พฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทย

มีปัจจัยหลายด้านที่เป็นตัวเร่งให้เกิดขยะจากน้ำมือของมนุษย์ โดยเฉพาะพฤติกรรมความมักง่าย ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับผลพวงที่ตามมาของปัญหาขยะ ความฟุ่มเฟือยในการอุปโภคบริโภค การใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า การใช้ถุงพลาสติกบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เกินความจำเป็น ฯลฯ

อีกด้านหนึ่ง แม้จะมีการรณรงค์และพากันระดมทำกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะของจิตอาสา แต่ก็เป็นเพียงกิจกรรมชั่วครู่ยาม หรือสุดท้ายอาจนำมาซึ่งปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนั้นๆ เสียเอง ยังไม่นับเรื่ององค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐและกระบวนการกำจัดขยะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

การเติบโตของขยะจึงไม่เคยหยุดนิ่ง สวนทางกับความสามารถในการจัดการขยะที่ยังไล่ตามปัญหาไม่ทัน

เมืองขยาย…ขยะยิ่งโต

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทยไว้ล่าสุดเมื่อปี 2559 ทำให้เห็นจำนวนขยะมหาศาลที่สะสม หมักหมม ท้าทายต่อการแก้ไข

เฉพาะในปี 2559 มีขยะมูลฝอยมากถึง 27.06 ล้านตัน และเมื่อคิดเป็นอัตราเฉลี่ยพบว่า แต่ละคนผลิตขยะคนละ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน

ในจำนวนขยะทั้งหมดมีเพียง 35 เปอร์เซ็นต์ ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง หรือคิดเป็นปริมาณขยะ 9.57 ล้านตัน และมีอีกเพียง 21 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5.81 ล้านตัน ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก

ขณะที่ขยะอีก 44 เปอร์เซ็นต์ หรือ 11.68 ล้านตันที่เหลือ ในรายงานไม่ได้ระบุว่ามีการจัดการอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ข้อมูลของ คพ. สะท้อนภาพให้เห็น นั่นคือ แนวโน้มของปริมาณขยะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อัตราการจัดการขยะที่ถูกต้องและกระบวนการนำกลับมาใช้ประโยชน์ กลับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่เท่าทันกับปริมาณของขยะ

สาเหตุของปริมาณขยะที่สะสมพอกพูนมากขึ้น ตามผลการศึกษาของ คพ. ประการแรกคือ สถานที่กำจัดขยะดำเนินการไม่ถูกต้องและไม่ได้รับการปรับปรุง ประการต่อมาคือ การขยายตัวของสังคมเมืองที่สูงขึ้นตามจำนวนประชากร รวมถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี องค์ประกอบเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เมื่อการบริโภคมากขึ้นตามจำนวนประชากร ปริมาณขยะก็มากเป็นเงาตามตัว

กระนั้นหากมองไปยังสถานที่กำจัดขยะของภาครัฐที่มีอยู่ทั้งหมด 239 แห่ง และภาคเอกชน 91 แห่ง ทั้งสองส่วนมีเตาเผาขยะขนาดต่ำกว่า 10 ตัน เพียงแค่ 12 แห่ง ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจึงไม่อาจเพียงพอ

ปี 2559 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความพยายามที่จะเพิ่มสถานที่กำจัดขยะอีก 29 แห่ง กระจายไปยังทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ติดขัดปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ ในรายงานของ คพ. ให้เหตุผลว่า อุปสรรคมาจากความไม่เหมาะสมของสภาพพื้นที่ การทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง ขาดการศึกษาผลกระทบต่อประชาชนอย่างรอบด้าน รวมถึงปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการบริหารจัดการขยะ ทั้งการเก็บขนและลำเลียง

คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากการจัดการขยะมีอุปสรรคดังที่ข้อมูลระบุไว้ การหาคำตอบอาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปยังสาเหตุที่แท้จริง

ปี 2557 รัฐบาล คสช. ระบุให้การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายเป็น “วาระแห่งชาติ” นโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ต่อมานโยบาย คสช. ถูกจัดทำเป็นแผนแม่บทสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการ แต่ล่วงมาถึงวันนี้กว่า 3 ปีผ่านไป…ทุกอย่างยังไม่เกิดผล

