ดินที่เหมาะกับการปลูกผักสวนครัว

ขั้นตอนการเตรียมดินปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่  การทำความสะอาดพื้นที่ขุดดินย่อยดิน กำจัดเศษวัชพืช  ขึ้นแปลง  สำหรับผักที่ปลูกบนภาชนะต้องเตรียมดินผสมสำหรับบรรจุในภาชนะปลูก

            การเลือกใช้เครื่องมือในการเตรียมดินปลูกพืชผักสวนครัวควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของดิน ชนิดของพืชและลักษณะการปลูก

การเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชผักสวนครัวที่เหมาะสมกับชนิดของผักย่อมทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี


เนื้อหา

ตอนที่  1  ดินกับการเจริญเติบโตของพืช

ตอนที่  2  ขั้นตอนการเตรียมดิน

ตอนที่  3  การเลือกใช้เครื่องมือ

ตอนที่  4  การเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชผัก

ตอนที่  5  การเตรียมดินสำหรับปลูกพืชผักที่เลือก

การเตรียมดินในการปลูกพืชผักสวนครัว เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ  เพราะถ้าหากการเริ่มต้นปฏิบัติงานที่ดีย่อมมีผลต่อการเจริญเติบโตและปริมาณผลผลิตของพืชผักพืชผักบางชนิดมีอายุหลายปี  ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาใช้ประโยชน์ได้นาน ดังนั้นต้องเริ่มต้นปฏิบัติงานครั้งแรกให้ดีที่สุด


ดินที่เหมาะกับการปลูกผักสวนครัว

1.  ดินกับการเจริญเติบโตของพืช

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องอาศัยดินในการยังชีพและการเจริญเติบโต  เช่น  มนุษย์และสัตว์ต้องอาศัยดินเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย  เป็นแหล่งกำเนิดของปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพด้านอื่นๆ  เช่น  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  และยารักษาโรค  พืชก็ต้องอาศัยดินในการเจริญเติบโต  นับตั้งแต่เริ่มงอกจากเมล็ดจนกระทั่งแตกกิ่งก้านสาขา  และให้ผลผลิตในที่สุด

1.1  ความสำคัญของดินที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช

ดินมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชดังต่อไปนี้

1.1.1  ดินเป็นที่ยึดเกาะของรากพืช ทำให้ต้นพืชสามารถทรงตัวตั้งตรง  ชูลำต้นและกิ่งก้านขึ้นสู่อากาศเพื่อรับแสงแดด และแตกทรงพุ่มผลิดอกออกผลได้  ป้องกันไม่ให้ลำต้นล้มเอียง ในปัจจุบันแม้เทคโนโลยีทางการเกษตรจะก้าวหน้า มีการคิดค้นวิธีการปลูกพืชโดยไม่จำเป็นต้องใช้ดินแต่ก็จำเป็น ต้องมีวัสดุ  เช่น  กรวด  ทราย  หรือไม้ค้ำยัน  เพื่อยึดลำต้นและเป็นที่ยึดเกาะของรากพืชเช่นกัน

1.1.2  ดินเป็นแหล่งแร่ธาตุอาหารของพืช  แร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชเกือบทุกชนิดได้มาจากดิน ทั้งนี้เนื่องจากดินเกิดขึ้นจากการผุพังและแตกสลายของหินและแร่ชนิดต่างๆ ผสมรวมกันกับการเน่าเปื่อยผุพังของซากสิ่งมีชีวิต  ซึ่งทั้งหิน  แร่  และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่างๆ  เมื่อผุพังสลายตัวจึงปล่อยแร่ธาตุเหล่านี้ออกมาสู่ดิน

1.1.3  ดินเป็นแหล่งเก็บน้ำไว้ให้พืช  น้ำจะถูกเก็บไว้ในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน  พืชจะดูดน้ำและแร่ธาตุอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ โดยผ่านทางรากที่อยู่ในดิน  ถ้าหากภายในดินมีน้ำไม่เพียงพอ  พืชจะแสดงอาการขาดน้ำ  เหี่ยวเฉา  แคระแกร็น  ไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด

1.1.4  ดินเป็นแหล่งเก็บอากาศไว้ให้พืช  รากพืชจะดูดน้ำและแร่ธาตุอาหารจากดินไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้นั้นจะต้องมีชีวิตอยู่และต้องหายใจโดยใช้ก๊าซออกซิเจนที่มีอยู่ในดิน  เพราะฉะนั้นพืชจะเจริญเติบโตได้ดีนั้น  ในดินจะต้องมีก๊าซออกซิเจนอย่างเพียงพอ  ก๊าซออกซิเจนจะอยู่ภายในช่องว่างระหว่างเม็ดดินเช่นเดียวกับน้ำ

1.1.5  ดินเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและจุลินทรีย์  สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในดิน  เช่น  แมลงต่างๆ  ไส้เดือน  กิ้งกือ  แมงมุม  เป็นต้น  ตลอดจนจุลินทรีย์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พืช  เช่น  รา  แบคทีเรีย  ยีสต์  ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะกัดกินและย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ในดินให้เน่าเปื่อยผุพัง  ทับถมอยู่ในดินและละลายแร่ธาตุอาหารต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อพืช  นอกจากนั้นยังช่วยทำให้ดินร่วนซุย  มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืชได้อีกด้วย

1.2   คุณสมบัติของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าพืชแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน   ความต้องการดินที่เหมาะสม      ต่อการเจริญเติบโตของพืชก็แตกต่างกันด้วย     พืชบางชนิดต้องการดินที่มีคุณสมบัติเฉพาะ

ในการเจริญเติบโต  เช่น  ข้าว ต้องการดินที่มีคุณสมบัติเฉพาะเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี  มีน้ำท่วมขัง  พืชทะเลทราย  เช่น  ตะบองเพชร  อินทผลัม  ต้องการดินที่มีคุณสมบัติเป็นดินทราย  ร่วนซุย  อากาศถ่ายเทได้สะดวก  ระบายน้ำได้ดี  เป็นต้น  เพราะฉะนั้นในการปลูกพืชผู้ปลูกจะเลือกปลูกพืชชนิดใดจำเป็นต้องศึกษาให้ทราบก่อนว่าพืชชนิดนั้นเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีคุณสมบัติอย่างไร  แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว พืชส่วนใหญ่ต้องการดินปลูกที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. ดินที่มีแร่ธาตุอาหารพืชอุดมสมบูรณ์  กล่าวคือเป็นดินที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช  ตามปกติแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชมีอยู่ 16 ธาตุ  ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้

1)  แร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการมากที่สุด และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพืช  ได้แก่  ธาตุคาร์บอน (C)  ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O)  ซึ่งแร่ธาตุต่างๆ เหล่านี้พืชได้มาจากน้ำและอากาศ

2)  แร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณมาก และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ ของพืชตลอดจนการสร้างผลผลิต เช่น ใบ  ดอก  ผล  ลำต้น รากและเมล็ด  แร่ธาตุเหล่านี้ได้แก่  ธาตุไนโตรเจน (N)  ฟอสฟอรัส (P)  และโพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg)  และกำมะถัน (S)  แต่แร่ธาตุเหล่านี้มักจะมีอยู่ในดินไม่เพียงพอ  พืชจะขาดแคลนอยู่เสมอ  โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน (N)  ฟอสฟอรัส (P)  และโพแทสเซียม (K)  เพราะนอกจากพืชต้องการใช้ในปริมาณมากแล้ว  ยังสูญเสียไปจากดินได้ง่าย  ดังนั้นในการปลูกพืชจึงจำเป็นต้องรักษาปริมาณของธาตุอาหารเหล่านี้ให้มีอยู่ในดินอย่างเพียงพอ ซึ่งทำได้โดยการใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมลงไปในดินบ่อยๆ

