารจัดการภาครัฐ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) [ออนไลน์] ค้นคืนจาก http://www.opdc.go.th/psic/main.php?url=content&gp=1&mn=3
การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ( การประยุกต์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ) [ออนไลน์] ค้นคืนจาก http://kalai.exteen.com/20051121/entry