การเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวจีนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในต่างแดนที่เรียกว่า “ไชน่าทาวน์” ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ด้วยอุปนิสัยและลักษณะของชาวจีนที่มักจะรวมตัวกันเพื่อพึ่งพาอาศัยกัน ชุมชนชาวจีนในหลายประเทศทั่วโลกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ หลังการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1978 การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนระลอกใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงกลางปี ค.ศ. 1980 โดยระยะแรกชาวจีนรุ่นใหม่เดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนและไทย อีกทั้งประเทศไทยมีชุมชนจีนโพ้นทะเลตั้งอยู่อย่างเข้มแข็ง

การเข้ามาของชาวจีนรุ่นใหม่

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ชาวจีนเริ่มเดินเรือสำเภามาค้าขายในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่ก่อนสมัยอาณาจักรสุโขทัย หลักฐานที่ชัดเจนคือชาวจีนมาสอนทำเครื่องสังคโลกในสมัยสุโขทัย ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยาชาวจีนเริ่มเดินทางมาตั้งถิ่นฐานและค้าขายมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน แต่หลังจากปี ค.ศ. 1767 นั้นมีชาวจีนแต้จิ๋วเดินทางเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนและได้รับสิทธิพิเศษบางประการในสมัยกรุงธนบุรี โดยชาวจีนกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่รวมกันในกรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา และชลบุรีเป็นส่วนใหญ่ การย้ายถิ่นของชาวจีนโพ้นทะเลในยุคแรก ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าเรือสำเภาชาวจีนที่มีภูมิลำเนาเดิมในมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน หลังจากนั้นไทยและจีนก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันอย่างต่อเนื่อง และมีการย้ายถิ่นของชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยอยู่เป็นระลอก ๆ

ในปัจจุบันพบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวจีนรุ่นใหม่บริเวณย่านรัชดาภิเษก พระรามเก้า สุทธิสาร และโดยเฉพาะบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง มีชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น มีแหล่งบันเทิง ร้านอาหาร ร้านนวดแผนไทย โรงเรียนสอนภาษาจีน ร้านเสริมสวย ที่เน้นเปิดให้บริการแก่ชาวจีนจำนวนมากขึ้น เนื่องมาจากนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวของไทย ประกอบกับค่าครองชีพในจีนที่สูงขึ้นมาก การทำงานในจีนมีความยากลำบากมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ชาวจีนรุ่นใหม่อยากจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยเพิ่มมากขึ้น มีกลุ่มชาวจีนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า ซินอี้หมิน (ชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ที่ย้ายออกมาจากมณฑลต่าง ๆ ในประเทศจีน) เดินทางเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยวและหาช่องทางในการทำธุรกิจ รวมถึงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อแสวงหาโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต

ผลกระทบจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่

จากการอพยพของชาวจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และกฎหมาย โดยมีประเด็นที่น่ากังวล คือ อาชญากรรมผิดกฎหมายที่แฝงเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยวชาวจีน มัคคุเทศก์ชาวจีน อาจารย์สอนภาษาจีน ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีข่าวกระบวนการทำผิดกฎหมายของชาวจีนมารวมตัวอาศัยอยู่ด้วยกันในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในประเทศ

การเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่ามีธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้สอดรับกับการท่องเที่ยวและการเข้ามาของคนจีนมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งบวกและลบ ดังต่อไปนี้ 1) จากการที่มีคนจีนเข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในไทยมากขึ้น ทำให้มีผู้เข้าพักในโรงแรมขนาดเล็กและอพาร์ทเม้นท์ย่านห้วยขวางจำนวนมากขึ้น พบปัญหาการดัดแปลงที่พักอาศัยให้เป็นโรงแรมแล้วไม่ได้แจ้งการเสียภาษีโรงเรือน หรืออาคารที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ หรือไม่ปลอดภัยเพียงพอที่จะให้บริการเป็นที่พักอาศัย 2) มีธุรกิจขายสินค้าไทยที่ลูกค้าชาวจีนนิยมมาอุดหนุนและจัดส่งสินค้าไทยไปประเทศจีน เช่น หมอนยางพารา ผลไม้ ผลไม้แปรรูป 3) มีธุรกิจสถานประกอบการที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เช่น ร้านอาหาร นวดสปา บริษัททัวร์ ในย่านห้วยขวาง และสุทธิสาร และ 4) จำนวนชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวและทำธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาคารที่พักอาศัยมีราคาสูงกว่าราคาประเมินในตลาด