3)  แร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณน้อยมากในการเจริญเติบโต  ถ้าเปรียบเทียบกับอาหารของมนุษย์หรือสัตว์  ได้แก่  อาหารพวกวิตามินและเกลือแร่  ซึ่งพืชจะขาดไม่ได้เลย  แต่ต้องการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ได้แก่  ธาตุเหล็ก (Fe)  ทองแดง (Cu)  โมลิบดินัม (Mo)  สังกะสี (Zn)  โบรอน (B)  แมงกานีส (Mn)  และคลอรีน (Cl)

โดยทั่วๆ ไปแล้วธาตุอาหารต่างๆ เหล่านี้มีอยู่ในดินในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว  โดยเฉพาะดินที่มีอินทรียวัตถุผสมอยู่มากๆ ดินที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดธาตุเหล่านี้มักจะเป็นดินทรายหรือดินที่ใช้ปลูกพืชติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการปรับปรุงบำรุงดิน

  1. ดินที่มีลักษณะร่วนซุย  คือ มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี  ความร่วนซุยของดินมีผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชดังนี้

1)  รากพืชสามารถเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาชอนไชไปหาอาหารได้มากขึ้น  เนื่องจากดินที่ร่วนซุยเป็นดินที่อ่อน  รากพืชสามารถแทงทะลุชอนไชไปได้สะดวก ทำให้พืชมีปริมาณรากมาก  สามารถหาอาหารมาสร้างลำต้นได้มากขึ้น พืชจึงจะเจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็วกว่า

2)  รากพืชหายใจได้สะดวก  สามารถดูดหาน้ำและอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืช ได้สะดวกและเร็วขึ้น  ทั้งนี้เนื่องจากดินที่ร่วนซุยมีช่องว่างอากาศมากและเพียงพอแก่การหายใจของราก  ทำให้มีพลังงานในการดูดหาอาหารและน้ำได้มากขึ้น

  1. ดินที่มีคุณสมบัติทางเคมีเหมาะสม  คุณสมบัติทางเคมีของดินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช  ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินหรือที่เรียกกันว่าค่า pH  คุณสมบัติดังกล่าวนี้จะมีผลต่อความเป็นประโยชน์ของแร่ธาตุอาหารพืชและการเจริญเติบโตของพืชโดยตรง  พืชบางชนิดเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นกรด (pH ต่ำกว่า 7)  บางชนิดเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นด่าง (pH สูงกว่า 7)  นอกจากนั้นสภาพความเป็นกรด–ด่างของดินยังมีผลกระทบกระเทือนต่อความเป็นประโยชน์ของแร่ธาตุอาหารพืชด้วย  เช่น  แร่ธาตุอาหารของพืชในดินจะไม่ละลายเมื่อดินมีสภาพความเป็นกรดมากเกินไป  บางชนิดไม่ละลายเมื่อดินมีสภาพเป็นด่าง  แต่พืชส่วนใหญ่จะมีการเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกในดินที่มีคุณสมบัติทางเคมีเป็นกลางหรือกรดอ่อนๆ  คือระดับ pH 6.5-7

2.  ขั้นตอนการเตรียมดิน

การเตรียมดินอาจจะแตกต่างกันในด้านการใช้เครื่องมือ การเตรียมดินสำหรับการปลูก ผักสวนครัวมีดังต่อไปนี้

2.1  การทำความสะอาดบริเวณที่จะปลูกผัก  เช่น ถางหญ้า เก็บเศษไม้ หิน หรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ ออก  เพื่อสะดวกในการเตรียมดิน

