โครง งาน ภาษา ไทย ม 4

กิจกรรมโครงงาน

            การจัดกิจกรรมโครงงานนี้จะเป็นกิจกรรมที่เน้นกระบวนการนักเรียนเป็นผู้คิดค้น วางแผนและลงมือปฏิบัติตามที่วางแผน โดยอาศัยเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ ในการปฏิบัติเพื่อให้โครงงานสำเร็จ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการสืบค้นของนักเรียน ซึ่งทักษะนี้สามารถถ่ายดอนสู่การปฏิบัติงานอื่นได้ในชีวิตประจำวัน นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าในสิ่งที่นักเรียนต้องการ ได้เห็นแนวทางในการสร้างองค์ความรู้ ทั้งสามารถฝึกทักษะการใช้ภาษาของนักเรียนได้ทุกรูปแบบจากเรื่องที่ผู้จัดทำอยากรู้ นอกจากนี้ผู้ทำโครงงานยังได้แสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้มีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานและเห็นคุณค่าของการใช้กระบวนการในการแก้ปัญหา       

ประเภทของโครงงานภาษาไทย 

        แบ่งตามวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำตอบของโครงงาน ๔ ประเภท 

        ๑) โครงงานภาษาไทยประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล เป็นโครงงานเบื้องต้นที่ทำง่าย เพียงแต่ทำการรวบรวมข้อมมูลที่มีอยู่ นำมาจำแนกเป็นหมวดหมู่และนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เห็นลักษณะหรือความสัมพันธ์ในเรื่องที่ศึกษาชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างโครงงานประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล เช่น การสำรวจคำศัพท์ที่ควรรู้จากเรื่อง,การสำรวจคำราชาศัพท์ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง, การสำรวจคำควบกล้ำในหนังสือเสริมทักษะภาษาไทย, การสำรวจคำที่มี ร, ล, ว ควบกล้ำในหนังสือ, การสำรวจคำแสลง คำสมัยนิยม ในหนังสือพิมพ์, การสำรวจรวบรวมคำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย, การสำรวจตัวอักษรที่ใช้กับคนพิการทางหู, การถอดความบทร้อยกรอง เมื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลมาแล้ว ควรนำมาจัดลำดับหมวดหมู่ให้เหมาะแก่การค้นหา อาจนำเสนอในรูปตาราง กราฟ แผนภูมิหรืออื่นๆ จะทำให้ข้อมูลน่าศึกษายิ่งขึ้น ส่งผลให้โครงงานนั้นมีคุณค่า

        ๒) โครงงานภาษาไทยประเภทการทดลอง โครงงานนี้อาจดูคล้ายงานของนักวิทยาศาสตร์ เพราะขั้นตอนการทำงานคล้ายกับการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ คือต้องมีขั้นตอนการศึกษาดังนี้ กำหนดปัญหาที่จะศึกษา, ตั้งวัตถุประสงค์, ตั้งสมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า, ออกแบบการทดลอง,

        ทำการทดลอง, รวบรวมและแปรผลการทดลอง, สรุปผล และนำเสนอข้อมูล ตัวอย่างโครงงานภาษาไทยประเภทการทดลอง เช่น ทดลองออกเสียงคำควบกล้ำ, ทดลองอ่านออกเสียงคำที่มีตัวการันต์,

        ทดลองอ่านออกเสียงคำราชาศัพท์, การศึกษาความจำจากการฟัง, การศึกษาวิธีการพูดโดยการกำหนดหัวข้อเรื่อง..., การศึกษาวิธีการเขียนตามคำบอก..., การเขียนสะกดคำยากและคำง่าย ทั้งนี้ ในการทดลองภาษาไทยที่เน้นเรื่องการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ผู้ที่ทำโครงงานควรสร้างเครื่องมือ ซึ่งอาจเป็นตารางง่ายๆ ที่เหมาะสมกับระดับชั้นเพื่อตรวจสอบการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนของเพื่อนร่วมชั้นเรียน เป็นต้น