ผลกระทบทางสังคม มีดังต่อไปนี้ 1) ชาวจีนรุ่นใหม่บางคนไม่เข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรมของไทย พบการแต่งกายที่ล่อแหลมในที่สาธารณะ การกอดจูบของหนุ่มสาวในที่สาธารณะ 2) มีร้านอาหารจีนยูนนานเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ร้านอาหารไทยและร้านอาหารตามสั่งมีเพียงไม่กี่ร้าน นอกจากนั้นแล้วพบว่าราคาอาหารค่อนข้างสูง 3) ในด้านปัญหาอาชญากรรม พบกรณีถูกวิ่งราว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กและนักท่องเที่ยวผู้หญิง นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวจีน และในบางกรณีไม่สามารถปิดคดีได้ เนื่องจากผู้เสียหายเดินทางกลับประเทศจีนไปแล้ว และ 4) นักท่องเที่ยวจีนบางคนถูกบริษัทท่องเที่ยวหลอกลวง เช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ ทัวร์ติดลบ นักท่องเที่ยวจีนบางคนถูกทอดทิ้งระหว่างการท่องเที่ยว

การเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

ผลกระทบทางกฎหมาย ชาวจีนรุ่นใหม่บางคนยังขาดความเข้าใจในข้อกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบ ดังต่อไปนี้ 1) การประกอบวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น มัคคุเทศก์, ช่างทำผม, งานขายของหน้าร้าน, งานขับขี่ยานพาหนะ อาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย แต่กลับพบว่ามีชาวจีนประกอบอาชีพเหล่านี้ 2) บางกิจการ เป็นแหล่งรวมของแรงงานต่างด้าว แรงงานค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมาย เช่น ร้านค้าทั่วไป ร้านอาหารจีน สถานประกอบการเริงรมย์ 3) ร้านอาหารจีนบางร้านมีการนำสุราและบุหรี่จากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยเกินปริมาณที่กฎหมายรับรอง 4) พบสถานประกอบการบางแห่งที่ดำเนินธุรกรรมโดยชาวจีนแต่ไม่ได้จดทะเบียน 5) พบสถานประกอบการที่ดำเนินการโดยใช้ชื่อคนไทย หรือเช่าคนไทยในรูปแบบธุรกิจตัวแทนอำพราง (นอมินี) 6) ธุรกิจบางรายตอบสนองความต้องการของชาวจีนรุ่นใหม่หรือนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยปล่อยให้มีการเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยไม่ขอดูใบขับขี่ นอกจากนั้นยังพบคนจีนขับรถผิดกฎจราจร ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรือใช้ใบขับขี่ปลอมทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 7) พบชาวจีนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องประกันภัยรถยนต์ โดยมักจะคิดว่าการซื้อประกันรถยนต์ คือ การเพิ่มภาระทางการเงิน และหากเกิดอุบัติเหตุและมีค่าใช้จ่ายที่ตามมา เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายที่เกิดต่อรถที่เป็นคู่กรณี ความเสียหายต่อบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในบางกรณีกลับไม่รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นและเดินทางกลับประเทศจีนก่อน 8) พบการจำหน่ายสินค้าปลอม สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยสินค้าบางอย่างเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีน 9) ที่พักบางแห่งเป็นที่รวมตัวของชาวจีนที่เข้ามาทำเรื่องผิดกฎหมาย เช่น ปลอมบัตรเครดิตและหนังสือเดินทาง กลุ่ม call center หลอกลวงผู้เสียหายทั้งชาวจีนและชาวไทยหลายรายให้ไปโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม 10) ปัญหาการใช้เอกสารปลอม เช่น บัตรประชาชนปลอม ใบอนุญาตขับขี่ปลอมทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ และปัญหาการสวมสิทธิ์บัตรประชาชนคนไทย เพื่อให้ชาวต่างชาติไม่ต้องขอวีซ่า สามารถประกอบอาชีพที่เป็นอาชีพสงวนของชาวไทย และสามารถซื้อทรัพย์สิน อาคาร ที่ดินในประเทศไทยเป็นของตนเองได้ และ 11) การจดทะเบียนสมรสระหว่างชาวจีนและชาวไทยมีจำนวนมากขึ้น โดยเมื่อจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สามารถขอยื่นเอกสารเพื่อเปลี่ยนเป็นวีซ่าประเภทที่ใช้ติดตามคู่สมรส ซึ่งจะสามารถอยู่ได้คราวละหนึ่งปี ในบางกรณีพบการแต่งงานหลอกเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