เทคโนโลยีการปลูกพืชใน โรงเรือน

Mang mike - japanese farmer _ Facebook.mp4

เทคโนโลยีกับการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร
    เทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ ทักษะ และทรัพยากร มาผสมผสานกันเพื่อสร้างผลงานหรือผลิตภัณฑ์
    เทคโนโลยีทางการเกษตร หมายถึง การนำความรู้ ทักษะและทรัพยากรมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา หรือเพิ่มศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อสนองตอบความต้องการของมนุษย์
เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
        1.เทคโนโลยีที่เป็นวิธีการ (Method) หมายถึง วิธีการที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อพัฒนา ปรับปรุงการผลิตให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในทุก ๆ ด้าน เช่น วิธีการปรับปรุงพันธุ์ วิธีการขยายพันธุ์ วิธีการเพิ่มผลผลิต วิธีการป้องกันศัตรูพืช วิธีกำจัดศัตรูพืช วิธีการตอนสัตว์ วิธีการให้อาหารสัตว์ ฯ
        2.เทคโนโลยีที่เป็น เครื่องมือ (Tools and Equipments)หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุ อุปกรณ์ ที่นำมาใช้เพื่อการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น รถเกี่ยวข้าว รถไถ ปุ๋ยเคมี ฯลฯ
        ผลผลิตทางการเกษตร หมายถึงสิ่งที่ได้จากการเกษตร และยังรวมความไปถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้มาจากการแปรรูปผลผลิตจากการเกษตรด้วย
        การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร หมายถึง การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต จึงต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานในการผลิต เพื่อการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประทศชาติ

หลักการสำคัญของการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ทำได้ 2 วิธี 

        1.การขยายพื้นที่ทำการเกษตร
        2.การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืช (เพิ่มปริมาณผลผลิตโดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่)
        1.การคัดเลือกพันธุ์พืช ปรับปรุงพันธุ์พืชและการขยายพันธุ์พืช
        2.การดูแลรักษาดินและปรับปรุงดิน
        3.การปรับปรุงระบบชลประทาน
        4.การดูแลรักษาพืชที่ปลูก
        5.การปลูกพืชไม่ใช้ดิน /การใช้วัสดุผสม/การใช้สารละลาย
การคัดเลือกพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์พืชและการขยายพันธุ์พืช จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
        1.ปริมาณผลผลิต 

        2.ความนิยมของผู้บริโภค
        3.ความต้านทานต่อโรคและแมลงต่างๆ 

        4.ความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น
การดูแลรักษาดินและปรับปรุงดิน เป็นการรักษาคุณสมบัติต่างๆของดินให้มีความเหมาะสมกับพืชซึ่งเกษตรกรสามารถที่จะกระทำได้โดยการใช้ดินอย่างรู้คุณค่าและพัฒนาการทำเกษตรให้เป็นไปในลักษณะของความยั่งยืนทำได้ดังนี้
        1.ปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่ 

        2.ปลูกพืชแซม
        3.ปลูกพืขวางทางลาดเท 

        4.ไม่ขายหน้าดิน
        5.จัดทำทางระบายน้ำ 

        6.ไม่เผาเศษซากพืชในพื้นที่
        7.ใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรคลุมดิน 

        8.จัดทำแนวกันลม 


การปรับปรุงระบบชลประทาน เป็นการปฏิบัติเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน และการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
        การชลประทาน(Irrigation) หมายถึง การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อนำน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรจะหมายความรวมไปถึง การจัดระบบการใช้น้ำที่ให้แก่พืชที่ปลูก ซึ่งจะมีระบบของการให้น้ำแก่พืชที่จัดว่าเป็นเทคโนโลยีของการให้น้ำ เช่น ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ (แบบฝนเทียม) ให้น้ำระบบน้ำหยด 


