ประหยัด พง ษ์ ดำ ผลงานภาพพิมพ์

เกิด : 28 ตุลาคม 2477 (2477 - 2557)

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พุทธศักราช 2541  

ประวัติการศึกษา : 

2491 - สำเร็จสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จาก โรงเรียนนาคประดิษฐ์วิทยา อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี 

2492 - สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสิงห์บุรี 

2494 - โรงเรียนเพาะช่าง 

2500 - ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 

2504 - Diploma of Fine Arts จาก L’Accademia di Belle Arti di Roma กรุงโรม ประเทศอิตาลี  

การแสดงงานศิลปะที่สำคัญ และรางวัลเกียรติยศ : 

2499 - รางวัลที่ 3 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 7 

2500 - รางวัลที่ 2 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2501 

- รางวัลที่ 2 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9, รางวัลที่ 3 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9 

และรางวัลที่ 3 ประเภทมัณฑนศิลป์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9 

2502 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากแคว้นบราซาโน ประเทศอิตาลี และรางวัลที่ 2 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 

2503 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากแคว้นกูปิโอ ประเทศอิตาลี 

2504 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากสถาบันศิลปะกรุงโรม ประเทศอิตาลี และรางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 2505 - รางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 และรางวัลจิตรกรรมจากกรุงไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม 

2506 - รางวัลที่ 1 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 14 และรางวัลที่ 3 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 

2506 - ได้รับเลือกเป็นศิลปินเกียรติยศสาขาภาพพิมพ์ (Accademic Onorario Classe Incisione) โดยรัฐบาลอิตาลี 

จากสถาบันศิลปะกรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (L’Accademia Florentina delle Arti del Disegno) 

2507 - รางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 15, รางวัลจิตรกรรม (ภาพพิมพ์) ประเทศยูโกสลาเวีย 

และรางวัลจิตรกรรม ประเทศบังคลาเทศ 

2524 - รางวัลที่ 1 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 27 และได้รับเกียรติเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ 

2539 - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 

2541 - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) 

2543 - ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาพพิมพ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร

นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ / หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, 1 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2554

ประหยัด พง ษ์ ดำ ผลงานภาพพิมพ์

[ยามเช้า, ปี 2524 ภาพพิมพ์แกะไม้ 60x40 ซม.]

อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ผู้เป็นเอกในการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) จนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2524 และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ในปี 2541 งานภาพพิมพ์แกะไม้ของประหยัดเข้าถึงความสมบูรณ์ลงตัว ทั้งในกลวิธีการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ ซึ่งให้ความรู้สึกดิบซื่อ จริงใจ และเรียบง่าย เหมาะกับเนื้อหาที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน และรูปแบบที่ลดทอนความสมจริง เหลือเพียงรูปทรงในอุดมคติที่เรียบง่าย เรียกได้ว่าประจวบเหมาะทั้งกลวิธี เนื้อหา และรูปแบบ

มิเพียงเท่านั้น ประหยัดยังเป็นคนที่มีโอกาสเติบโตมาในวิถีชีวิตชาวบ้านในสังคมไทยดั้งเดิม และสามารถสกัดเอาจิตวิญญาณในบรรยากาศเช่นนั้นมาแสดงออกให้เห็นเป็นรูปลักษณ์ เป็นรูปสัตว์ใกล้ตัวคนไทยสมัยก่อน อย่าง แมว ตุ๊กแก จิ้งจก ไก่ นกฮูก นกเค้าแมว หรือควาย เป็นภาพคนในครอบครัว ผู้หญิง และเด็ก หรือเป็นมโนภาพในอุดมคติอย่างภาพม้า ต้นโพธิ์ หรือดอกบัว ส่วนใหญ่จะจัดองค์ประกอบอย่างเรียบง่าย คือวางรูปทรงประธานอยู่กลางภาพ โดยมีบรรยากาศที่ก่ออารมณ์สถิตนิ่งอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เบื้องหลัง โดยมากจะเป็นบรรยากาศมืดสลัว แฝงความรู้สึกเร้นลับ