อำนาจ-ความเป็นธรรม-สำนึก

ในมุมมองของเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่า ลำพังแผนแม่บทของ คสช. นั้นยังไม่พอ

ย้อนกลับไปยังนโยบายของรัฐบาล คสช. เพ็ญโฉมให้ภาพว่า แผนแม่บทในการจัดการปัญหาขยะสำหรับร่างแรกอยู่ที่กรมควบคุมมลพิษ โดยมีรูปแบบคือให้แต่ละจังหวัดเสนอข้อมูลขยะในพื้นที่เข้ามายังส่วนกลาง เพื่อประมวลความเหมาะสมในการสร้างสถานที่กำจัดขยะ และกระบวนการจัดการขยะอย่างครบวงจร เมื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนแล้วจึงจัดหาที่ดินให้เอกชนเข้ามาลงทุนสร้างสถานที่กำจัดขยะ รวมไปถึงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน หรือ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ”

ทว่าความพยายามของภาครัฐ กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับชุมชนที่ถูกขีดเส้นเป็นสถานที่รองรับขยะ เพราะเกิดกระบวนการเร่งรัดผลักดันแทนที่จะศึกษาผลกระทบและสอบถามความเห็นประชาชนให้รอบด้าน เมื่อชาวบ้านชุมชนรู้เท่าทันผลที่ตามมาในภายหลัง จึงนำมาสู่แรงต้านในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สิ่งนี้คือการดำเนินการที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นทาง

เพ็ญโฉมวิพากษ์ว่า เมื่อเกิดข้อติดขัดโดยที่กรมควบคุมมลพิษไม่สามารถจัดการได้ รัฐบาลจึงเร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ “พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560” ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560

“เป้าประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.ทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถจัดการปัญหาขยะในภาพรวมได้ดีกว่ากฎหมายเดิม” เพ็ญโฉมย้ำ

เพ็ญโฉมขยายความว่า แต่เดิมกระทรวงสาธารณสุขจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะเพื่อสุขอนามัย ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีหน้าที่กำกับดูแลผลกระทบจากขยะที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หากแต่ทั้งสองหน่วยงานไม่สามารถมีอำนาจสั่งการไปยัง อปท. ให้ร่วมจัดการอย่างเป็นระบบได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจจากกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่แท้จริงในการจัดการขยะไม่เพียงแค่อาศัยตัวบทกฎหมายในการบังคับใช้เท่านั้น หากขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายด้าน อย่างน้อยที่สุดต้องทำความเข้าใจว่า ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นนั้นมาพร้อมกับการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสัดส่วนการขยายตัวของชุมชนเมือง แต่ระบบการจัดการขยะยังพัฒนาไม่ทันต่อปริมาณขยะ โดยเฉพาะการจัดหาพื้นที่รองรับขยะและการสร้างเตาเผา ท้ายที่สุดจึงถูกชุมชนต่อต้าน เพราะรัฐไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจังและจริงใจตั้งแต่ต้น

พฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทย
พฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทย

ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ และนครราชสีมา นับว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจที่อุดมไปด้วยประชากรแฝงและนักท่องเที่ยว ซึ่งมาพร้อมกับการบริโภคที่สูงตาม เมื่อบริบทของปัญหาเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เพ็ญโฉมเล็งเห็นในฐานะนักวิชาการที่คลุกคลีกับปัญหาด้านขยะมานาน มีอยู่ 2 ทางออกคือ

  1. เริ่มจากการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะในระดับครัวเรือนซึ่งถูกละเลยและมองข้ามไป ดังเห็นได้จาก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 มิได้เอ่ยถึงครัวเรือน สถานประกอบการ ห้างร้าน โรงงาน ว่าจะต้องมีการคัดแยกขยะ หากแต่เพียงขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายสมัครใจ ซึ่งไม่ได้มีผลมากนักต่อการลดปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง
  2. ระบบกำจัดขยะ อาจเรียกได้ว่า “เตาเผาขยะ” ของเมืองไทยถือเป็นระบบในการกำจัดที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาคือหากไม่มีการคัดแยกมาตั้งแต่ต้นทาง การเผาขยะรวมกันก็จะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะขยะในเมืองไทยราว 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะอินทรีย์ ส่วนที่เหลือจะต้องนำไปอบแห้งก่อนเข้าเตาเผา ซึ่งทำให้ต้นทุนในการกำจัดสูงขึ้น