การดูแลรักษาพืชที่ปลูก เป็นการปฏิบัติของผู้ปลูกพืช ที่จะเป็นการช่วยให้พืชที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตจนให้ผลผลิตอย่างมีคุณภาพและปริมาณที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้แก่
        1.การให้ธาตุอาหารพืชที่ถูกต้อง เหมาะสม
        2.การป้องกัน กำจัดศัตรูพืช
        3.การจัดการให้พืชได้รับสีของแสง ความเข้มแสง ช่วงความยาวแสง
        4.การตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่ม
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสัตว์
ความเกี่ยวข้องของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้เพื่อการเพิ่มผลผลิตของสัตว์ จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้
        1.การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์สัตว์ มีการนำความรู้ด้านพันธุศาสตร์ มาใช้เพื่อการคัดเลือกสัตว์ที่มีลักษณะเด่นทางเศรษฐกิจ มาใช้เป็นพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ของสัตว์ และนำพันธุ์สัตว์จากต่างประเทศมาผสมกับสัตว์พื้นเมือง ในประเทศเพื่อให้ได้พันธุ์สัตว์ที่มีลักษณะและความสามารถตามที่ผู้เลี้ยงต้องการ
        2.เทคโนโลยีการผสม(เทียม)พันธุ์สัตว์ (Artifitial Insemination : AI.) ซึ่งเป็นการใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดีฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกของสัตว์เพศเมียในขณะที่สัตว์เพศเมียแสดงอาการเป็นสัด เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ
        3.เทคโนโลยีการถ่ายฝากตัวอ่อน (Embryo transfer : ET) เป็นเทคโนโลยีที่เอาตัวอ่อนของสัตว์ไปฝากไว้ในมดลูกของสัตว์เพศเมียอีกตัวหนึ่งให้อุ้มท้องไปจนกว่าจ้ะเกิดการคลอด
        4.เทคโนโลยีอาหารสัตว์ (Feeds )เป็นการใช้ความรู้ทางด้านโภชนาการ มาใช้ผลิตอาหารสัตว์เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิดที่เลี้ยง เพื่อให้สัตว์ให้ผลผลิตเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ
        5.เทคโนโลยีการจัดการความเป็นอยู่ของสัตว์ ในวัยต่าง ๆ ด้านต่าง ๆ เช่น
                5.1 เทคโนโลยีการให้ความอบอุ่นกับสัตว์วัยอ่อน ได้แก่ เครื่องกก
                5.2 เทคโนโลยีการให้ภูมิคุ้มกันโรคแก่สัตว์ ได้แก่ การใช้วัคซีนต่าง ๆ
                5.3 เทคโนโลยีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ การเลือกใช้โรงเรือนรูปแบบต่างๆ
                5.4 เทคโนโลยี อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ อุปกรณ์ให้น้ำ อุปกรณ์ให้อาหาร
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
เป็นการใช้ความรู้และวิธีการต่าง ๆ มาใช้เพื่อการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตจากพืชหรือสัตว์ โดยใช้หลักการ “ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ และการทำงานของเอนไซม์ในผลผลิต หรือทำลายจุลินทรีย์ให้ตาย” ซึ่งมีวิธีดังต่อไปนี้
                1.การใช้ความร้อน 

                2.การใช้ความเย็น
                3.การใช้สารเคมี 

                4.การใช้รังสี 


ความสำคัญของเทคโนโลยีทางการเกษตร
        จากความรู้ข้างต้นจะเห็นได้ว่า “เทคโนโลยีทางการเกษตร” มีบทบาทสำคัญด้านการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชและสัตว์ให้มีปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่สนองตอบต่อความต้องการบริโภคของมนุษย์ที่นับวันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นตัวของเกษตรกรเอง จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรมาเป็นปัจจัยสำหรับการผลิตพืชและสัตว์ โดยคำนึงถึงความไม่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั่วไปด้วย 