บรรยากาศมืดสลัวเงียบสงัดเหมือนในยามพลบค่ำ ปรากฏในงานของประหยัดมาตั้งแต่ตอนทำงานจิตรกรรม ดังเช่นงานจิตรกรรมสีน้ำมันชื่อ “อยุธยา” ซึ่งได้รางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2500 เขาวาดภาพโบราณสถานวัดราชบูรณะในเวลากลางคืน ลดทอนแสงสีลงในความอึมครึม และสกัดรายละเอียดจนเหลือเพียงกลุ่มก้อนของรูปทรงในน้ำหนักทึบตัน เป็นการนำเสนอความเป็นไทยที่ไม่ได้สง่างาม แต่มองเห็นความงามในเงาหม่นของซากโบราณสถาน แฝงความรู้สึกลี้ลับซ่อนเร้นในโลกโบราณ ซึ่งยังไม่ได้โดนทำลายด้วยความเจริญเจิดจ้าของวัฒนธรรมไฟฟ้า

นอกจากนี้เขายังเริ่มวาดรูปสัตว์ในบรรยากาศมืดครึ้ม เสมือนเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความรู้สึกภายในของมนุษย์ เช่น ภาพแมวในยามกลางคืน ภาพครอบครัวแมวท่ามกลางหลืบเงาของบ้านเรือนและวัด ภาพม้าหรือควายที่แสดงพลังชีวิต รวมทั้งภาพผู้หญิงในภวังค์ลี้ลับ

แม้งานจิตรกรรมจะคุมบรรยากาศตามที่ต้องการได้สะดวกกว่า แต่การลดทอนรูปทรงให้เรียบง่ายจนมีลักษณะแบนราบเป็นสองมิติ ก็เหมือนจะใช้คุณสมบัติของความเป็นจิตรกรรมได้ไม่สมประโยชน์นัก ต่อเมื่อประหยัดทำงานภาพพิมพ์แกะไม้ ความแบนราบของรูปทรงสองมิติก็เด่นชัดขึ้นมาในเส้นและขอบที่คม ความพยายามที่จะสร้างน้ำหนักอ่อนเข้มและมิติบรรยากาศขึ้นมาด้วยวิธีการอันจำกัดก็กลายเป็นเสน่ห์

ดังเช่นงานชื่อ “ตุ๊กแก” ซึ่งได้รางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2506 เขาแกะแม่พิมพ์ไม้เป็นภาพตุ๊กแกแม่ลูกไต่อยู่บนกระดานข้างฝา เบื้องหลังเป็นทิวทัศน์ในยามกลางคืน เห็นพระจันทร์ดวงโต ดวงดาวสุกสกาว และเรือกสวนเป็นเงาอยู่ใต้ตีนฟ้า ลวดลายของตุ๊กแกโดดเด่นบนแผ่นเงาดำของกระดาน ความน่าเกลียดน่ากลัวที่ขัดตากลับบอกเล่าธรรมชาติอันอ่อนโยนของครอบครัวตุ๊กแก เป็นการขัดกันทางความรู้สึกที่ให้ความงามอันสะเทือนอารมณ์

หรืองานชื่อ “ยามเช้า” ซึ่งได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2524 เป็นภาพไก่ขันตอนเช้ามืด อันเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นวันใหม่ ท่วงท่าของไก่ชนสง่างามอยู่ในท่าโก่งคอขัน ฉากหลังไล่สีด้วยลูกกลิ้งเป็นบรรยากาศยามค่อนรุ่ง เริ่มมีแสงที่ขอบฟ้า ขณะที่ฟ้าสีเข้มด้านบนยังมีดาวประดับ

ระยะหลังประหยัดประสมประสานกลวิธีของงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างผลงานในเชิงอุดมคติความเชื่อ ตามคตินิยมของศิลปะประเพณีและพุทธศาสนา เส้นและขอบที่คมชัดของวิธีการทางภาพพิมพ์ช่วยขับเน้นรูปทรงเรียบง่ายให้โดดเด่น ขณะที่การระบายสีช่วยเกลี่ยบรรยากาศให้กลมกลืนและมีสีสัน

แต่ผลงานซึ่งเป็นที่จดจำก็คือภาพพิมพ์แกะไม้ที่แสดงบรรยากาศของวิถีชีวิตชาวบ้านไทยนั่นเอง

ประหยัดยังหยิบยืมรูปแบบและเนื้อหาของศิลปะประเพณีมาหลายอย่าง อาทิรูปทรงคนในลักษณะอุดมคติอย่างจิตรกรรมไทย แต่ก็ปรับให้ดูเรียบง่ายและซื่อ กระทั่งการใช้ทองคำเปลวปิดลงบนภาพ เพื่อขับเน้นส่วนที่สำคัญให้ทอแสง ก็เป็นสุนทรียภาพของศิลปะไทยที่คุ้นเคยกับการแสดงความงามในความมืดสลัว

ความเป็นไทยที่ประหยัดแสดงให้เห็นมาจากวิถีชีวิต เป็นภาพประทับในใจมากกว่าการลอกเลียนจากภายนอก ผลงานภาพพิมพ์และจิตรกรรมของเขาสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่อวลไปด้วยบรรยากาศเร้นลับ ขรึมขลัง เงียบสงบ วังเวง เสมือนมีอำนาจเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือวิญญาณลี้ลับ แฝงเร้นอยู่ในโลกเช่นนั้น เป็นวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่ยังอยู่ในโลกของความเชื่อและศรัทธาต่อศาสนา จารีตประเพณี และเรื่องผีสางเทวดา ห่มคลุมให้อยู่ในครรลอง เป็นโลกแห่งความมืดสลัว ข่มไว้ด้วยความกลัวเกรง แต่ก็ยังมองเห็นความงามของชีวิต สายใยรักอันอบอุ่นในครอบครัว และพลังที่พยายามดิ้นรนอยู่ภายในตน

งานของประหยัดอาจไม่ได้สะท้อนสังคมและการเมืองโดยตรง แต่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตอย่างเรียบง่าย และแฝงนัยยะความหมายอื่นใดอยู่ในสัญลักษณ์เหล่านั้น

ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาอันที่จริงก็คือภาวะจิตใจในส่วนลึกของมนุษย์ ความงามสัมพันธ์กับความปรารถนา และความดีก็คือความรู้สึกปีติยินดีนั่นเอง

เช่นภาพผู้หญิงของประหยัด ซึ่งลดทอนความงามในเชิงกามรมณ์เหลือเพียงโครงร่างที่อ่อนช้อย อย่างตัวพระตัวนางในงานจิตรกรรมไทย เพียงแต่จะสวมเสื้อคอกระเช้าและนุ่งผ้าถุงอย่างหญิงไทยสมัยก่อน บอกเล่าเรื่องราวตามธรรมชาติของการเติบโต เป็นรูปธรรมของครอบครัวอันอบอุ่น และแทนภาวะนามธรรมที่เป็นอุดมคติสูงส่ง แม้แต่เด็กซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิตใหม่ ประหยัดก็แทนค่าด้วยเด็กผู้หญิง เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และการให้กำเนิดที่ไม่สิ้นสุด เขายังเปรียบสัตว์ที่มีรูปร่างอ่อนช้อยอย่างแมวกับผู้หญิง และชอบจัดองค์ประกอบภาพสัตว์ที่แสดงความเป็นแม่ เป็นครอบครัว ความรักและกามรมณ์ ไม่ว่าสัตว์ที่น่าเกลียดน่ากลัวอย่างตุ๊กแก จิ้งจก นกฮูก หรือนกเค้าแมว หากสัตว์ที่แสดงถึงความเป็นชาย อย่างม้า ควาย และไก่ชน จะแสดงความสง่างาม หรือพละกำลัง อยู่ในท่วงท่าดุดัน เปลี่ยวทะยาน กระทั่งกำลังต่อสู้กัน

กล่าวได้ว่าศิลปินสกัดภาวะในจิตใจของโลกียธรรม ลดทอนออกมาเป็นรูปทรงเหนือผัสสะในโลกุตรธรรม ภายในบรรยากาศมืดสลัวจึงเหมือนมีพลังลี้ลับแอบแฝง หรือมีวิญญาณสิงอยู่ในอีกมิติหนึ่ง นอกจากมิติที่มองเห็นด้วยสายตา และภายใต้ความเงียบสงัดก็มีความงามรุกเร้ากังวานอยู่ในความรู้สึก

งานศิลปะของประหยัดประทับรอยจำถึงวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชาวบ้านในยุคสมัยที่ล่วงผ่านไปแล้ว แต่ยังคงบอกเล่าความเป็นจริงของปรารถนาในจิตใจอย่างมนุษย์ธรรมดา.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]