“ขยะบางอย่างอาจไม่เหมาะกับการเผา หรืออาจต้องเพิ่มพลังงานในการเผา และหากขยะนั้นมีสารอันตรายก็ยิ่งไม่เหมาะสำหรับการเผา เพราะสารอันตรายจะควบคุมได้ยาก ทำให้มีการเล็ดลอดออกมาและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากจัดการไม่ดีปัญหาก็จะตามมา”

โรงงานกำจัดขยะที่ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี คือบทเรียนสำคัญของรัฐบาลที่สะท้อนให้เห็นว่า ยังขาดการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างจริงจัง ผลที่ตามมาคือเกิดแรงต้านจากชุมชน ทั้งรัฐและเอกชนต้องสูญเสียงบประมาณในการลงทุน สำคัญกว่านั้นยังสูญเสียความไว้ใจของชุมชนที่มีต่อรัฐบาล

เหตุที่ชาวบ้านต้องรวมตัวกันคัดค้าน เนื่องจากผลกระทบจากโรงงานกำจัดขยะเชียงรากใหญ่จะส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเกษตรอินทรีย์ และที่สำคัญยังกระทบต่อการผลิตน้ำประปาที่ใช้เลี้ยงประชากรกรุงเทพฯ กว่า 10 ล้านคน นี่จึงเป็นความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลที่สร้างปัญหาซ้ำซ้อนและรุนแรงต่อระบบนิเวศ

“รัฐบาลต้องทบทวนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เราไม่อาจปฏิเสธระบบเตาเผาขยะได้ แต่รัฐบาลก็ไม่ควรเร่งรัดนโยบายโดยขาดการศึกษา เพราะส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศให้ความเห็น

หลายประเทศทั่วโลกมีแนวทางการจัดการขยะที่แตกต่างกันไป เพ็ญโฉมยกตัวอย่างว่า รัฐบาลในหลายประเทศใช้มาตรการทวงถามความรับผิดชอบไปยังบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เกี่ยวกับการกำจัดบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ที่กลายมาเป็นขยะ บางประเทศถึงกับออกกฎหมายควบคุมเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้มีการรับคืนสินค้าเพื่อนำไปกำจัดเอง

“บริษัทเหล่านี้จะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองทำมาจากอะไร ต้องกำจัดอย่างไรจึงจะปลอดภัย ฉะนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการกำจัดขยะ ซึ่งในบ้านเรายังไม่ปรากฏแนวคิดนี้อย่างเป็นรูปธรรม”

เพ็ญโฉมให้ความเห็นอีกว่า ต่างประเทศกล้าที่จะลงโทษกับเอกชนและคนทุกระดับที่สร้างปัญหาด้านขยะ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการที่เข้มข้นในลักษณะนั้น มีเพียงขอความร่วมมือจากผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ และประชาชน ให้ช่วยกันคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง”

ปัญหาอีกประการคือ ค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บขยะของไทยยังไม่มีความเสมอภาคกัน เพราะแต่ละครัวเรือนผลิตขยะในปริมาณไม่เท่ากัน แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเท่ากัน และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าธรรมเนียมของบริษัทห้างร้านต่างๆ อัตราค่าจัดเก็บขยะก็แทบไม่แตกต่างกัน เพราะรัฐไม่กล้าบังคับใช้กฎหมายกับภาคเอกชนหรือกลุ่มทุนใหญ่

“ในแง่ของประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญในการผลิตขยะ แม้ระบบกำจัดขยะจะอยู่ที่ภาครัฐ แต่คนคือหัวใจสำคัญ คุณต้องกลับไปถามตัวเองว่าทุกวันนี้ได้คัดแยกขยะหรือไม่ เพราะคุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาด้วยเช่นกัน แม้จะรณรงค์กันมากแค่ไหนก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ หากไม่ตระหนักว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่” เพ็ญโฉมตั้งคำถามทิ้งท้าย