การใช้เทคโนโลยีเพื่อการปลูกพืช
            1.เทคโนโลยีการเตรียมดิน หมายถึงการใช้ความรู้ที่เกิดจากการศึกษา ค้นคว้า มากำหนดวิธีการขั้นตอนของการปฏิบัติกับดินที่จะใช้งานเพื่อการปลูกพืช และรวมไปถึงการคิด การสร้าง การประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ที่นำไปปฏิบัติกับดิน เพื่อให้มีความสอดคล้อง เหมาะสมกับวิธีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญในสภาพภูมิประเทศจริง
                    1.1 การใช้เครื่องมือทุ่นแรง เตรียมดิน ทั้งที่ใช้แรงสัตว์ และแรงเครื่องยนต์ เช่น ไถหัวหมู (แรงสัตว์ ,แรงเครื่องยนต์)ไถจานไถพวงไถสว่านไถยกร่อง (แรงเครื่องยนต์) คราด,ลูกทุบ จอบ เสียม พลั่วแทงดิน ฯ
                    1.2 การเตรียมดินปลูกในแปลง ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทำให้ดินมีสภาพเป็นโคลนตม เพื่อการปลูกข้าวด้วยวิธีหว่านน้ำตม ,การทำแปลงปลูกแบบร่องจีน เพื่อการปลูกผัก ไม้ผล,การทำแปลงปลูกแบบร่องลูกฟูก เพื่อการปลูกพืชไร่บางชนิด ,การขุดหลุมปลูกขนาดต่าง ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับขนาดของต้นพืชต่างๆ,
            2.เทคโนโลยีวัสดุปลูก (Media)
                    2.1การปลูกพืช(ผักล้มลุก)ด้วยสารละลาย (Hydrophonics Planting) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการแก้ปัญหา สภาพดินปลูกในธรรมชาติมีความเสื่อมโทรม มีคุณสมบัติทั้งกายภาพและเคมีไม่เหมาะสมกับพืช จึงแก้ปัญหาโดยการใช้สารละลายที่มีธาตุอาหารพืชทั้งชนิดและปริมาณที่เหมาะสม มาเป็นวัสดุปลูก ซึ่งในปัจจุบันได้มีการปลูกพืชด้วยวิธีการนี้ในเชิงการค้ากันบ้างแล้ว แต่มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่มีการปฏิบัติกันแพร่หลายเนื่องจากต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงมาก
                    2.2 การปลูกพืชด้วยวัสดุผสม เป็นการนำอินทรียวัตถุและอนินทรียวัตถุชนิดต่าง ๆ มาผสมกันในสัดส่วนต่างๆเพื่อใช้เป็นวัสดุปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ทดแทนการใช้ดินในธรรมชาติทีมีปัญหาของความไม่เหมาะสมของดินกับพืช ดังที่พบเห็นได้ในแวดวงของการค้าวัสดุปลูกพืชที่มีขายกันอยู่ตามธุรกิจค้าพันธุ์ไม้
            3.เทคโนโลยีการขยายพันธุ์พืช และปรับปรุงพันธุ์พืช
                    3.1 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการขยายพันธุ์พืช
แก้ปัญหาสำหรับการขยายพันธุ์พืชชนิดที่มีต้นพืชเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง เช่น มะละกอ หรือใช้เพื่อการผลิตต้นกล้าพืชให้ปลอดจากเชื้อไวรัส เช่น ส้มปลอดโรค หรือใช้เพื่อการเพิ่มจำนวนต้นพืชที่มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ
                    3.2 การปรับปรุงพันธุ์พืชโดยการดัดแปลงพันธุกรรม(Genetically Modified Organisms)
เป็นวิธีการปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความต้านทานต่อโรคและแมลงที่มีอยู่ทั่วไปในสภาพไร่นา แต่เทคโนโลยีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันสำหรับประเทศไทย เนื่องจากนักวิชาการทางการเกษตรและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกรงว่าจะเกิดเป็นอันตรายกับผู้ที่บริโภคผลผลิตจากพืชที่ได้จากวิธีการนี้
                    3.3 การสร้างสายพันธุ์พืชลูกผสม (hybrids) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการสร้างสายพันธุ์พืชขึ้นมาโดยการผสมพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ได้ต้นพืชที่มีลักษณะดี เด่น เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น มีขนาดของผลผลิตใหญ่ขึ้น รสชาติดีขึ้น สีสันสวยมากขึ้น เป็นต้น
                    3.4 การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการไม่ใช้เพศ เช่น ตัดชำ ตอน ติดตา ต่อกิ่ง ทาบกิ่ง เพื่อเพิ่มจำนวนต้นพืชให้มากขึ้น เพียงพอต่อการใช้ปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ
            4.เทคโนโลยีวิธีการปลูกพืช
                    4.1 การใช้ระบบการปลูกพืช เป็นการใช้ความรู้ที่เกี่ยวกับระยะห่างระหว่างต้น และระยะห่างระหว่างแถว เพื่อการปลูกพืชแต่ละชนิดให้สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้สูงสุดแล้ว ให้ผลผลิตที่มากที่สุด เช่น 2 X 2 m , 2 X 4 m , 4X4 m , 20 X 20 cm , 50 X 75 cm เป็นต้น
                    4.2 การใช้เครื่องจักรกลปลูกพืช เป็นการประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ที่ต้องการใช้แรงงานจากเครื่องจักรกลเพื่อชดเชยแรงงานของมนุษย์ที่นับวันจะหาได้ยากขึ้น เช่น เครื่องดำนา เครื่องปลูกอ้อย เครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพด ,เมล็ดถั่ว ฯ
