สรุปผลการทดลอง

สรุปผลและอภิปรายการทดลอง

          จากการทดลองนำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ค่าความสามารถในการย่อยสลายไขมันได้เป็นดังนี้

          ผลจากตรวจสอบปริมาณไขมันที่หายไปจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ชนิด A พบว่า ในน้ำเสียสังเคราะห์ปริมาณไขมันที่หายไปมีค่าประมาณ 53.58 เปอร์เซ็นต์ในวันที่ 3 ส่วนชนิด B มีค่าประมาณ 57.12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทำการคำนวณประสิทธิภาพย่อยสลาย  ชนิด A มีค่าอยู่ประมาณ 32.48 เปอร์เซ็นต์ และชนิด B มีค่าประมาณ 57.25 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในส่วนของน้ำเสียจริง พบว่าปริมาณไขมันที่หายไปในชุดทดลองของผลิตภัณฑ์ชนิด A  มีค่าประมาณ 99.42 เปอร์เซ็นต์ในวันที่ 4 ส่วนในชุดทดลองของผลิตภัณฑ์ชนิด B มีค่าประมาณ 91 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถคำนวณประสิทธิภาพในการย่อยสลายไขมันของชนิด A ได้ประมาณ 99.42 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ชนิด B มีค่าประมาณ 91 เปอร์เซ็นต์

          ผลการสังเกตจากสีของน้ำ พบว่าในวันที่ 0 ของทั้งน้ำเสียจริงและน้ำเสียสังเคราะห์ สีของน้ำมีสีใสปกติ และในวันที่ 3 น้ำเสียสังเคราะห์มีสีขาวขุ่นขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกันกับน้ำเสียจริงเมื่อเทียบกับชุดควบคุม ส่วนค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ มีค่าค่อนข้างคงที่ โดยอยู่ที่ประมาณ 7 ตลอดทั้งในน้ำเสียสังเคราะห์และน้ำเสียจริง

          อภิปรายการทดลอง

          จากการทดลองพบว่า เมื่อทดสอบจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 คือ ชนิด A และชนิด Bในน้ำเสียสังเคราะห์ที่มีน้ำมันปาล์มผสมอยู่ 5 กรัมต่อลิตร เป็นเวลา 3 วัน และทดสอบในน้ำเสียจริงเป็นเวลา 4 วัน พบว่า ผลที่ได้นั้นมีความแตกต่างกัน โดยในน้ำเสียสังเคราะห์ ค่าประสิทธิภาพการย่อยสลายไขมันของผลิตภัณฑที่คำนวณได้มีค่าน้อยกว่าในน้ำเสียจริง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆที่มีส่วนช่วยย่อยสลายไขมันได้ อาทิเช่น จุลินทรีย์ต่างๆที่อยู่ในน้ำเสียจริงอยู่แล้วมีความสามารถในการย่อยสลายไขมัน ทำให้จุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ที่เติมลงไปมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าจากผลการทดลอง ผลิตภัณฑ์ชนิด B สามารถย่อยสลายไขมันได้ดีกว่าชนิด Aในน้ำเสียสังเคราะห์ แต่ผลิตภัณฑ์ชนิด A สามารถย่อยสลายไขมันได้ดีเทียบเท่ากับ ชนิด Bในน้ำเสียจริง นอกจากนี้จะพบว่าจำนวนของจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นเพราะแบคทีเรียได้รับสารอาหารในน้ำเสีย ทำให้สามารถเพิ่มจำนวน และทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยสลายไขมันเพิ่มมากขึ้น

          ในส่วนของสีของน้ำ จะสังเกตได้ว่าน้ำมีสีขุ่นขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และจะมีตะกอนสีน้ำตาลรวมตัวกันอยู่เหนือน้ำด้วย ซึ่งก้อนสีน้ำตาลเหล่านี้ คือก้อนไขมันที่ถูกจับกลุ่มรวมกัน เพื่อไม่ให้ไขมันกระจายตัวอยู่ในน้ำ ถือเป็นข้อสังเกตหนึ่งที่ทำให้ทราบว่าจุลินทรีย์มีผลทำให้ไขมันที่ผสมอยู่ในน้ำถูกจับรวมตัวกันเป็นก้อน และสีของน้ำที่ขุ่นขึ้นแสดงถึงปริมาณไขมันในน้ำที่ลดลง

          จากผลการทดลองทั้งหมด สามารถสรุปได้ว่าสอดคล้องกับสมมติฐานที่ว่า จุลินทรีย์สำเร็จรูปมีความสามารถกำจัดน้ำมันและไขมันได้ดีกว่าวิธีการใช้บ่อดักไขมันที่ใช้อยู่ในระบบบำบัดน้ำเสียเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ ปริมาณน้ำมันและไขมันที่เหลือตกค้างจากการทดสอบ จะมีปริมาณที่ลดลง

          เมื่อทำการศึกษาการทดลองของ นายขวัญเนตร สมบัติสมภพ และคณะ[1] พบว่าเป็นการเปรียบเทียบการทดสอบประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของแบคทีเรีย Micro Mix และ Micro DRD-14 ซึ่งค่าความเป็นกรดด่างของน้ำเสียมีค่าใกล้เคียงกับน้ำเสียที่คณะผู้จัดทำใช้ คือประมาณ 6.7-7.8 และผลการทดลองที่ได้คือ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียได้ไม่เท่ากัน โดย Micro Mix มีประสิทธิภาพดีที่สุด และเป็น Micro DRD-14 ตามลำดับ คล้ายกับผลการทดลองของคณะผู้จัดทำ ที่ในน้ำเสียจริง ผลิตภัณฑ์ชนิด A มีประสิทธิภาพในการกำจัดไขมัน (บำบัดน้ำเสีย) ได้ดีกว่าชนิด Bตามลำดับ  และอีกส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ ผลที่ได้จากการทดลองพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดลอง สามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้ โดยมีส่วนช่วยทำให้การบำบัดน้ำเสียดีกว่าการใช้วิธีบำบัดน้ำเสียแบบใช้บ่อดักไขมัน หรือการใช้วิธีบำบัดน้ำเสียทางกายภาพ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษา

1.ได้จุลินทรีย์สำเร็จรูปที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดไขมันและน้ำมันในน้ำเสียได้มากที่สุด

2.สามารถนำวิธีนี้ไปปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียของโรงอาหารโรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี)ให้ดีขึ้นได้

3.ได้เรียนรู้วิธีทดสอบประสิทธิภาพการย่อยสลายไขมัน และได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ได้รับประสบการณ์มากขึ้น

4.ได้ฝึกฝนทักษะกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทั้งการตั้งคำถาม และการลงมือปฏิบัติทดลอง และขั้นตอนอื่นๆ