ลดขยะที่ต้นทาง

แม้ภารกิจในการจัดเก็บและกำจัดขยะจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการ แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ประชาชนทุกคนจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นทางในการผลิตขยะ

สำหรับในพื้นที่เขตชุมชนเมือง ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนช่วยให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุเลาลงได้ อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมีหลายองค์กรหันมาให้ความสนใจในการณรงค์สร้างความตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณขยะจากการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เกินความจำเป็น การใช้กล่องข้าวแทนกล่องโฟม หรือการพกขวดน้ำดื่มส่วนตัวแทนการซื้อน้ำดื่มที่ต้องสิ้นเปลืองแก้วพลาสติกและหลอดดูด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เริ่มต้นลงมือทำได้ทันที และสามารถฝึกให้เป็นนิสัยได้

ห้วงเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งพยายามสร้างความตื่นตัวแก่ประชาชนให้ตระหนักถึงปัญหาขยะอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก การนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนหรือบริษัทห้างร้านลดการใช้ถุงพลาสติก

สากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการรวมพลัง สร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก ร่วมกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ 16 หน่วยงานทั่วประเทศ พบว่า สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกรวมกันได้ถึง 166 ล้านใบ และเพื่อให้ลดปริมาณถุงพลาสติกให้ได้มากขึ้น จึงเพิ่มความเข้มข้นโดยเพิ่มระยะเวลาการรณรงค์จากเดิมเฉพาะทุกวันที่ 15 และทุกวันพุธ เพิ่มเป็นทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ของทุกๆ สัปดาห์

เช่นเดียวกับ จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่เดินหน้าและตั้งเป้าลดพลาสติกฝาหุ้มขวดน้ำดื่มทุกชนิดให้หมดจากประเทศไทยภายใน 1 ปี ซึ่งหากกิจกรรมนี้บรรลุผล จะสามารถลดปริมาณขยะประเภทดังกล่าวได้ถึงปีละ 520 ตัน โดยคำนวณจากตัวเลขการผลิตขวดน้ำดื่มปีละ 7,000 ล้านขวด ซึ่งจะมีส่วนประกอบของพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มประมาณ 2,600 ล้านชิ้น หากนำมาเรียงต่อกันจะได้ความยาว 260,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็นระยะทางรอบโลกถึง 6.5 รอบ นำมาซึ่งปัญหาขยะหลายร้อยตันในแต่ละปี

ภาพอนาคตในการอยู่ร่วมกันของประชาชนในฐานะที่เป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตขยะจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างไร คำตอบจากนักวิเคราะห์อย่าง อุดม หงส์ชาติกุล กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ฉายภาพว่า เราคงต้องอยู่ร่วมกับขยะต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์และไม่สร้างปัญหาได้

อุดมมองว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดการขยะ ส่วนใหญ่มักหมายถึงการจัดการปัญหาที่ปลายทาง แต่เมื่อพิจารณาจากปริมาณที่เกิดขึ้นในแต่ละปีย่อมเป็นไปได้ยากที่จะกำจัดขยะให้หมดไปในเร็ววัน มีเพียงทางออกเดียวที่ต้องอาศัยระยะเวลาคือ การสร้างความรู้ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและมองเห็นปัญหาร่วมกันอย่างแท้จริง

“ผลการศึกษาปัญหาขยะทั่วโลก พบข้อมูลชัดเจนว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่ใกล้ตัวมนุษย์มากที่สุดคือ ขยะอาหาร และการจัดการขยะที่ดีที่สุดคือ การจัดการตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ขยะลดน้อยลง โดยกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ของคนทุกคน”

อุดมชูโมเดลการจัดการขยะอย่างง่ายๆ แบบที่ทุกคนทำได้ด้วยการใช้โครงร่าง “พีระมิดหัวกลับ” โดยให้นึกภาพขยะเป็นเหมือนพีระมิดหัวกลับ หากจัดการได้ตั้งแต่ปลายยอดที่เป็นฐานกว้างก็จะทำให้ฐานรากที่เป็นยอดแหลมของพีระมิดซึ่งเปรียบเสมือนขยะลดน้อยลงไปด้วย โดยเริ่มจาก

