อ่าน หนังสือ นิทาน

“อยากให้เด็กฉลาดด้านไหนให้เลือกหนังสืออย่างนั้นให้แก่เด็ก และหนังสือที่จะสร้างสมองของเด็กได้ต้องเป็นหนังสือที่มีภาพดี มีเรื่องราวที่ดีให้เด็กได้เล่นหรือทำตามเนื้อเรื่องหรือตัวละครอย่างสนุกสนาน ในขณะที่ฟัง มีคำคล้องจองง่าย ๆ ให้เด็กได้ใช้สมาธิในการท่องหรือร้องเป็นจังหวะ และเมื่ออ่านแล้วสามารถนำไปเล่าขานต่อได้อย่างเป็นธรรมชาติตามวัย” คำกล่าวของคุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ในงานแถลงข่าวโครงการลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทานครั้งที่ 10 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บรมราชกุมารี


อ่าน หนังสือ นิทาน

โครงการฯนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 10 เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park), มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และนิตยสาร Mother&Care โดยปีนี้มีแนวคิดในการจัดโครงการฯ คือ “10 ปี สร้างสุข สร้างสมอง ด้วยการอ่าน” โดยเปิดรับสมัครเด็กไทยจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวเห็นคุณค่าของการอ่าน และสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในสังคมไทย

      การอ่าน เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธว่าช่วยในเรื่องการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก ที่ผ่านมาจะพบว่าตัวเลขที่มีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาของเด็กไทย ก็คือ เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง เด็กไทยอ่านหนังสือไม่กี่บรรทัด และหนังสือที่เด็กอ่านส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือเรียน หรือหนังสือที่ถูกบังคับให้อ่าน แม้หลายต่อหลายหน่วยงานได้พยายามทำหน้าที่กระตุ้นให้เด็กไทยรักการอ่าน แต่ดูเหมือนยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

อ่าน หนังสือ นิทาน

ทั้งที่ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าประโยชน์ของการอ่านมีมากมาย การอ่านช่วยปลุกสมองลูก ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีอย่างเหมาะสม เพราะการอ่านและการเล่ามีมิติในการเรียนรู้ได้หลากหลาย ยิ่งถ้าพ่อแม่อ่านหรือเล่าให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก เริ่มจากน้ำเสียงที่ลูกได้ยิน ภาพที่ได้เห็น จะช่วยให้ลูกสนใจฟัง ขณะเดียวกันสมองของลูกจะสร้างภาพตามเรื่องที่พ่อแม่เล่า จึงเป็นการส่งเสริมจินตนาการ ส่งผลให้เซลล์สมองของลูกทำงานได้ดี ขณะเดียวกันสมองของลูกไม่ได้จดจ่อเฉพาะการฟังและสิ่งที่เห็นเท่านั้น แต่มองรูปร่าง ท่าทาง น้ำเสียง สายตา ความรู้สึกร่วมไปด้วย การอ่านนิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นการสร้างพื้นฐานทางภาษาที่ดีให้กับลูก

ที่สำคัญช่วงเวลาที่ลูกจดจ่อ ตั้งใจฟังพ่อแม่อ่านหรือเล่านิทาน ลูกน้อยจะผ่อนคลายและเกิดสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความฉลาดทางปัญญาให้กับลูก นี่ยังไม่นับเรื่องสัมพันธภาพ ความรัก ความผูกพันในขณะที่เล่านิทาน จะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้กับลูกได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการอ่านก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองได้ดี แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สามารถช่วยพัฒนาสมองได้ด้วย 10 ปัจจัย ได้แก่

  1. นมแม่ นมแม่ช่วยเพิ่มพลังของการพัฒนาสมอง เพราะมีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย มีทั้งไขมันและโปรตีนที่เหมาะสม มีกรดไขมัน DHA ที่ดีต่อสมอง เด็กทุกคนควรได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และหลังจาก 6 เดือน ก็ยังคงกินนมแม่ แต่เพิ่มสารอาหารชนิดอื่นด้วย
  2. อาหารดี อาหารดีในที่นี้ไม่ใช่อาหารแพงแน่นอน แต่เป็นอาหารที่ได้ครบทั้ง 5 หมู่ การได้สารอาหารอย่างเพียงพอและเหมาะสมในแต่ละวัยเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะเด็กเป็นช่วงเจริญเติบโต ต้องการสารอาหารที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ
  3. อากาศดี ปัญหาใหญ่ของเด็กยุคนี้ที่เกิดมาในยุคมลพิษในอากาศมีจำนวนมาก ในขณะที่สมองต้องการอากาศบริสุทธ์ ยิ่งอากาศบริสุทธิ์เท่าไร สมองก็จะทำงานได้ดี พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องคำนึงถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย
  4. ออกกำลังกาย ของดีที่คนรู้แต่ไม่ค่อยทำ ที่สำคัญการออกกำลังกายนอกจากทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สมองก็พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว
  5. พักผ่อนเพียงพอ หัวใจสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดี สมองต้องแจ่มใสพร้อมเปิดรับการเรียนรู้ ซึ่งก็ต้องเริ่มจากการนอนหลับให้เพียงพอและสม่ำเสมอ
  6. กิจกรรมตามวัย กิจกรรมจะช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ได้ดี การพัฒนากล้ามเนื้อที่เหมาะสมกับวัย การเคลื่อนไหวร่างกาย ล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อสมองทั้งสิ้น
  7. อารมณ์ดี การได้รับความรัก ความอบอุ่นใกล้ชิดจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ทำให้เด็กเกิดความมั่นคงทางจิตใจ ส่งผลต่อสภาพอารมณ์ และถ้าอารมณ์ดีก็ย่อมทำให้สมองเปิดรับสิ่งใหม่ๆได้ดี
  8. เล่นตามวัย การเล่นช่วยพัฒนาสมองของเด็ก เพราะเด็กได้ลงมือทำ ได้สำรวจ ได้ทำสิ่งต่างๆ เพื่อความสนุกสนานและตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นตามวัย จะช่วงสร้างเสริมพัฒนาการให้สมวัย
  9. ดนตรี ดนตรีนอกจากจะสร้างรอยยิ้มความสุข ความเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองด้วย
  10. นิทาน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านนิทานให้เด็กฟัง หรือเด็กอ่านเอง หรือเด็กเล่านิทานเองก็ตาม นิทานมีส่วนอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสมองของเด็ก

นิทานเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความสุขและสร้างสมองให้เด็กได้ แต่เด็กจะสนใจนิทานได้ ต้องเริ่มจากพ่อแม่ที่จะต้องเป็นผู้หยิบยื่น เล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก และเมื่อเขาเริ่มโตพอที่จะเล่านิทานเองได้ ก็ลองให้เขาเล่าให้พ่อแม่ฟัง และเมื่อเขาเติบโตขึ้นไป เด็กที่เติบโตมากับหนังสือนิทานมีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือในอนาคตหรือเป็นเด็กที่รักการอ่าน ยิ่งยุคปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยี และเด็กยุคนี้ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเด็กก้มหน้า หมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยี กลายเป็นเด็กติดเกมก็จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

อ่าน หนังสือ นิทาน

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพ่อแม่ อยู่ที่ว่าพ่อแม่จะเห็นความสำคัญและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะผลของการปลูกฝังเรื่องการอ่าน ไม่สามารถเห็นผลได้ทันที ต้องใช้เวลา และความอดทน แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง คุณจะพบกับความมหัศจรรย์ของการอ่าน ที่สร้างทั้งความสุขและสร้างสมองให้ลูกของคุณ

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน