การเขียนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่าง

การเขียนรายงานการวิจัยแบบฉบับสมบูรณ์

   การเขียนรายงานการวิจัยแบบฉบับสมบูรณ์

             การเขียนรายงานการวิจัยแบบฉบับสมบูรณ์ เป็นการเขียนรายงานอย่างละเอียด โดยทั่วไปจะยึดตามหลักสากลว่าควรประกอบด้วยหัวข้ออะไรบ้าง แต่ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ หรืองานการค้นคว้าอิสระ  ผู้วิจัยจะต้องยึดระเบียบการเขียนของสถาบันนั้น ๆ เพื่อให้การเขียนมีรูปแบบตามที่แต่ละสถาบันกำหนดไว้เป็นหลัก
             ตามหลักสากลส่วนประกอบของรายงานการวิจัยแบบฉบับสมบูรณ์ มักจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ดังนี้
               1.  ส่วนนำ  ประกอบด้วย
                     1.1  ปกนอก
                     1.2  ปกใน
                     1.3  หน้าอนุมัติ
                     1.4  คำนำ/กิตติกรรมประกาศ
                     1.5  บทคัดย่อ
                     1.6  สารบัญ  สารบัญตาราง  และสารบัญภาพประกอบ
                     1.7  อักษรย่อและสัญลักษณ์
            2.  ส่วนเนื้อความ
                     2.1  บทที่ 1  บทนำ
                             1)  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
                             2)  วัตถุประสงค์/ความมุ่งหมายในการวิจัย
                             3)  ขอบเขตของการวิจัย
                             4)  ข้อตกลงเบื้องต้น (ถ้ามี)
                             5)  สมมติฐาน (ถ้ามี)
                             6)  นิยามศัพท์เฉพาะ
                             7)  ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
                    2.2  บทที่ 2  เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                    2.3  บทที่ 3  วิธีดำเนินการวิจัย
                            1)  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง/ แหล่งข้อมูล
                             2)  เครื่องมือในการวิจัย
                             3)  การเก็บรวบรวมข้อมูล
                             4)  การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้
                     2.4   บทที่ 4  ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
                     2.5   บทที่ 5  บทสรุป
                             1)  สรุปผลการวิจัย
                             2)  อภิปรายผล
                             3)  ข้อเสนอแนะ
               3.  ส่วนประกอบตอนท้าย
                     3.1   บรรณานุกรม/ เอกสารอ้างอิง
                     3.2   ภาคผนวก
                     3.3   ประวัติผู้วิจัย
               รายละเอียดการเขียนในหัวข้อต่าง ๆ ข้างต้น เป็นดังนี้
ส่วนนำ 
               ส่วนนำเป็นส่วนที่ให้รายละเอียดก่อนที่จะเข้าสู่ส่วนของเนื้อความ  ซึ่งประกอบด้วย
                 1)  ปกนอก   เป็นส่วนแสดงรายละเอียดของชื่อเรื่องงานวิจัย  ชื่อผู้วิจัย  สถานที่ทำวิจัย และปีที่ทำวิจัย
                 2)  ปกใน  แสดงรายละเอียดเหมือนกับปกนอกทุกประการ
                 3)  หน้าอนุมัติ  (เฉพาะวิทยานิพนธ์/ การค้นคว้าอิสระ)  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุมัติให้งานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์/   การค้นคว้าอิสระเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร  ในหน้านี้จะมีคณะกรรมการควบคุมการทำวิทยานิพนธ์/ การค้นคว้าอิสระ  และคณะกรรมการสอบ  ปรากฏชื่อพร้อมลายเซ็น
                 4)  คำนำ หรือกิตติกรรมประกาศ  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในการทำวิทยานิพนธ์/ การค้นคว้าอิสระ  โดยทั่วไปการเขียนคำนำ หรือกิตติกรรมประกาศ  ผู้วิจัยควรขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในการทำวิจัยตามลำดับความสำคัญจากมากไปน้อย
                 5)  บทคัดย่อ  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อเรื่อง  ชื่อผู้วิจัย  ชื่อที่ปรึกษา (ถ้ามี)  แหล่งทุน (ถ้ามี)  วัตถุประสงค์การวิจัย  วิธีดำเนินการวิจัยแบบย่อ  และผลของการวิจัยซึ่งส่วนใหญ่จะเขียนประมาณ 1 – 2 หน้า  และต้องเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษประกอบกัน
                6)  สารบัญ สารบัญตาราง และสารบัญภาพประกอบ  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดของหัวข้อเนื้อหา  ตาราง และภาพประกอบ พร้อมกับมีการระบุหมายเลขหน้าที่มีหัวเรื่อง  ตาราง และภาพประกอบเหล่านี้ปรากฏอยู่
                7)  อักษรย่อและสัญลักษณ์  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอักษรย่อและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัย  อย่างไรก็ตาม หากอักษรย่อและสัญลักษณ์ที่ใช้ในการวิจัยเหล่านี้ไม่ปรากฏในส่วนบทที่ 1 (บทนำ)  บทที่ 2  (เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง) และบทที่ 3 (วิธีดำเนินการ)  ผู้วิจัยอาจนำอักษรย่อและสัญลักษณ์ที่ช่วยในการแปลผลการวิจัยไปไว้ในบทที่ 4 ก่อนแสดงเนื้อหาผลการวิเคราะห์ข้อมูล  ก็ได้
ส่วนเนื้อความ 
               ส่วนเนื้อความเป็นส่วนสำคัญที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำวิจัยทั้งหมด โดยส่วนใหญ่งานวิจัยจะแบ่งเป็น 5 บท ดังนี้
               บทที่ 1  บทนำ 
               บทนำ  จะแสดงรายละเอียดตามหัวข้อต่าง ๆ  ดังนี้
            1)  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา  เป็นส่วนที่แสดงต้นตอของปัญหาในการวิจัยว่าเกิดจากอะไร  โดยอาจจะเขียนจากมุมกว้างไปสู่มุมที่แคบลง  เขียนอย่างสมเหตุสมผล และสำคัญที่สุด ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
            2)  วัตถุประสงค์ หรือความมุ่งหมายของการวิจัย  เป็นส่วนที่บอกวัตถุประสงค์ว่างานวิจัยเรื่องนี้ต้องการศึกษาอะไร
            3)  ขอบเขตของการวิจัย  เป็นส่วนแสดงขอบเขตของประชากร และขอบเขตของเนื้อหาหรือตัวแปรที่เราสนใจศึกษา
            4)  ข้อตกลงเบื้องต้น (ถ้ามี)  เป็นส่วนที่แสดงความเชื่อ แนวคิด และทฤษฎีที่นำมาใช้ในการทำวิจัยครั้งนี้
            5)  สมมติฐาน (ถ้ามี)  เป็นส่วนที่แสดงว่า ก่อนลงมือปฏิบัติการวิจัยนั้น  ผู้วิจัยได้คาดเดาคำตอบการวิจัยไว้ว่าอย่างไร   ถ้างานวิจัยเป็นงานเชิงเปรียบเทียบ  เชิงหาความสัมพันธ์/ สาเหตุ  จำเป็นที่ผู้วิจัยจะต้องกำหนดสมมติฐานไว้ล่วงหน้า แต่หากเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจผู้วิจัย   ก็ไม่จำเป็นต้องใส่สมมติฐาน
            6)  นิยามศัพท์เฉพาะ  เป็นส่วนที่แสดงการอธิบายศัพท์บางคำที่ใช้กับงานวิจัยเรื่องนี้  โดยทั่วไปจะเป็นศัพท์เฉพาะสาขาวิชาที่ผู้อื่นไม่ค่อยรู้จัก หรือเป็นศัพท์ที่ใช้เฉพาะในการวิจัยเรื่องนี้
            7)  ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย  เป็นส่วนที่แสดงประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัย  เรื่องนี้  ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย  แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ  (ก) ประโยชน์ในเชิงวิชาการ คือ ประโยชน์ที่ได้ค้นพบจากการทำวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งสามารถดูได้จากวัตถุประสงค์ของงานวิจัยว่า เราได้องค์ความรู้อะไรบ้าง  และ (ข)  ประโยชน์ในการนำไปใช้  คือ ประโยชน์สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะนำผลการวิจัยไปใช้ในด้านใดบ้าง
              บทที่  2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
               เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีในเนื้อหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ในการเขียนจะเขียนส่วนที่เป็นแนวคิดและทฤษฎีก่อน แล้วจึงตามด้วยส่วนที่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยเรื่องนี้
               อย่างไรก็ตาม การเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หัวข้อต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ต้องสัมพันธ์กับงานวิจัย ผู้วิจัยควรเขียนในแนวการวิเคราะห์สังเคราะห์โดยในการเขียนต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาและเขียนการอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักการเขียนการอ้างอิง  และควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ
              บทที่  3  วิธีดำเนินการวิจัย
               วิธีดำเนินการวิจัย เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการวิจัยตามหัวข้อต่อไปนี้
            1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง/ แหล่งข้อมูล  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดว่า ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้หมายถึงใครบ้าง ขอบเขตถึงไหน หากมีการใช้กลุ่มตัวอย่างต้องแสดงว่าได้กลุ่มตัวอย่างมาโดยการสุ่มแบบใด และมีจำนวนหน่วยตัวอย่างเท่าไร  และต้องพิจารณาว่ากลุ่มตัวอย่างที่ใช้สามารถให้ข้อมูลตามตัวแปร หรือวัตถุประสงค์ที่สนใจศึกษาครบทั้งหมดหรือยัง
               2) เครื่องมือในการวิจัย  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดว่ามีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยกี่ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะเป็นอย่างไร มีวิธีการดำเนินการสร้างอย่างไร มีการหาคุณภาพและได้ผลเป็นอย่างไร
               อย่างไรก็ตาม  เครื่องมือในการวิจัยผู้วิจัยอาจใช้วิธียืมจากงานวิจัยอื่นที่มีการสร้างและมีคุณภาพมาใช้ในงานวิจัยได้ โดยอาจมีการหาคุณภาพซ้ำอีกครั้งก่อนนำไปรวบรวมข้อมูลจริงต่อไป
               3) การเก็บรวบรวมข้อมูล  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลว่า ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลในแต่ละขั้นตอนอย่างไร ในแต่ละขั้นตอนใช้เครื่องมือชุดไหนในการเก็บรวบรวมข้อมูล และใครเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งการรวบรวมข้อมูลต้องครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาทั้งหมดด้วย
               4) การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในการทำวิจัยเรื่องนี้ ผู้วิจัยอาจแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้เป็น     2 ส่วน คือ (ก)  การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือ  และ (ข) การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลการวิจัย
               อย่างไรก็ตาม  งานวิจัยบางเรื่องอาจมีเกณฑ์ในการแปลผลการวิเคราะห์ ผู้วิจัยสามารถเขียนต่อท้ายจากหัวข้อการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ได้เลย
            บทที่  4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
               ในบทที่ 4 จะเป็นการแสดงรายละเอียดการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ตั้งไว้  การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลจะเขียนตามลำดับวัตถุประสงค์ในการวิจัย
               ในการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล อาจนำเสนอในรูปข้อความ ข้อความกึ่งตาราง หรือตาราง หรือรูปภาพก็ได้ตามความเหมาะสม  อย่างไรก็ตามในการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยจะต้องนำเสนอผลการวิเคราะห์ไปตามความจริง การแปลผลควรแปลผลเฉพาะประเด็นสำคัญ ไม่เขียนวกวนซ้ำซ้อน ต้องระมัดระวังการคัดลอกตัวเลขและการแปลความ และที่สำคัญห้ามนำความคิดเห็นของผู้วิจัยเข้าไปอธิบายประกอบ
               บางครั้งในการวิเคราะห์ข้อมูลอาจมีอักษรย่อและสัญลักษณ์จำนวนมาก  ผู้วิจัยอาจนำเสนออักษรย่อและสัญลักษณ์ก่อนที่จะนำเข้าสู่การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลก็ได้
               บทที่  5 บทสรุป
               บทสรุป  เป็นส่วนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับบทสรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายในส่วนของเนื้อความ รายละเอียดของบทนี้ ประกอบด้วย
               1)  สรุปผลการวิจัย  เป็นส่วนแสดงบทสรุปความสำคัญจากงานวิจัย โดยส่วนใหญ่จะแสดงวัตถุประสงค์งานวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย และผลการวิจัยที่ค้นพบ ในหัวข้อนี้จะเป็นการเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่นำเสนอตัวเลขทางสถิติที่ซับซ้อน โดยถือว่าเป็นสรุปสาระสำคัญของการทำวิจัยเรื่องนั้นจริง ๆ
               2)  อภิปรายผล  เป็นส่วนแสดงการให้เหตุผลว่าทำไมงานวิจัยจึงได้ผลเช่นนั้น 
ข้อค้นพบเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่  ในการอภิปราย  ผู้วิจัยควรอภิปรายผลการวิจัยโดยอาศัยแนวคิด ทฤษฎี และผลการวิจัยต่าง ๆ ที่ได้สรุปไว้ในบทที่ 2 ว่าผลการวิจัยมีความเหมือนความต่างจากงานวิจัย หรือจากแนวคิดทฤษฎีของผู้อื่นที่ได้สรุปไว้ในบทที่ 2 อย่างไรในการอภิปรายผลผู้วิจัยสามารถใช้ความคิดเห็นส่วนตัวประกอบได้
                3)  ข้อเสนอแนะ เป็นส่วนของการนำเสนอความคิดเห็นของผู้วิจัยให้ผู้อ่านทราบว่าเมื่อนำงานวิจัยเรื่องนี้ไปใช้ ผู้วิจัยจะมีข้อเสนอแนะอะไรบ้าง และหากจะวิจัยในครั้งต่อไปผู้วิจัยจะเสนอแง่มุมให้นักวิจัยคนอื่นอย่างไร   โดยทั่วไปหัวข้อของข้อเสนอแนะจะแบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ (ก) ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้ และ (ข) ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
ส่วนประกอบตอนท้าย
               ส่วนประกอบตอนท้าย เป็นส่วนอ้างอิงและสนับสนุนเพื่อให้งานวิจัยเรื่องนี้ให้มี
ความน่าเชื่อถือ  มีรายละเอียดตามหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
               1)  บรรณานุกรม/ เอกสารอ้างอิง  เป็นส่วนแสดงรายชื่อสิ่งพิมพ์ สื่อต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในงานวิจัยทั้งเล่ม  การเขียนควรแยกรายชื่อหนังสือเป็นกลุ่มภาษาไทย และตามด้วยรายชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ
                     รูปแบบการเขียนเป็นดังนี้
                           (1)     ถ้าเป็นบทความ ตามหลักสากลจะต้องประกอบด้วย ชื่อผู้เขียน ชื่อบทความ ชื่อวารสาร  ปีที่พิมพ์  ประจำเดือน  ปี และเลขหน้าซึ่งปรากฏบทความ  ตัวอย่าง เช่น

เกียรติสุดา   ศรีสุข. “เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลง่าย ๆ ด้วยโปรแกรม SPSS” ศึกษาศาสตรสาร. ปีที่ 31 (มกราคม-มิถุนายน) 2547.  หน้า 42-50.

เกียรติสุดา   ศรีสุข. “การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถในการทำวิจัย”              วัดผลและวิจัยการศึกษา. ปีที่ 20 (มกราคม-ธันวาคม) 2548.  หน้า 21-28.

                           (2)     ถ้าเป็นหนังสือจะต้องประกอบด้วย  ชื่อผู้เขียน ปีที่พิมพ์  ชื่อหนังสือ  สถานที่พิมพ์ และสำนักพิมพ์ ตัวอย่าง เช่น

เกียรติสุดา   ศรีสุข. (2547). เอกสารประกอบการบรรยายกระบวนวิชา 055771 : การวิจัยทางศึกษาศาสตร์. เชียงใหม่ : ภาควิชาประเมินผลและวิจัยการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ลัดดาวัลย์   เพชรโรจน์ และอัจฉรา   ชำนิประศาสน์. (2545). ระเบียบวิธีวิจัย. กรุงเทพมหานคร : บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด.

                2)  ภาคผนวก  เป็นส่วนที่ได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้ประโยชน์หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมจากส่วนเนื้อความ ตัวอย่างของเอกสารหลักฐานที่ผู้วิจัยมักจะแสดงไว้ในภาคผนวก คือ หนังสือราชการที่ขออนุญาตเก็บรวบรวมข้อมูล  รายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยตรวจสอบเครื่องมือในการวิจัย  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผลการวิเคราะห์คุณภาพของเครื่องมือ แสดงข้อมูลดิบที่มีจำนวนไม่มากนัก สูตรและวิธีการคำนวณ  เป็นต้น