        ตัวอย่างการทำโครงงานทดลอง “โครงงานภาษาไทยเรื่อง การอ่านในใจกับการอ่านออกเสียงอย่างไหนเป็นวิธีการจำที่ดีกว่ากัน” มีขั้นตอนดังนี้ เริ่มด้วยการศึกษาปัญหาของวิธีการอ่านออกเสียงและอ่านในใจ, หาข้อมูลและศึกษาว่าการอ่านสองวิธีนั้น วิธีใดจะจำได้ดีกว่ากัน, ตามด้วยการหาสมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้าหรือคำตอบชั่วคราว คือ การอ่านออกเสียงน่าจะทำให้จดจำได้ดีกว่า, ออกแบบการทดลอง เป็นการเขียนเค้าโครงว่าจะทำการศึกษาอย่างไรบ้าง โดยต้องมีการกำหนดตัวแปร ดังนี้ ตัวแปรต้น คือ เหตุหรือสิ่งที่ต้องการศึกษา ในที่นี้คือ วิธีการอ่านทั้งสองแบบ , ตัวแปรตาม คือ ผลที่ได้จากการศึกษา ในที่นี้หมายถึงการจำของนักเรียน, ตัวแปรควบคุม คือ สิ่งที่ต้องจัดให้เหมือนๆ กัน ถ้าไม่เหมือนกันจะมีผลทำให้ตัวแปรตาม ต่างไปจากที่ควรจะเป็น ในที่นี้ควรจะเป็นความยากง่ายของเนื้อหา เวลาที่ใช้ในการศึกษา, ทำการทดลอง นำข้อความที่กำหนดมาให้กลุ่มคนประมาณ ๑๐ คนอ่าน โดยกำหนดเวลาในการอ่าน วิธีการอ่าน ทำการทดลองซ้ำประมาณสามครั้ง เพื่อนำข้อมูลมาหาค่าเฉลี่ย และแปรผล สรุปผลและนำเสนอข้อมูลที่ค้นพบ

        ๓) โครงงานภาษาไทยประเภทสิ่งประดิษฐ์ วิชาภาษาไทยสามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้มากมาย เช่น การประดิษฐ์โคลงกลอน ประดิษฐ์บทละครและอื่นๆ โดยการปรับปรุงจากสิ่งที่มีอยู่เดิม เปลี่ยนตัวแปรบางตัวเสียใหม่ให้ต่างจากของเดิม ก็จะเป็นโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ทั้งสิ้น ตัวอย่างโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ เช่น การสร้างข้อสอบวิชาภาษาไทย โดยนักเรียนสามารถนำความรู้ที่เรียนมาช่วยครูสร้างแบบทดสอบแทนครูได้, การประดิษฐ์เกมภาษาไทย ให้ความรู้และความบันเทิงในเวลาเดิียวกัน, การประดิษฐ์สื่อที่ใช้ในการเรียนภาษาไทย ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้เข้าใจการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น, การประดิษฐ์พจนานุกรมฉบับนักเรียน อย่างไรก็ตามโครงงานลักษณะนี้ ผู้จัดทำต้องระวัง ไม่ควรลอกเลียนแบบหรือแอบอ้างผลงานของผู้อื่น

        ๔) โครงงานภาษาไทยประเภททฤษฎี เป็นโครงงานที่นักเรียนเสนอหลักการหรือแนวความคิดใหม่ๆ โดยใช้แนวความคิดหรือการจินตนาการของผู้ทำโครงงาน เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในแนวใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดคิดมาก่อน หรืออธิบายทฤษฎีที่ขัดแย้งกับทฤษฎีเดิมที่มีอยู่ในวิชาภาษาไทย อาจเป็นการเสนอทฤษฎีหรือหลักการขึ้นมาสนับสนุน หรือขัดแย้งกับแนวความคิดเดิมๆ เช่น นักเรียนเสนอโครงงานประเภททฤษฎีขึ้นมาว่า "กวีเอกสุนทรภู่ไม่ใช่คนติดเหล้า" โดยนำทฤษฎีหรือเหตุผลมาสนับสนุนการวิเคราะห์โครงงานประเภททฤษฎีนี้ ซึ่งเป็นการนำเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มาอ้าง อาจถูกหรือผิดก็ได้ แต่เป็นไปตามทฤษฎีหรือหลักการ เช่น หากสุนทรภู่ติดเหล้าจริง ท่านคงไม่สามารถแต่งวรรณกรรมออกมาได้มากมายขนาดนี้ โดยยกตัวอย่างบทประพันธ์ของสุนทรภู่ประกอบด้วย