“Reduce” คือ การลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง หลักง่ายๆ ของการลดขยะคือ ไม่จับจ่ายซื้อของที่เกินกว่าจำเป็น โดยเฉพาะอาหารที่บริโภคไม่หมดจะเน่าเสียกลายเป็นขยะ

“Reuse” คือ การนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในบริบทของอาหารคือ การบริจาคอาหารที่เหลือจากการบริโภคให้กับผู้อื่นหรือผู้ที่ต้องการ โดยไม่ให้อาหารนั้นกลายเป็นขยะ ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ ประสบปัญหาเกี่ยวกับอาหารที่เหลือจำนวนมากและสุดท้ายต้องนำไปทิ้ง แต่ในมุมกลับกันอาหารที่เหลือนั้นก็จำเป็นสำหรับคนที่ขาดแคลนและต้องการ ดังนั้น การบริจาคให้กับผู้ที่ขาดแคลนแทนการทิ้งไปอย่างสูญเปล่าจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า

“Recycle” คือ การนำกลับไปใช้เพื่อการอื่น กรณีนี้หมายถึงสร้างพลังงานทดแทนจากขยะ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว

สุดท้ายของพีระมิดหัวกลับ คือ จุดกำจัดขยะ ซึ่งตรงจุดนี้ต้องเป็นจุดที่เล็กที่สุดของพีระมิดหลังจากผ่านกระบนการอื่นๆ ในข้างต้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทยยอมรับว่า วัฒนธรรมของคนไทยที่มักเลี้ยงดูปูเสื่อแขกเหรื่ออย่างเต็มที่ อย่างที่เรียกกันว่า “เหลือดีกว่าขาด” อาจถือเป็นเรื่องที่ดีที่แสดงออกถึงการมีน้ำใจ แต่การที่ปล่อยให้อาหารเหลือทิ้งเหลือขว้างเป็นจำนวนมากก็ส่งผลเสียด้วยเช่นกัน ฉะนั้น จึงควรมีการออกแบบระบบการจัดการให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ดี โดยการจัดเลี้ยงแต่ละครั้งไม่ควรเหลืออาหารทิ้งในปริมาณมาก

“ผมคิดว่าทุกคนสามารถเริ่มได้เลยตามกระบวนการนี้ โดยเฉพาะเรื่องการบริโภคอาหาร เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเงินในกระเป๋าของเราเอง เริ่มด้วยการไม่ซื้อสิ่งของเกินความต้องการ รับประทานเท่าที่จำเป็น ไม่ทิ้งขว้าง เงินเราก็จะเหลือ เศรษฐกิจในครอบครัวก็จะดี”

อุดมแนะนำขั้นตอนที่สำคัญว่า ให้สังเกตว่าแต่ละวันได้จับจ่ายอะไรไปบ้าง ประเมินปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ หากมีอาหารเหลือต้องหาวิธีจัดการที่เหมาะสม จากนั้นนำข้อมูลที่บันทึกไว้มาทดลองและปรับให้เข้ากับแผนในวันถัดไป เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภค เพียงเท่านี้ก็จะช่วยสังคมลดปัญหาขยะได้ด้วยวิธีง่ายๆ และเห็นผลจริง

“ผมเชื่อว่าเราทุกคนทำได้ สร้างความตระหนักรู้ได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา และต้องชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้ทำเพื่อคนอื่น ไม่ได้ทำเพื่อโลกสวย แต่คนที่ได้ประโยชน์โดยตรงคือตัวเราเองที่ลงมือทำ เพราะการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยลดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ และลดการจับจ่ายบริโภคเกินตัว”

หากคนไทยทุกคนร่วมกันทำเช่นนี้ ในอนาคตเราจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ให้ลูกหลาน แต่หากไม่เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ สิ่งที่จะตามมาในอนาคตอาจร้ายแรงเกินกว่าจะจินตนาการได้