2.2  ขุดดินผึ่งแดดเพื่อกำจัดเชื้อโรคและแมลงบางชนิด

2.3  ย่อยดิน  เก็บเศษหญ้าและวัสดุอื่นที่ปนอยู่ในดินออก

2.4  ขึ้นแปลงสำหรับปลูกผักตามความต้องการ  พืชผักบางชนิดที่ปลูกเป็นหลุม  การขึ้นแปลงอาจจะไม่จำเป็น  ควรขุดหลุมให้มีระยะปลูกเหมาะสมกับชนิดของผัก ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมคลุกเคล้ากับดินก่อนที่จะขึ้นแปลงหรือใช้ปุ๋ยรองก้นหลุมสำหรับการปลูกผักยืนต้น

3.  การเลือกใช้เครื่องมือ

การใช้เครื่องมือในการเตรียมดินปลูกพืชผักสวนครัวนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของการปลูกพืชผักแต่ละชนิด การปลูกผักเพื่อการค้าจำนวนหลายไร่ มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถแทรกเตอร์  รถไถแบบเดินตาม ใช้ใบไถที่แตกต่างกัน  เช่น  ใช้ไถกระทะหรือไถหัวหมูสำหรับไถดินที่บุกเบิกใหม่หรือแข็ง ใช้จอบหมุน จานพรวน สำหรับการย่อยดิน แต่การปลูกผักสวนครัวเครื่องมือที่นิยมใช้กันมากได้แก่

3.1  จอบขุด  เป็นจอบที่มีน้ำหนักมาก  หน้าตัดเว้า  ตัวจอบยาว  ใช้สำหรับขุดดิน

3.2  สองเขาขุด  ใช้สำหรับขุดดินเหนียว  ดินแข็ง

3.3  จอบถาก  เป็นจอบที่มีน้ำหนักเบา  ตัวจอบสั้น  หน้าตัดตรง  ใช้สำหรับถากถางดายหญ้า  ย่อยดินให้เป็นก้อนเล็กๆ  ใช้ขึ้นแปลง

3.4  พลั่ว  ใช้สำหรับตักปุ๋ยคอก  ปุ๋ยหมัก  ที่จะนำมาผสมกับดินในแปลงปลูก

3.5  เสียม  ใช้สำหรับขุดหลุมปลูกพืชผักสวนครัวที่ปลูกเป็นหลุม

3.6  คราดเหล็ก  มือเสือ  ใช้สำหรับแยกเศษหญ้า  ไม้  ออกจากดิน ใช้ย่อยดิน

3.7  บุ้งกี๋  ใช้สำหรับใส่ปุ๋ยคอก  ปุ๋ยหมัก  เศษหญ้า

4.  การเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชผักสวนครัว

การปลูกพืชผักสวนครัวแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ผักบางชนิดอาจจะปลูกลงในแปลงหรือหลุมปลูกโดยตรงบางชนิดต้องเพาะกล้าก่อนแล้วจึงย้ายปลูก บางชนิดอาจจะปลูกบนภาชนะต่างๆ กันการเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชผักสวนครัว จึงสามารถทำได้ดังนี้

4.1  การเตรียมดินสำหรับพืชผักสวนครัวที่นิยมย้ายกล้าปลูก เช่น พริก คะน้า มะเขือ ผักกาดเขียวปลี  กะหล่ำปลี  ผักกาดหอม  โหระพา  แมงลัก  หอมหัวใหญ่  การเตรียมดินสำหรับการปลูกผักชนิดนี้ มี 2  ลักษณะคือ การเตรียมดินสำหรับเพาะกล้าผักและการเตรียมดินสำหรับปลูก

4.1.1  การเตรียมดินสำหรับเพาะกล้าผัก  ซึ่งจะทำก่อนการปลูกประมาณ  28 – 35 วัน  สามารถทำได้  2  วิธีคือ  

1)  การเตรียมดินสำหรับเพาะกล้าผักในภาชนะ  เช่น  กะบะ  ปีบ  ตะกร้า ซึ่งมีขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย  ดินที่ใช้จะเป็นส่วนผสมของดินร่วน  ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก  ขี้เถ้าแกลบ  ในอัตรา 1:1:1 ในปัจจุบันนี้นิยมใช้ขี้เถ้าแกลบและขุยมะพร้าวในอัตรา 1:1 ใส่ในภาชนะให้ต่ำกว่าขอบประมาณ 2-3  เซนติเมตร

