ความ สัมพันธ์ ระหว่าง อาเซียน กับ นิวซีแลนด์

ตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ตามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) และได้ก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี พ.ศ. 2558 อาเซียนได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งด้านกายภาพ กฎระเบียบ และระหว่างประชาชน เพื่อทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง

อาเซียนได้ขยายความความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีภายนอก (ASEAN External Relations) เพื่อสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนและส่งเสริมให้มหาอำนาจมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ โดยให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN centrality) ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาค ภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม (ASEAN PLUS THREE) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit : EAS) และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการดำเนินความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและภาคีภายนอกอื่น ๆ โดยมีท่าทีหนึ่งเดียวของอาเซียนเพื่อส่งเสริมบทบาทและรักษาผลประโยชน์อาเซียนเป็นสำคัญ

ปัจจุบัน อาเซียนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ 10 คู่เจรจา (Dialogue Partner) ซึ่งประกอบด้วย 9 ประเทศ คือ อาเซียน – ญี่ปุ่น อาเซียน – ออสเตรเลีย อาเซียน – นิวซีแลนด์ อาเซียน – สหรัฐอเมริกา อาเซียน – แคนาดา อาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี อาเซียน – อินเดีย อาเซียน – จีน อาเซียน – รัสเซีย และ 1 องค์กรระดับภูมิภาค คือ อาเซียน – สหภาพยุโรป (อียู) นอกจากนี้ ตามกฎบัตรอาเซียนข้อ 44 อาเซียนยังมีปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกในสถานะอื่นๆ เช่น การเป็นคู่เจรจาเฉพาะสาขา (Sectoral Dialogue Partner) ได้แก่ ปากีสถาน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี และการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) คือ เยอรมนี และยังมีปาปัวนิวกินีเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์พิเศษ (Special Observer) ของอาเซียนอีกด้วย

ความสัมพันธ์และความร่วมมือกับภาคีภายนอกเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพและส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแล้ว ยังมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาท้าทายร่วมกัน ทั้งปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นิวซีแลนด์

ความสัมพันธ์อาเซียน-นิวซีแลนด์ เริ่มตั้งแต่ปี 2518 โดย นิวซีแลนด์เป็นประเทศคู่เจรจา ลำดับที่ 2 ของอาเซียนหลัง จากออสเตรเลีย เดิมความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะประเทศผู้รับกับ ประเทศผู้ให้ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ซึ่งในปัจจุบันความสัมพันธ์อาเซียน-นิวซีแลนด์ได้พัฒนาเป็น ความสัมพันธ์อย่างรอบด้านนิวซีแลนด์ได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) และได้ลงนามในปฎิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากลกับอาเซียน (ASEAN-New Zealand Joint Declaration for Cooperation to CombatInternational Terrorism) เมื่อปี 2548 นอกจากนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้รับ ประโยชน์จากบทบาทอันแข็งขันของนิวซีแลนด์ในด้านการต่อต้าน การก่อการร้าย โดยเฉพาะในกรอบ Interfaith Dialogue และ Alliance of Civilization ด้วย ด้านเศรษฐกิจ อาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้ร่วมลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ASEANAustralia-New Zealand Free Trade Agreement: AANZFTA)เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยความตกลง AANZFTAมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สหภาพพม่า ฟิลิปปินส์สิงคโปร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยประเทศไทยได้แจ้งถึงความพร้อมในการบังคับใช้ความตกลงต่อประเทศภาคีซึ่งทำให้ความตกลง AANZFTA มีผลบังคับใช้สำหรับไทยตั้งแต่ วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป ด้านการพัฒนา ไทยได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับนิวซีแลนด์ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 ให้มีการยกร่างกรอบความร่วมมืออาเซียน-นิวซีแลนด์ ฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2553-2558เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์ให้สอดคล้องและเกื้อหนุนกับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของไทยและต่อมาที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับนิวซีแลนด์ (PMC+1)เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ณ กรุงฮานอย เวียดนาม ได้รับรองเอกสารแนวทางการดำเนินความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการพัฒนาระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์ 2 ฉบับ คือ 1) ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์ 2) แผนปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์ ปี 2553-2558 (Plan of Action to Implement the Joint Declaration for an ASEAN-NZComprehensive Partnership 2010-2015) นอกจากนี้ประเทศไทยได้เสนอให้นิวซีแลนด์เข้ามามีบทบาทในเรื่องการเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Connectivity) โดยเฉพาะเรื่องการเชื่อมโยงทางทะเล ความมั่นคงทางทะเล รวมทั้งการพัฒนาClean Technology และการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วยภายใต้กรอบความร่วมมือฉบับปัจจุบัน นิวซีแลนด์ ได้เสนอโครงการflagship 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการให้ทุนแก่นักศึกษาอาเซียนปีละ 170 คน เป็นเวลา 5 ปี 2) โครงการแลกเปลี่ยนนักธุรกิจรุ่นใหม่ 3) การจัดการภัยพิบัติ และ 4) โครงการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการเกษตรภายใต้แนวคิดเรื่อง Agricultural Diplomacy และในปี 2553 นิวซีแลนด์ได้เสนอให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์สมัยพิเศษ (Commemorative Summit)เพื่อฉลองโอกาสการครบรอบ 35 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-นิวซีแลนด์

อ้างอิง http://www.pyp.ac.th/asean/relationship/new-zealan.php