                    4.3 การใช้โรงเรือนปลูกพืช เป็นการใช้สิ่งก่อสร้างที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมภายนอกให้มีความเหมาะสมกับพืชที่ปลูกอยู่ภายใน ให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีและมีผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น โรงเรือนกระจก โรงเรือนพลาสติก โรงเรือนระแนง ฯ
            5.เทคโนโลยีการดูแล รักษาพืช หมายถึงการใช้ความรู้ ที่เกิดจากการศึกษา ค้นคว้า มากำหนดวิธีการ
ขั้นตอนของการปฏิบัติกับพืช และรวมไปถึงการคิด การสร้าง การประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ที่นำไปปฏิบัติกับพืช เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดี มีความเสียหายน้อยที่สุดในสภาพภูมิประเทศจริง
                    5.1 เทคโนโลยีการให้น้ำ เช่น ให้น้ำแบบท่วมขัง ให้น้ำแบบเหนือศีรษะ ให้น้ำแบบหยด โดยใช้ เครื่องมือ สิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เช่น บัวรดน้ำ ถังความดัน แครงสาด ฯ
                    5.2 การใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญของเซลล์พืช เป็นวิธีการเร่งความเจริญของเซลล์พืชในระยะเวลาสั้น เช่น การใช้ฮอร์โมนเพื่อการตอนกิ่งพืช (ฮอร์โมน NAA,IBA) การใช้ฮอร์โมนเพื่อการเร่งการเกิดตาดอก (Thio Urea= สารคัลทาร์) การใช้ฮอร์โมนเพื่อป้องกันผลอ่อนหลุดร่วง (สารขั้วเหนียว =ฮอร์โมน Giberralin)
                    5.3 การใช้ปุ๋ย เป็นการใช้ความรู้เกี่ยวกับธาตุอาหารพืชแต่ละกลุ่มแต่ละชนิดและบทบาทของธาตุอาหารแต่ละชนิดในต้นพืช เพื่อบำรุงความเติบโตของพืชเพื่อให้ผลผลิตตามวัตถุประสงค์ เช่น การใช้ปุ๋ยเดี่ยวสังเคราะห์ (N-P-K)การใช้ปุ๋ยผสมสังเคราะห์(สมบูรณ์-ไม่สมบูรณ์) การใช้ปุ๋ยธาตุอาหารเสริม(จุลธาตุ) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์(ชีวภาพในรูปน้ำ-ของแข็ง)
                    5.4 การใช้สารป้องกัน กำจัดศัตรูพืช เป็นการใช้ความรู้ที่ว่าด้วยวิธีการ สิ่งประดิษฐ์และสารสังเคราะห์เพื่อการป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ เช่น การใช้พันธุ์พืชพันธุ์ต้านทาน การใช้วิธีเขตกรรม,การใช้วิธีกล (กับดักต่างๆ)การใช้สารฟีโรโมน(เคมี)สังเคราะห์(ล่อให้มาติดกับดัก) การใช้วิธีชีวภาพ(แมลงตัวห้ำ ตัวเบียน เชื้อจุลินทรีย์)
                    5.5.การลด-เพิ่ม ความเข้มของแสงสว่าง เป็นการจัดการเกี่ยวกับแสงและคุณภาพของแสงเพื่อให้พืชสามารถเจริญได้ดีตาม วัฎจักรชีวิตของพืช เช่น การใช้ตาข่ายพรางแสง เพื่อลดความร้อน การให้แสงสีแดง-สีน้ำเงิน เพื่อการเจริญ-การแก่ของเซลล์ การเพิ่ม-ลดเวลาของการให้แสงสว่าง เพื่อกระตุ้นการเกิดตาดอก
                    5.6 การตัดแต่งกิ่ง ทรงต้น เป็นการจัดการเกี่ยวกับจำนวนกิ่ง ความสูง ทรงพุ่มของต้นพืชให้มีความเหมาะสมกับการควบคุมคุณภาพของผลผลิตและความสะดวกในการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีวิธีการ รูปแบบของการตัดแต่งเป็นไปตามอายุและชนิดของพืช
                    5.7 การให้ค้าง ให้ค้ำยัน เป็นการจัดการเพื่อการลดความเสียหายของต้นและผลผลิตที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการฉีกหักของต้น กิ่ง เนื่องจากน้ำหนักของผล ดอก หรือแรงลม ทั้งยังเป็นการรักษาความสะอาดของผิวเปลือกผลผลิต
                    5.8 การห่อผล รองผล เป็นการป้องกันผลผลิตของพืชจากการถูกทำลายด้วยความร้อนของแสงแดด หรือการกัด เจาะ ดูดของแมลงและสัตว์ต่างๆ ด้วยการใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น ถุงห่อผลผลไม้(ที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ) ถุงกระดาษ ถุงพลาสติก
                    5.9 การเก็บผลผลิต เป็นการใช้ความรู้และวิธีการที่เหมาะสมสำหรับจัดการเพื่อเก็บผลผลิตให้มีคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น การใช้วิธีนับอายุ(วัน)เพื่อการเก็บเกี่ยว การใช้เครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยว
            6.เทคโนโลยีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เป็นการใช้ความรู้ วิธีการและสิ่งประดิษฐ์ที่ได้จากการคิดค้นของมนุษย์เพื่อการรักษาคุณภาพของผลผลิตให้สนองตอบตามความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ผลิตพืชจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการให้เหมาะสมกับชนิดของพืช เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของตน เช่น การทำความสะอาด การคัดขนาด การหีบห่อ การเก็บรักษา ฯ 


สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อการจัดการผลผลิตพืช แต่ละชนิดนั้น ขอเสนอแนวความคิดไว้ให้พิจารณาดังตารางข้างล่างนี้

ตารางแสดงการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการผลผลิตหลังการเก็บ

กลุ่ม/ชนิดพืช ขั้นตอนการจัดการ เทคโนโลยีที่ใช้
พืชไร่(ข้าว,ข้าวโพด,ข้าวฟ่าง,ถั่วเขียว ถั่วเหลือง) 1.การนวด(แยกเมล็ดออกจากรวง,จากฝัก)
2.การทำความสะอาดเมล็ด
3.การลดความชื้นในเมล็ด
4.การหีบห่อ(บรรจุภัณฑ์)
5.การเก็บรักษาเมล็ด
1.เครื่องสีข้าว,ข้าวโพด,ข้าวฟ่าง,ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
2.การใช้แรงลมจากเครื่องนวด,สีฝัด
3.การใช้เครื่องอบเมล็ดเพื่อลดความชื้น,การตากแดด
4.บรรจุใส่กระสอบป่านหรือกระสอบใยสังเคราะห์
5.เก็บในโรงเรือน (ยุ้ง,ฉาง)ที่แห้ง ลมผ่านได้
พืชผัก (ผักกินใบสด ผักกินผลสดชนิดต่างๆ) 1.การทำความสะอาด
2.การคัดขนาด(จัดเกรด)
3.การหีบห่อ(บรรจุภัณฑ์)
4.การเก็บรักษารอการขาย(วันต่อวัน)
1.ใช้มือและมีดตัดส่วนที่เสียหาย ,ล้างน้ำ
2.การใช้มือและสายตาจัดแยกขนาด
3.บรรจุใส่ถุงพลาสติกใส เจาะรูระบายอากาศ
4. เก็บในร่มที่ระบายความร้อนได้/ในห้องเย็น
ไม้ผล (ผลไม้ผลเดี่ยวชนิดต่างๆที่มีขนาดผลเล็ก) 1.การทำความสะอาด
2.การคัดขนาด(จัดเกรด)
3.การหีบห่อ(บรรจุภัณฑ์)
4.การเก็บรักษารอการขาย
1.ใช้มือและมีดตัดส่วนที่เสียหาย,ใช้ลมเป่าสิ่งสกปรก
2.การใช้มือและสายตาจัดแยกขนาด/ใช้เครื่องคัด
3.บรรจุใส่ถุงพลาสติกใสเจาะรูระบายอากาศหรือลังพลาสติกแข็ง
4. เก็บในร่มที่ระบายความร้อนได้/ในห้องเย็น
ไม้ผล (ผลไม้ผลเดี่ยวชนิดต่างๆที่มีขนาดผลใหญ่) 1.การทำความสะอาด
2.การคัดขนาด(จัดเกรด)
3.การหีบห่อ(บรรจุภัณฑ์)
4.การเก็บรักษารอการขาย
1.ใช้มือและมีดตัดส่วนที่เสียหาย,ใช้ลมเป่าสิ่งสกปรก
2.การใช้มือและสายตาจัดแยกขนาด/ใช้ตาชั่ง
3.ใช้ลังกระดาษลูกฟูกหรือลังพลาสติกแข็ง
4. เก็บในร่มที่ระบายความร้อนได้/ในห้องเย็น

            นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยี สำหรับการผลิตพืช ยังมีอีกหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ละอย่างแต่ละชนิดของพืช ก็จะมีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไปตามกระบวนการ ขั้นตอนของการปฏิบัติกับพืชนั้น ๆ
            สำหรับในชั้นนี้จึงนำเสนอไว้เพื่อเป็นความรู้พื้นฐาน สำหรับการนำไปประยุกต์ ปรับปรุงใช้งานในโอกาสต่อไปสำหรับบุคคลผู้ที่มีความสนใจกับการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ในอนาคตข้างหน้า