2)  การเตรียมดินสำหรับเพาะกล้าผักบนแปลงเพาะต้องย่อยดินให้ละเอียดมากกว่า  การเตรียมแปลงปลูก  เพื่อให้เมล็ดผักสัมผัสกับดินมากที่สุด แล้วจึงหว่านเมล็ดผักให้กระจายทั่วแปลงตามความต้องการ

4.2  การเตรียมดินสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวที่หว่านเมล็ดโดยตรงบนแปลงปลูก  เช่น  ผักชี  ผักบุ้ง  ผักคะน้า   เป็นต้น  การเตรียมดินสำหรับปลูกพืชผักเหล่านี้เหมือนกับการเตรียมแปลงเพาะ  ต้องให้เนื้อดินมีความละเอียดมากกว่าการเตรียมแปลงปลูกผักธรรมดา เพื่อให้เมล็ดมีโอกาสสัมผัสกับดินมากที่สุดและไม่ตกหล่นลงไปในช่องว่างระหว่างก้อนดิน  ซึ่งอาจจะทำให้เมล็ดผักงอกช้าหรือไม่งอก

4.3  การเตรียมดินสำหรับพืชผักสวนครัวที่ปลูกเป็นหลุมหรือโรยตามร่อง ส่วนมากเป็นผักที่มีเมล็ดโต  เช่น  ถั่วฝักยาว  ถั่วลันเตา  ฟักทอง  ฟักเขียว  ข้าวโพดหวาน  บวบ  ถั่วพู  ฯลฯ  การเตรียมดินปลูกพืชผักประเภทนี้อาจจะมีการไถดินหรือขึ้นแปลงหรือไม่ก็ได้  แต่ส่วนมากนิยมไถดินย่อยดินก่อน  เพื่อให้การเจริญเติบโตของผักดี  หลังจากเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว  พืชที่ปลูกเป็นหลุม  เช่น  ถั่วฝักยาว  ข้าวโพดหวาน  บวบ  ถั่วพู  อาจใช้จอบหรือเสียมขุดเป็นหลุมในระยะปลูกที่ต้องการแล้วจึงหยอดเมล็ด

สำหรับพืชที่ปลูกเป็นแถว  ใช้จอบยกร่องแล้วโรยเมล็ดตามแนวร่อง  ระยะห่างระหว่างร่องจะแตกต่างกันตามชนิดของพืชผัก  เช่น  ถั่วลันเตา  ข้าวโพดหวาน  ในทางปฏิบัติจริง  การปลูกพืชประเภทนี้จะใช้จอบหรือเสียมขุดเป็นหลุม  แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุมก่อนปลูก

4.4  การเตรียมดินสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวประเภทยืนต้นและการปลูกผักประเภทเป็นกอ    ซึ่งเป็นการปลูกผักที่มีการขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนต่างๆ  ของต้นพืชผักมาปลูก อาจจะเป็นกิ่ง  ลำต้นใต้ดิน  ลำต้น  รากใต้ดิน  เช่น  ขิง  ข่า  ตะไคร้  กระชาย  ชะอม  มะรุม ฯลฯ  การปลูกพืชประเภทนี้  จะใช้วิธีการขึ้นแปลงหรือขุดหลุมหรือทั้งสองอย่าง  แต่ขนาดของหลุมจะโตกว่าการปลูกผักที่ใช้เมล็ด

5.  การเตรียมดินสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวที่เลือกปลูก

ดินเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  จากส่วนผสมระหว่างธาตุ  หิน  กรวด ทราย ต่างๆ ที่สลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกับอินทรียวัตถุต่างๆ ที่เน่าเปื่อยผุพังอยู่รวมกัน  ห่อหุ้มผิวโลกไว้  และเมื่อมีน้ำและอากาศมารวมอยู่ด้วยในอัตราส่วนที่เหมาะสม  ดินนั้นจะช่วยในการยังชีพและ  การเจริญเติบโตของพืชได้

การเตรียมดินมีความสำคัญในการปลูกพืชเป็นอย่างมากเพราะถ้าเตรียมดินไว้ดีและเหมาะสมกับชนิดของพืช  จะทำให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโต และมีความสมบูรณ์แข็งแรง  รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกด้วย  นอกจากนี้ผู้ปลูกควรจะเรียนรู้วิธีการเลือกใช้เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกพืช  เพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

5.1  การเตรียมดินปลูกผักบุ้งจีน

การปลูกผักบุ้งจีนจะใช้วิธีหว่านหรือหยอดเมล็ดผักบุ้งเป็นแถว  การเตรียมดินเหมือนกับการปลูกผักทั่วไป  แต่ต้องย่อยดินให้ละเอียดมากกว่า  เพราะเป็นการปลูกผักโดยการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ดโดยตรง

5.2  การเตรียมดินสำหรับการปลูกพริก

การเตรียมดินปลูก คือ เตรียมแปลงเพาะและแปลงปลูก  การปลูกพริกจะใช้วิธีขุดหลุมปลูก  ถ้าหากปลูกเป็นการค้าจะปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่คล้ายกับพืชไร่ทั่วไป

พริกเป็นพืชที่ไม่ชอบดินเป็นกรดมาก ถ้าหากมีการใส่ปุ๋ยเคมีติดต่อกันควรใช้ปูนขาวหว่านทั่วแปลง  แล้วผสมคลุกเคล้าให้ทั่วทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จึงใส่ปุ๋ยชนิดอื่นเพิ่มเติม

สถานที่ใดเหมาะกับการปลูกพืชผักสวนครัว

2. เลือกตำแหน่งแปลงปลูกผักสวนครัวควรให้เหมาะสม สิ่งต่อมาที่ควรคำนึงถึงคือการเลือกตำแหน่งของแปลงปลูกผักสวนครัว ควรเลือกปลูกในสถานที่ที่มีแสงแดดส่องมาถึงแปลงผักตลอดทั้งวัน โดยปกติผักสวนครัวส่วนใหญ่ต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโตกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งช่วยให้ผักสวนครัวเติบโตได้ดี ให้รสชาติที่อร่อย

ดินปลูกผักผสมอะไรบ้าง

ดินปลูกต้นไม้ทั่วๆ ไป ผสมในอัตราส่วนดังนี้ (ดินร่วน 1 ส่วน : ใบไม้ผุ 1 ส่วน : ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเทศบาล 1 ส่วน) ผสมให้เข้ากันนำไปปลูกต้นไม้ทั่วไปได้เป็นดินสารพัดประโยชน์

ปลูกผักสวนครัวทิศไหน

ทิศที่เหมาะสมสำหรับวางแปลงผักคือทิศเหนือและทิศได้ ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่มีแสงยาวนานเกือบทั้งวัน ส่วนทิศตะวันและทิศตะวันตก ที่มีแสงครึ่งวันก็สามารถทำแปลงได้แล้วเลือกชนิดของผักที่ต้องการแสงปานกลางปลูกบริเวณนี้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าบริเวณรอบข้างมีสิ่งบดบังแสงจนเกิดเงาร่มหรือไม่ เพราะหากแปลงผักอยู่ทิศเหนือแต่มีเงาอาคาร ...

ใช้ดินอะไรปลูกผักสลัด

1. ดินที่เหมาะกับการปลูกผักสลัด คือ ดินร่วนซุย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีนทรียวัตถุสูง หน้าดินลึก และอุ้มน้ำได้ดีปานกลาง สภาพความเป็นกรด-ด่างของดินอยู่ระหว่าง 6-6.5 pH. 2. พื้นที่ปลูกควรโล่ง และได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่